xs
xsm
sm
md
lg

จีนเปิดแผนบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์ผู้รักชาติ เพื่อสู้มาตรการสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งขวางการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ของแดนมังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China wants patriotic scientists to fight US chip ban
By JEFF PAO
19/10/2022

ปักกิ่งวางแผนอบรมบ่มเพาะทีมวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นที่มีความคิดในทางยุทธศาสตร์และมีความรักชาติ ขณะที่พวกผู้เชี่ยวชาญด้านชิปซึ่งเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ถูกวอชิงตันบังคับให้ยุติการทำงานในโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ของจีน

รัฐบาลจีนตัดสินใจที่จะสรรหาบุคลากรผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม มาบ่มเพาะให้เป็นทีมงานนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรทางยุทธศาสตร์ทีมหนึ่ง หลังจากที่สหรัฐฯ ได้เปิดเผยมาตรการชุดใหม่ซึ่งมีการจำกัดบังคับให้พวกผู้เชี่ยวชาญด้านชิปชาวอเมริกัน ต้องถอนตัวไม่สามารถทำงานในโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของจีนได้

กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ministry of Industrial and Information Technology หรือ MIIT) ได้เผยแพร่เอกสารเสนอความคิดเห็นฉบับหนึ่งเมื่อวันอังคาร (18 ต.ค.) ซึ่งเสนอแนะให้จีนกระตุ้นส่งเสริมพวกบัณฑิตระดับท็อปเข้ามาทำงานในภาคไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และจัดหาทรัพยากร ตลอดจนความสนับสนุนต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นไปได้มาบ่มเพาะพวกเขาให้กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรซึ่งมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cnii.com.cn/zcjd/202210/t20221019_421407.html)

หลี่ กั๋วเจี๋ย (Li Guojie) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Sciences หรือ CAS) บอกว่า หลักเกณฑ์ข้อแรกสุดของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางยุทธศาสตร์ ก็คือ ความรักชาติ หลี่ ย้ำว่า พวกนักวิทยาศาสตร์ทางยุทธศาสตร์ควรต้องมีความริเริ่มในการช่วยเหลือประเทศชาติให้ประสบความสำเร็จในการผ่าทางตันทางเทคโนโลยีสำคัญๆ และมีความสามารถในการนำพาเหล่านักวิทยาศาสตร์และวิศวกรระดับท็อป

เสียงเรียกร้องต้องการเช่นนี้ดังก้องขึ้นมา หลังจากสหรัฐฯ ประกาศในช่วงก่อนหน้านี้ของเดือนนี้ว่า พลเมืองสหรัฐฯ จะถูกสั่งห้ามไม่ให้ทำงานหรือให้บริการใดๆ แก่โรงงานผลิตชิปของจีนบางแห่งบางประเภทตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยที่มีรายงานว่ามาตรการจำกัดกีดกันเช่นนี้ได้บังคับให้พวกผู้เชี่ยวชาญด้านชิปชาวอเมริกันเชื้อสายจีนบางคนต้องลาออกจากตำแหน่งงานของพวกเขาในประเทศจีน

ก่อนหน้านั้นไปอีก นั่นคือเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ลงนามประกาศใช้รัฐบัญญัติ CHIPS and Science Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ภายในสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ ในการต่อกรกับจีน

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม สำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง (Bureau of Industry and Security หรือ BIS) ในกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้สั่งห้ามขนส่งซอฟต์แวร์การดีไซน์ทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ (electronic design automation หรือ EDA) ไปยังจีน ซอฟต์แวร์ชนิดนี้ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขนาด 3 นาโนเมตร ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นเจเนอเรชันรุ่นนำสมัยที่สุด

เมื่อตอนต้นเดือนที่แล้ว BIS ยังได้เริ่มการแบนครั้งใหม่ ซึ่งครอบคลุมการส่งออกชิปไฮเอนด์หลายๆ ประเภทที่ผลิตโดยอินวิเดีย (Nvidia) และเอเอ็มดี (AMD) ไปยังจีน เพื่อมุ่งชะลอการเติบโตของภาคปัญญาประดิษฐ์ของจีน สำหรับมาตรการกีดกั้นระลอกล่าสุดนั้นระบุเอาไว้ว่า พลเมืองสหรัฐฯ ถูกห้ามไม่ให้สนับสนุนการพัฒนาหรือการผลิตแผงวงจรรวม ณ โรงงานชิปบางแห่งบางที่ในประเทศจีน หากไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นพิเศษ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคมเป็นต้นไป

