xs
xsm
sm
md
lg

ฟังแล้วขนลุก! ปูตินยอมรับสงครามยูเครนลากยาวกว่าคาด ไม่ตัดโอกาสเปิดฉากโจมตีด้วยนิวเคลียร์ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ยอมรับในวันพุธ (7 ธ.ค.) ปฏิบัติการพิเศษด้านการทหารในยูเครน กำลังใช้เวลานานกว่าที่คาดหมายไว้ แต่ชูการยึดดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ พร้อมชี้ความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้นแล้ว และไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะชิงเปิดฉากโจมตีด้วยอาวุธดังกล่าวก่อน

"แน่นอนว่ามันอาจเป็นกระบวนการที่ยาวนาน" ปูติน กล่าวถึงสงครามที่ลากยาวมานานกว่า 9 เดือน ที่เริ่มต้นด้วยการรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งทำให้ประชาชนหลายล้านคนต้องไร้ถิ่นฐาน เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายหมื่นคน

แม้ยอมรับว่าปฏิบัติการพิเศษด้านการทหารลากยาวกว่าที่คาด แต่ ปูติน ไม่ได้ส่งสัญญาณแห่งการละมือใดๆ โดยเขาประกาศกร้าวว่าจะเดินหน้าต่อสู่ต่อไปอย่างไม่ลดละ "เพื่อผลประโยชน์ของเราและเพื่อปกป้องตัวเราเองด้วยทุกหนทางที่มี" พร้อมเน้นย้ำว่าคำกล่าวอ้างที่ว่าเขาไม่มีทางเลือกอื่น ยกเว้นแต่ต้องส่งทหารบุกเข้าไปในยูเครน โดยบอกว่านานหลายปีแล้วที่ตะวันตกตอบสนองเสียงเรียกร้องด้านความมั่นคงของรัสเซีย ด้วยการ "ถ่มน้ำลายใส่หน้า"

ระหว่างประชุมร่วมกับสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีการถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์ ปูตินให้คำจำกัดความการได้มาซึ่งดินแดนว่าเป็น "ผลลัพธ์ที่สำคัญสำหรับรัสเซีย" พร้อมเน้นว่าทะเลอาซอฟ "ได้กลายมาเป็นทะเลภายในของรัสเซียแล้ว"

หลังจากล้มเหลวในการบุกยึดกรุงเคียฟ สืบเนื่องจากถูกต้านทานอย่างดุเดือดจากยูเครน รัสเซียหันมายึดครองพื้นที่อันกว้างขวางทางภาคใต้ของยูเครน ในช่วงต้นๆ ของการรุกรา นและเข้าครอบครองมาริอูโปล เมืองท่าสำคัญในทะเลอาซอฟในเดือนพฤษภาคม และหลังจากยึดครองมาได้เกือบ 3 เดือนในเดือนกันยายน ทาง ปูติน ได้ประกาศผนวก 4 แคว้นของยูเครน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน อันประกอบด้วย เคียร์ซอนและซาโปริซเซีย ทางภาคใต้ กับโดเนตสก์และลูฮันสก์ ทางภาคตะวันออก แม้กองกำลังของเขายังไม่สามารถควบคุมแคว้นเหล่านี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ตาม

ในการตอบโต้ความเคลื่อนไหวของตะวันตก ที่ไหลบ่าอาวุธล้ำสมัย ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การเมืองและมนุษยธรรมป้อนแก่ยูเครนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงถ้อยแถลงต่างๆ ของผู้นำตะวันตก ที่เขาบอกว่าก่ออารมณ์โกรธมากขึ้นเรื่อยๆ ปูตินได้บ่งชี้เป็นระยะๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์

