xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วยสไตล์ทางการทูตของ ‘ไบเดน’ ที่ทำให้มิตรห่างหาย กับของ ‘สีจิ้นผิง’ ที่มีเพื่อนมากขึ้นเรื่อยๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: จอร์จ คู ***


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ยิ้มแย้มเป็นมิตรกัน ขณะจับมือทักทายกันก่อนการเจรจาหารือทวิภาคีข้างเคียงการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี20 ที่เกาะบาหลี, อินโดนีเซีย  ทว่าสปิริตแห่งบาหลีเช่นนี้ช่างจางหายไปอย่างรวดเร็วยิ่ง
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

World sees contrasting styles in diplomacy
By GEORGE KOO
12/12/2022

ขณะที่กลุ่มจี7 ร่วมหัวลงโรงเป็นพันธมิตรที่ต้องคอยซูฮกพี่เบิ้มอย่างอเมริกา พวกประเทศใหญ่อื่นๆ กำลังเรียงแถวขอเข้าร่วมกลุ่ม BRICS และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) โดยที่ทั้ง 2 องค์การนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นพันธมิตรทางการทหาร แต่ต่างมีความสมานฉันท์ร่วมใจกันในการต่อต้านคัดค้านการวางตัวเป็นเจ้าใหญ่เหนือใคร และต่อต้านคัดค้านการทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว– ซึ่งมันก็หมายถึง สหรัฐฯ นั่นแหละ

ภายหลังการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้ว ผมเสนอแนะว่าพวกผู้ออกเสียงชาวอเมริกันยังไม่ได้ประกาศคำตัดสินเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศที่น่าเศร้าใจของคณะบริหารชุดปัจจุบันหรอก (ดูข้อเขียนชิ้นนี้ได้ที่ https://asiatimes.com/2022/11/bidens-next-two-years-look-bleak/) พัฒนาการหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ มานี้บ่งบอกให้เห็นว่า นโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะยังคงเป็นการมุ่งยืนกรานอ้างสิทธิที่อเมริกาจะเป็นเจ้าใหญ่นายโตเหนือใครๆ ในโลก

หลังจากการเลือกตั้ง ไบเดน ได้พบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในการเจรจาหารือที่จัดขึ้นข้างเคียงการประชุมซัมมิตของกลุ่มจี-20 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับระหว่างประเทศงานหนึ่ง ในการเจรจากันคราวนี้ ผู้นำทั้งสองได้สนทนาและแลกเปลี่ยนทัศนะกันแบบใจต่อใจเป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง

ฝ่ายจีนได้จดรายงานการพบปะหารือคราวนี้เอาไว้อย่างระมัดระวัง และโพสต์สรุปสิ่งที่ ไบเดน ได้พูดเอาไว้ให้สาธารณชนรับทราบ ขณะที่ฝ่ายอเมริกันไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้อย่างรอบคอบเช่นนั้น ทว่าก็ไม่ได้มีการโพสต์คัดค้านว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ฝ่ายจีนสรุปออกมา

ไบเดนนั้น โดยพื้นฐานแล้วได้เน้นย้ำคำสัญญาผูกพันของสหรัฐฯ ที่จะไม่แทรกแซงโครงสร้างการบริหารปกครองของจีน ไม่ก่อสงครามเย็นครั้งใหม่เอากับจีน ไม่ระดมพวกพันธมิตรมาจับกลุ่มคัดค้านต่อต้านจีน ไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นเอกราช ไม่ปฏิเสธหลักการที่ว่าจีนมีเพียงจีนเดียว

นอกจากนั้น เขายังพูดด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่ได้มีเจตนาที่จะริเริ่มทำให้เกิดการสู้รบขัดแย้งทางการทหารกับจีนขึ้นมา หรือมุ่งดำเนินสงครามทางเศรษฐกิจ หย่าร้างแยกระบบเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้ขาดจากกัน หรือสกัดขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ไม่ใช่คนขาวอย่างแน่นอน  แต่เขากลายเป็นตัวอย่างเด่นของสมาชิกคนสำคัญในทีมงานไบเดน ซึ่งทำตัวแบบสุภาษิตของชาวพื้นเมืองอเมริกันที่ว่า “คนขาวพูดจาแบบลิ้นสองแฉกอีกแล้ว”
น่าเสียดาย จิตวิญญาณแห่งบาหลีไม่ได้ยืนยาวอะไร

