(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Battle for Soledar exposes rifts in Russia’s command
By STEFAN WOLFF
13/01/2023
การที่รัสเซียเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติการทางทหารในยูเครน จาก พล.อ.เซียร์เก ซูโรวิคิน ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของ เยฟเกนี ปริโกจิน หัวหน้ากลุ่มนักรบรับจ้าง วากเนอร์ กรุ๊ป มาเป็น พล.อ.วาเลรี เกราซิมอฟ อาจจะสะท้อนให้เห็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ ในแวดวงชั้นในของวลาดิมีร์ ปูติน แต่มันเป็นสัญญาณอีกประการหนึ่งที่ชี้ว่า ปูติน ยังไม่ได้ยอมละทิ้งจุดมุ่งหมายของการทำสงครามในแบบนักตั้งความคาดหวังเอาไว้ระดับสูงสุดของเขาแต่อย่างใด
ศึกสู้รบชิงเมืองโซเลดาร์ เมืองเล็กๆ ในแคว้นโดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน ดำเนินไปอย่างดุเดือดมาหลายวันแล้ว [1] โดยที่มีการกล่าวอ้างและการโต้แย้งการกล่าวอ้างกันไปมาระหว่างฝ่ายรัสเซียกับฝ่ายยูเครน ในเรื่องที่ว่าเวลานี้รัสเซียสามารถควบคุมเมืองนี้ได้อย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง [2]
จวบจนถึงคืนวันที่ 11 มกราคม โซเลดาร์ อย่างเก่งที่สุดก็ตกอยู่ใต้การควบคุมของกลุ่มทหารรับจ้าง “วากเนอร์ กรุ๊ป” (Wagner Group) [3] ของรัสเซียเป็นบางส่วนแล้ว ทั้งนี้ตามการประเมินของสถาบันเพื่อการศึกษาสงคราม (Institute for the Study of War) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในสหรัฐฯ [4] และของกระทรวงกลาโหมแห่งสหราชอาณาจักร [5]
แต่การที่ฝ่ายรัสเซียถล่มโจมตีอย่างหนักใส่ โซเลดาร์ จนถึงวันที่ 12 มกราคม [6] ก็เป็นการยืนยันการประเมินของฝ่ายยูเครนที่ว่า การสู้รบชิงเมืองนี้ยังคงเป็นไปอย่างดุเดือด [7]
ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร –รวมทั้งพัฒนาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก-- การสู้รบ ณ สมรภูมิเฉพาะเจาะจงแห่งนี้ก็สามารถสอนให้เราเกิดความเข้าใจอันกว้างขวางมากขึ้นว่าสงครามในยูเครนกำลังไปถึงไหน และมันน่าจะมุ่งหน้าไปที่ใด
บทเรียนที่โดดเด่นเห็นได้ถนัดชัดเจนเป็นพิเศษมีอยู่ 3 บทด้วยกัน อย่างแรก แม้กระทั่งการช่วงชิงให้ได้พื้นที่ซึ่งมีขนาดเล็กๆ เท่านั้น ก็ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาลทั้งด้านบุคลากรและด้านวัตถุ [8] รวมทั้งกว่าจะได้รับมาก็ต้องหลังจากผ่านการสู้รบอย่างยืดเยื้อซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างสำคัญในทั้งสองฝ่าย และต้องใช้จ่ายทรัพยากรไปเป็นกอบเป็นกำทีเดียว ถ้าหากรัสเซียสามารถที่จะยึดครองโซเลดาร์ เอาไว้ได้ในที่สุด พวกเขาจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องหลังจากที่ทำลายเมืองนี้จนแหลกลาญไปแล้วเท่านั้น [9]
แล้วถึงยังไง การควบคุมโซเลดาร์ก็ยังเป็นเพียงแค่ก้าวเดินอีกก้าวหนึ่งในการมุ่งหน้าไปสู่รางวัลที่ใหญ่โตกว่านี้มาก นั่นคือเมืองบัคมุต (Bakhmut) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน และเป็นหนึ่งในเมืองขนาดใหญ่แห่งท้ายๆ ในแคว้นโดเนตสก์ ที่ยังไม่ถูกรัสเซียเข้ายึดครอง
