xs
xsm
sm
md
lg

‘รัสเซีย’ ถูกบีบให้ต้อง ‘ชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด’ ในยูเครน แม้อาจประจันหน้ากับ ‘สหรัฐฯ-นาโต้’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร ***


(ภาพจากแฟ้ม) ระบบป้องกันขีปนาวุธ “แพทริออต” ของสหรัฐฯ ซึ่งติดตั้งอยู่ที่สนามบินสเลียค (Sliac) ในเมืองสเลียค ใกล้ๆ กับเมืองซโวเลน (Zvolen), สโลวาเกีย ในภาพซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2022  ทั้งนี้รัสเซียเตือนว่า ถ้าวอชิงตันจัดส่งระบบอาวุธทันสมัยนี้ให้แก่ยูเครน มันก็จะกลายเป็นเป้าหมายอันชอบธรรมที่มอสโกจะเข้าโจมตี
Why time isn’t ripe for Ukraine talks
BY M. K. BHADRAKUMAR
19/12/2022

สหรัฐฯ เตรียมที่จะเข้าพัวพันแทรกแซงในยูเครนเป็นระยะยาว โดยไม่เร่งร้อนที่จะกดดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพ ขณะที่ ทางเลือกสำหรับรัสเซียหดแคบลงมาจนเหลือเพียงแค่การทำให้ยูเครน ต้องปราชัยอย่างยับเยินในช่วงเวลาหลายๆ เดือนข้างหน้านี้ และจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นในเคียฟ ซึ่งไม่ตกอยู่ใต้การควบคุมของวอชิงตัน แต่จะทำเช่นนี้ได้ รัสเซียต้องเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การทหารจนถึงระดับรากฐาน โดยรวมถึงการคาดหมายด้วยว่าอาจจะเกิดการประจันหน้ากับสหรัฐฯ และนาโต้

รัสเซียและอเมริกากำลังทำท่าจะมี “ฉันทมติ” ร่วมกันว่า การสู้รบขัดแย้งในยูเครนเวลานี้ บรรยากาศอยู่ในสภาพห่างไกลเกินกว่าที่จะนำไปสู่การเจรจาสันติภาพได้ จุดยืนของรัสเซียคือการตกลงรอมชอมใดๆ ก็ตาม จะต้องทำให้ เคียฟ ยอมรับรอง “ความเป็นจริง” – นั่นคือ การยอมรับว่า ทั้งแคว้นไครเมีย, โดเนตสก์ (Donetsk), ลูฮันสก์ (Luhansk), ซาโปรอซเย (Zaporozhye) และเคียร์ซอน (Kherson) ต่างกำลังถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียแล้ว
(ซาโปรอซเย Zaporozhye เป็นชื่อเรียกแคว้นนี้ในภาษารัสเซีย ขณะที่ยูเครนเรียกว่า ซาร์โปริซเซีย Zaporizhzhia ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Zaporizhzhia -ผู้แปล)

แต่ รัสเซีย ไม่ทราบหรือว่าไม่มีรัฐบาลไหนใน เคียฟ หรอกที่สามารถแบกรับภาระของการยินยอมทำตามข้อเรียกร้องเช่นนี้ ซึ่งส่งผลทำให้ต้องสูญเสียดินแดนมากกว่า 1 ใน 4 ของประเทศ? ในอีกด้านหนึ่ง เคียฟ ก็ต้องการที่จะให้ยกเลิกการยึดครองของรัสเซีย และฟื้นฟูเส้นเขตแดนของยูเครนในปี 1991 ขึ้นมาใหม่ โดยที่มีคณะบริหารไบเดนให้การสนับสนุน พวกเขาไม่ทราบหรือว่านี่เป็นเรื่องจินตนาการฝันเฟื่อง?

