xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ อยู่บนเส้นทางที่จะสามารถฝ่าข้ามความพยายามของ ‘สหรัฐฯ’ ในการบ่อนทำลายอุตสาหกรรมชิปของแดนมังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สกอตต์ ฟอสเตอร์ ***


จีนกำลังทุ่มเทความพยายามให้มากขึ้นอีก ในการเพิ่มพูนสมรรถนะการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในแดนมังกรเอง
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China on course to elude US chip-making equipment bans
By SCOTT FOSTER
03/10/2022

จีนกำลังอยู่บนเส้นทางที่จะสามารถหลบหลีกมาตรการของสหรัฐฯ ในเรื่องการห้ามส่งออกเครื่องมืออุปกรณ์ผลิตชิปไปยังแดนมังกร การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อพึ่งตนเองให้ได้ในเรื่องห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์จะไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ หรือมีประสิทธิผลในทางเศรษฐกิจ ทว่ามันมีความเป็นไม่ได้ –และก็จะทำให้พวกบริษัทชิปอเมริกันต้องเป็นผู้สูญเสียอย่างแพงลิบทีเดียว

ความพยายามของหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านเทคของจีนที่จะผลิตเซมิคอนดักเตอร์โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยเครื่องจักรอุปกรณ์อเมริกัน กลายเป็นพาดหัวข่าวไปทั่วโลก ขณะที่สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกคำรบหนึ่ง

มีร่องรอยที่หนักแน่นเพิ่มขึ้นมาอีกประการหนึ่งที่ชี้ว่า –ทั้งนี้ ถ้าหากยังจำเป็นต้องแจกแจงเพิ่มเติมร่องรอยหลักฐานให้มากขึ้นกว่านี้อีก— รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังอยู่ในกระบวนการของการสร้างคู่แข่งรายหนึ่งซึ่งตนเองไม่สามารถที่จะควบคุมได้ พร้อมๆ กับที่บีบบังคับพวกบริษัทอเมริกันให้ทอดทิ้งตลาดขนาดกว้างใหญ่มหาศาล ซึ่งจวบจนกระทั่งเวลานี้ได้เป็นตลาดที่คอยสนับสนุนพวกเขาเรื่อยมา ทั้งเรื่องยอดขาย ผลกำไร ความได้เปรียบเนื่องจากการประหยัดจากขนาด (economies of scale) และราคาหุ้น

ภูมิรัฐศาสตร์กลายเป็นสิ่งที่สามารถลบล้างการอุทิศตนเพื่อเปิดตลาดต่างๆ ซึ่งอเมริกายึดมั่นปฏิบัติมาในอดีต และสถานการณ์ก็ไม่น่าที่จะสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไปจากนี้ในเร็ววัน ตราบใดที่โครงสร้างทางการเมืองและความคิดจิตใจทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังคงอยู่ในฐานะครอบงำอยู่ในอเมริกา

สหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจในเรื่องการสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตนเองขึ้นมาใหม่ และการปฏิเสธไม่ให้จีนได้รับเทคโนโลยีก้าวหน้าล้ำยุคที่สามารถประยุกต์ใช้ในทางการทหารหรือในด้านที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติอย่างอื่นๆ –โดยตัวอย่างแรกและสำคัญที่สุดของการปฏิเสธดังกล่าวนี้ ย่อมได้แก่ เรื่องการจำกัดกีดกันพวกอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของหัวเว่ย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จีนสามารถทำอะไรได้บ้างต่อเรื่องที่ถูกอเมริกาแซงก์ชันและสังห้ามอะไรๆ เยอะแยะไปหมด?

มีการรายงานกันอย่างกว้างขวางว่า จีนนั้นไม่สามารถที่จะทำเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับล้ำยุคล้ำสมัยออกมาได้ ถ้าหากไม่มีเครื่องจักรอุปกรณ์ lithography เทคโนโลยี EUV อันสุดเฉียบ จากบริษัท เอเอสเอ็มแอล (ASML) แห่งเนเธอร์แลนด์ และพวกเครื่องมือด้านการดีไซน์ทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ (electronic design automation (EDA) tools) จากซีนอฟซิส (Synopsis) และเคเดนซ์ (Cadence) แห่งอเมริกา หรือว่าซีเมนส์ EDA (Siemens EDA แต่เดิมคือบริษัท เมนเทอร์ กราฟิกส์ Mentor Graphics) แห่งเยอรมนี