กระนั้นก็ตาม กองกำลังฝ่ายยูเครนยังคงควบคุมพื้นที่แถบนี้เอาไว้ได้ [10] กระทั่งถ้าหากรัสเซียประสบความสำเร็จในความพยายามของพวกเขาในโซเลดาร์ การพังครืนของแนวป้องกันของฝ่ายยูเครนในแคว้นโดเนตสก์ หรือการล่าถอยในทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายนี้อย่างที่มีการทำนายกันเอาไว้ก็ยังไม่ใช่เป็นบทสรุปที่ไม่มีทางกลายเป็นอื่นอีกแล้ว [11]
ความรู้ความเข้าใจอันลึกซึ้งอย่างที่สองซึ่งสามารถได้รับจากศึกชิงเมืองโซเลดาร์ ตลอดจนบริบทที่กว้างไกลออกไปแวดล้อมการที่ศึกคราวนี้เกิดขึ้นมา ก็คือว่าทั้งสองฝ่ายยังคงธำรงรักษาวัตถุประสงค์แบบนักวาดหวังผลลัพธ์ระดับสูงสุด (maximalist) เอาไว้ และดูเหมือนโดยรวมๆ แล้วไม่มีความปรารถนาที่จะเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามซึ่งมุ่งไปสู่การตกลงรอมชอมโดยผ่านการเจรจากัน
นี่เป็นบทสรุปที่ปรากฏให้เห็น ถึงแม้เมื่อไม่นานมานี้มีการพบปะหารือกันระหว่างกรรมการสิทธิมนุษยชนของรัสเซียและยูเครน นั่นคือ ตาเตียนา มอสคาลโควา (Tatiana Moskalkova) และดมิโตร ลูบิเนตส์ (Dmytro Lubinets) ในนครอังการา ของตุรกี [12] ซึ่งได้มีการตกลงกันที่จะแลกเปลี่ยนเชลยกันอีกรอบหนึ่ง และทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันที่จะจัดการสนทนาด้านสิทธิมนุษยชนของพวกเขากันต่อไปอีก
จากทัศนะมุมมองของฝ่ายรัสเซีย การโจมตีอย่างขนานใหญ่เล่นงานเมืองโซเลดาร์ – และการสู้รบที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในที่อื่นๆ ตามเส้นแนวหน้าระหว่างกองกำลังของฝ่ายรัสเซียและฝ่ายยูเครนในแคว้นโดเนตสก์ [13] เป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอย่างยิ่งในแง่ของกำลังทหารและเครื่องกระสุน ความสิ้นเปลืองเหล่านี้จะสมเหตุสมผลก็ต่อเมื่อจุดมุ่งหมายของเครมลินยังคงอยู่ที่การยึดครองดินแดนทั้งหมดของ 4 แคว้นซึ่งรัสเซียประกาศเข้าผนวกเป็นส่วนหนึ่งของตนภายหลังการจัดลงประชามติปลอมๆ ขึ้นในเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ขณะที่การสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือดในสมรภูมิอยู่นั้น การต่อสู้ในระหว่างฝักฝ่ายทางการเมืองต่างๆ ของรัสเซียก็ดูมีความเข้มข้นพอๆ กัน [14] ในด้านหนึ่ง การโจมตีเล่นงานเมืองโซเลดาร์คราวนี้ นำโดยกองกำลังของกลุ่มวากเนอร์ ที่มี เยฟเกนี ปริโกจิน (Yevgeny Prigozhin) เป็นหัวเรือใหญ่ เขาเป็นพันธมิตรใกล้ชิดคนหนึ่งของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน
ปริโกจิน ในบางส่วนอาจจะได้แรงจูงใจจากลู่ทางโอกาสที่จะสามารถเข้าถึงเหมืองเกลือและเหมืองยิปซัมที่อยู่ใกล้ๆ เมืองนี้ [15] แต่เขายังต้องการใช้สิ่งที่ดูเหมือนเป็นความสำเร็จในสมรภูมิของเขาเพื่อเพิ่มพูนอิทธิพลบารมีของเขาภายในกลุ่มแวดวงชั้นในของ ปูติน อีกด้วย ทั้งนี้ที่ผ่านมาเขาไม่ได้บันยะบันยังเลยในการส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเจ็บแสบเล่นงานการดำเนินการสู้รบของพวกนายทหารระดับท็อปของรัสเซีย [16]
