(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
US chip ban won’t short-circuit China’s military power
By GARY CLYDE HUFBAUER And MEGAN HOGAN
12/12/2022
ระบบต่างๆ ทางการทหารของจีนนั้นพึ่งพาอาศัยพวกชิปรุ่นเก่ากว่า และประณีตซับซ้อนน้อยกว่า ซึ่งสามารถผลิตขึ้นในจีนเอง โดยที่มาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลใดๆ
เมื่อเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา คณะบริหารไบเดน ประกาศบังคับใช้มาตรการควบคุมการส่งออกกับประเทศจีน [1] โดยห้ามขายทั้งพวกชิปเซมิคอนดักเตอร์ประเภทล้ำยุค เครื่องจักรอุปกรณ์ระดับก้าวหน้าที่จำเป็นสำหรับการผลิตชิปไฮเทคเหล่านี้ และทักษะความเชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์จากสหรัฐฯ
การควบคุมครั้งนี้คือความพยายามอย่างจริงจังที่สุดของคณะบริหารไบเดน ในการบ่อนทำลายกระบวนการปรับปรุงการทหารให้ทันสมัยของจีน และเป็นมาตรการซึ่งสามารถสร้างความเสียหายได้มากที่สุดที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน นำออกมาใช้เล่นงานจีน
เซมิคอนดักเตอร์ระดับก้าวหน้าล้ำยุคเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องลึกลงไปของทุกสิ่งทุกอย่าง [2] ตั้งแต่ยานยนต์ขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง ไปจนถึงระบบอาวุธระดับไฮเปอร์โซนิก (hypersonic มีความเร็วตั้งแต่มัค 5 นั่นคือความเร็วเหนือเสียง 5 เท่า ขึ้นไป -ผู้แปล) ชิปเวลานี้คือสิ่งที่จำเป็นต้องใช้อย่างขาดหายไปไม่ได้สำหรับอุตสาหกรรมด้านกลาโหม ตลอดจนพวกเทคโนโลยีแห่งอนาคตทั้งหลาย [3] ด้วยการเล็งเป้าหมายเล่นงานอินพุตที่สำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นนี้ จึงเท่ากับคณะบริหารไบเดนกำลังตั้งจุดมุ่งหมายที่จะแช่แข็งวงการเซมิคอนดักเตอร์ของจีนเอาไว้ให้นิ่งชะงักอยู่ในระดับปี 2022 และขัดขวางการพัฒนาด้านการทหารของแดนมังกร
ค่อนข้างแน่นอนทีเดียวว่า เมื่อปราศจากการเข้าถึงเทคโนโลยีและทักษะความเชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์ [4] จีนจะต้องดิ้นรนด้วยความลำบากในการประคับประคองรักษาความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของตนในด้านปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ เอไอ) การคำนวณเชิงควอนตัม (quantum computing) และการคำนวณแบบคลาวด์ (cloud computing) เอาไว้ ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการควบคุมใหม่ๆ เหล่านี้ พวกผลิตชิป อย่างเช่น เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น (Semiconductor Manufacturing International Corporation หรือ SMIC) –ผู้ผลิตชิปประเภทลอจิกรายใหญ่ที่สุดของจีน— ยังจะต้องประสบความสูญเสียในด้านการได้รับการซ่อมบำรุงเครื่องจักร และการเปลี่ยนอะไหล่อุปกรณ์
พวกซัปพลายเออร์เครื่องจักรอุปกรณ์ชิปของสหรัฐฯ [5] อย่างเช่น แลม รีเสิร์ช (Lam Research), แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ (Applied Materials) และเคแอลเอ คอร์เปอเรชั่น (KLA Corporation) ต่างพากันระงับการขายและการให้บริการแก่เหล่าผู้ผลิตชิปของจีน [6] เวลาเดียวกัน เอเอสเอ็มแอล โฮลดิ้ง (ASML Holding) ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์ที่ตั้งฐานอยู่ในเนเธอร์แลนด์ ได้แจ้งพวกพนักงานที่เป็นชาวสหรัฐฯ ของบริษัทให้ยุติการให้บริการแก่เหล่าลูกค้าชาวจีนเอาไว้ก่อน [7] จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
