xs
xsm
sm
md
lg

จีดีพีจีนปี 2022 โตต่ำสุดในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ สำหรับปีนี้พวกนักวิเคราะห์มีทั้งที่ยังไม่มั่นใจและที่ชี้ว่าพุ่งลิ่วแน่ๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บรรยากาศคึกคักช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีนที่ถนนสายหนึ่งในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันอังคาร (17 ม.ค.) ทั้งนี้ จีดีพีจีนขยายตัวได้อย่างย่ำแย่ในปี 2022 ที่ผ่านมา แต่กิจกรรมต่างๆ กำลังฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ภายหลังทางการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์
เศรษฐกิจจีนในปี 2022 มีอัตราเติบโตต่ำที่สุดในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ อันเป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์และวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ แม้อัตราขยายตัวไตรมาสส่งท้ายปีและดัชนีหลายตัวในเดือนธันวาคมสูงเกินคาด แต่นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ชีพจรเศรษฐกิจโดยรวมยังอ่อนแอ และสะท้อนความท้าทายที่ปักกิ่งต้องเผชิญภายหลังยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างฉับพลันเมื่อเดือนที่แล้ว

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน รายงานในวันอังคาร (17 ม.ค.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมาขยายตัว 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 แต่ลดลงจากระดับ 3.9% ในไตรมาส 3

สำหรับตลอดปี 2022 จีดีพีจีนขยายตัว 3% พลาดเป้าหมายอย่างเป็นทางการที่ 5.5% ไกลลิบ และแตกต่างอย่างมากจากอัตราเติบโต 8.4% ในปี 2021 นอกจากนั้น หากไม่นับปี 2020 ซึ่งเป็นปีแรกที่โควิดระบาด ทำให้เศรษฐกิจแดนมังกรแม้ดีกว่าชาติอื่นๆ ในโลกก็ยังมีอัตราขยายตัวแค่ 2.2% จีดีพีปี 2022 ที่ผ่านมา ถือเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับจากปี 1976 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรมที่ดำเนินอยู่อย่างยาวนานเป็นสิบปี และสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ

เฉพาะเดือนธันวาคม ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2021 แต่ลดลงจาก 2.2% ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ยอดขายปลีกซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การบริโภค หดตัว 1.8% หลังจากดิ่งลง 5.9% ในเดือนพฤศจิกายน

ข้อมูลของทางการยังชี้ว่า การว่างงานลดลง แม้กิจกรรมการผลิตและการให้บริการได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ โดยอัตราว่างงานทั่วประเทศลดลงอยู่ที่ 5.5% ในเดือนธันวาคม จาก 5.7% ในเดือนพฤศจิกายน

แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นหนึ่งในตัวถ่วงการเติบโตที่ร้ายแรงที่สุด ปีที่ผ่านมาการลงทุนในภาคนี้ดิ่งลง 10% เมื่อเทียบกับปี 2021 และถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับจากเริ่มต้นเก็บข้อมูลในปี 1999 ขณะที่ยอดขายลดลงแรงที่สุดนับจากปี 1992 สะท้อนว่า มาตรการสนับสนุนของรัฐส่งผลน้อยมาก

ถึงแม้การยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างฉับพลันเมื่อเดือนที่แล้ว กระตุ้นความคาดหวังว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวในปี 2023 นี้ แต่ขณะเดียวกัน การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้จำนวนผู้ติดโควิดเพิ่มขึ้นสูงมากและนักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่า อาจบ่อนทำลายการเติบโตระยะสั้น นอกจากนี้ ความตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน ตลอดจนดีมานด์ของทั่วโลก ยังหมายความว่า การเติบโตของจีนจะต้องพึ่งพิงผู้บริโภคในประเทศเป็นหลัก

แฮร์รี เมอร์ฟีย์ ครูซ นักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์ แอนาลิติกส์ คาดหมายว่า ปี 2023 จะเป็นปีที่ลุ่มๆ ดอนๆ สำหรับจีน ไม่ใช่เพียงเพราะต้องฝ่าฟันกับภัยคุกคามจากโควิดระลอกใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสถานการณ์ในตลาดที่อยู่อาศัยที่เลวร้ายลง และความต้องการสินค้าออกของจีนที่ซบเซาจากทั่วโลกที่จะเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการเติบโต

ส่วน หลุยส์ ลู นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของออกซฟอร์ด อิโคโนมิกส์ ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลกิจกรรมเศรษฐกิจประจำเดือนธันวาคมถือว่าดีเกินคาดแต่ยังจัดว่าอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุปทานทั้งหมด ซึ่งสนับสนุนมุมมองของบริษัทที่ว่า การเปิดประเทศอีกครั้งของจีนในช่วงแรกจะยังไร้พลัง โดยเฉพาะในด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันหากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแข็งแกร่งอาจผ่อนคลายแนวโน้มเศรษฐกิจโลกซบเซา แต่ก็อาจกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกขณะที่ผู้วางนโยบายในประเทศต่างๆ เพิ่งเรียนรู้วิธีจัดการกับราคาสินค้าที่พุ่งทำสถิติ

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ชี้ว่า การเปิดประเทศเร็วเกินคาดของจีนส่งผลรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น การขาดแคลนแรงงานชั่วคราว และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายคนมองแนวโน้มเศรษฐกิจจีนแง่บวก เช่น เจ้าผิง ซู จากเจพี มอร์แกน แอสเส็ต แมเนจเมนต์ ที่คาดว่า จะเห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปีนี้อันเป็นผลจากการเปิดประเทศและนโยบายกระตุ้นของปักกิ่ง

ส่วน ไมเคิล ฮิวสัน หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของซีเอ็มซี มาร์เกตส์ บอกว่า เมื่อมองไปที่ปี 2023 ก็มองเห็นได้ว่าจะมีการดีดตัวกลับขึ้นมาอย่างแรงในช่วงไตรมาสหน้า โดยที่ปีนี้เทศกาลตรุษจีนก็มาถึงเร็ว แค่ช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้าก็มาแล้ว

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น