เป็นความจริง เนื่องจากแคว้น 4 แคว้นที่เคยเป็นของยูเครนก่อนหน้านี้ (นั่นคือ ยกเว้นไม่ต้องพูดถึงไครเมีย) ยังคงอยู่ในสภาพห่างไกลจากการตกอยู่ใต้ความควบคุมอย่างสมบูรณ์ของรัสเซีย และเครมลินมีความมุ่งมั่นที่จะ “ปลดปล่อย” แคว้นเหล่านี้ให้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การสู้รบจึงกำลังดำเนินอยู่ในดอนบาสส์ (Donbass ภูมิภาคซึ่งประกอบด้วย แคว้นโดเนตสก์ และแคว้นลูฮันสก์) โดยที่ความเคลื่อนไหวต่อๆ ไปของรัสเซียในการเข้าควบคุมอย่างสมบูรณ์เหนือแคว้นซาโปรอซเย และแคว้นเคียร์ซอน ย่อมจะขึ้นอยู่กับผลของการทำศึกที่ดอนบาสส์

แต่คำถามข้อใหญ่ยังคงมีอยู่ว่า กระทั่งเมื่อรัสเซียยึดดินแดนเหล่านี้ได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว จะมีรัฐบาลไหนในเคียฟ ที่สามารถยอมจำนนสละดินแดนผืนใหญ่โตเหล่านี้ของยูเครน ภายหลังจากที่มีการเสียสละกันถึงขนาดนี้แล้วของประชาชน? นี่อาจจะทำให้รัสเซีย ไม่มีทางเลือกอย่างอื่นนอกจากต้องหาทางทำให้ตนเองได้รับชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ท่าทีของคณะบริหารไบเดน ต้องถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยที่เครื่องบ่งชี้ล่าสุดซึ่งเป็นสัญญาณแสดงว่าสหรัฐฯ ยังไม่ได้มีความรู้สึกเอาเสียเลยว่าต้องรีบเร่งเจรจาหาทางออกนั้น สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจาก เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ผู้ซึ่งเดินทางไปเยือน เคียฟ เมื่อเดือนที่แล้ว (ก่อนหน้าการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ นิดเดียว) การไปของเขาคราวนั้นเคยเป็นชนวนทำให้เกิดการคาดเดากะเก็งอย่างสับสนขึ้นมาว่า วอชิงตันกำลงพยายามกดดันให้ประธานาธิบดีเซเลนสกี ต้องยอมเจรจา

มาถึงตอนนี้ ความคิดความเห็นของ ซัลลิแวน ที่พูดไว้ระหว่างการไปปรากฏตัวที่มูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) ในกรุงวอชิงตัน เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เป็นที่กระจ่างว่า สหรัฐฯ เตรียมตัวจะอยู่ในยูเครน เป็นระยะเวลายาวนาน โดยเขาพูดเอาไว้ดังนี้:

“เราไม่ทราบหรอกว่าเรื่องนี้จะดำเนินไปจนถึงจุดสิ้นสุดเมื่อใด สิ่งที่เราทราบแน่ๆ ก็คือว่ามันเป็นงานของเราที่จะยังคงให้การสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน อย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อที่พวกเขาจะอยู่ในสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ของพวกเขาในสนามรบ แล้วถ้าหากว่าเมื่อใดมีความสุกงอมที่จะดำเนินการในทางการทูตแล้ว พวกเขาก็จะอยู่ในฐานะที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้บนโต๊ะเจรจา

“เวลานี้ยังไม่ถึงช่วงขณะแห่งความสุกงอมดังกล่าว และด้วยเหตุนี้ สิ่งที่จะออกมาก็คือ เราจะไปที่คองเกรส (รัฐสภาสหรัฐฯ) เพื่อร้องขอทรัพยากรต่างๆ ในจำนวนที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อไปอีก เพื่อให้สามารถสืบต่อสร้างความแน่ใจขึ้นมาว่า ยูเครน มีเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ สำหรับการสู้รบในสงครามนี้ เรามีความมั่นใจว่าเราจะได้รับความสนับสนุนจากทั้งสองพรรคสำหรับเรื่องนี้ ...

“ผมไม่ได้กำลังจะกำหนดชี้นำอนาคตหรอกนะ ผมเพียงแต่กำลังจะทำให้เกิดความแน่ใจกันว่า ในปัจจุบันนี้เรากำลังทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสามารถทำได้เพื่อทำให้ ยูเครน มีโอกาสในระดับสูงสุดสำหรับการป้องกันอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของตนเอง ... ครับ มันน่าจะต้องดำเนินไปอีกสักช่วงเวลาหนึ่งทีเดียว...”