เวลาเดียวกัน ก็มีรายงานว่าจีนจะไม่สามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใดๆ ได้เลย ถ้าหากไม่มีเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตจากแอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ (Applied Materials) และแลม รีเสิร์ช (Lam Research) แห่งอเมริกา หรือเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการตรวจสอบจาก เคแอลเอ (KLA) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ในด้านหนึ่ง รายงานเหล่านี้พูดไว้ถูกต้อง –ทว่าเพียงแค่ในบางส่วนบางขอบเขตเท่านั้น ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งมีความเป็นไปได้ที่จีนอาจจะอยู่ในฐานะอ่อนแอกว่าที่รายงานกันเอาไว้นี้ด้วยซ้ำไป อย่างน้อยที่สุดก็ในระยะใกล้ๆ นี้

เวลานี้มีเพียงประเทศเดียวในโลกเท่านั้น ซึ่งถ้าหากถูกบังคับให้ทำ ก็จะสามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ออกมาได้อย่างอิสระไม่ต้องพึ่งพาภายนอก นั่นคือ ญี่ปุ่น สำหรับประเทศอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วยจะอยู่ในสภาพขาดไร้ส่วนประกอบใหญ่ๆ จำนวนหนึ่งซึ่งเคยพึ่งพาอาศัยได้มาจากห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์มาโดยตลอด

ทำไมทั้งเกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งต่างได้สร้างธุรกิจโรงงานรับจ้างผลิตแผงวงจรรวม (integrated circuit หรือ IC) และธุรกิจเมโมรี ไอซี ที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกขึ้นมาได้สำเร็จ จึงแทบจะไม่ทำเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมาภายในพื้นถิ่นของตนเองกันเลย?

มันไม่ใช่เป็นเพราะพวกนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักเทคโนโลยีของเกาหลีใต้และไต้หวันขาดไร้ความรู้ความสามารถ หรือว่าพวกเขาขาดไร้สมรรถนะทางด้านโรงงานเพื่อผลิตสิ่งเหล่านี้หรอก ตรงกันข้าม เหตุผลข้อสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่ามันจะไม่คุ้มค่า ไม่ทรงประสิทธิผลในทางเศรษฐกิจต่างหาก เนื่องจากกำแพงกีดขวางที่จะต้องฝ่าข้ามไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมืออุปกรณ์เหล่านี้ยังคงสูงมากๆ

ภาพซึ่งตั้งแสดงอยู่ที่บูทของทีเอสเอ็มซี ในงานการประชุมเซมิคอนดักเตอร์โลกปี 2020 ทั้งนี้ ถึงแม้ทีเอสเอ็มซี เป็นบริษัทโรงงานผลิตชิปใหญ่ที่สุดในโลก แต่กลับไม่ได้ทำเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการผลิตชิปใดๆ เลย
ปุจฉา : ทำไมทางญี่ปุ่นจึงพึ่งพาอาศัยบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC ทีเอสเอ็มซี) และเครื่องมืออุปกรณ์ด้าน EDA ซึ่งผลิตโดยพวกบริษัทอเมริกัน รวมทั้งใช้เครื่องจักรอุปกรณ์อีกจำนวนมากที่มาจาก แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ แลม รีเสิร์ช และ เคแอลเอ?

วิสัชนา : เพราะว่ามันมีประสิทธิผลกว่าและคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายมากกว่า นอกจากนั้น พวกบริษัทญี่ปุ่นยังมีความสัมพันธ์ที่เชื่อถือไว้วางใจได้อย่างยาวนานกับพวกบริษัทเหล่านี้ตลอดจนบริษัทอื่นๆ ในอเมริกา ยุโรป ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นตลอดหลายๆ ปีที่ผ่านมาว่า นี่เป็นสิ่งที่ให้กำไร

แน่นอนทีเดียว นี่คือสิ่งที่พึงคาดหวังว่าจะได้เห็น เมื่อนำเอาทฤษฎีว่าด้วยความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (theory of comparative advantage) มาใช้ในเศรษฐกิจโลกที่ขับดันโดยตลาดเสรี