ทางฝ่าย สี ได้แสดงความพึงพอใจจุดยืนของฝ่ายอเมริกัน พร้อมกันนั้น ก็แสดงความหวังด้วยว่า พวกผู้ช่วยของ ไบเดน จะประพฤติปฏิบัติสิ่งที่สอดคล้องและอยู่ในร่องในรอยกับประดาคำสัญญาความผูกพันที่ประธานาธิบดีไบเดน แสดงออกมาให้เห็น ณ การพบปะหารือครั้งนี้

แต่แล้วก็เป็นอย่างสุภาษิตของชาวพื้นเมืองอเมริกันที่ว่า คนขาวพูดจาแบบลิ้นสองแฉกอีกแล้ว (the white man again spoke with a forked tongue) เพียงไม่นานหลังจาก ไบเดน เร่งรีบกลับสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมงานแต่งงานหลานสาวของเขาซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบขาว ทีมงานของเขาก็เริ่มต้นการรุมทึ้งเล่นงานจีนขึ้นมาใหม่

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นคนขาว แต่ก็กลายเป็นตัวอย่างหนึ่งของทีมงาน ไบเดน ซึ่งหยิบเอาไม้กระบองมาฟาดใส่จีนเมื่อเร็วๆ นี้ โดยในการร้องขอต่อคองเกรส ให้อนุมัติการจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมมูลค่าเป็นหลายแสนล้านดอลลาร์ เขาอ้างเหตุผลความชอบธรรมว่าการใช้จ่ายอย่างมหึมาดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อการเพิ่มการป้องปรามจีนอย่างมีประสิทธิผล
(คำแถลงของ ออสติน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nationaldefensemagazine.org/articles/2022/12/4/austin-declares-us-will-prevail-in-decisive-decade)

ว่าแต่ว่า จะป้องปรามจีนเพื่ออะไรกันล่ะ? จีนนั้นไม่ได้มีฐานทัพทางทหารกระจายอยู่ทั่วโลกแบบ ลุงแซม สักหน่อย แล้วจีนก็ไม่ได้มีกองเรือรบหลายๆ กองคอยแล่นตระเวนไปรอบๆ ทุกๆ ทะเล ทุกๆ มหาสมุทรเช่นกัน ขณะที่ ลุงแซม มีส่วนสำหรับกองทหารนาวิกโยธินทำหน้าที่สู้รบนั้น จีนมี แต่มันมีขนาดเพียงแค่เศษหนึ่งส่วนร้อยของที่ ลุงแซม มี ความจริงจึงเห็นกันโทนโท่อยู่อย่างนี้ ใครกำลังคุกคามใครกันแน่?

อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้หลักเหตุผลแบบกลับหัวกลับหางทำนองนี้ ก็คือการที่ ออสติน กล่าวอ้างคำพูดของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และตอบโต้ว่า “สงคราม (ที่ยูเครน) ไม่ได้เป็นผลลัพธ์จากการขยายตัวของนาโต้ แต่เป็นสาเหตุที่ทำให้ นาโต้ ต้องขยายตัวต่างหาก” ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ย่อมทราบกันเป็นอย่างดีแล้ว อย่างที่ประชาชนชาวอเมริกันสมควรจะทราบ ว่า นาโต้ หรือ สนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ มุ่งตบเท้าเดินหน้าไปทางตะวันออกสู่รัสเซียมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ขณะที่การรุกรานยูเครนของรัสเซียเพิ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nationaldefensemagazine.org/articles/2022/12/4/austin-declares-us-will-prevail-in-decisive-decade)

จากการใช้หลัก(ไร้)เหตุผลทำนองนี้นั่นเอง สหรัฐฯ จึงต้องคอยป้องปรามภัยคุกคามจากจีน เพราะพวกเราชาวอเมริกันตัดสินแล้วว่าจีนเป็นภัยคุกคาม จีนกล้าดียังไงถึงพัฒนามาตรการตอบโต้ต่างๆ มารับมือกับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ก้าวหน้าล้ำยุคของเรา จนกระทั่งลิดรอนสิทธิของเราที่จะเข้าโจมตีแบบข่มขวัญและสร้างความหวาดกลัว (shock and awe)? การกระทำเช่นนี้ของพวกเขาคือภัยคุกคามต่อความมั่นคงของเราชัดๆ ดังนั้นทางเลือกเพียงประการเดียวของเรา จึงได้แก่การต้องเพิ่มงบประมาณกลาโหมของเราให้พุ่งพรวดขึ้นเรื่อยๆ