โดยพื้นฐานแล้ว สหรัฐฯ ประกาศอ้างว่าตนเป็นฝ่ายที่กำลังมีชัยในยูเครน และคำทำนายวินิจฉัยอาการโรคของ ซัลลิแวน เช่นนี้ มีความสอดคล้องเข้ากันได้อย่างกว้างๆ กับข้อเขียนชิ้นหนึ่งของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ เฮนรี คิสซิงเจอร์ ของสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ทางนิตยสารสเปคเตเตอร์ (Spectator) โดยที่ในบทความนี้ เขาได้พูดถึงชุดข้อเสนอว่าด้วยยูเครนชุดล่าสุดของเขา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.spectator.co.uk/article/the-push-for-peace/)

น่าสนใจที่ คิสซิงเจอร์ อ้างในบทความชิ้นนี้ว่า “ยูเครนได้กลายเป็นรัฐใหญ่รัฐหนึ่งในยุโรปกลางเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ด้วยความช่วยเหลือจากเหล่าพันธมิตรของตน และได้รับแรงบันดาลใจจากประธานาธิบดีของตน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ยูเครนนั้นสามารถสกัดกั้นกองกำลังอาวุธตามแบบแผน (conventional forces นั่นคือ ส่วนที่ไม่ใช่กองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ -ผู้แปล) ของรัสเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทอดเงาดำปกคลุมเหนือยุโรปเรื่อยมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และระบบระหว่างประเทศ –รวมทั้งจีนด้วย— กำลังคัดค้านการที่รัสเซียข่มขู่ที่จะใช้ หรือจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ของตน”

ดูเหมือนว่า คิสซิงเจอร์มีการปรับเปลี่ยนไปจากการประเมินของเขาก่อนหน้านี้แล้ว และพยายามที่จะทำให้การเฝ้ามองของเขาสอดคล้องต้องกันกับการทำนายวินิจฉัยอาการโรคเกี่ยวกับสถานการณ์การสู้รบขัดแย้งนี้ของทางคณะบริหารไบเดน และจากทัศนะมุมมองแบบด้านเดียวเช่นนี้ เวลานี้ คิสซิงเจอร์ จึงกำลังป่าวร้องสนับสนุนกระบวนการสันติภาพชนิดที่จะ “เชื่อม ยูเครน เข้าไว้กับ นาโต้ ไม่ว่าจะมีการแสดงออกกันอย่างไรก็ตามที” และรัสเซีย ก็จะต้องถอนออกไปสู่เส้นเขตแดนก่อนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ขณะที่ดินแดนอื่นๆ ที่ ยูเครน กล่าวอ้างสิทธิ์ –โดเนตสก์, ลูฮันสก์ และไครเมีย—“อาจถือเป็นหัวข้อสำหรับการเจรจากันภายหลังมีการหยุดยิง”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พิเศษมากจากคำพูดแสดงความคิดเห็นของ ซัลลิแวน ก็คือ การที่เขาสรุปด้วยการเน้นย้ำว่า การที่สหรัฐฯ แทรกแซงเข้าไปในการสู้รบขัดแย้งยูเครนนี้ ไม่ควรที่จะมองว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจบ โดยที่เขาพูดเอาไว้ ดังนี้

“ดูให้ดีนะครับ เมื่อพิจารณาทุกๆ อย่างแล้ว แนวพินิจของคณะบริหารไบเดนในเรื่องนี้ คือความพยายามอย่างแท้จริงที่จะเฝ้ามองให้ไกลออกไปในอนาคต เป็นการบอกให้ทราบว่าคุณต้องการให้สหรัฐฯ อยู่ตรงไหน และให้เหล่าพันธมิตรและหุ้นส่วนผู้มีความคิดเห็นอย่างเดียวกับเราอยู่ตรงไหน ในอีก 1 ทศวรรษต่อจากนี้ไป อีก 2 ทศวรรษต่อจากนี้ไป พวกเราจะนำตัวพวกเราเองเข้าไปอยู่ในจุดยืนที่หนักแน่นมั่งคงในทางยุทธศาสตร์อย่างสูงสุดได้อย่างไร ในการรับมือกับพวกปรปักษ์ของพวกเรา” (พวกปรปักษ์ของพวกเรา ก็ย่อมหมายถึง รัสเซีย กับจีน นั่นเอง)

