รัสเซียเปิดเผยในวันพุธ (2 พ.ย.) จะกลับมาเข้าร่วมในข้อตกลงเปิดทางให้การขนส่งธัญพืชของยูเครนออกจากท่าเรือต่างๆ กลับลำความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ที่เรียกเสียงเตือนจากบรรดาผู้นำโลกว่าจะซ้ำเติมความหิวโหยแก่คนทั่วโลก ในอีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า กรุงเคียฟจำเป็นต้องปิดระบบก่อกำเนิดไฟฟ้า ท่ามกลางการบริโภคที่พุ่งสูง เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับโครงข่ายไฟฟ้า หลังจากโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของประเทศตกเป็นเป้าหมายเล่นงานของมอสโก
รัสเซีย ซึ่งส่งกองกำลังรุกรานยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แถลงกลับลำ หลังจากตุรกีและสหประชาชาติ ช่วยให้การส่งออกธัญพืชของยูเครนเดินหน้าต่อมาได้มานานหลายวัน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งรัสเซียในบทบาทการตรวจสอบ
กระทรวงกลาโหมรัสเซียอ้างความชอบธรรมของการกลับลำในครั้งนี้ ว่า พวกเขาได้รับคำรับประกันจากยูเครน จะไม่ใช้แนวกันชนด้านธัญพืชในทะเลดำ สำหรับปฏิบัติการด้านการทหารกับรัสเซีย เคียฟยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ แต่พวกเขาเคยปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้แนวกันชนด้านการขนส่งอำพรางการโจมตี
"สหพันธรัฐรัสเซียพิจารณาแล้วว่าคำรับประกันที่ได้รับ ณ เวลานี้เพียงพอ และได้รับมาปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว" กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุ
ข้อตกลงส่งออกธัญพืช ซึ่งเห็นชอบกันเมื่อ 3 เดือนก่อน ช่วยบรรเทาวิกฤตอาหารโลก ด้วยการที่รัสเซียหยุดปิดล้อมยูเครนโดยพฤตินัย หนึ่งในชาติผู้ป้อนธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่แนวโน้มที่ข้อตกลงจะพังครืนลงเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ โหมกระพือความกังวลว่าวิกฤตอาหารอาจเลวร้ายลงและราคาอาหารอาจพุ่งทะยาน
อันเกรย์ ไซซอฟ ประธานบริษัท Sovecon ที่ปรึกษาด้านเกษตรกรรม กล่าสว่าการตัดสินใจของมอสโกถือเป็นการกลับลำแบบไม่คาดคิด แต่ข้อตกลงยังคงง่อนแง่น เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนว่ามันจะถูกขยายกรอบเวลาออกไปหลังจากหมดอายุลงในวันที่ 19 พฤศจิกายนหรือไม่
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ยกความดีความชอบแก่ตุรกีและสหประชาชาติ ที่ช่วยให้การส่งออกธัญพืชออกจากท่าเรือต่างๆ ของยูเครน สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แม้รัสเซียระงับการมีส่วนร่วมในข้อตกลงเมื่อวันเสาร์ (29 ต.ค.)
ระหว่างให้สัมภาษณณ์กับสถานีโทรทัศน์ ATV ทางเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี เผยว่าเขากับเซเลนสกี ได้หารือกันเกี่ยวกับการส่งธัญพืชไปยังประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ในขณะที่ ปูติน เคยเสนอก่อนหน้านี้ สำหรับส่งออกธัญพืชไปยังประเทศต่างๆ เช่น จิบูตี โซมาเลียและซูดาน เป็นลำดับแรกๆ เนื่องจากชาติเหล่านั้นมีความต้องการเร่งด่วน
ข้อตกลงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม มีเป้าหมายเพื่อช่วยหลีกเลี่ยงความอดอยากในประเทศยากจนทั้งหลาย ด้วยการป้อนข้าวสาลี น้ำมันดอกทานตะวัน และปุ๋ยเข้าสู่ตลาดโลก
รัสเซียระงับการมีส่วนร่วมในข้อตกลง โดยอ้างว่ามันไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยแก่เรือพลเรือนที่ล่องผ่านทะเลดำ หลังเกิดเหตุกองเรือของพวกเขาถูกโจมตี แต่ทางยูเครนและตะวันตกระบุว่า มันเป็นข้อกล่าวอันเป็นเท็จเพื่อการ "แบล็กเมล์" โดยใช้อุปทานอาหารโลกมาเป็นเครื่องมือในการขู่กรรโชก
หลังจากสงครามลากยาวมากว่า 8 เดือน กองกำลังยูเครนกำลังเดินหน้าทวงคืนดินแดนในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศ ส่วนรัสเซียพยายามหาทางชะลอการรุกคืบของเคียฟ ด้วยการยกระดับโจมตีด้วยขีปนาวุธและโดรน เล็งเป้าหมายถล่มโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน
ในวันพุธ (2 พ.ย.) เจ้าหน้าที่ในกรุงเคียฟ ได้เริ่มปิดระบบให้กำเนิดไฟฟ้าเป็นการฉุกเฉิน หลังจากการบริโภคพุ่งสูง "ความเคลื่อนไหวนี้มีความจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ไฟฟ้า" ถ้อยแถลงระบุ หลังจากการโจมตีของรัสเซียก่อความเสียหายแก่โครงข่ายไฟฟ้าทั้งในและรอบๆ เมืองหลวง
รัสเซียเล็งเป้าถล่มโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนหนึ่งในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "ปฏิบัติการพิเศษด้านการทหาร" เพื่อลดศักยภาพของกองทัพยูเครน และรื้อถอนสิ่งที่มอสโกเรียกว่าภัยคุกคามที่มีต่อความมั่นคงของพวกเขา
ผลก็คือ พลเมืองชาวยูเครนต้องเผชิญกับปัญหาไฟฟ้าดับและลดจ่ายน้ำประปาทั่วประเทศในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มอสโกปฏิเสธว่าไม่ได้เล็งเป้าหมายเล่นงานพลเรือน แต่ความขัดแย้งนี้เข่นฆ่าไปแล้วหลายพันชีวิต อีกหลายล้านคนต้องอพยพถิ่นฐาน และหลายเมืองของยูเครนเหลือแต่ซากปรักหักพัง
(ที่มา : รอยเตอร์)