ผลที่เกิดตามมาก็คือ ทั้ง ส.ส.ของพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎร เพิ่งผ่านร่างกฎหมายให้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 858,000 ล้านดอลลาร์แก่เรื่องการทหาร ตัวเลขนี้สูงกว่าที่ ไบเดน เสนอไปถึง 45,000 ล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ ทำไมต้องเพิ่มเงินให้อีกหลายพันล้านตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้างล่ะ? เพราะวอชิงตันต้องการให้แน่ใจได้ว่า อเมริกาจะรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเพียงพอจนสามารถนอนหลับในตอนกลางคืนได้นั่นเอง

โลกเข้าแถวยาวต้องการเป็นเพื่อนมิตรกับจีน

ในเวลาเดียวกันนั้น ประเทศอื่นๆ ของโลกต่างเฝ้าจับตามองการดำเนินการทางการทูตอย่างซุ่มซ่ามเงอะงะของ ไบเดน และได้ข้อสรุปกันว่า เมื่อฝ่ายอเมริกันขีดเส้นประกาศอาณาเขตห้ามล่วงละเมิดขึ้นมานั้น จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีความหมายอะไรหรอก อย่างไรก็ตาม ในเมื่อ ไบเดน สามารถที่ทำตัวให้น่ารักกับจีนได้ อย่างที่เขาทำเอาไว้ที่บาหลี แล้วทำไมประเทศอื่นๆ ในโลกจะทำมั่งไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ กาตาร์จึงเพิ่งทำข้อตกลงอายุ 27 ปีเพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติเหลวให้แก่จีน ซึ่งหมายความว่าจากนี้ไป กาตาร์ เพียงแค่สามารถเสนอขายสินค้านี้ในตลาดจร (spot-market) ได้เป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น ถ้าหากยังอาจจะทำได้บ้าง ทั้งนี้เพื่อสนองให้แก่สหภาพยุโรปที่กำลังหิวกระหายพลังงานเหลือเกิน

หลังการประชุมซัมมิตที่บาหลลีผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ สี จิ้นผิง ยังเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียเป็นเวลา 3 วันแบบเต็มรัฐพิธี ในฐานะเป็นอาคันตุกะของประมุขประเทศ (state visit) นั่นคือได้รับการต้อนรับอย่างสง่างามอลังการ ชนิดที่ในอดีต ซาอุดีฯ สงวนเอาไว้สำหรับพันธมิตรสำคัญที่สุดของตนเท่านั้น ซึ่งก็คือ สหรัฐฯ ทว่าตอนที่ ไบเดน บินไปซาอุดีอาระเบียในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น เขาได้รับการต้อนรับแบบโลว์ โปรไฟล์ เพียงแค่ระดับได้ยกกำปั้นขึ้นมาสัมผัสกับฝ่ายเจ้าภาพแค่นั้นเอง

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ไบเดน ยังต้องอับอายขายหน้าเมื่อกลุ่มโอเปกพลัส ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย เพิกเฉยต่อคำขอร้องของเขาที่ให้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันป้อนเข้าสู่ตลาด เพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลง รวมทั้งผ่อนคลายแรงบีบคั้นด้านเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ลงไปด้วย แทนที่จะยินยอมกระทำตาม ซาอุดีอาระเบียกลับทำในสิ่งตรงกันข้ามด้วยซ้ำ โดยตัดลดการผลิตลง

ซาอุดีอาระเบีย ต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนที่ไปเยือน อย่างตั้งใจให้เกียรติกันเต็มที่  อย่างเช่นเจ้าชายมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งเป็นผู้ปกครองในทางพฤตินัยของซาอุดีอาระเบีย ยื่นมือมาให้สัมผัส ตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีสี เพิ่งก้าวลงจากรถ
ซาอุดีฯ ให้ความมั่นใจด้านความมั่นคงทางพลังงานแก่จีน

ขณะอยู่ในกรุงริยาด สี ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านกับทางซาอุดีอาระเบีย ฉบับหนึ่ง ส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้ครอบคลุมทั้งการย้ำยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และระบุว่าทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นที่จะไม่แทรกแซงเข้าไปในกิจการภายในของอีกฝ่ายหนึ่ง มาตรการเหล่านี้กำหนดขึ้นมาเพื่อให้เป็นคุณประโยชน์แก่สหรัฐฯ ซึ่งกำลังเฝ้าจ้องมองดูอยู่ข้างๆ

