xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่พอ! ยูเครนขอขีปนาวุธพิสัยไกล เยอรมนีย้ำไม่ยอมให้เครื่องบินขับไล่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - เซเลนสกีเรียกร้องพันธมิตรจัดส่งอาวุธเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้นเพื่อรับมือสถานการณ์การโจมตีอย่างต่อเนื่องของรัสเซียในโดเนตสก์ ด้านผู้นำเยอรมนีประกาศชัดไม่พร้อมส่งเครื่องบินขับไล่ให้เคียฟ ย้ำนาโต้ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามในยูเครน

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวระหว่างปราศรัยเมื่อคืนวันอาทิตย์ (29 ม.ค.) ว่าสถานการณ์ในบัคมุต วูเลดาร์ และพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาคโดเนตสก์ทางตะวันออกหนักหน่วงมาก มีการโจมตีจากรัสเซียอย่างต่อเนื่องเพื่อฝ่าแนวป้องกันของยูเครน

เขายังบอกอีกว่า รัสเซียต้องการให้สงครามยืดเยื้อเพื่อให้กองทัพยูเครนอ่อนล้า ดังนั้น ยูเครนจึงต้องเร่งดำเนินการ โดยพันธมิตรต้องเร่งจัดส่งเพื่อเปิดทางเลือกอาวุธใหม่ๆ ให้ยูเครน

ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน คณะเสนาธิการทหารของยูเครนแถลงว่า กองทัพได้สกัดการโจมตีใกล้บลาโฮดัตเนทางตะวันออกของโดเนตสก์ ขณะที่กลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ของรัสเซียเผยว่า สามารถควบคุมหมู่บ้านดังกล่าวได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ที่ออกมาหลังจากนั้น กองทัพยูเครนไม่ได้เอ่ยถึงบลาโฮดัตเนแต่อย่างใด

แถลงการณ์เรียกร้องขออาวุธเพิ่มของเซเลนสกีครั้งล่าสุดเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากเยอรมนีและอเมริกาประกาศแผนจัดส่งรถถังหนักล้ำสมัยให้เคียฟ

เมื่อวันเสาร์ (28 ม.ค.) เซเลนสกีกล่าวว่า ยูเครนต้องการขีปนาวุธเอทีเอซีเอ็มเอสของอเมริกาที่มีระยะโจมตีราว 300 กิโลเมตร และจนถึงขณะนี้วอชิงตันยังปฏิเสธที่จะส่งให้เคียฟ กระนั้น ที่ปรึกษาผู้นำยูเครนเผยว่า การเจรจาเพื่อจัดหาขีปนาวุธพิสัยไกลยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่โฆษกกองทัพอากาศยูเครนสำทับว่า มีการเจรจาเรื่องการจัดหาเครื่องบินรบด้วยเช่นกัน

ในการปราศรัยล่าสุด เซเลนสกีประกาศว่า การกดดันของยูเครนจะต้องมากกว่าศักยภาพการโจมตีของศัตรู ซึ่งหมายความว่า ยูเครนจะต้องได้รับการสนับสนุนด้านการป้องกันจากพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง และสำทับว่า ข้าศึกเดินหน้าโจมตีหนักหน่วงโดยไม่สนใจว่า จะสูญเสียกำลังพลหรืออาวุธมากเพียงใด ดังนั้น ยูเครนจึงต้องมีความยืดหยุ่นอย่างมากและทหารต้องตระหนักอย่างแท้จริงว่า การปกป้องโดเนตสก์คือการปกป้องยูเครนทั้งหมด

ที่เยอรมนี นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ย้ำเมื่อวันอาทิตย์ว่า เบอร์ลินจะไม่ส่งเครื่องบินขับไล่ให้ยูเครน

ทั้งนี้ ผู้นำเยอรมนีเพิ่งตกลงเมื่อวันพุธ (25 ม.ค.) ในการจัดส่งรถถังลีโอพาร์ด 2 จำนวน 14 คันให้ยูเครน รวมทั้งอนุญาตให้ประเทศยุโรปอื่นๆ ทำแบบเดียวกัน หลังจากถกเถียงอย่างเคร่งเครียดและถูกกดดันจากพันธมิตรมาหลายสัปดาห์

ชอลซ์กล่าวว่า เขาแนะนำได้เพียงว่า เยอรมนีไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามยืดเยื้อในรูปของระบบอาวุธ

การตัดสินใจอนุมัติการส่งรถถังให้ยูเครนของชอลซ์เกิดขึ้นพร้อมกับที่อเมริกาประกาศส่งรถถังเอบรามส์ 31 คันให้เคียฟ

เซเลนสกีขอบคุณเบอร์ลินและวอชิงตันสำหรับความเคลื่อนไหวดังกล่าวซึ่งถือเป็นความคืบหน้าสำคัญในความพยายามให้การสนับสนุนยูเครน

นอกจากนั้น ระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในท้องถิ่น ชอลซ์ยังเตือนว่า มีความเสี่ยงมากขึ้นที่สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนอาจลุกลาม และย้ำว่า นี่ไม่ใช่สงครามระหว่างนาโต้กับรัสเซีย และต้องไม่ปล่อยให้สถานการณ์ลุกลาม ขณะที่มอสโกประณามการตัดสินใจของอเมริกาและเยอรมนีอย่างรุนแรง

ผู้นำเยอรมนีเสริมว่า มีความจำเป็นต้องหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และเขาจะโทร.หาประมุขเครมลินอีกครั้ง แต่สำทับว่า ตราบที่รัสเซียยังคงก่อสงครามอย่างไม่ลดละ สถานการณ์จะไม่มีทางเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การหารือกันทางโทรศัพท์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น