(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Military sources: Ukraine missiles used US guidance
By UWE PARPART AND DAVID P. GOLDMAN
08/12/2022
พวกผู้สังเกตการณ์ทั้งของนาโต้ และรัสเซีย ต่างไม่เชื่อคำแถลงปฏิเสธของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ที่ว่า ดาวเทียมสหรัฐฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณียูเครนใช้โดรนเข้าโจมตีฐานทัพซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย
แหล่งข่าวหลายรายในองค์การนาโต้ ตลอดจนแหล่งข่าวหลายรายในฝ่ายทหารของรัสเซีย ต่างปฏิเสธไม่ยอมรับการกล่าวอ้างของรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน แอนโทนี บลิงเคน เมื่อวันอังคาร (6 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ที่ว่าสหรัฐฯ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ยูเครนยิงขีปนาวุธเข้าโจมตีเล่นงานฐานทัพอากาศของรัสเซียหลายแห่งในที่ 5 และ 6 ธันวาคม
(ดูเพิ่มเติมคำแถลงของ บลิงเคน ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=HKRwX5wZC7k)
“เราไม่ได้ส่งเสริมฝ่ายยูเครน และก็ไม่ได้ทำให้ฝ่ายยูเครนมีความสามารถในการโจมตีลึกเข้าไปภายในรัสเซีย” บลิงเคน บอกกับพวกผู้สื่อข่าวระหว่างการพบปะหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน และพวกเจ้าหน้าที่ของออสเตรเลีย
แหล่งข่าวทางทหารหลายรายในบรรดาประเทศนาโต้ เช่นเดียวกับของรัสเซีย ต่างพูดขัดแย้งกับ บลิงเคน โดยระบุว่า โดรน TU -141 หลายลำผลิตในรัสเซียที่ผ่านการดัดแปลงปรับปรุงใหม่ ซึ่งยูเครนใช้โจมตีฐานทัพอากาศรัสเซียในระลอกนี้ ได้ดาวน์ลิงก์ข้อมูลบอกตำแหน่งผ่านดาวเทียม (GPS) ของสหรัฐฯ สำหรับการเดินทางไปยังเป้าหมายซึ่งถูกกำหนดมาของพวกมัน
โดรนตรวจการณ์สอดแนมของรัสเซียรุ่นทศวรรษ 1970 เหล่านี้ ได้รับการดัดแปลงให้กลายเป็นขีปนาวุธร่อน (cruise missile) โดยติดตั้งระบบนำทางแบบใหม่ๆ และควบคุมกำหนดทิศทางโดยดาวเทียมอเมริกัน แหล่งข่าวเหล่านี้ระบุ พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า ยูเครนนั้นไม่ได้มีศักยภาพที่จะนำทางขีปนาวุธให้เข้าสู่เป้าหมายได้ด้วยตัวเอง
ขณะที่กระทรวงกลาโหมของรัสเซียก็บอกในคำแถลงเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ว่า สามารถระบุอาวุธชิ้นหนึ่งซึ่งถูกใช้เข้าโจมตีในระลอกนี้ว่าเป็น TU-141 จากเศษชิ้นส่วนต่างๆ ที่กู้ขึ้นมาได้หลังขีปนาวุธเหล่านี้เล่นงานฐานทัพอากาศ ดยากีเลโว (Dyagilevo) และฐานทัพอากาศเอนเกลส์ (Engels) ของรัสเซีย
ถ้าหากการปฏิเสธของ บลิงเคน เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง นั่นคือ สหรัฐฯ คือผู้ที่ชี้นำการโจมตีของขีปนาวุธในระลอกนี้ วอชิงตันก็ต้องตระหนักเอาไว้ว่า นี่เป็นการนำเอากองกำลังนาโต้เข้าไปถึงริมขอบของการเข้าเกี่ยวข้องโดยตรงกับสงครามยูเครน และคณะบริหารไบเดนจะต้องเตรียมตัวเพื่อแบกรับความเสี่ยงดังกล่าวนี้
ความเสียหายที่ยูเครนสามารถสร้างขึ้นกับเครื่องบินรัสเซียที่ฐานทัพแดนหมีขาว 2 แห่งดังกล่าว ย่อมเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์ของการที่สหรัฐฯ ถูกนำเข้าไปอยู่ในการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ด้วย
อย่างที่ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม (Joint Chiefs of Staff Chairman) ของสหรัฐฯ พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ (Mark Milley) พูดเตือนเอาไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ว่า ยังมองไม่เห็นว่าจะมีชัยชนะทางการทหารใดๆ สำหรับสงครามยูเครน
ส่วน เจมส์ เดวิส (James Davis) นักวิเคราะห์เรื่องรัสเซีย ก็เขียนเอาไว้ในรายงานฉบับวันที่ 7 ธันวาคมของ โกลบอล โพลาริตี มอนิเตอร์ (Global Polarity Monitor) อันเป็นรายงานเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งเผยแพร่ด้วยความร่วมมือกับเอเชียไทมส์ โดยพูดถึงภาวะชะงักงันทางการทหาร เอาไว้ดังนี้ :