มาตรการควบคุมครั้งใหม่คราวนี้มุ่งฉวยประโยชน์จากจุดอ่อนของจีนในเรื่องการพัฒนาผู้มีความรู้ความสามารถและในเรื่องการวิจัย โดยในมาตรการเหล่านี้มข้อที่กำหนดให้พลเมืองสหรัฐฯ ผู้พำนักอาศัยในสหรัฐฯ ตลอดจนผู้ที่ถือกรีนการ์ดทุกๆ คน –รวมไปถึงคนชาติพันธุ์จีนที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมในสหรัฐฯ จำนวนหลายร้อยคน— ต้องยื่นขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อนจึงจะสามารถทำงานในโรงงานผลิตชิปของจีนได้
เนื่องจากการยื่นขออนุญาตในเคสเช่นนี้ไม่น่าที่จะได้รับการอนุมัติ ดังนั้น พลเมืองสหรัฐฯ ซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของจีนก่อนหน้ามีคำสั่งนี้ จึงกำลังถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการสละฐานะพลเมืองอเมริกันของตน หรือการต้องออกจากงาน โดยที่ปรากฏว่าส่วนใหญ่แล้วจะเลือกลาออกจากงานปัจจุบันที่ทำอยู่ อันที่จริงแล้ว กระทั่งบริษัทจีนเอง อย่างเช่น แยงซี เมโมรี เทคโนโลจีส์ คอร์ป (Yangtze Memory Technologies Corp) ก็เลือกที่จะเป็นฝ่ายริเริ่มก่อน โดยขอให้ชาวสหรัฐฯ ที่ทำงานอยู่ตรงแกนกลางของบริษัทลาออกไป
ถึงแม้ทิศทางอนาคตในระยะสั้นดูมืดมน แต่จะเป็นความผดิพลาดทีเดียวที่จะทึกทักเอาว่ามาตรการควบคุมของสหรัฐฯ จะทำให้จีนต้องโซซัดโซเซไปเป็นปีๆ อย่างในกรณีของอาวุธนิวเคลียร์ ที่ผ่านมาในทันทีที่พวกผู้นำทางการเมืองตัดสินใจว่ามันเป็นสิ่งสำคัญอย่างเหลือเกินสำหรับการป้องกันประเทศชาติ พวกทรัพยากรสำคัญต่างๆ ก็ยังคงไหลทะลักเข้าไปในการไขว่คว้าครอบครองเทคโนโลยีการทำระเบิดประเภทนี้
ความพยายามดังกล่าวย่อมทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เกิดความอดอยากขาดแคลนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถึงอย่างไรมันก็ผลักดันให้โครงการอาวุธนิวเคลียร์ประสบความสำเร็จอยู่บ่อยครั้งทีเดียว
เวลานี้ เมื่อเซมิคอนดักเตอร์ล้ำยุคล้ำสมัย กำลังถูกมองว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างเหลือเกินสำหรับการป้องกันประเทศชาติเช่นกัน ปักกิ่งที่กำลังนำเอาแนวพินิจแบบ “ระดมกำลังทั่วทั้งชาติ” (whole of the nation) มาใช้ และกำลังลงทุนทุ่มเททรัพยากรแห่งชาติด้านต่างๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมนี้
วิศวกรและนักวิทยาการคอมพิวเตอร์จำนวนมากมายน่าที่จะถูกมอบหมายสั่งการให้ทำงานด้านการดีไซน์และการทำโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากงานจารกรรมแอบล้วงความลับจากพวกกิจการชิปของสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และยุโรป
เวลาเดียวกัน การควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ จะไม่สามารถทำให้การทหารของจีนกลายเป็นอัมพาต ตามรายงานชิ้นหนึ่งที่จัดทำโดยบรรษัทแรนด์ (RAND Corporation) ปี 2022 นี้ [8] ระบุว่า ระบบต่างๆ ทางการทหารของจีนนั้นพึ่งพาอาศัยพวกชิปรุ่นเก่ากว่าและประณีตซับซ้อนน้อยกว่า ซึ่งสามารถผลิตขึ้นในจีนเอง โดยที่มาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลใดๆ และถ้าจีนจำเป็นต้องได้พวกชิปรุ่นก้าวหน้ามากขึ้นสำหรับใช้ในพวกระบบอาวุธที่ขับดันโดยเทคโนโลยีเอไอแล้ว จีนน่าจะสามารถผลิตมันขึ้นมาได้ ถึงแม้ว่าต้องใช้ต้นทุนสูงลิ่วๆ
พวกผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จำนวนมากเห็นพ้องต้องกันว่า จีนมีสมรรถนะทางเทคโนโลยีที่จะผลิตพวกชิประดับล้ำสมัยได้อยู่แล้ว ทว่ายังคงขาดแคลนสมรรถนะทางพาณิชย์ที่จะเพิ่มพูนยกระดับการผลิต [9] นี่หมายความว่าการสั่งห้ามของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบน้อยลงต่อพวกระบบอาวุธทั้งหลาย แต่กลับไปชะลอพวกแอปพลิเคชันด้านพลเรือนให้ออกมาได้ช้าลง อย่างเช่น ยานยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองอย่างอัตโนมัติ
