xs
xsm
sm
md
lg

ประชากรจีน ‘ลดลง’ ครั้งแรกในรอบ 60 ปี ส่อแววกระทบเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จำนวนประชากรจีนปรับตัวลดลงในปี 2022 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เตือนถึงแนวโน้มการลดลงของประชากรที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจของจีน และทั่วโลก

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนแถลงว่า จีนมีจำนวนประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 1,411.75 ล้านคน ในช่วงปลายปี 2022 ลดลงราวๆ 850,000 คนจากช่วง 1 ปีก่อนหน้า

การลดลงของประชากรจีนซึ่งถือว่ามากที่สุดตั้งแต่ปี 1961 ซึ่งเป็นปีที่สุดท้ายที่จีนเผชิญภาวะอดอยากครั้งใหญ่ (China’s Great Famine) ยังทำให้มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นที่ “อินเดีย” จะก้าวขึ้นมาเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลกภายในปีนี้

ในระยะยาว ผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดการณ์ว่าประชากรจีนจะหดตัวลง 109 ล้านคนภายในปี 2050 หรือมากกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้เมื่อปี 2019 กว่า 3 เท่าตัว

ปรากฏการณ์นี้ทำให้นักประชากรศาสตร์ของจีนเตือนว่า ประเทศจีนกำลังเข้าสู่ความ “ชรา” ก่อนที่จะ “ร่ำรวย” ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากรายได้ลดลง ขณะที่รัฐบาลจะต้องแบกรับหนี้สินเพิ่ม เนื่องจากจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคมที่พุ่งสูงขึ้น

“ทิศทางประชากรศาสตร์และเศรษฐกิจของจีนน่าวิตกกังวลกว่าที่คาดการณ์กันไว้ จีนจำเป็นจะต้องปรับนโยบายทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การป้องกันประเทศ และการต่างประเทศ” อี้ ฝูเซียน (Yi Fuxian) นักประชากรศาสตร์ชาวจีนออกมาให้ความเห็น

เขายังเตือนด้วยว่า แรงงานจีนที่ลดลง บวกกับความซบเซาของภาคการผลิตจีน จะยิ่งกระพือปัญหาเงินเฟ้อ และทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป

อัตราการเกิดในจีนปีที่แล้วอยู่ที่ 6.77 ต่อประชากร 1,000 คน ลดลงจากสถิติ 7.52 ในปี 2021 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราการตายกลับพุ่งทุบสถิติใหม่นับตั้งแต่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1974 โดยอยู่ที่ 7.37 ต่อประชากร 1,000 คน เพิ่มขึ้นจากสถิติ 7.18 ในปี 2021


สาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรจีนลดลงมาจากการที่รัฐบาลใช้นโยบาย “ลูกคนเดียว” (one-child policy) ในช่วงระหว่างปี 1980-2015 อีกทั้งการส่งเสียบุตรให้เล่าเรียนมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ทำให้คนจีนส่วนใหญ่ปฏิเสธการมีลูกมากกว่า 1 คน หรือเลือกที่จะไม่มีบุตรเลย

สถิติประชากรที่จีนประกาศวันนี้ (17 ม.ค.) ได้กลายเป็นเทรนด์ฮิตในสื่อสังคมออนไลน์ โดยหนึ่งในแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ “#การมีลูกสำคัญจริงหรือ?” ซึ่งมีชาวเน็ตจีนเข้าไปร่วมถกเถียงประเด็นนี้กันหลายร้อยล้านครั้ง

“สาเหตุพื้นฐานที่ผู้หญิงไม่อยากมีลูก ไม่ใช่เพราะพวกเธอไม่อยากมี แต่เพราะว่าสังคมและผู้ชายล้มเหลวในการช่วยแบ่งเบาภาระเลี้ยงดู สำหรับผู้หญิงแล้วการมีลูกหมายถึงคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจที่จะย่ำแย่ลงมาก” ชาวเน็ตที่ใช้ชื่อว่า Joyful Ned ให้ความเห็น

ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ชี้ว่า นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ที่รัฐบาลปักกิ่งใช้มาตลอด 3 ปีก็ส่งผลเสียต่อแนวโน้มทางประชากรศาสตร์ของจีนไม่น้อยเช่นกัน

ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา ฝ่ายบริหารท้องถิ่นของจีนเริ่มมีนโยบายสนับสนุนให้คนมีลูกเพิ่มขึ้น เช่น ให้สิทธิลดภาษี เพิ่มวันลาคลอด และให้เงินอุดหนุนที่อยู่อาศัย เป็นต้น ขณะที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ประกาศเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้วว่า รัฐบาลกลางจะกำหนดมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมให้อีก

การสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับ “รถเข็นเด็ก” ทางเว็บไซต์ Baidu ซึ่งเป็นเสิร์ชเอนจินอันดับหนึ่งของจีน ลดลง 17% ในปี 2022 และลดลงมากถึง 41% ตั้งแต่ปี 2018 ขณะที่ยอดการค้นหา “ขวดนมเด็ก” ก็ลดลงเกิน 1 ใน 3 ตั้งแต่ปี 2018

ในทางตรงกันข้าม ยอดสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับ “บ้านพักคนชรา” กลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 8 เท่าตัวในปีที่แล้ว

ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น