ขณะที่ ปริโกจิน อาจจะยังไม่ได้ชัยชนะในศึกชิงโซเลดาร์อย่างเด็ดขาด แต่เขาก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสียแล้วในสมรภูมิที่น่าจะถือได้ว่ามีความสำคัญทางการเมืองมากกว่าเสียอีก เมื่อพันธมิตรใกล้ชิดของเขา คือ พล.อ.เซียร์เก ซูโรวิคิน (Sergei Surovikin) –สถาปนิกคนสำคัญที่สุดของการรณรงค์ทำลายโครงสร้างพื้นฐานอันสำคัญยิ่งยวดของฝ่ายยูเครน โดยที่ ซูโรวิคิน ได้ถูกแทนที่โดย พล.อ.วาเลรี เกราซิมอฟ (Valery Gerasimov) ประธานคณะเสนาธิการทหารของรัสเซีย ในการเป็นผู้บัญชาการควบคุมดูแลการสงครามในยูเครนโดยรวมทั้งหมด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มกราคม [17]
เกราซิมอฟ เป็นสถาปนิกของการรณรงค์รุกรานยูเครนคราวนี้ของรัสเซียตั้งแต่ตอนเริ่มแรกในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ดังนั้น การที่เขาได้รับแต่งตั้งให้เข้ารับผิดชอบเรื่องนี้ในเวลานี้ จึงเป็นสัญญาณอีกประการหนึ่งที่ว่า ปูติน ยังไม่ได้ยอมละทิ้งจุดมุ่งหมายของการทำสงครามในแบบนักตั้งความคาดหวังเอาไว้ระดับสูงสุดของเขาแต่อย่างใด
ท่าทีเช่นนี้ย่อมส่งผลเป็นการส่งเสริมสนับสนุนความเชื่อความเข้าใจที่คอยตามหลอกหลอนไม่หยุดหย่อน ที่ว่ารัสเซียกำลังจะเปิดแนวรบแนวที่สองในสงครามครั้งนี้ขึ้นมา ระหว่างการไปเยือนเมืองลวิฟ (Lviv) เมืองใหญ่ทางภาคตะวันตกของยูเครนเมื่อไม่กี่วันก่อน ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้กล่าวเตือนอีกครั้งหนึ่งถึงอันตรายที่จะเกิดการรุกรานจากทางด้านเบลารุส [18]
เมื่อพิจารณาจากความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างกรุงมอสโกกับกรุงมินสก์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในระยะหลังๆ มานี้ รวมไปถึงการร่วมซ้อมรบระหว่างประเทศทั้งสองซึ่งวางแผนเอาไว้ว่าจะจัดขึ้นตอนปลายเดือนมกราคมนี้ [19] เรื่องแนวรบแนวที่สองนี้จึงยังต้องถือว่าเป็นภัยคุกคามที่สำคัญประการหนึ่งต่อยูเครน
การที่ ซูโควิคิน ถูกแทนที่โดย เกราซิมอฟ ยังบังเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่การโจมตีอย่างไม่มีการบันยะบันของฝ่ายรัสเซียโดยใช้โดรนและขีปนาวุธเล่นงานถล่มใส่ยูเครนนั้น ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงไป –โดยที่พวกเขาไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายในการทำลายจิตวิญญาณแห่งการป้องกันประเทศชาติของชาวยูเครนลงไปได้
เรื่องนี้ส่วนหนึ่งอาจจะบ่งชี้ให้เห็นว่าอาวุธและเครื่องกระสุนในคลังแสงของรัสเซียนั้นอยู่ในอาการร่อยหรอแล้ว แต่ –เมื่อพิจารณารวมไปกับการสู้รบทางภาคพื้นดินในดอนบาส (Donbas) ซึ่งดุเดือดเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ –มันก็เป็นการบ่งชี้ให้เห็นเช่นกันว่า รัสเซียได้หวนกลับมาโฟกัสเน้นหนักที่สงครามภาคพื้นดินใหม่อีกครั้ง และมีความคาดหวังที่จะช่วงชิงดินแดนให้ได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตข้างหน้า