ที่ผ่านมา จีนได้อาศัยประโยชน์ของระบบตลาดโลกดังกล่าวนี้ ขณะเดียวกัน ที่นำเอาส่วนผสมของลัทธิพาณิชย์นิยม (mercantilism) กับการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ในเชิงรุกอย่างแข็งกร้าว จนเวลานี้ จึนกำลังถูกกีดกันออกจากภาคสำคัญๆ ของระบบนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่เป็นระบบ

(ลัทธิพาณิชย์นิยม mercantilism คือนโยบายทางเศรษฐกิจซึ่งจัดทำขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ประเทศของตนส่งออกได้มากที่สุดและนำเข้าน้อยที่สุด ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Mercantilism)

มันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องไปเสียทั้งหมดหรอก ถ้าจะพูดว่าญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ก็ทำอย่างเดียวกันนี้ในเส้นทางมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีของพวกเขา เนื่องจากประเทศทั้งสองในตอนนั้นและจวบจนกระทั่งถึงตอนนี้ ต่างเป็นพันธมิตรของอเมริกันชนิดที่มีกองทหารสหรัฐฯ ประจำการอยู่บนดินแดนของพวกเขา ส่วนจีนคือศัตรูและอยู่ในฐานะเช่นนั้นเรื่อยมานับตั้งแต่ตอนที่สหรัฐฯ เข้าข้างพวกชาตินิยม (ก๊กมิ่นตั๋ง) ในสงครามกลางเมืองของจีน

เป็นเรื่องที่น่าสนใจแต่ไม่น่าที่จะสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ถ้าหากจะย้อนความหลังว่า อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) และพวกผู้นำอเมริกันคนอื่นๆ ในยุคแรกๆ ของการสถาปนาประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นมานั้น ก็เสนอแนะและให้รางวัลสำหรับการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาจากสหราชอาณาจักรและยุโรปด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ถ้าหากจะสรุปบทเรียนที่พึงได้จากประวัติศาสตร์กันล่ะก้อ มันก็คือ เราจะต้องคิดหาทางทำประโยชน์ให้แก่ตัวเองให้มากที่สุด
(เรื่องที่ แฮมิลตัน และผู้นำสหรัฐฯ รุ่นแรกๆ ให้รางวัลการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/10/todays-free-trader-is-yesterdays-ip-thief/)

สำหรับจีนแล้ว นี่หมายถึงการทุ่มเทความพยายามให้มากขึ้นอีกกับนโยบายต่างๆ ทางอุตสาหกรรมที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีก้าวหน้าทั้งหลาย เซมิคอนดักเตอร์คือจุดอ่อนด้านเทคของจีน และนี่ก็คือจุดโฟกัสที่ปักกิ่งจะเน้นหนักต่อไปจนกระทั่งตนสามารถแก้ไขปัญหาการเข้าแทรกแซงและการใช้มาตรการแซงก์ชันของอเมริกันได้ ทั้งนี้ มันก็เหมือนกับในสหรัฐฯ เรื่องประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจจะถูกถือว่าเป็นอันดับรองลงมาระดับหนึ่ง จากเรื่องทางการทหารและทางด้านความมั่นคงแห่งชาติ

อย่างที่ ราเกซ กุมาร (Rakesh Kumar) ศาสตราจารย์ในภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ บอกกับนิตยสารฟอร์จูน ไปเมื่อเร็วๆ นี้

“ต้นทุนที่สูงขึ้นจะเป็นภัยคุกคามความสามารถในการแข่งขันของพวกชิปที่ใช้ในเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับผู้บริโภค อย่างที่มองเห็นกันได้อยู่แล้วว่าการใช้มาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯ นั้นเกือบทำให้แซดทีอี (ZTE) ล้มละลาย และทำให้หัวเว่ย โซซัดโซเซได้ยังไง แต่เรื่องต้นทุนจะไม่ขัดขวางการใช้ชิปราคาแพงขึ้นเหล่านี้สำหรับวัตถุประสงค์ทางการทหารและทางด้านยุทธศาสตร์อื่นๆ นอกจากนั้น การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ –ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนมีความแข็งแกร่งถึงขั้นอยู่ในระดับโลกเรียบร้อยแล้ว—มากขึ้นเรื่อยๆ ในการผลิตชิป และการสะสมประสบการณ์เพิ่มมากขึ้นๆ ยังสามารถที่จะลดต้นทุนของการเลือกใช้ทางเลือกอื่นๆ เช่นนี้ได้อีกด้วย ทำให้มาตรการควบคุมการส่งออกมีประสิทธิภาพลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://fortune.com/2022/09/28/chip-export-ban-china-us-asml-nvidia-rakesh-kumar/)