พร้อมกันนั้น พวกกิจการด้านเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ก็ใช่ว่าจะผ่านพ้นออกมาจากช่วงการใช้มาตรการแซงก์ชันนี้โดยปราศจากรอยขีดข่วนใดๆ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของพวกเขา โดยที่แดนมังกรเป็นตลาดซึ่งทำยอดขาย 27% ของอินเทล 31% ของแลม รีเสิร์ช และ 33% ของ แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ [10]
ทั้งแอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ และอินวีเดีย (Nvidia) ต่างคาดการณ์ว่ามาตรการควบคุมการส่งออกชุดใหม่ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะหั่นลดยอดขายในไตรมาสหน้าของพวกเขาลงมาเท่ากับ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เท่ากับ 6% และ 7% ของยอดขายของแต่ละบริษัทตามลำดับ) ขณะที่แลม รีเสิร์ช –หนึ่งในซัปพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของแยงซี เมดมรี เทคโนโลยีส์ คอร์ป— คาดหมายว่าการควบคุมจะหั่นยอดขายในปี 2023 ของตนอย่างฮวบฮาบถึง 2,500 ล้านดอลลาร์ (15%) ทีเดียว
การลดวูบของรายรับเหล่านี้ยังบังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ยากลำบากเป็นพิเศษสำหรับอุตสาหรกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ [11] ซึ่งต้องเจอทั้งภาวะที่รายรับลดลงไปเรื่อยๆ และต้นทุนอินพุตเพิ่มสูงขึ้นอยู่ก่อนแล้ว
ตามการประมาณการรายหนึ่ง [12] ความเสียหายที่มาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯ จะก่อให้เกิดขึ้นกับการวิจัยและพัฒนาและการลงทุนด้านเงินทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตะวันตกนั้น “จะล้ำเกินการอุดหนุนจำนวนแค่น้อยนิดที่วอชิงตันให้แก่อุตสาหกรรมชิปในระดับ 5 เท่าตัว หรือมากกว่านั้นเสียอีก”
อย่างไรก็ดี การตอบโต้แก้เผ็ดวอชิงตันแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่จีนจะนำเอามาใช้ [13] เมื่อคำนึงว่าแดนมังกรยังต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีต่างประเทศอย่างมากมายเหลือเกิน มาตรการแบบต่างตอบแทนใดๆ ก็ตามที จะสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายจีนมากกว่า
การลงโทษพวกบริษัทสหรัฐฯ ที่มีการลงหลักปักฐานอย่างใหญ่โตอยู่ในจีน –อย่างเช่น ไนกี้ หรือแอปเปิล— ย่อมสร้างความเสียหายให้แก่ตลาดแรงงานของจีน เนื่องจากกิจการเหล่านี้ว่าจ้างพลเมืองจีนมาทำงานเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น พวกห่วงโซ่อุปทานต่างประเทศอื่นๆ และพวกธุรกิจจีนซึ่งเป็นซัปพลายเออร์ให้แก่ไนกี้ และแอปเปิล ก็ยังจะต้องพลอยย่ำแย่ไปด้วย
ขณะที่การประกาศควบคุมการส่งออกพวกผลิตภัณฑ์ที่จีนครอบงำตลาดอยู่ อย่างเช่น แร่แรร์เอิร์ธ หรือพวกส่วนประกอบทางเวชภัณฑ์ [14] จะเป็นการเร่งรัดให้สหรัฐฯ เคลื่อนไหวโยกย้ายการผลิตพวกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ของตนออกจากจีน กลับไปยังสหรัฐฯ (restore) กลับไปยังฐานอุตสาหกรรมแห่งอื่นๆ (onshore) และไปยังพวกประเทศที่เป็นเพื่อนมิตรของอเมริกา (friend-shore) แบบเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นในปี 2012 [15]
แทนที่จะตอบโต้แก้เผ็ดอย่างเปิดเผย จีนน่าจะใช้วิธีหาทางเลือกอื่นๆ ซึ่งจะมาแทนที่เทคโนโลยีชิปของสหรัฐฯ ได้ ทว่าเนื่องจากทางเลือกต่างๆ เหล่านี้กว่าจะใช้งานกันได้จริงอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีข้างหน้า [16] ดังนั้น การโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา และการโอนเอากิจการเซมิคอนดักเตอร์ต่างประเทศมาเป็นของชาติอาจจะเป็นสิ่งที่เฟื่องฟูขึ้นมา