การค้าทวิภาคีระหว่างจีนกับซาอุดีอาระเบีย มีมูลค่า 87,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 สูงขึ้นเกือบๆ 34% จากปีก่อนหน้า โดยที่ทั้งสองฝ่ายมีการนำเข้าและการส่งออกให้แก่กันในระดับเรียกได้คร่าวๆ ว่าสมดุล ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบดุลการค้า สี ยังตั้งข้อสังเกตว่า แผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน เป็นตัวเสริมเติมที่สมบูรณ์แบบมากสำหรับการช่วยเหลือฝ่ายซาอุดีฯ ทำให้เป้าหมายต่างๆ ตามแผนการวิสัยทัศน์ 2030 (Vision 2030) ของทางการริยาดบรรลุผลกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ ทั้งนี้ ผลเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมาก็คือ ฝ่ายซาอุดีฯ จับมือให้บริษัทหัวเว่ยของจีนเข้าไปช่วยเหลือในการสร้างเมืองอัจฉริยะ

สี ยังให้ความเห็นชอบขั้นสุดท้ายแก่ข้อตกลงเรื่องน้ำมันที่มีมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งเสนอแนะให้ใช้สกุลเงินตราเหรินหมินปี้ (หยวน) ของจีนในการชำระเงิน แทนที่จะใช้เปโตรดอลลาร์ การลดความสำคัญของสกุลเงินดอลลาร์ลงขนาดนี้จะต้องเป็นข่าวปึงปังระเบิดระเบ้อ แต่ทั้ง ปักกิ่ง กับ ริยาด อาจเลือกที่จะเก็บเงียบเอาไว้ก่อนสำหรับสิ่งที่อาจจะกลายเป็นการเริ่มต้นแห่งจุดสิ้นสุดของฐานะความเป็นสกุลเงินตราเพื่อการเป็นทุนสำรองของโลกของดอลลาร์อเมริกัน

การรักษาหน้าเอาไว้ให้ดีที่สุดซึ่งสื่อ วอลล์สตรีทเจอร์นัล สามารถกระทำได้เกี่ยวกับซัมมิตริยาดคราวนี้ ก็คือการออกมาพูดว่า “จีนยังไม่ได้สาธิตให้เห็นว่า มีความสนใจหรือมีความสามารถในการแย่งชิงบทบาทซึ่งมีอยู่อย่างกว้างขวางของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง รวมทั้งฝ่ายซาอุดีฯ ก็ไม่ได้มีความต้องการจริงๆ ที่จะหาคนอื่นมาแทนที่สหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันความมั่นคงรายหลักของพวกตน พวกนักวิเคราะห์พูดกันเช่นนี้” สำหรับผม ขอบอกว่านี่ช่างเป็นตัวอย่างระดับคลาสสิกของความพยายามปิดบังอำพรางจุดอ่อนข้อบกพร่องฉกาจฉกรรจ์ระดับรากฐาน ด้วยการเปลี่ยนอะไรนิดๆ หน่อยๆ แค่เปลือกนอกผิวเผิน อย่างที่มีสำนวนพูดกันว่า พยายาม “ทาลิปสติกให้หมู” (put lipstick on the pig)
(ความเห็นของวอลล์สตรีทเจอร์นัล ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.com/articles/chinas-xi-jinping-visits-saudi-arabia-amid-strained-u-s-ties-11670417310)
(สำนวน put lipstick on the pig ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Lipstick_on_a_pig#:~:text=The%20phrase%20to%20put%20%22lipstick,dating%20back%20to%20biblical%20times. -ผู้แปล)

ริยาด ยังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิตบรรดาผู้นำของรัฐริมอ่าวอาหรับ กับ สี เพื่อหารือกันในเรื่องการขยายความร่วมมือ ซึ่งไม่เพียงแค่ทางด้านพลังงานเท่านั้น แต่ยังในเรื่องการค้าและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย อย่างที่เวิลด์คัพ 2022 ในกาตาร์ แสดงให้เห็นเอาไว้เยอะแยะมากมาย พวกสถานที่ระดับเวิลด์คลาสสำหรับการแข่งขันฟุตบอลในมหกรรมกีฬารายการนี้ ตลอดจนพวกโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสนับสนุนจำนวนมากทีเดียวสร้างขึ้นโดยบริษัทของจีน

พวกรัฐริมอ่าวอาหรับมีเงินทองเยอะแยะ แต่จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยพวกเขาให้สามารถหันไปหาเส้นทางแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจสายอื่นๆ และแตกแขนงออกไปจากการต้องพึ่งพาอาศัยน้ำมันเพียงอย่างเดียว แล้ว จีน นั้นยิ่งกว่ายินดีเสียอีกที่จะสนองความต้องการดังกล่าว โดย จีน ยังไม่มีการตั้งเงื่อนไขข้อกำหนดว่าจะต้องยินยอมสวามิภักดิ์ในทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือเรียกร้องต้องการให้สามารถเข้าถึงให้สามารถเข้าใช้งานฐานทัพทางทหารแห่งต่างๆ