ตามรายงานหลายกระแสของสื่อมวลชน วิศวกรชาวอเมริกันเชื้อสายจีนระดับท็อปบางคน เป็นต้นว่า เจอรัลด์ อิน (Gerald Yin) ประธานและผู้จัดการใหญ่ของเอเอ็มอีซี (AMEC) กำลังเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากว่าพวกเขาควรพำนักอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ต่อไปท่ามกลางการแซงก์ชันของสหรัฐฯ หรือไม่

ดังที่ระบุไว้ข้างต้น ในวันอังคาร (18 ต.ค.) กระทรวง MIIT ได้เผยแพร่เอกสารฉบับหนึ่งพูดถึงวิธีการที่จีนจะระดมหาผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามา และบรรลุการทะลุทะลวงทางเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะในภาคเซมิคอนดักเตอร์ เอกสารฉบับนี้ได้รับอนุมัติเป็นการภายในมาตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม หรือไม่กี่วันหลังสหรัฐฯ ออกประกาศมาตรการจำกัดกีดกัน

กระทรวง MIIT บอกว่า จะเปิดเผยนโนบายพิเศษต่างๆ เพื่อกระตุ้นส่งเสริมการจัดตั้งทีมงานเทคโนโลยีมุ่งสร้างนวัตกรรมทีมต่างๆ และการระดมหาพวกผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปด้านเทคโนโลยี ทางกระทรวงกล่าวด้วยว่าจะจัดสรรทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นเพื่อการบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรุ่นหนุ่มสาว รวมทั้งจัดตั้งสถาบันทางวิชาการและศูนย์วิจัยใหม่ๆ ขึ้นมารองรับพวกเขา

MIIT บอกว่ารัฐบาลจะจัดหาทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นสำหรับใช้ในการฝึกอบรมวิศวกร ให้แก่กิจการเทคโนโลยีขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกกิจการซึ่งอยู่ในฐานะเป็นแกนกลางในห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมนี้ นอกจากนั้น ยังกล่าวว่าพวกสถาบันทางวิชาการและสถาบันวิจัยทั้งหลายควรกำหนดให้พนักงานของพวกตนใช้เวลาในการทำงานซึ่งไม่ใช่งานวิชาการหรืองานวิจัย สูงสุดไม่เกิน 1 วันต่อสัปดาห์

ในเวลาเดียวกัน สมาชิกบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์ หลี่ กว๋อเจี๋ย ได้เขียนในบทความชิ้นหนึ่งระบุว่า มีปัญหาทางเทคโนโลยีอยู่เยอะแยะมากมายซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขคลี่คลายโดยเหล่าวิศวกรระดับท็อปผู้มีความคิดจิตใจในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งมีความรักชาติและมีความเข้าใจสถานการณ์ของโลก

“ทำไมจีนจึงประกาศว่าจะบ่มเพาะกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทางยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่องเป็นชุดใหญ่ออกมา คำตอบคือ เพราะมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องได้พวกผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความเข้าใจวิธีการในการช่วยเหลือประเทศชาติให้พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ แบบพึ่งตนเอง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่รุนแรงสาหัส” หลี่ กล่าวโดยไม่ได้มีการเอ่ยอ้างถึงมาตรการจำกัดกีดกันของสหรัฐฯ

หลี่ เล่าว่า เมื่อตอนที่เขานำคณะผู้แทนของศูนย์วิจัยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computer Research Center) ไปเยือนสหรัฐฯ ในปี 1991 เขาได้รับการบอกกล่าวจากนักวิทยาศาสตร์อเมริกันเชื้อสายจีนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีผู้หนึ่งว่า จีนควรโฟกัสที่การวิจัยพวกอุปกรณ์เสริม อย่างเช่น เมาส์ คียย์บอร์ด และจอภาพ แทนที่จะตั้งจุดมุ่งหมายไปที่เครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง

เขาบอกว่าตั้งแต่ตอนนั้นมา เขาจึงเกิดความตระหนักถึงความเป็นจริงขึ้นมาว่า จีนไม่ควรพึ่งพาอาศัยพวกนักวิทยาศาสตร์ที่ปราศจากความรักชาติ และพำนักอาศัยอยู่ต่างแดนเป็นเวลานาน