ด้วยแนวทางการขบคิดแบบนี้ ซัลลิแวนจึงกำลังอธิบายว่า เกณฑ์ที่ใช้สำหรับการวินิจฉัยตัดสินคณะบริหารไบเดนนั้น ควรที่จะเป็นเกณฑ์ระยะเวลายาวๆ 5-10-20 ปี แทนที่จะใช้เกณฑ์ระยะเวลาแค่ 1-2-3 ปี และเมื่อใช้เกณฑ์วินิจฉัยตัดสินเช่นนี้แล้ว คณะบริหารไบเดน ก็รู้สึกสบายอกสบายใจกับการลงทุนต่างๆ ชุดใหญ่ที่ใส่เข้าไปในยูเครน (ใครจะไปรู้ การสู้รบขัดแย้งในยูเครนอาจจะมีประโยชน์สำหรับประธานาธิบดีไบเดน ในการแข่งขันชิงชัยเพื่อครองตำแหน่งเป็นวาระที่ 2 ก็ได้)

ซัลลิแวนส่งสัญญาณว่า โชว์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2022 นั้น คือ “การที่สหรัฐฯ กำลังวางแผนการเล่นแบบใช้เกมยาวๆ” ทั้งในการแข่งขันชิงชัยทางภูมิรัฐศาสตร์ และในการรับมือกับการท้าทายแบบข้ามชาติชนิดต่างๆ ในยุคสมัยของเรา ตามการประมาณการของคณะบริหารไบเดนนั้น แนวพินิจแบบมุ่งมององค์รวมเช่นนี้ “กำลังเริ่มผลิดอกออกผลแล้ว”

สิ่งที่ปรากฏออกมาให้เห็นก็คือว่า ถ้าหากยุทธศาสตร์ของรัสเซีย มุ่งที่การ “บดบี้” ฝ่ายทหารยูเครนแล้ว ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ก็เป็นการมุ่ง “บดบี้” ฝ่ายทหารรัสเซียเช่นกัน ตามการคิดคำนวณของ ซัลลิแวน พวกนักชาตินิยมชาวยูเครนคือไพ่ใบชนะ เนื่องจากตราบเท่าที่พวกเขายังคงเป็นชนชั้นนำที่ปกครองยูเครนเอาไว้ต่อไป มันก็ไม่มีปัญหาใดๆ เลยในเรื่องที่รัฐยูเครนจะ “พังครืนลงมา” แล้วมันก็จะยังคงทรงประสิทธิผลคุ้มค่าใช้จ่ายสำหรับการที่ วอชิงตัน จะประคับประคองให้การสู้รบขัดแย้งคราวนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อพิจารณากันให้ถึงที่สุดแล้ว ความช่วยเหลือด้านอาวุธจำนวนมากนั้น แท้ที่จริงแล้วกำลังเป็นการปรับปรุงยกระดับสมรรถนะทางทหารของพวกชาติพันธมิตรนาโต้ ด้วยการนำเอาอาวุธตะวันตกรุ่นใหม่ๆ เข้าไปแทนที่พวกอาวุธเก่าๆ ในโกดังของพวกเขาซึ่งกำลังถูกผ่องถ่ายจัดส่งไปให้แก่ยูเครน และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การวัดผลงานโดยถือ “เกณฑ์ระยะเวลายาวๆ 5-10-20 ปี” ก็ยิ่งมีเหตุมีผลขึ้นอีกเยอะ ไม่ใช่หรือ?

