เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศผู้มากประสบการณ์ของสหรัฐฯ แสดงความคิดเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะมีการเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครนและรัสเซีย เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดสงครามโลกครั้งหายนะอีกหนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเคียฟรุดออกมาตอบโต้ข้อเสนอแนะนี้ทันควัน โดยบอกว่าความคิดเห็นของเขาเทียบเท่ากับการยอมทำตามผู้รุกราน และยืนกรานว่าจะไม่มีตกลงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยอมสละดินแดน
คิสซิงเจอร์ วัย 99 ปี ซึ่งเป็นผู้ออกแบบนโยบายผ่อนคลายความตึงเครียดกับสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด เคยพบปะกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย หลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัสเซียสมัยแรกในปี 2000
ปัจจุบันความขัดแย้งอันมีชนวนเหตุจากปฏิบัติการรุกรานยูเครนของปูติน ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ คร่าชีวิตผู้คนไปหลายหมื่นราย และผลักประชาชนต้องไร้ถิ่นฐานหลายล้านคน ยังไม่มีวี่แววจบลง และเวลานี้รัสเซียควบคุมดินแดนของยูเครนได้ราวๆ 1 ใน 5
เครมลิน บอกว่าเคียฟต้องยอมรับความเคลื่อนไหวของรัสเซียที่ผนวก 4 แคว้นทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน แต่ทางยูเครนสวนกลับว่า รัสเซียต้องถอนทหารทั้งหมดออกไปจากดินแดนของพวกเขา ในนั้นรวมถึงแหลมไครเมีย ที่รัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปี 2014
นอกจากนี้ เคียฟยังสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ หลังจากมอสโกแถลงผนวก 4 แคว้นของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในเดือนกันยายน
"เวลาใกล้เข้ามาแล้วสำหรับสร้างความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในการผสมผสานพวกเขาเข้าสู่โครงสร้างใหม่หนึ่งๆ ที่มุ่งหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายแห่งสันติภาพผ่านการเจรจา" คิสซิงเจอร์เขียนบนนิตยสาร The Spectator "กระบวนการสันติภาพควรเชื่อมโยงยูเครนกับนาโต้ อย่างไรก็ตาม ทางเลือกอื่นยกเว้นความเป็นกลางคงไม่มีความหมายอีกต่อไป"
คิสซิงเจอร์ เผยว่าในเดือนพฤษภาคม เขาเคยเสนอข้อตกลงหยุดหยิง ภายใต้เงื่อนไขที่รัสเซียจะต้องถอนทหารออกจากแนวหน้าไปยังตำแหน่งก่อนการรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ ยกเว้นไครเมีย ให้เป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อเจรจา
ความขัดแย้งทางภาคตะวันออกของยูเครนเริ่มขึ้นในปี 2014 หลังจากประธานาธิบดีฝักใฝ่รัสเซียรายหนึ่งของยูเครน ถูกโค่นล้ม ตามมาด้วยรัสเซียผนวกแคว้นไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน และกบฏแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียสู้รบกับกองทัพยูเครน ทางภาคตะวันออกของยูเครน
มีไคโล โพโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครนระบุผ่านเทเลแกรม ตอบโต้ความคิดเห็นของอดีตนักการทูตระดับท็อปของสหรัฐฯ รายนี้ "มิสเตอร์คิสซิงเจอร์ ไม่เข้าใจอะไรเลย ทั้งในแง่ของลักษณะของสงครามนี้ และผลกระทบของมันต่อระเบียบโลก"
"มันเป็นเงื่อนไขที่อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องหา แต่กลัวไม่กล้าที่จะพูดดังๆ บอกว่าจงทำตามความต้องการของผู้รุกรานเถิด ยอมสละดินแดนของยุเครน เพื่อคำรับประกันว่าจะไม่มีการรุกรานรัฐอื่นๆ ในยุโรปตะวันออกอีก" เขากล่าว "พวกผู้สนับสนุนทุกคนของทางออกง่ายๆ นี้ พึงระลึกว่าข้อเท็จจริงคือ ข้อตกลงใดๆ กับปีศาจ สันติภาพที่แลกกับดินแดนของยูเครน จะเป็นชัยชนะของปูติน และจะเป็นต้นตำรับสูตรความสำเร็จของพวกเผด็จการทั่วโลก"
วิลเลียม เบิร์นส์ อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่เผยแพร่ในวันเสาร์ (17 ธ.ค.) ว่าในขณะที่ความขัดแย้งส่วนใหญ่ยุติลงด้วยการเจรจา แต่ทางซีไอเอประเมินว่ารัสเซียยังไม่จริงจังเกี่ยวกับการเจรจาอย่างจริงๆ จังๆ เพื่อยุติสงคราม
(ที่มา : รอยเตอร์)