หลี่ กล่าวยกย่องสรรเสริญ เจียง ซั่งโจว (Jiang Shangzhou) ประธานผู้ล่วงลับไปแล้วของบริษัทเอสเอ็มไอซี (SMIC Semiconductor Manufacturing International Corporation เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น) สำหรับการสร้างคุณูปการมาตลอดชีวิต ในการนำเอาพวกเทคโนโลยีชิปต่างประเทสเข้าสู่จีน เขากล่าวอีกว่า เป็นเพราะ เจียง นั่นเองที่ชักชวน เจอรัลด์ อิน (Gerald Yin) ผู้เคยทำงานอยู่ในบริษัทอินเทลเป็นเวลานานปี ให้กลับมายังจีน และช่วยเหลือสร้างภาคเซมิคอนดักเตอร์ของเซี่ยงไฮ้ขึ้น จนมีรายรับในระดับ 200,000 ล้านหยวนต่อปี (ราว 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

เขายังพูดถึง เติ้ง เจี๋ยเซียน (Deng Jiaxian) นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ชาวจีน และเป็นสมาชิกคนหนึ่งของบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์ของจีน ในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางยุทธศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งได้สร้างคุณูปการของเขาในภาคการคำนวณและการประเมินผลด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง

หลี่ กล่าวว่า “ผู้คนบางคนคิดว่า เมื่อจีนสามารถทำเครื่องจักรอุปกรณ์ lithography รุ่นล้ำหน้าที่สุดในโลกออกมาได้แล้ว การพัฒนาในภาคแผงวงจรรวมของเราก็จะไม่ถูกจำกัดด้วยอุปสรรคอื่นๆ อีก ผู้คนเหล่านี้จึงรบเร้ารัฐบาลให้ลงทุนเพื่อทำสิ่งนี้ขึ้นมาให้สำเร็จไม่ว่าจะต้องลงทุนกันขนาดไหนก็ตาม”

อย่างไรก็ดี เขาชี้ว่าทาง CAS ค้นพบว่าจีนไม่ได้มีชิ้นส่วนราวสามในสี่ของส่วนประกอบต่างๆ 164 ชิ้นในเครื่อง lithography เทคโนโลยี extreme ultraviolet ซึ่งสามารถทำชิปขนาด 14 นาโนเมตร เขากล่าวว่าประเทศชาติจะยังไม่สามารถทำเครื่อง lithography เทคโนโลยี deep ultraviolet ซึ่งเป็นเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เก่ากว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน 5 เจเนอเรชันได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

เขาบอกว่า เขาเสนอแนะเอาไว้ว่าจีนเวลานี้ควรโฟกัสไปที่พวกเทคโนโลยีเติบโตเต็มที่แล้ว นั่นคือ ชิปขนาด 28 ถึง 55 นาโนเมตร แต่เขาเข้าใจดีว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวนี้จะไม่สามารถดึงดูดความสนใจอะไรได้มากมาย

นี่นับเป็นครั้งแรกที่ CAS ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าจีนประสบความล้มเหลวไม่สามารถทำเครื่อง lithography ของตนเองได้

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมปีนี้ เสี้ยว หยาชิ่ง (Xiao Yaqing) รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนในเวลานั้น ถูกจับกุมเนื่องจากต้องสงสัยว่าละเมิดวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์และกฎหมายของบ้านเมือง เจ้า เว่ยกั๋ว (Zhao Weiguo) อดีตประธานของกลุ่มชิงหัวยูนิ กรุ๊ป (Tsinghua Unigroup) ที่เป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ก็ถูกนำตัวไปสอบสวนในข้อหาว่าเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการจัดซื้อที่ผิดปกติ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีผู้บริหารระดับอาวุโสอีกสิบกว่าคนในภาคเซมิคอนดักเตอร์ที่ถูกสอบสวน

พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีนบ่นพึมว่า รัฐบาลได้ทุ่มเทเงินทองเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านดอลลาร์เข้าไปในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ทว่ายังไม่ได้รับผลดังที่คาดหวัง สื่อบลูมเบิร์กรายงานเอาไว้เช่นนี้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น