xs
xsm
sm
md
lg

สงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีนขยายตัวขึ้นไปอีกระดับ จากมาตรการใหม่ของวอชิงตันที่มุ่งห้ามส่งออกชิปรุ่นล้ำยุคให้แดนมังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โดย เจฟฟ์ เปา ***


พนักงานของบริษัทแยงซี เมโมรี เทคโนโลยีส์ (Yangtze Memory Technologies Co หรือ YMTC) ตรวจสอบแผ่นเวเฟอร์เซมิคอนดักเตอร์ เป็นที่คาดหมายกันว่าผู้ผลิตชิปจีนรายนี้จะถูกเล่นงานอย่างหนักหน่วงจากมาตรการจำกัดกีดกันการส่งออกเทคโนโลยีระลอกใหม่ล่าสุดของสหรัฐฯ (ภาพจาก YMTC)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

New US chip ban takes tech war to dire next level
By JEFF PAO
12/10/2022

พวกนักวิเคราะห์และคอมเมนเตเตอร์ชาวจีนมองอย่างมืดมนว่า สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน กำลังบานปลายยกระดับความรุนแรงขึ้นไปอย่างสำคัญ

สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน กำลังมีการบานปลายยกระดับความรุนแรงขึ้นไปอีกอย่างสำคัญยิ่ง โดยที่พวกนักวิเคราะห์และนักวิจารณ์ให้ความคิดเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวจีนระบุว่า คาดหมายได้ว่าภาคชิปความจำ (memory chip) ของแดนมังกรจะถูกเล่นงานอย่างหนักหน่วงเป็นพิเศษจากมาตรการจำกัดกีดกันการส่งออกระลอกใหม่ ซึ่งสหรัฐฯ เพิ่งประกาศออกมาเมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้

การประเมินที่ให้ภาพอันมืดมนเช่นนี้มีขึ้นหลังจากบริษัทแยงซี เมโมรี เทคโนโลยีส์ (Yangtze Memory Technologies Co หรือ YMTC) ผู้ผลิตชิปความจำระดับท็อปของจีน และ “หน่วยงานและบุคคล” (entities) ของจีนอื่นๆ อีก 30 ราย ถูกเพิ่มเข้าไปในบัญชีดำที่มีชื่อว่า “unverified list” (บัญชีรายชื่อหน่วยงานและบุคคลที่ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้) ของสำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง (Bureau of Industry and Security (BIS) ซึ่งสังกัดอยู่กับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://public-inspection.federalregister.gov/2022-21714.pdf)

BIS แถลงว่า ตนไม่สามารถที่จะตรวจสอบพิสูจน์ทราบคำรับรองแสดงความสุจริตของหน่วยงานจีนเหล่านี้ เพราะว่าการตรวจเช็กการใช้สุดท้าย (end-use) ยังไม่อาจทำให้เกิดความพึงพอใจอย่างสมบูรณ์ขึ้นมาได้ สืบเนื่องจากเหตุผลต่างๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบสหรัฐฯ คำแถลงบอกว่าบริษัทที่ชื่อถูกขึ้นบัญชีเหล่านี้จะเจอกับการจำกัดกีดกันเมื่อพยายามซื้อหาผลิตภัณฑ์สหรัฐฯ

ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคมเป็นต้นไป พลเมืองสหรัฐฯ ยังจะถูกห้ามไม่ให้สนับสนุนการพัฒนาหรือการผลิตแผงวงจรรวม ณ โรงงานชิปบางแห่งในประเทศจีนที่ถูกระบุชื่อ ถ้าหากพวกเขาไม่ได้รับใบอนุญาต คำแถลงของ BIS ระบุ

แล้วก็เป็นธรรมดาในสงครามเทคโนโลยีเช่นนี้ ฝ่ายจีนโดยกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ โดยพวกเขาวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ว่ากำลังบังคับใช้มาตรการจำกัดกีดกันการส่งออกต่อบริษัทของจีนอีกชุดหนึ่งแล้ว

“ด้วยความต้องการที่จะธำรงรักษาฐานะความเป็นเจ้าใหญ่นายโตในด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีของตนเอาไว้ต่อไป สหรัฐฯ ได้นำเอามาตรการควบคุมการส่งออกมาใช้ในทางมิชอบ เพื่อสกัดกั้นและหยุดยั้งบริษัทจีนทั้งหลายอย่างมุ่งประสงค์ร้าย” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เหมา หนิง (Mao Ning) แถลง