(ภูมิภาคดอนบาส Donbas หรือดอนบาสส์ Donbass เป็นฐานอุตสาหกรรมสำคัญในยูเครนตั้งแต่สมัยที่ยูเครนยังเป็นสาธารณรัฐหนึ่งในสหภาพโซเวียต ประกอบด้วย 2 แคว้นทางภาคตะวันออกของยูเครน คือ โดเนตสก์ และลูฮันสก์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Donbas)
ขณะเดียวกัน การที่ ปูติน เปลี่ยนแปลงตัวผู้นำของฝ่ายทหาร ย่อมส่อให้เห็นว่ารัสเซียกำลังจะทำการรุก ไม่ว่าเฉพาะในดอนบาสเท่านั้น หรือว่าทั้งในดอนบาส และก็เปิดแนวรบแนวที่สองจากเบลารุสไปด้วย [20] ก็ตามที การระดมพลเป็นบางส่วนของรัสเซีย [21] ถึงแม้ประสบความยุ่งเหยิงวุ่นวาย แต่ก็ดำเนินไปได้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา เวลาใกล้เคียงกันนั้น รัสเซียยังประสบความสำเร็จในการอพยพโยกย้ายกองกำลังออกมาจากเมืองเคียร์ซอน (Kherson) และนำเข้าประจำการในที่อื่นๆ กันใหม่ [22]ในเดือนตุลาคมอีกด้วย
เรื่องนี้ทำให้เครมลินมีกำลังพลจำนวนสำคัญทีเดียวสำหรับการใช้งาน และก็มีเวลาสำหรับการปรับปรุงจัดกลุ่มกองกำลังกันใหม่ รวมทั้งฝึกอบรมพวกทหารที่เพิ่งระดมเกณฑ์มา และบูรณาการทหารใหม่เข้ากับกองทัพ เมื่อบวกเข้ากับการที่ฝ่ายรัสเซียมีความเหนือกว่าอย่างชัดเจนทางด้านอาวุธปืนใหญ่และจรวด ตลอดจนแสนยานุภาพทางอากาศ มันก็จะทำให้ เกราซิมอฟ มีศักยภาพที่จะกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบในเวลาเปิดรุกโจมตีต่อไปข้างหน้า
ด้วยเหตุนี้ สำหรับบทเรียนประการที่สาม –และก็เป็นบทเรียนสำหรับระยะยาวไกลยิ่งกว่า 2 บทเรียนแรกอีกด้วย คือว่า มีความจำเป็นที่ฝ่ายตะวันตกจะต้องให้ความสนับสนุนแก่ยูเครนมากขึ้น การให้คำมั่นสัญญา [23] ที่จะจัดส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศ และยานยนต์ใช้ในสนามรบเพิ่มขึ้นอีกแก่ยูเครน ถือเป็นจังหวะก้าวที่มีความสำคัญ แล้วในทันทีที่มีการจัดส่งให้ตามสัญญา มันก็ยังเป็นการส่งสัญญาณว่าฝ่ายตะวันตกยังคงหนุนหลังความพยายามในการป้องกันตัวของยูเครนอย่างมั่นคง รวมทั้งให้ความสนับสนุนเคียฟสำหรับจุดมุ่งหมายของพวกเขาที่จะฟื้นฟูบูรณภาพแห่งดินแดนกลับคืนมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่เมื่อพิจารณาว่าการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายตะวันตกมักเป็นไปด้วยความล่าช้าอยู่เป็นครั้งคราว ยุทธสัมภาระจากสหราชอาณาจักร โปแลนด์ ฝรั่งเศส รวมทั้งน่าจะจากเยอรมนีด้วย [24] จึงไม่น่าที่จะมีอิทธิพลอะไรต่อผลลัพธ์ของการสู้รบเพื่อแย่งชิงเมืองโซเลดาร์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้
เมื่อเป็นดังนั้น มองกันโดยภาพรวมแล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและรอบๆ เมืองโซเลดาร์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าการสู้รบในปัจจุบันจะมีผลออกมาอย่างไรก็ตามที นี่จะไม่ใช่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงอะไร นอกจากนั้น มันถือเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า สงครามคราวนี้น่าที่จะดำเนินต่อไปอีกยาวนานและมีราคาแพงลิ่ว