นอกจากเหล่ารัฐริมอ่าวอาหรับแท้ๆ แล้ว ยังมีผู้นำของอียิปต์ ตูนิเซีย อิรัก โมร็อกโก แอลจีเรีย และอื่นๆ เข้าร่วมซัมมิตริยาดครั้งนี้ด้วย แล้วยิ่งเมื่อบวกกับข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่จีนมีอยู่แล้วกับอิหร่านเป็นเวลา 25 ปีแล้ว จีนก็สามารถนับประชาชนจำนวนราว 1,800 ล้านคนของโลกอิสลาม ว่ามีฐานะเป็นเพื่อนมิตรกันแดนมังกร

ข้อกล่าวหาของฝ่ายตะวันตกในเรื่องที่จีนสร้างกับดักหนี้สินขึ้นมาจากการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการต่างๆ ตามแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง กำลังกลายเป็นคำพูดที่ว่างเปล่ากลวงโบ๋ และถูกเมินเฉยจากส่วนใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งกลับมีความปรารถนาที่จะมีความสัมพันธ์แบบที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กันและกันอย่างที่จีนเสนอ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้รับการต้อนรับแบบจืดๆ ขณะไปเยือนซาอุดีอาระเบีย โดยที่เจ้าชายมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งเป็นผู้ปกครองในทางพฤตินัยของซาอุดีอาระเบีย แค่ยกกำปั้นออกมาสัมผัสกับ ไบเดน
เป็นพันธมิตรกับจีนโดยผ่านกลุ่ม BRICS, องค์การ SCO

ประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ นอกเหนือจากพวกในกลุ่มจี7 ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ต่างกำลังเข้าแถวแสดงความจำนงที่จะเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ (BRICS) และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization ใช้อักษรย่อว่า SCO) โดยทั้งหมดที่จะต้องเสาะหามาเพื่อจะได้เข้าร่วมก็คือคำเชิญ ขณะที่การเป็นสมาชิกไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ

ชื่อของกลุ่ม BRICS มาจากอักษรตัวหน้าของชื่อภาษาอังกฤษของ 5 ชาติสมาชิกในเวลานี้ อันได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ วัตถุประสงค์ขององค์การนี้คือส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง การพัฒนา และความร่วมมือกัน เวลานี้มีชาติต่างๆ ยาวเหยียดทีเดียวที่แสดงความสนใจอยากจะเข้าร่วม หรือกระทั่งยื่นสมัครอย่างเป็นทางการแล้วเพื่อเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้

ในจำนวนนี้ มีซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมอง บริกส์ ว่า เป็นลูกค้ารายสำคัญสำหรับสินค้าน้ำมันของตน นอกจากนั้น ยังมีตุรกี ที่เป็นสมาชิกรายหนึ่งของนาโต้ ทั้งนี้ ตุรกีมองกลุ่มนี้ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับป้องกันความเสี่ยงในทางภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อจะได้ไม่ต้องร่วมหัวจมท้ายกับฝ่ายตะวันตกเพียงด้านเดียว นอกจากนั้น มันยังเป็นการเพิ่มความผูกพันอีกสายหนึ่งกับประเทศจีนด้วย

สำหรับ SCO จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการต่อต้านฝ่ายตะวันตก ชาติสมาชิกขององค์การนี้ประกอบไปด้วย จีน รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน ในตอนหลังๆ นี้ยังมีอินเดีย และปากีสถาน เพิ่มเข้ามา ขณะที่ อิหร่าน ก็เพิ่งกลายเป็นสมาชิกรายล่าสุด

ไม่ว่า SCO หรือ BRICS ต่างก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหาร แต่ทั้ง 2 องค์การนี้ต่างมีความสมานฉันท์ร่วมใจกันในการต่อต้านคัดค้านการวางตัวเป็นเจ้าใหญ่เหนือใคร (hegemony) และต่อต้านคัดค้านการทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว (unilateralism) – ซึ่งมันก็หมายถึงสหรัฐฯ นั่นแหละ ข้อเท็จจริงที่ว่ากระทั่งพวกรัฐที่เป็นศัตรูไม้เบื่อไม้เมากันกัน อย่างเช่น อินเดีย กับปากีสถาน และอิหร่าน กับซาอุดีอาระเบีย สามารถจะมองเห็นพื้นที่ซึ่งพวกเขามีอยู่ร่วมกันและพร้อมเข้าร่วมอยู่ในองค์การเดียวกันได้เช่นนี้ ย่อมเป็นทิศทางแห่งความหวังสำหรับสันติภาพของโลก