การที่จีนกำลังพยายามวิธีแก้ไขแบบขัดตาทัพในทางเทคโนโลยี เวลานี้ดูจะสามารถลดช่วงห่างระหว่างสมรรถนะในปัจจุบันของจีน กับเทคโนโลยีระดับล้ำยุคนำหน้าที่สุดของอุตสาหกรรมลงไปได้อยู่แล้ว เรื่องเช่นนี้ก็หมายรวมไปถึงการแพกเกจจิ้งอย่างฉลาดหลักแหลม และการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี DUV ArF immersion lithography

เอสเอ็มไอซี (SMIC ชื่อเต็มคือ Semiconductor Manufacturing International Corporation เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น) ที่เป็นผู้ผลิตชิประดับท็อปของจีน ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ทำให้สหรัฐฯ รู้สึกช็อก จากการประกาศว่าพวกเขาเพิ่งผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรออกมาได้สำเร็จ ถึงแม้ยังคงถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ lithography เทคโนโลยี EUV ก็ตาม เวลานี้ยังมีรายงานตามมาด้วยว่า เอสเอ็มไอซีกำลังก้าวไปสู่ระดับที่ล้ำหน้าขึ้นไปอีก นั่นคือ ชิปขนาด 5 นาโนเมตร นอกจากนั้น เอสเอ็มไอซียังได้เริ่มต้นก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ๆ เพื่อผลิตแผ่นเวเฟอร์ชิปขนาด 300 มม. อีกด้วย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/07/smics-7-nm-chip-process-a-wake-up-call-for-us/)

เอสเอ็มไอซี ผู้ผลิตชิปสัญชาติจีน กำลังทำงานหนักเพิ่อฝ่าข้ามมาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯ
ในสาขาทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการคำนวณและประมวลผลประสิทธิภาพสูง (high-performance computing หรือ HPC) เซี่ยงตี้เซียน คอมพิวติ้ง เทคโนโลยี (Xiangdixian Computing Technology) และมอฟเฟตต์ เอไอ (Moffett AI) เพิ่งประกาศความสำเร็จในการทำเครื่องมืออุปกรณ์ใหม่ๆ ที่พวกเขาอ้างว่าสามารถแทนที่ GPUs ซึ่งบริษัทอินวีเดีย และเอเอ็มดี ของสหรัฐฯ ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายให้แก่จีนอีกต่อไปแล้ว กฎเกณฑ์ความสามารถในการดีไซน์อาจจะไม่ก้าวหน้าเท่า (แค่ 12 นาโนเมตร เปรียบเทียบกับ 4 นาโนเมตร ของอินวีเดีย) แต่มันก็ทำงานได้

ผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของจีนรายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดจนถึงเวลานี้ ดูเหมือนจะเป็น เอเอ็มอีซี (AMEC) ซึ่งเพิ่งมีรายงานว่าได้ขายพวกเครื่องมืออุปกรณ์ด้านการกัดกรด (etch tools) ให้แก่ทีเอสเอ็มซี รวมทั้งได้จัดส่งเครื่องมืออุปกรณ์เช่นนี้ไปที่ ซัมซุง อินเทล และไมครอน เพื่อทำการทดสอบ ตามการเปิดเผยของซีเอส อินไซต์ (CS Insight) และแหล่งข่าวรายอื่นๆ เอเอ็มอีซี ได้สาธิตเครื่องมืออุปกรณ์ dielectric etch ซึ่งมีสมรรถนะระดับ 5 นาโนเมตร

เวลาเดียวกันนั้น มีรายงานว่า เอสเอ็มอีอี (SMEE) บริษัทจีนที่เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ lithography เวลานี้กำลังทำงานอยู่กับเครื่องจักรอุปกรณ์ ArF immersion lithography ตัวใหม่ ซึ่งเมื่อใช้วิธี multiple patterning ก็อาจนำไปใช้ในการผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรได้