ในทำนองเดียวกัน ถ้าการคำนวณของฝ่ายรัสเซียมีอยู่ว่า ยิ่งการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ยาวนานออกไปเท่าใด ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้อย่างใหญ่โตมโหฬารมากขึ้นอีกที่ยุโรป จะแยกตัวหลุดพ้นเป็นอิสระออกไปจากเรื่องนี้ด้วยความเหนื่อยล้าอ่อนแรง การประมาณการของสหรัฐฯ ก็กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ การสู้รบขัดแย้งอย่างยืดเยื้อรังแต่จะทำให้พวกพันธมิตรตะวันตกสามัคคีรวมตัวกัน เนื่องจากยุโรป ชิงชังไม่ยอมรับทิศทางความเป็นไปได้ที่ว่ารัสเซียจะได้รับชัยชนะ และทำให้พวกเขาถูกทอดทิ้งให้ต้องอยู่กันเองโดยลำพัง ทั้งนี้ หากปราศจากการเข้าเกี่ยวข้องพัวพันอย่างใหญ่โตมโหฬารของฝ่ายอเมริกันแล้ว พวกประเทศยุโรปก็รู้สึกว่าขาดแคลนศักยภาพและเครื่องมือวิธีการสำหรับรับมือกับผู้มีพลังอำนาจมหาศาลอย่างรัสเซีย

พูดกันง่ายๆ ก็คือ ฝ่ายยุโรปกำลังแสดงบทบาทเป็นผู้น้อยเป็นเพียงสมุน และความจริงพื้นๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยมีอยู่ว่า พวกเขาไม่มีเส้นทางอื่นใดให้เดินแล้ว จุดโดดเด่นสะดุดตาอย่างหนึ่งตรงนี้ซึ่งไม่สามารถมองข้ามไปได้ ก็คือว่า ภายในสหภาพยุโรปเองนั้น พวกประเทศทางยุโรปตะวันออกนั่นแหละที่เข้ายึดครองฉวยคว้าบทบาทนำในเรื่องการสู้รบขัดแย้งยูเครนไปได้แล้ว โดยที่ประเทศเหล่านี้ต่างเป็นพวกแนวทางแข็งกร้าวซึ่งปรารถนาที่จะเห็นรัสเซียประสบความพ่ายแพ้อย่างน่าสังเวชในทางการทหาร

นี่คือสิ่งที่กำลังก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนอย่างสำคัญประการหนึ่งในการเมืองของยุโรป และมันจะมีผลพวงต่อเนื่องตามมาอย่างยาวไกล โดยที่มีแต่กลายเป็นประโยชน์เพิ่มความได้เปรียบให้แก่ฐานะการเป็นผู้นำแห่งสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของสหรัฐฯ เท่านั้น สหรัฐฯ จับมือเป็นพันธมิตรกับพวกประเทศยุโรปตะวันออก ขณะที่ รัสเซีย ไม่ได้มีเพื่อนมิตรที่นั่นเอาเลย บทสรุปที่ออกมาจึงมีอยู่ว่า นอกหนือจากประเด็นต่างๆ ทางด้านดินแดน วอชิงตันแน่ใจได้แล้วด้วยซ้ำว่า รัสเซียไม่สามารถคิดหวังให้มีการยกเลิกการแซงก์ชันของฝ่ายตะวันตกภายในระยะเวลาอันใกล้นี้

ด้วยเหตุนี้ จากสภาวการณ์ที่ปรากฏออกมาให้เห็นกันเช่นนี้ ทางเลือกสำหรับรัสเซียจึงแคบลงมาจนเหลือเพียงแค่การทำให้ ยูเครน ต้องปราชัยอย่างยับเยินในช่วงเวลาหลายๆ เดือนข้างหน้านี้ และจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นใน เคียฟ ซึ่งไม่ตกอยู่ใต้การควบคุมของวอชิงตัน แต่นี่ย่อมเรียกร้องต้องการให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงถึงระดับรากฐานในยุทธศาสตร์การทหารของฝ่ายรัสเซีย ซึ่งจะต้องคาดคำนวณรวมไปถึงความเป็นไปได้อย่างแท้จริงที่จะมีการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และนาโต้ ในบางจุดบางระยะ


(วิดีโอความยาว 32 นาที ที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว แสดงความคิดเห็นเรื่องการสู้รบขัดแย้งยูเครน ณ มูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา)

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/why-time-isnt-ripe-for-ukraine-talks/


กำลังโหลดความคิดเห็น