การที่สหรัฐฯ ควบคุมชิปเช่นนี้ เป็นตัวแทนของนโยบายที่จะใช้กับอุตสาหกรรมเดียวเท่านั้น หรือว่าเป็นลางบอกเหตุของการแซงก์ชันภาคไฮเทคอย่างครอบคลุมกว้างขวางยิ่งกว่านี้ ยังเป็นเรื่องที่ไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้ในระยะเวลาก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 คาดหมายได้ว่าชาวรีพับลิกันจำนวนมากจะเรียกร้องให้ใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
ระหว่างการพบปะหารือเมื่อเร็วๆ นี้กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ณ ซัมมิตกลุ่มจี20 ที่บาหลี ไบเดนแสดงออกถึงการพยายามหาทางลดราความเป็นปรปักษ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทว่าถ้าหากเขาไม่ได้มีการต้านทานเสียงเรียกร้องจากพวก “สายเหยี่ยวมุ่งเล่นงานจีน” ในสหรัฐฯ อย่างเข้มแข็งแล้ว ไบเดนอาจพบว่าตัวเองได้ถูกดึงลากให้เข้าสู่สงครามเย็นครั้งที่ 2
แกรี ไคลด์ ฮัฟบาวเออร์ เป็นนักวิจัยอาวุโสแบบไม่ประจำ (non-resident Senior Fellow) อยู่ที่สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics) และ เมแกน โฮแกน เป็นนักวิจัยรุ่นเยาว์ (Junior Fellow) อยู่ที่สถาบันเดียวกัน
ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกโดย East Asia Forum ซึ่งมีที่ทำการอยู่ที่สำนักนโยบายสาธารณะครอว์ฟอร์ด (Crawford School of Public Policy) ภายในวิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก (College of Asia and the Pacific) ณ มหาวิทยาลัยแห่งชรติออสเตรเลีย (Australian National University)
เชิงอรรถ
[1] https://www.govinfo.gov/content/pkg/FR-2022-10-13/pdf/2022-21658.pdf
[2] https://www.eastasiaforum.org/2022/10/02/onshoring-semiconductors-is-a-chipped-ambition/
[3] https://www.semiconductors.org/winthefuture/
[4] https://www.eastasiaforum.org/2021/02/22/china-chases-semiconductor-self-sufficiency/
[5] https://www.eastasiaforum.org/2021/07/28/biden-looks-to-techno-alliances-to-chip-in-on-semiconductors/
[6] https://tech.hindustantimes.com/tech/news/chinas-ymtc-asks-core-us-employees-to-leave-due-to-chip-expo-71666601473385.html
[7] https://www.cnbc.com/2022/10/13/biden-chip-curb-asml-stops-us-staff-from-servicing-customers-in-china.html
[8]https://www.rand.org/content/dam/rand/pubs/perspectives/PEA1300/PEA1394-1/RAND_PEA1394-1.pdf
[9] https://asiatimes.com/2022/11/us-godfather-makes-a-chip-offer-you-cant-understand/
[10] https://www.newsncr.com/business/how-the-us-chip-export-controls-have-turned-the-screws-on-china/
[11] https://edition.cnn.com/2022/10/18/tech/us-chip-manufacturing-semiconductors/index.html
[12] https://asiatimes.com/2022/10/china-chip-ban-a-us-exercise-in-extreme-self-harm/
[13] https://www.csis.org/analysis/assessing-new-semiconductor-export-controls
[14] https://www.cfr.org/blog/us-dependence-pharmaceutical-products-china
[15] https://www.reuters.com/article/japan-india/japan-aims-for-half-of-rare-earth-supplies-from-outside-china-idUSL3E8MC1QL20121112
[16] https://geeknewscentral.com/2022/10/09/chinas-chip-industry-set-for-deep-pain-from-u-s-export-controls/