รัสเซียยังคงมุ่งดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อการป้องกันในยูเครนอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้แนวป้องกันของฝ่ายตนมีความมั่นคงยิ่งขึ้น และเพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการทางทหารของยูเครน ... นอกจากนั้น มอสโกยังคงมีความเชื่อมั่นว่ารายจ่ายของฝ่ายตะวันตกในการประคับประคองยูเครนซึ่งมีแต่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จะกระตุ้นพวกผู้นำตะวันตก รวมไปถึง ประธานาธิบดีไบเดนด้วย ให้ต้องสำรวจหาลู่ทางความเป็นไปได้ที่จะทำความตกลงรอมชอมอย่างสันติสำหรับยุติการสู้รบขัดแย้งนี้ รัสเซียเชื่อว่าด้วยการยืนหยัดรักษาแนวป้องกันเช่นนี้เอาไว้ มันจะเป็นการสาธิตให้เห็นว่า การสนับสนุนให้ยูเครนสามารถบรรลุถึงการพลิกกลับบรรดาที่มั่นของรัสเซียในยูเครน โดยรวมไปถึงไครเมียด้วย ให้มาเป็นของฝ่ายเคียฟอีกครั้งอย่างสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งที่มีค่าใช้จ่ายสูงลิ่วเกินไป
การที่ มิลลีย์ ยังได้เอ่ยถึง “หน้าต่าง” หรือช่องทางสำหรับการเจรจาสันติภาพกันระหว่างที่การสู้รบในยูเครนจะต้องมีการหยุดพักไปในช่วงฤดูหนาวนั้น ปรากฏว่าได้ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจขึ้นในหมู่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งต้องการที่จะเห็นชัยชนะไม่ว่าต้องสูญเสียกันถึงขนาดไหน ขณะที่ มิลลีย์ และพวกผู้นำทางทหารของสหรัฐฯ เชื่อว่าหนทางออกทางเดียวของสงครามนี้คือการเจรจากับรัสเซีย แต่กระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กลับมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุถึงชัยชนะทางการทหารเหนือรัสเซีย ไม่ว่าจะต้องใช้วิธีการใดๆ ก็ตามที่มีความจำเป็น
ภายในกลุ่มพันธมิตรนาโต้เองก็มีความเห็นแตกแยกกันในเรื่องหนทางคลี่คลายการสู้รบขัดแย้งยูเครน ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของยูเครน ได้รื้อฟื้นแนวความคิดที่จะเสนอการค้ำประกันความมั่นคงให้แก่รัสเซีย โดยรวมถึงการกำหนดให้ยูเครนต้องมีฐานะเป็นชาติเป็นกลาง
เวลาเดียวกัน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (US Undersecretary of State) วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ได้เดินทางไปกรุงเคียฟเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม เพื่อเน้นย้ำทำให้ฝ่ายยูเครนแน่ใจว่า สหรัฐฯ เชื่อว่า “ปูตินไม่ได้มีความจริงใจ” ในการเสนอให้มีการเจรจากัน” และ “ไม่ได้มีความพร้อมสำหรับเรื่องนี้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://mediacenter.org.ua/putin-not-sincere-and-not-ready-for-negotiations-nuland/)
เนื่องจากยูเครนเองนั้นไม่ได้มีกองกำลังที่จะใช้เพื่อเพิ่มการรุกตอบโต้ฝ่ายรัสเซียได้อย่างทรงประสิทธิภาพเสียแล้ว ดังนั้น หนทางแก้ไขด้วยวิธีการทหารจึงตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า กองทหารนาโต้จะเข้าสู่สมรภูมิด้วย
การโจมตีเล่นงานฐานทัพรัสเซียที่เกิดขึ้นระลอกนี้อาจจะเป็นความจงใจเพื่อยั่วยุให้ฝ่ายรัสเซียตอบโต้ ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลความชอบธรรมสำหรับการส่งกองทหารภาคพื้นดินของนาโต้ เข้าไปในยูเครน
ที่จริงแล้ว วลาดิมีร์ เยร์มาคอฟ (Vladimir Yermakov) เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย พูดเอาไว้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนด้วยซ้ำไปว่า การที่ดาวเทียมของฝ่ายอเมริกันถูกใช้เพื่อนำทางขีปนาวุธให้บุกลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียนั้น ทำให้พวกมันอาจถูกพิจารณาได้ว่าเป็นเป้าหมายทางทหารอันชอบธรรมที่มอสโกจะโจมตี แต่ถ้าหากรัสเซียโจมตีเล่นงานดาวเทียมสหรัฐฯ จริงๆ แล้ว นี่ก็อาจกลายเป็นการดึงลากสหรัฐฯ เข้าสู่การทำสงครามกับรัสเซีย