ล่าสุด ในวันพุธ (7 ธ.ค.) สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรายหนึ่ง ขอให้ ปูติน รับปากว่ารัสเซียจะไม่เป็นฝ่ายแรกที่ใช้อาวุธดังกล่าว แต่ทางประธานาธิบดีรายนี้ปฏิเสธ และบอกว่ารัสเซียจะไม่สามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้เลย หากว่ายอมตกลงไม่เป็นฝ่ายแรกที่ใช้มัน ทว่าจากนั้นกลับถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์

"ถ้าไม่ใช้มันก่อนไม่ว่าในกรณีใดๆ นั่นหมายความว่าจะไม่มีโอกาสใช้มันเป็นฝ่ายที่ 2 เช่นกัน เพราะว่าความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์จะถูกจำกัดอย่างมาก ในกรณีที่มีการโจมตีทางนิวเคลียร์ต่อดินแดนของเรา" เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม ปูติน ปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากตะวันตกที่กล่าวหาว่าความเห็นด้านอาวุธนิวเคลียร์ของเขาก่อนหน้านี้ เทียบเท่ากับเป็นสำแดงฤทธิ์เดชด้านการทหาร โดยผู้นำเครมลินระบุว่า คลังแสงนิวเคลียร์ของรัสเซีย "ไม่ใช่ปัจจัยปลุกปั่นขยายความขัดแย้งให้ลุกลามบานปลาย แต่เป็นปัจจัยแห่งการป้องปราม"

"เราไม่ได้บ้า เรารู้เต็มอกว่าอาวุธนิวเคลียร์คืออะไร" ปูตินกล่าว โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม "เรามีอาวุธนิวเคลียร์ พวกมันมีความทันสมัยและล้ำสมัยมากกว่าที่มหาอำนาจนิวเคลียร์อื่นๆ มี แต่เราจะไม่วิ่งไปทั่วโลก แล้วกวัดแกว่งอาวุธนี้ราวกับมีดโกน"

ระหว่างการประชุม ปูตินไม่ได้พูดถึงความปราชัยในสมรภูมิแล้วสมรภูมิเล่าของรัสเซีย หรือความพยายามกระชับการควบคุมเหนือแคว้นต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การยึดครอง แต่เขายอมรับว่ารัสเซียมีปัญหาด้านเสบียง การรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บและการหนีทัพบ้างเล็กน้อย

ทหารรัสเซียไม่ได้แค่ถอนกำลังออกจากพื้นที่กรุงเคียฟและรอบๆ คาร์คิฟ เมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของยูเครนเท่านั้น แต่พวกเขายังถอยร่นอกจากพื้นที่ขนาดใหญ่ของแคว้นเคียร์ซอน ขณะเดียวกัน ปูติน ก็เผชิญอีกปัญหาจากเหตุโจมตีฐานทัพอากาศหลายแห่งที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซียในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ เขาเพิ่งสั่งเฝ้าระวังความปลอดภัยเกือบทั่วประเทศเมื่อไม่นานที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดน และล่าสุดมีสัญญาณใหม่ปรากฏขึ้นในวันพุธ (7 ธ.ค.) ว่าบรรดาเจ้าหน้าที่รัสเซียกำลังยกระดับความเข้มแข็ง ณ ฐานที่มั่นป้องกันตนเองต่างๆ ตามแนวชายแดน

ในที่ประชุม ปูตินยังได้พูดคุยเกี่ยวกับการระดมทหารกองหนุน 300,000 นายที่เขาออกคำสั่งในเดือนกันยายน เพื่อเสริมกำลังในยูเครน ซึ่งเขาบอกว่าจนถึงตอนนี้ ในนั้นมีเพียง 150,000 นายที่ถูกส่งเข้าประจำการในเขตสู้รบ และที่เหลือยังคงอยู่ระหว่างการฝึกฝน พร้อมปฏิเสธข่าวลือว่าเครมลินอาจเตรียมการระดมทหารกองหนุนอีกรอบ "ไม่มีความจำเป็นสำหรับกระทรวงกลาโหมและประเทศที่ต้องทำแบบนั้น"

(ที่มา : เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น