xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำปักกิ่งส่งสัญญาณชัดเจนกลางที่ประชุมดาวอส จีนเดินหน้าเปิดประเทศอ้าแขนต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ ระบุโควิดเริ่มนิ่งแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ ของจีน กล่าวปราศรัย ณ เวทีประชุมประจำปี เวิลด์อิโคโนมิกฟอรัม (WEF) ที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันอังคาร (18 ม.ค.)
หลิว เหอ คนสนิทของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ได้ฉายาว่าเป็น “ซาร์เศรษฐกิจ” ของแดนมังกร ประกาศในวันอังคาร (17 ม.ค.) กลางที่ประชุมดาวอส ว่า จีนเปิดประเทศและยินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติอีกครั้ง หลังจากช่วง 3 ปีแห่งการต่อสู้กับโควิด นอกจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีจีนยังย้ำเกี่ยวกับการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศและการรักษาสันติภาพทั่วโลก

การประกาศของหลิว รองนายกรัฐมนตรีของจีน ในงานประชุมประจำปี เวิลด์อิโคโนมิกฟอรัม (WEF) ที่รีสอร์ตดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเวทีรวมดาวนักธุรกิจนักลงทุนชั้นนำ ตลอดจนนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของนานาชาติ บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ปักกิ่งต้องการให้นักลงทุนระหว่างประเทศเข้าแสดงบทบาทสำคัญในความพยายามเพื่อฟื้นเศรษฐกิจของจีน

การเข้าร่วมประชุมที่ดาวอสของหลิวครั้งนี้ ยังถือเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของคณะผู้แทนระดับสูงของจีน นับจากที่ปักกิ่งเริ่มยกเลิกมาตรการสกัดโควิดอย่างฉับพลันเมื่อเดือนที่แล้ว

ขณะอยู่ที่ดาวอส หลิวเข้าประชุมร่วมกับพวกซีอีโอบริษัทต่างๆ ทั้งในภาคการเงิน เทคโนโลยี คอนซูเมอร์ และอุตสาหกรรมการผลิต รวมทั้งยังได้พบปะกับผู้นำจากทั่วโลก นอกจากนั้น ในระหว่างวาระกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมของเขา รองนายกรัฐมนตรีจีนผู้นี้ยังกล่าวถึง “การกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศ” และ “การรักษาสันติภาพทั่วโลก” ถึง 11 ครั้ง

ซิงต่ง เฉิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนและหัวหน้าฝ่ายตลาดของบีเอ็นพีพี ชี้ว่า การปราศรัยของหลิวมุ่งผ่อนคลายความกังวลของนักลงทุน และให้ความมั่นใจกับทั่วโลกว่า จีนในยุคสมัยที่ 3 แห่งการครองอำนาจของ สี จะเดินหน้าปฏิรูปและเปิดประเทศตามแนวทางตลาดต่อไป

คำปราศรัยของหลิว มีการอธิบายแนวคิดหลักที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเฝ้าผลักดัน เช่น โมเดลการปรับปรุงประเทศสู่ความทันสมัยและความมั่งคั่งร่วมกัน

นอกจากนั้น หลิวยังแสดงความเชื่อมั่นว่า แนวโน้มการเติบโตของจีนจะฟื้นสู่ระดับปกติภายในปีนี้ รวมทั้งคาดหวังว่าจะมีการนำเข้า การลงทุนภาคธุรกิจ และการบริโภคเพิ่มขึ้น

รองนายกรัฐมนตรีของจีนยังเรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มความร่วมมือและใส่ใจมากขึ้นกับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของประเทศชั้นนำที่เกิดกับชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา

เกี่ยวกับการระบาดของโควิดในจีนในขณะนี้ หลิวยืนยันว่า สถานการณ์เริ่มนิ่งแล้วและสำทับว่า คนจีนฟื้นตัวจากโควิดเร็วจนน่าประหลาดใจ

นอกจากปราศรัยในดาวอสแล้ว หลิวยังมีกำหนดพบกับเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่ซูริค สวิตเซอร์แลนด์ ในวันพุธ (18) ซึ่งจะเป็นการพบปะแบบเห็นหน้ากันครั้งแรกหลังจากประชุมเสมือนจริงกันมา 3 ครั้งนับจากเยลเลนเข้ารับตำแหน่งนี้ และยังเป็นการติดต่อของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดระหว่างสองประเทศครั้งแรกหลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตกลงร่วมกันหาวิธีปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างพบกันที่บาหลีเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และพันธมิตรตึงเครียดมากขึ้นนับจากวิกฤตโควิด โดยทั้งสองประเทศขัดแย้งกันตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยีจนถึงไต้หวัน

นอกจากนี้ เมื่อวันอังคาร เจ้าหน้าที่อเมริกันคนหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ ยังเผยว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนปักกิ่งในวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ ซึ่งแม้ทั้งสองฝ่ายยังไม่เปิดเผยรายละเอียดในเรื่องนี้ แต่คาดว่า บลิงเคนจะพบกับฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน และอาจรวมถึงประธานาธิบดีสี

ต่อมาในวันพุธ หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่า ปักกิ่งยินดีต้อนรับการเยือนของบลิงเคน พร้อมแสดงความหวังว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะเดินตามรอยการประชุมซัมมิต สี-ไบเดน และช่วยผลักดันให้ความสัมพันธ์จีน-อเมริกากลับสู่เส้นทางการพัฒนาที่ดีและมั่นคงสืบไป

อย่างไรก็ดี ในสหรัฐฯ นั้นยังคงมีอารมณ์ความรู้สึกระแวงต่อต้านจีนอย่างแรง แม้กระทั่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตมีความคิดเห็นแตกแยกกันมาก แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ส.ส่วนใหญ่พากันยกมือเห็นพ้องยกระดับการตรวจสอบการลงทุนของจีน โดยให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยเรื่องจีนโดยเฉพาะขึ้นมา โดยที่สมาชิกจะมาจากการคัดสรร (House Select Committee on China)

ทั้งนี้ หลังจากปีที่แล้ว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพิ่มบริษัทไฮเทคจีนอีกหลายสิบแห่งในบัญชีดำที่ต้องควบคุมการส่งออก โดยอ้างเหตุผลความกังวลกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ และปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน

สำหรับสหภาพยุโรป (อียู) นั้น อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า ยุโรปต้องพยายามร่วมมือและค้าขายกับจีนแทนที่จะตัดขาด แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการอุดหนุนของปักกิ่งจำกัดการเข้าถึงภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสะอาดของบริษัทยุโรป

(ที่มา :รอยเตอร์, เอพี, เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น