(ดูเพิ่มเติมคำแถลงของ เยราคอฟ ได้ที่ https://m.vk.com/wall-31371206_2007407?lang=en)
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คอลัมนิสต์ด้านการทหารที่มีความสำคัญมากผู้หนึ่งของจีน นั่นคือ เฉิน เฟิง (Chen Feng) แห่งเว็บไซต์ guancha.cn (guancha เป็นคำภาษาจีนแปลว่า ผู้สังเกตการณ์ Observer) เขียนเอาไว้ในวันที่ 7 ธันวาคมว่า “มันเป็นความลับที่รู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า พวกดาวเทียมของฝ่ายตะวันตกกำลังถูกใช้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการของกองทัพยูเครน ทว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องถือว่ามีอันตรายร้ายแรงถึงตายด้วยเช่นกัน” ทั้งนี้ เฉิน ส่งเสียงเตือนอย่างจริงจังถึงมอสโก ดังนี้ :
ยกเว้นแต่ในกรณีที่รัสเซียสามารถระบุได้อย่างถูกต้องแม่นยำว่า ดาวเทียมขนาดเล็กๆ ดวงไหนที่กำลังให้ความสนับสนุนสงครามยูเครนอยู่ และนำเอาหลักฐานที่น่าเชื่อถือออกมาเผยแพร่ให้ทราบกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว การทำลายดาวเทียมขนาดเล็กๆ สักดวงหนึ่ง ไม่ว่าของสหรัฐฯ หรือของประเทศสมาชิกนาโต้รายใดรายหนึ่งก็ตาม อาจจะเท่ากับเป็นการเปิดฉากทำสงครามเล่นงานสหรัฐฯ หรือชาตินาโต้ก็ได้ แล้วเมื่อพิจารณาจากเทคโนโลยีเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่รัสเซียจะมีความสามารถในการระบุอย่างถูกต้องแม่นยำว่าดาวเทียมดวงไหนที่ต้องสงสัย ดังนั้น การพูดถึงความริเริ่มเพื่อดึงลากเอาสหรัฐฯ หรือนาโต้ เข้าสู่สงครามยูเครน จึงอาจจะไม่ใช่เป็นผลต่อเนื่องที่ รัสเซียสามารถแบกรับได้
เยร์มาคอฟ “จึงไม่สมควรที่จะมีคำแถลงในลักษณะนี้ออกมา” เฉิน กล่าวสรุป
(ดูเพิ่มเติม ข้อเขียนของ เฉิน เฟิง ได้ที่ https://www.guancha.cn/ChenFeng3/2022_12_07_670099.shtml)
เว็บไซต์ Guancha.cn มักหยิบยกประเด็นที่ทางคณะผู้นำจีนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยๆ และคอลัมน์ที่มีผู้ติดตามอ่านอย่างกว้างขวางของ เฉิน ก็บ่งชี้ให้เห็นว่า ปักกิ่งมีความวิตกอย่างจริงจังในเรื่องความเป็นไปได้ที่การสู้รบขัดแย้งในยูเครนจะบานปลายกลายเป็นสงครามโลกขึ้นมา
แหล่งข่าวรัสเซียรายหนึ่งซึ่งเข้าถึงความคิดเห็นในระดับวงในของ วลาดิมีร์ ปูติน ระบุว่า รัสเซียจะไม่ตอบโต้แก้เผ็ดเอากับดาวเทียมสหรัฐฯ เนื่องจาก “นั่นจะกลายเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ใช้เป็นสาเหตุของการทำสงครามได้” แหล่งข่าวรายนี้บอก
ขณะเดียวกัน พวกนักวิเคราะห์ทางทหารของนาโต้มีความกังวลใจว่า รัสเซียอาจจะนำเอาขีปนาวุธแบบทิ้งตัวพิสัยปานกลาง (intermediate-range ballistic missile หรือ IRBM) ที่ติดหัวรบธรรมดา ไม่ใช่หัวรบนิวเคลียร์ มายิงใส่เป้าหมายสำคัญของฝ่ายยูเครน เพื่อเป็นการส่งเสียงเตือนฝ่ายตะวันตกเกี่ยวกับผลต่อเนื่องจากการทำให้การสู้รบขัดแย้งคราวนี้บานปลายขยายตัวออกไปอีก ทั้งนี้ IRBM สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วราวๆ สิบเท่าตัวของพวกขีปนาวุธร่อน อย่าง TU-141 และในทางปฏิบัติแล้วจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยิงทำลายให้ทันก่อนถึงเป้าหมาย
กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านการทหารผู้หนึ่งของรัสเซีย บอกกับเอเชียไทมส์ว่า ยุทธวิธีนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันแล้ว และฝ่ายทหารรัสเซียได้บอกปัดตกไปแล้ว นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวว่า การนำเอาขีปนาวุธที่ออกแบบไว้สำหรับบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์มาดัดแปลงแก้ไขกันใหม่นั้นเป็นเรื่องที่ทั้งยุ่งยากและทั้งสิ้นเปลืองเวลา