ประเทศต่างๆ จำนวนมากของโลกที่อยู่นอกค่ายตะวันตก ไม่ได้มองเห็นผลประโยชน์ใดๆ เลย จากการเข้าร่วมกลุ่มเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เพียงเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวคล้ายๆ กับการที่ต้องนอนอยู่กับเสือร้าย แม้กระทั่งพันธมิตรบางส่วนของสหรัฐฯ เองเวลานี้ก็มองเห็นด้านย่ำแย่เลวร้ายของการต้องเผชิญกับการทำอะไรตามอำเภอใจแห่งลัทธิวางตัวเป็นเจ้าใหญ่นายโตเหนือใครๆ ของอเมริกัน

ลัทธิทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว และไบเดน

เอเอสเอ็มแอล (ASML) ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ กำลังท้าทายอย่างเปิดเผยต่อมาตรการแซงก์ชันของทำเนียบขาวที่มุ่งควบคุมห้ามปราบการขายเครื่องจักรอุปกรณ์ photolithographic machines ให้จีน เอเอสเอ็มแอล นั้น เป็นผู้นำหน้าใครเพื่อนในโลกในเรื่องการทำเครื่องจักรพิมพ์แผ่นชิปเหล่านี้ ที่แต่ละเครื่องมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ และเป็นอุปกรณ์อันจำเป็นสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เวลานี้จีนคือลูกค้ารายสำคัญที่สุดของบริษัท และการไม่ขายให้แก่จีนจึงเหมือนกับการสั่งให้บริษัทฆ่าตัวตาย

ทางด้าน ซัมซุง ก็ลงทุนไปอย่างมหาศาลในโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ต่างๆ ซึ่งตั้งขึ้นในจีน เพื่อผลิตชิปสำหรับพวกลูกค้าที่อยู่ภายในประเทศจีน ซัมซุง ซึ่งเป็นไปได้ว่าได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเกาหลีใต้ด้วย จึงกำลังพยายามหาทางให้ได้รับการยกเว้นบางอย่างบางประการ เพื่อดิ้นรนให้หลุดพ้นออกมาจากคำสั่งแบนจีนของวอชิงตัน

ขณะที่บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC) คือเหยื่อผู้ประสบเคราะห์กรรมหนักหน่วงที่สุดของสงครามชิป ที่มิได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการคราวนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทไต้หวันแห่งนี้มีกระบวนการในการผลิตชิปที่ก้าวหน้าที่สุด และได้รับการยอมรับกันว่าเป็นผู้นำในเรื่องการทำชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่ล้ำยุคที่สุดให้แก่โลก

ด้วยเหตุผลนี้เอง วอชิงตันจึงพิจารณาว่าการที่ ทีเอสเอ็มซี มีที่ตั้งอยู่ในไต้หวัน เฉกเช่นเวลานี้ ถือเป็นความเสี่ยงประการหนึ่งสำหรับความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ

ผลที่เกิดขึ้นคือ ทีเอสเอ็มซี ถูกบีบบังคับให้ต้องรื้อถอนสายงานผลิตในโรงงานทำชิปของตนที่ไต้หวัน แล้วจัดส่งไปยังรัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ พร้อมด้วยทีมงานทางเทคนิคและทีมงานบริหารจัดการ

นอกจากนั้นแล้ว ในกรณีที่ถ้าหากไต้หวัน ต้องเผชิญหน้ากับการที่จะถูกรุกรานอยู่รอมร่อแล้วจากกองทัพปลดแอกประชาชนจีนของแผ่นดินใหญ่ สหรัฐฯ ซึ่งได้รับความยินยอมอย่างอ้อมๆ จากรัฐบาลไทเป ก็คงจะระเบิดทำลายโรงงานสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ของ ทีเอสเอ็มซี ที่ยังเหลืออยู่ในไต้หวัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/12/us-mulls-scorched-earth-strategy-for-taiwan/)

ภาพเต็มๆ ที่สามารถมองเห็นได้จากการเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้เราบรรลุข้อสรุปที่น่าจับตาหลายๆ ประการทีเดียว เป็นต้นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ นั้นไม่ได้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ทีเอสเอ็มซี อะไรกับเขาทั้งสิ้น แต่กลับไม่ได้มีความรู้สึกสำนึกผิดใดๆ เลยในเรื่องที่คิดจะทำลายโรงงานต่างๆ ของบริษัทให้ราบเรียบยับเยิน ในนามของการพิทักษ์รักษาความมั่นคงแห่งชาติ –แน่นอนทีเดียว ความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา

ไม่ว่าการบีบคั้นให้โยกย้ายไปที่แอริโซนา หรือการวางแผนการทำลายทรัพย์สินต่างๆ ของทีเอสเอ็มซี ที่ยังเหลืออยู่ในไต้หวันเช่นนี้ ย่อมเท่ากับเป็นการยอมรับว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถคุ้มครองป้องกันไต้หวันจากการบุกของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ เห็นได้อย่างชัดเจนทีเดียวว่า ชะตากรรมของประชาชน 24 ล้านคนที่พำนักอาศัยอยู่ในไต้หวันเวลานี้ ไม่ใช่สิ่งที่วอชิงตันสนใจห่วงใยอะไรเลย

ยิ่งไปกว่านั้น การอพยพพวกวิศวกรช่างเทคนิคและทีมผู้บริหารทั้งหมดออกมาจากไต้หวัน และให้โยกย้ายไปอยู่ที่แอริโซนากันทั้งยวง คือการยอมรับอยู่ในตัวว่า สหรัฐฯ ไม่ได้มีชุดทักษะความชำนาญและศักยภาพที่จะดำเนินกิจการโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับไฮเทคล้ำยุคอีกต่อไปแล้ว

มอร์ริส จาง (Morris Chang) ผู้ก่อตั้ง ทีเอสเอ็มซี ที่ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว เคยพูดเอาไว้ในอีกวาระโอกาสหนึ่ง ซึ่งคมคายตรงประเด็นเอามากๆ โดยเขาบอกว่า ต้นทุนสำหรับการผลิตในสหรัฐฯ จะสูงกว่าในไต้หวันอย่างน้อยที่สุด 50% แน่นอนทีเดียวว่าเรื่องนี้ย่อมไม่ใช่ข่าวดีสำหรับการกำราบแรงบีบคั้นด้านเงินเฟ้อให้ลดถอยลงแต่อย่างใด

แต่ในพิธีตัดริบบิ้นที่แอริโซนา เนื่องในโอกาสการเดินทางมาถึงของพวกเครื่องจักรอุปกรณ์โรงงานของ ทีเอสเอ็มซี จาง ใช้จุดยืนที่ถอยหลังกลับมาเป็นบางส่วน โดยเขากล่าวว่า ต้นทุนการดำเนินงานในสหรัฐฯ ที่สูงกว่าในไต้หวัน 50% นั้น คือตอนที่ ทีเอสเอ็มซี ลงแรงพยายามทีแรกสุดเพื่อดำเนินกิจการโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ในรัฐออริกอน เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

ออริกอน ไม่เคยกลายเป็นฐานการผลิตที่มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดในแง่เศรษฐกิจ จนทำให้บริษัทต้องการขยายการปรากฏตัวในสหรัฐฯ เลย มาถึงในเวลานี้ จางดูเหมือนจะพูดเป็นนัยๆ ว่า ฟินิกซ์ (เมืองเอกของรัฐแอริโซนา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานใหม่ของ ทีเอสเอ็มซี -ผู้แปล) จะเป็นกรณีที่แตกต่างออกไป เนื่องจากได้เรียนรู้บทเรียนจากอดีตมาแล้ว

ไบเดนเริงร่าประกาศว่าอุตสาหกรรมการผลิตสหรัฐฯ หวนกลับคืนมาแล้ว

ไบเดน ได้ไปพูดปราศรัยในพิธีเฉลิมฉลองคราวนี้ โดยประกาศว่า “อุตสาหกรรมการผลิตสหรัฐฯ หวนกลับคืนมาแล้ว” บางที เขาอาจจะกำลังคิดว่า จาง เป็นพลเมืองอเมริกันคนหนึ่งกระมัง หรือว่าเขากำลังคิดถึงผู้คนกลุ่มแรกจากจำนวน 300 คนที่จะมาจากไต้หวัน ซึ่งจะได้รับ “กรีนการ์ด” (ใบอนุญาตให้พำนักอาศัยอย่างถาวรในสหรัฐฯ) ในทันที และก็จะกลายเป็นชาวอเมริกันไปโดยสุจริตไร้ปัญหาใดๆ หรือว่าบางทีเขาอาจจะเพียงแค่ดีอกดีใจกับความสำเร็จของการแสดงมายากลที่นำเอาโรงงานไฮเทคมูลค่ามหาศาลเข้ามายังอเมริกาได้อย่างง่ายดาย ราวกับไปหยิบอาหารสำเร็จรูปที่วางขายอยู่ในร้านสะดวกซื้อ

