กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดตัวเครื่องบินทิ้งระเบิดหลบหลีกเรดาร์ (สเตลธ์) รุ่นใหม่ล่าสุด B-21 Raider หลังซุ่มเงียบพัฒนาอยู่นานหลายปี โดยเป็นหนึ่งในความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะตอบสนองวิกฤตความมั่นคงที่อาจเกิดขึ้นจากข้อพิพาทกับจีนในอนาคต
B-21 Raider ถือเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหม่ล่าสุดของอเมริกาในรอบกว่า 30 ปี และรายละเอียดของโครงการพัฒนาอากาศยานรุ่นนี้เกือบทุกแง่มุมถูกปิดเป็นความลับ
“นี่ไม่ใช่แค่เครื่องบินอีกลำหนึ่ง... แต่เป็นศูนย์รวมของความมุ่งมั่นของอเมริกาที่จะปกป้องประเทศที่เรารัก” ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวในพิธีเปิดตัวเครื่องบินซึ่งจัดขึ้นที่โรงงาน Plant 42 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในเมืองปาล์มเดล รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันศุกร์ (2 ธ.ค.)
โครงการพัฒนา B-21 ยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนของเพนตากอนที่จะยกระดับศักยภาพคลังแสงนิวเคลียร์ทั้ง 3 รูปแบบ (nuclear triad) ซึ่งได้แก่ ขีปนาวุธข้ามทวีป intercontinental ballistic missiles หรือ ICBMs ที่ยิงจากภาคพื้นดิน เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ strategic bombers ที่เป็นการโจมตีทางอากาศ และขีปนาวุธยิงจากเรือดำน้ำ submarine-launched ballistic missiles หรือ SLBMs หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มเบนเข็มจากภารกิจต่อต้านก่อการร้ายที่ทำมานานหลายสิบปีสู่การรับมือ “จีน” ซึ่งเร่งรัดพัฒนากองทัพสู่ความทันสมัยอย่างรวดเร็ว
เพนตากอนระบุในรายงานประจำปีที่เมื่อวันอังคาร (29 พ.ย.) ว่า จีนจะมีหัวรบนิวเคลียร์มากถึง 1,500 หัวรบภายในปี 2035 และความก้าวหน้าของจีนทั้งในแง่ของอาวุธไฮเปอร์โซนิก สงครามไซเบอร์ และศักยภาพด้านอวกาศ “ถือเป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบอย่างสำคัญและเป็นระบบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ตลอดจนระบบสากลที่เสรีและเปิดกว้าง”
เคธี วอร์เดน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของนอร์ธร็อป กรัมแมน (Northrop Grumman) ซึ่งได้รับสัมปทานในการพัฒนา B-21 ระบุว่า แม้รูปลักษณ์ภายนอกของมันอาจจะไม่แตกต่างจากเครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 แต่ระบบภายในนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
“ระบบปฏิบัติการภายในของเครื่องบินรุ่นนี้ก้าวหน้าอย่างมากเมื่อเทียบกับ B-2 เนื่องจากเทคโนโลยีได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมากในแง่ของศักยภาพในการประมวลผล ซึ่งเราได้บรรจุเอาไว้ในระบบซอฟต์แวร์ของ B-21 ด้วย” วอร์เดน กล่าว
ข้อแตกต่างที่สำคัญยังรวมไปถึงวัสดุที่ใช้หุ้มลำตัวเครื่องบิน ซึ่งจะทำให้ B-21 มีศักยภาพในการหลบหลีกเรดาร์ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมการปล่อยประจุไฟฟ้า (electronic emissions) รูปแบบใหม่ที่จะทำให้เครื่องบินรุ่นนี้สามารถพรางตัวและทำให้เรดาร์ของศัตรูเข้าใจว่ามันเป็นวัตถุชนิดอื่น และยังใช้เทคโนโลยีการขับดัน (propulsion technologies) แบบใหม่ด้วย
เวลานี้มีเครื่องบิน B-21 ที่อยู่ในกระบวนการผลิตทั้งหมด 6 ลำ ทว่ากองทัพอากาศสหรัฐฯ มีแผนจะที่ผลิตอากาศยานรุ่นนี้ให้ได้ถึง 100 ลำ โดยมันจะสามารถติดตั้งได้ทั้งขีปนาวุธแบบดั้งเดิมและอาวุธนิวเคลียร์ และยังสามารถทำการบินแบบ “ไร้คนขับ” ได้ด้วย
สำหรับต้นทุนการผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ยังไม่มีการเปิดเผยชัดเจน โดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ เคยตั้งราคาประเมินเบื้องต้นเฉลี่ยลำละ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2010 ซึ่งหากคิดตามค่าเงินในปัจจุบันก็จะอยู่ที่ราวๆ 753 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 26,100 ล้านบาท)
ที่มา : AP