xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียยกระดับอพยพในเคียร์ซอน กังวลยูเครนอาจใช้อาวุธต้องห้ามโจมตี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัสเซียแจ้งพลเมืองในวันอังคาร (1 พ.ย.) ให้เดินทางออกจากพื้นที่หนึ่งตามแนวริมตลิ่งแม่น้ำดริโปร ในแคว้นเคียร์ซอนของยูเครน ความเคลื่อนไหวยกระดับการอพยพครั้งใหญ่ ที่อ้างว่าเกิดจากความเสี่ยงที่ยูเครนอาจไม่ใช้อาวุธทั่วไปอีกต่อไป แต่ทางเคียฟชี้ว่ามันเทียบเท่ากับการบังคับลดจำนวนประชากรของดินแดนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของมอสโกแห่งนี้

ก่อนหน้านี้รัสเซียเคยออกคำสั่งอพยพพลเรือนออกจากพื้นที่หนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกเขา บริเวณริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดริโปร พื้นที่ที่กองกำลังยูคเรนรุกคืบประชิดเข้ามานานหลายสัปดาห์ ในความพยายามทวงคืนเมืองเคอร์ซอน ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่งในสงครามที่ยืดเยื้อมานานกว่า 8 เดือน

พวกเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซียระบุในวันอังคาร (1 พ.ย.) พวกเขาขยายคำสั่งครอบคลุมเขตกันชน 15 กิโลเมตร ตามแนวริมฝั่งตะวันออกเช่นกัน ในขณะที่ยูเครนประณามว่าการอพยพ ในนั้นรวมถึงบังคับขับไล่ออกจากดินแดนยึดครอง เทียบเท่ากับอาชญากรรมสงคราม

รัสเซีย ซึ่งอ้างผนวกเคอร์ซอนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเมื่อไม่นานที่ผ่านมา บอกว่าที่ต้องพาพลเรือนไปยังพื้นที่ปลอดภัย เป็นเพราะมีความเสี่ยงที่ยูเครนอาจใช้อาวุธนอกแบบโจมตี

"สืบเนื่องจากความเป็นไปได้ที่รัฐบาลยูเครนอาจเลือกใช้วิธีต้องห้ามของสงคราม เช่นเดียวกับมีข้อมูลข่าวสารว่าเคียฟกำลังโจมตีด้วยขีปนาวุธครั้งใหญ่ถล่มสถานีไฟฟ้าพลังงานน้ำคาคอฟคา อันตรายจากกระแสน้ำไหลบ่าท่วมแคว้นเคียร์ซอนจึงใกล้เข้ามาทุกขณะ" วลาดิมีร์ ซัลโด หัวหน้าแคว้นเคียร์ซอนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซียระบุ

"การตัดสินใจขยายโซนอพยพจะเปิดโอกาสให้การจัดตั้งแนวป้องกันเพื่อสกัดการโจมตีของยูเครนและปกป้องพลเรือน" เขากล่าว

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซียในแคว้นเคียร์ซอน ยังบังคับอพยพในเขตคาคอฟคา ใกล้กับสถานีไฟฟ้าพลังงานน้ำโนวา คาคอฟคา โดยให้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายนเป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ มอสโกเคยกล่าวหาเคียฟกำลังมีแผนใช้สิ่งที่เรียกว่า "เดอร์ตีบอมบ์ (ระเบิดกัมมันตรังสี)" แพร่กระจายกัมมันตรังสี หรือไม่ก็ระเบิดเขื่อนเพื่อให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ในแคว้นเคียร์ซอน ยูเครนตอบโต้ว่าคำกล่าวหาที่ว่าพวกเขาจะใช้ยุทธวิธีดังกล่าวในดินแดนของตนเองเป็นเรื่องไร้สาระ พร้อมชี้ว่าอาจเป็นฝ่ายรัสเซียเองที่กำลังวางแผนดำเนินการเช่นนี้อยู่ แล้วกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือยูเครน

ในเมืองเคียร์ซอนในวันอังคาร (1 พ.ย.) ท้องถนนสายต่างๆ แทบจะว่างเปล่า ด้วยร้านค้าและธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงปิดบริการ แต่พบเป็นประชาชนจำนวนหนึ่งนั่งเรือเฟอร์รีข้ามฟากไปยังชายฝั่งตะวันอกของแม่น้ำดนิโปร และผู้ชายกลุ่มหนึ่งนั่งตกปลาอย่างสงบ ดูเหมือนไม่แยแสต่อเสียงปืนใหญ่ที่ดังคำรามจากระยะไกล

กองกำลังรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ในสิ่งที่มอสโกอ้างว่าเป็นปฏิบัติการพิเศษด้านการทหาร เพื่อจำกัดพวกชาตินิยมที่เป็นอันตรายและปกป้องพลเรือนที่พูดภาษารัสเซีย เคียฟระบุว่าปฏิบัติการทางทหารของมอสโกนี้ เป็นความพยายามบุกยึดดินแดนโดยปราศจากการยั่วยุใดๆ

ชายชาวรัสเซียหลายหมื่นคนเดินทางออกไปยังต่างแดน หลบหนีคำสั่งเรียกระดมพลทหารกองหนุน สำหรับเข้าร่วมความขัดแย้งที่เข่นฆ่าไปแล้วหลายพันชีวิต ทำประชาชนหลายล้านคนต้องอพยพถิ่นฐานและรื้อฟื้นความแตกแยกยุคสมัยสงครามเย็นหวนคืนมา

รัสเซียยังคงเดินหน้ายิงขีปนาวุธถล่มเมืองต่างๆ ของยูเครน ในนั้นรวมถึงกรุงเคียฟ ในสิ่งที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ระบุว่าเป็นการแก้แค้นเหตุโจมตีกองเรือทะเลดำของรัสเซียเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยูเครนอ้างว่าสามารถสอยร่วงขีปนาวุธส่วนใหญ่ แต่บางส่วนเล็ดลอดถล่มสถานีไฟฟ้า ทำไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างและส่งผลกระทบต่อโครงข่ายน้ำประปา

สหรัฐฯ ในวันอังคาร (1 พ.ย.) ประณามการโจมตีดังกล่าว โดยระบุว่ามีการยิงขีปนาวุธออกมามากกว่า 100 ลูก ทั้งในวันจันทร์ (31 ต.ค.) และวันอังคาร (1 พ.ย.)

"ด้วยอุณหภูมิกำลังลดต่ำลง การโจมตีเหล่านี้ของรัสเซียที่มีเป้าหมายซ้ำเติมความทุกข์ทรมานของมนุษย์เป็นสิ่งที่ชั่วช้าอย่างที่สุด" เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว ในขณะที่รัสเซียยืนกรานปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้เล็งเป้าหมายโจมตีพลเรือน

ปูติน ได้ถอนรัสเซียจากความร่วมมือในโครงการหนึ่งที่มีตุรกีและสหประชาชาติเป็นคนกลาง ในการอารักขาเรือบรรทุกสินค้าธัญพืชของยูเครนออกจากโซนสงคราม ข้อตกลงที่บังคับใช้มานานกว่า 3 เดือน เท่ากับเป็นหยุดรัสเซียโดยพฤตินัยจากการปิดล้อมยูเครน ชาติผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และหลีกเลี่ยงก่อวิกฤตอาหารขาดแคลนทั่วโลก

ประธานาธิบดีปูตินบอกกับประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี ระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์เมื่อวันอังคาร (1 พ.ย.) ว่ารัสเซียจะพิจารณาทบทวนคืนสู่ข้อตกลงดังกล่าว ก็ต่อเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการสืบสวนเหตุโดรนโจมตีท่าเรือแห่งหนึ่งในแคว้นไครเมียเสียก่อน ซึ่งมอสโกกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของยูเครน

แม้รัสเซียระงับการมีส่วนร่วมในข้อตกลงส่งออกธัญพืช แต่จนถึงตอนนี้ท่าเรือต่างๆ ของยูเครนยังไม่ถูกปิดล้อม และมีรายงานว่าเรือบรรทุกสินค้า 3 ลำเดินทางออกจากท่าเรือยูเครนในเช้าวันอังคาร (1 พ.ย.) หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (31 ต.ค.) มีเรือแล่นออกมา 12 ลำ

คณะผู้บริหารโครงการดังกล่าวระบุว่าเรือที่แล่นออกมาในวันอังคาร (1 พ.ย.) เป็นไปตามการเห็นพ้องต้องกันระหว่างตัวแทนของยูเครน ตุรกีและสหประชาชาติ ซึ่งมอสโกได้รับแจ้งแล้ว ดูเหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่าพวกเขามีความตั้งใจเดินหน้าต่อ แม้ไม่ได้รับความร่วมมือจากรัสเซีย

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น