สเตฟาน วูล์ฟฟ์ เป็นศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ อยู่ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร
(ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/ukraine-war-the-bloody-battle-for-soledar-and-what-it-tells-us-about-the-future-of-the-conflict-197625)
เชิงอรรถ
[1] ttps://twitter.com/DefenceHQ/status/1612694326710079488/photo/1
[2] https://www.bbc.co.uk/news/64240404
[3] https://theprint.in/world/what-is-wagner-group-shadowy-russian-mercenaries-in-kyiv-to-assassinate-volodymyr-zelensky/851900/
[4] https://www.understandingwar.org/backgrounder/russian-offensive-campaign-assessment-january-11-2023
[5]https://twitter.com/DefenceHQ/status/1613421834564673543/photo/1
[6] https://www.rferl.org/a/ukraine-russia-donetsk-fighting-soledar/32220061.html
[7] https://www.reuters.com/world/europe/ukraine-denies-russia-controls-soledar-says-fighting-is-intense-2023-01-11/
[8] https://www.bbc.co.uk/news/world-europe-63580372
[9] https://twitter.com/Maxar/status/1613283217624399872
[10] https://www.rferl.org/a/ukraine-russia-donetsk-fighting-soledar/32220061.html
[11] https://www.reuters.com/world/europe/why-russia-is-targeting-ukrainian-town-soledar-2023-01-11/
[12] https://www.reuters.com/world/europe/russia-says-it-is-interested-future-talks-with-ukraines-human-rights-2023-01-12/
[13] https://www.understandingwar.org/backgrounder/russian-offensive-campaign-assessment-january-11-2023
[14] https://www.bbc.co.uk/news/world-europe-64235712
[15] https://www.reuters.com/world/europe/us-thinks-putin-ally-prigozhin-wants-control-salt-gypsum-mines-near-bakhmut-2023-01-05/
[16] https://www.thedailybeast.com/putin-crony-yevgeny-prigozhin-thinks-military-brass-are-out-to-get-him
[17] https://www.bbc.co.uk/news/world-europe-64235713
[18] https://www.reuters.com/world/europe/zelenskiy-says-ukraine-must-be-ready-belarus-border-2023-01-11/
[19] https://www.reuters.com/world/europe/belarus-says-joint-air-defence-units-with-russia-have-been-reinforced-2023-01-11/
[20] https://www.reuters.com/world/europe/ukraine-stages-war-games-near-belarus-amid-fears-russian-assault-2023-01-11/
[21] https://www.reuters.com/world/europe/russia-completes-partial-mobilisation-defence-ministry-2022-10-31/
[22] https://www.theguardian.com/world/2022/oct/13/russia-announces-kherson-evacuation-raising-fears-city-will-become-frontline
[23] https://www.rferl.org/a/marders-leopards-abrams-bradleys-western-weaponry-ukraine/32212668.html
[24] ttps://www.ft.com/content/092b8894-4441-4747-bfd4-5b21a0c68709