และเพื่อให้สอดคล้องกับการอวดอ้างของ ไบเดน ควรต้องมีคนไปบอกกล่าวเรื่องราวทั้งหมดทั้งสิ้นให้สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) รับทราบนะครับ เพื่อไม่ให้เกิดคดีเจ้าหน้าที่เอฟบีไอเข้ากวาดจับพวกคนหน้าตาเอเชียท่าทางน่าสงสัยซึ่งกำลังเดินท่อมๆ อยู่ในเมืองฟีนิกซ์ คนเหล่านี้เป็น “อเมริกัน” ที่เพิ่งเดินทางมาถึงครับ ท่านเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ไม่ใช่สปายสายลับจากประเทศจีน

ผู้ที่เข้าร่วมพิธีคราวนี้ด้วย ยังมีคนดังๆ อย่างเช่น โรบิน คุก (Robin Cook) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิล เจนเสน ฮวง (Jensen Huang) ซีอีโอของ อินวิเดีย (Nvidia) และลิซา ซู (Lisa Su) ซีอีโอของ เอเอ็มดี (AMD) ไม่มีใครเซอร์ไพรส์เลยที่พวกเขาทั้งหมดต่างพูดสรรเสริญยกย่องลู่ทางโอกาสต่างๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการมีโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับเฟิสต์คลาส ที่จะเป็นซัปพลายเออร์ป้อนชิปคุณภาพเยี่ยมให้พวกเขา มาตั้งอยู่ที่สนามหลังบ้านของพวกเขาเช่นนี้

เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การผ่องถ่ายปรับเปลี่ยนให้ TSMC (ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี) กลายมาเป็น USSMC (ยูไนเต็ด สเตท เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี) คราวนี้ จะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง หรือกลายเป็นอีกกรณีหนึ่งของการทาลิปสติกให้แก่หมู

เราสามารถมองเห็นกันได้อยู่แล้วว่า ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันนั้นไม่ใช่ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนคนนั้นเที่ยวร้องขอ ไบเดน ไม่หยุดไม่หย่อนให้จัดส่งอาวุธ ข้าวของเงินทองมากขึ้นอีกหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อให้พวกเขายังคงสู้รบกับรัสเซียต่อไป ไช่ นั้นไม่ได้ร้องขอเงินทองเงินทุนใดๆ ทั้งสิ้น เธอยอมหมอบราบคาบแก้วและยินดีปรีดาที่จะยกเพชรระดับมงกุฎของไต้หวัน เพื่อเอาอกเอาใจเจ้านายอเมริกันของเธอ

จีนสร้างมิตรภาพไปทั่วโลก ส่วนสหรัฐฯ วิ่งไล่ตามด้วยการบิดแขนบิดขาบีบคั้นพวกพันธมิตรของตนอย่างแรงๆ บนหลักการซึ่งกำหนดขึ้นตามอำเภอใจฝ่ายเดียวที่ว่า ทั้งหมดทั้งสิ้นต้องเป็นไปเพื่อความดีงามของอเมริกา ดังนั้น จึงไม่มีใครเซอร์ไพรส์เลย ที่จำนวนเพื่อนมิตรของสหรัฐฯ กำลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ

บางทีอาจจะถึงเวลาแล้วที่คณะบริหารไบเดนจะต้องรับฟังความคิดเห็นของคอมเมนเตเตอร์ผู้หนึ่งในหนังสือพิมพ์ เดอะ ฮาร์วาร์ด คริมสัน (The Harvard Crimson) ซึ่งไม่ได้เป็นแฟนานุแฟนของประเทศจีนแต่อย่างใด เขาเขียนเอาไว้ดังนี้: “มันถึงเวลาแล้วที่ชาวอเมริกันควรต้องยุติการเอาแต่สงสารตัวเอง และเลิกราความพยายามที่จะกอบกู้ฐานะครอบงำเหนือกว่าให้กลับคืนมาอีก ตรงกันข้าม เราควรกำหนดวางแผนเส้นทางสายใหม่แห่งความร่วมมือทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เส้นทางสายใหม่ซึ่งวางรากฐานอยู่บนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูลข่าวสาร”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thecrimson.com/article/2022/12/2/palys-china-trap-op-ed/)

ดร.จอร์จ คู เกษียณอายุจากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances ปัจจุบันเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการของเฟรชฟิลด์ (Freschfield) แพลตฟอร์มการก่อสร้างล้ำยุคแบบสีเขียว


กำลังโหลดความคิดเห็น