ในเวลาใกล้เคียงกัน บริษัทนิคอน (Nikon) ของญี่ปุ่นแถลงว่า เครื่องสแกนเนอร์ NSR-S635E ArF immersion scanner ของบริษัท “สามารถใช้เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ล้ำยุคระดับโลกในเรื่อง patterning and productivity สำหรับ node applications ระดับ 5 นาโนเมตร และยิ่งกว่านั้น” ซึ่งเป็นการเปิดเผยให้เห็นขอบฟ้าใหม่แห่งการผลิตชิปที่ไม่ต้องใช้ EUV

ถ้าหากประสบความสำเร็จแล้ว ความพยายามของสหรัฐฯ ในการหยุดยั้งไม่ให้เอเอสเอ็มแอล จัดส่งเครื่องจักรอุปกรณ์ DUV lithography ไปยังจีน ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องดีเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาทีเดียวสำหรับ เอสเอ็มอีอี

SEMI สมาคมอุตสาหกรรมระดับโลกมีรายชื่อบริษัทจีนราวๆ 80 แห่งที่เกี่ยวข้องอยู่ในการวิจัยและการตั้งโรงงานผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ด้านเซมิคอนดักเตอร์ โดยที่ทั้งหมดเหล่านี้สามารถที่จะสันนิษฐานว่าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน

จีนเวลานี้กำลังเจริญรอยตามญี่ปุ่น ทว่ายังผสมผสานไปด้วยแรงขับดันจากความกลัวที่ว่าจะเจอการแซงก์ชันอย่างเข้มทข้นยกระดับยิ่งขึ้นไปอีกจากสหรัฐฯ ดังนั้นจึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ที่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างสมบูรณ์ขึ้นมา

ตามข้อมูลของไอซี อินไซส์ (IC Insights) จีนบริโภคเซมิคอนดักเตอร์รวมเป็นมูลค่า 186,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 36.5% ของตลาดโลก ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ของจีนเช่นนี้ได้รับการตอบสนองจากการผลิตในจีนเองเพียงแค่ 17% เท่านั้น และจากการผลิตของบริษัทจีนเพียงแค่ 7%

ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางการตลาดสำหรับพวกบริษัทจีนทั้งที่เป็นพวกดีไซน์เซมิคอนดักเตอร์ โรงงานทำเซมิคอนดักเตอร์ และผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ทำเซมิคอนดักเตอร์ และก็เป็นตัวเลขต้นทุนทางด้านโอกาสของพวกบริษัทต่างชาติที่จะต้องได้รับความเสียหายจากข้อกำหนดควบคุมกีดกันการส่งออกไปยังแดนมังกรของรัฐบาลสหรัฐฯ เฉพาะเพียงแค่การทดแทนการนำเข้าเท่านั้นมันก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้พวกบริษัทจีนได้ประโยชน์ในเรื่องการประหยัดอันเกิดจากขนาด (economies of scale)

มีบริษัทจีนจำนวนมากที่ทำพวกเครื่องมืออุปกรณ์ EDA ทว่าไม่มีแห่งใดเลยซึ่งเวลานี้มีศักยภาพที่จะเข้าแทนที่พวกผลิตภัณฑ์นำเข้ารุ่นก้าวหน้าที่สุดซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศแซงก์ชันไปเมื่อเร็วๆ นี้ ตามรายงานของเอเชียไทมส์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/08/us-goes-for-eda-jugular-in-china-chips-war/) ทว่าพวกแหล่งข่าวในแวดวงอุตสาหกรรมนี้ชี้ว่า ในระยะหลังๆ นี้จีนได้นำเข้าพวกเครื่องมืออุปกรณ์ EDA กันเป็น “ลำเรือ” ซึ่งสามารถที่จะใช้ไปได้ตลอดช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

นี่ดูเหมือนจะเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสของจีน บางทีในช่วงใดช่วงหนึ่งของครึ่งหลังของทศวรรษนี้ เราจะได้ทราบกันว่าความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการอุดปากบีบคออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนนั้น ประสบความสำเร็จ หรือว่าล้มเหลว

ทั้งนี้ โอกาสที่จะประสบความล้มเหลวนั้นดูเหมือนจะมีสูงกว่า ยกเว้นแต่ในพวกผลิตภัณฑ์ระดับล้ำยุคล้ำสมัย ขณะที่ต้นทุนสำหรับอเมริกาและสำหรับพวกบริษัทเซมิคอนดักเตอร์อเมริกันนั้นน่าที่จะสูงลิบลิ่ว
กำลังโหลดความคิดเห็น