xs
xsm
sm
md
lg

"สี จิ้นผิง" เจอโจทย์ยาก จีดีพีปี 2565 ของจีนโตต่ำสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐกิจจีนโตร้อยละ 2.9 ในไตรมาส 4 ปี2565 ทำให้อัตราการเติบโตของปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 3 จากข้อมูลทางการจีนเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (17 ม.ค.) - ภาพเอพี
เศรษฐกิจจีนปี 2565 เซ่นพิษนโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยจีดีพีไตรมาส 4 โตต่ำสุดในรอบ 4 ทศวรรษ
 
ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานโดยอ้างข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ซึ่งแถลงเมื่อวันอังคาร (17 ม.ค.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ของแดนมังกรในปี 2565 ขยายตัวแค่ร้อยละ 3 ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ที่ร้อยละ 5.5
 
ส่วนจีดีพีช่วงไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ลดลงจากร้อยละ 3.9 ช่วงไตรมาสที่ 3


แม้จีดีพีซึ่งทางการประกาศดังกล่าวจะดีกว่าที่หลายสำนักข่าวระบุในโพลสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ เช่น รอยเตอร์ระบุเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.8 และเอเอฟพีเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.7 แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนเคยตั้งไว้ที่ร้อยละ 5.5 ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษอยู่แล้ว หากไม่นับจีดีพีของปี 2563 อันเป็นปีที่โรคโควิด-19 อุบัติ โดยจีดีพีของปีนั้นโตเพียงร้อยละ 2.2 อ่อนแรงสุด นับตั้งแต่ปีที่ประธานเหมา เจ๋อตง ถึงแก่อสัญกรรมคือในปี 2519 หรือเมื่อ 46 ปีเป็นต้นมา

 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยออกมาดังกล่าวเท่ากับเป็นการตอกย้ำถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจอันหนักหน่วงที่รัฐบาลจีนต้องจ่ายให้สำหรับยุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์ ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลานาน ก่อนที่จะยกเลิกอย่างกะทันเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่เปิดเผยล่าสุด ยังเน้นย้ำให้เห็นว่าปัญหาท้าทายที่ยืนทะมึนรอประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อยู่นั้นมีขนาดมหึมาแค่ไหน หลังจากผู้นำจีนเคยกำหนดให้การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญรองลงมาจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ที่จีนบังคับใช้เพื่อควบคุมโควิด-19 แพร่ระบาดมานานถึง 3 ปี จนกระทั่งมีการประท้วงของประชาชนในนครเซี่ยงไฮ้และอีกหลายเมือง เพื่อต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์และการบังคับตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลจึงยุตินโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างฉับพลัน และยอมปล่อยให้เชื้อแพร่ระบาดในหมู่ประชากรทั่วประเทศอย่างไม่มีการปิดกั้นยับยั้งเป็นครั้งแรก


แม้บรรดานักเศรษฐศาสตร์จะคาดการณ์กันว่า การยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์และการเปิดประเทศจะทำให้เศรษฐกิจแดนมังกรฟื้นตัวในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคนานาก็กำลังดาหน้าเข้ามาให้รัฐบาลจีนสะสาง เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งฉุดราคาบ้านดำดิ่งในปีที่แล้ว และปัญหาการส่งออกตกต่ำ อันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

 
นายเอสวาร์ ปราสาท (Eswar Prasad) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในจีนประจำมหาวิทยาลัยคอร์เนล ชี้ว่า การยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ชนิดปุบปับทำให้เศรษฐกิจจีนมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่เขาเชื่อว่า การพลิกกลับกะทันหันนี้น่าจะเปิดทางให้เศรษฐกิจแดนมังกรฟื้นตัว อย่างน้อยๆ ก็ฟื้นตัวในระดับปานกลางได้ อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนให้หลุดออกจากช่วงเวลาที่ยากลำบากจะมีมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจีนจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างใดออกมา



กำลังโหลดความคิดเห็น