“มันจะไม่เพียงสร้างความเสียหายให้แก่สิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของบริษัทจีนทั้งหลายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของพวกบริษัทอเมริกันอีกด้วย” เธอกล่าว พร้อมกับย้ำว่า ถึงแม้จะใช้วิธีการ “ทำให้ประเด็นปัญหาด้านเทคโนโลยีและการค้ากลายเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมา และใช้สิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือและอาวุธเช่นนี้ แต่สหรัฐฯ ก็จะไม่สามารถขัดขวางการพัฒนาของจีน และรังแต่จะทำให้ตนเองได้รับบาดเจ็บและอยู่ในฐานะโดดเดี่ยวเท่านั้น เมื่อการกระทำต่างๆ ของตนเองบังเกิดผลลบสะท้อนกลับมา”

ด้านโฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนบอกว่า จีนคัดค้านอย่างแข็งขันต่อการที่สหรัฐฯ ห้ามการส่งออกเช่นนี้ ซึ่งจะขัดขวางอย่างร้ายแรงต่อการแลกเปลี่ยนกันทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างเป็นปกติระหว่างบริษัทจีนและบริษัทสหรัฐฯ รวมทั้งบ่อนทำลายอย่างร้ายแรงต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ ของตลาด และระเบียบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ

ตั้งแต่ต้นปี 2020 มาแล้ว สหรัฐฯ ยังได้หยุดยั้งเนเธอร์แลนด์ไม่ให้ส่งออกเครื่องจักรอุปกรณ์การพิมพ์ lithography ด้วยเทคโนโลยี extreme ultraviolet (EUV) ไปให้จีน ทำให้ความสามารถของแดนมังกรในการผลิตชิปไฮเอนด์ที่มีขนาดเล็กกว่า 22 นาโนเมตร อยู่ในอาการสะดุดติดขัด

ในวันที่ 9 สิงหาคมปีนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ลงนามในรัฐบัญญัติ CHIPS and Science Act ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ภายในประเทศ จะได้ยกระดับความสามารถของสหรัฐฯ ในการแข่งขันกับจีน เวลาเดียวกันนั้น สื่อหลายกระแสรายงานว่าวอชิงตันกำลังพิจารณาที่จะจำกัดกีดกั้นการส่งออกพวกอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ ไปให้แก่บริษัทผู้ผลิตชิปสัญชาติจีนอย่างเช่น YMTC

ชิปความจำ 128 เลเยอร์ของ YMTC ทั้งนี้ สหรัฐฯ มุ่งหวังที่จะจำกัดกีดกันเพื่อทำให้ YMTC และผู้ผลิตชิปจีนรายอื่นๆ ไม่อาจพัฒนายกระดับการผลิตชิปที่ล้ำหน้ายิ่งขึ้นไปกว่านี้ (ภาพจาก YMTC)
YMTC เวลานี้สามารถผลิตชิปความจำ NAND ที่มี 128 เลเยอร์ (ยิ่งมีจำนวนเลเยอร์สูงขึ้นเท่าใด ก็หมายถึงว่าชิปความจำดังกล่าวสามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้นเท่านั้น) ในเดือนกรกฎาคม ไมครอน (Micron) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านชิปความจำสัญชาติอเมริกัน ได้เริ่มต้นผลิตชิป NAND ระดับ 232 เลเยอร์ ออกมาเป็นจำนวนมากๆ ในลักษณะการผลิตขนานใหญ่ (mass ptoduction) แล้ว จากโรงงานในสิงคโปร์ มาตรการจำกัดที่ออกมาใหม่ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะหยุดยั้งไม่ให้เกิดพัฒนาการเช่นนี้ในประเทศจีน
(ดูเพิ่มเติมไดที่ http://bis.doc.gov/index.php/documents/about-bis/newsroom/press-releases/3158-2022-10-07-bis-press-release-advanced-computing-and-semiconductor-manufacturing-controls-final/file)

ตามข้อจำกัดใหม่ของ BIS โรงงานชิปที่อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งผลิตชิปลอจิกขนาด 16 นาโนเมตรหรือต่ำกว่านั้น ชิปความจำ DRAM ขนาด 18 นาโนเมตร ฮาล์ฟพิตช์ (nm half-pitch) หรือต่ำกว่านั้น ชิปความจำ NAND แบบ 128 เลเยอร์หรือมากกว่านั้น จะต้องยื่นขอใบอนุญาตเมื่อจะซื้อข้าวของใดๆ จากสหรัฐฯ

ระเบียบใหม่นี้ระบุอีกว่า หากพวกโรงงานที่เจ้าของคือกิจการของจีนยื่นขอใบอนุญาตแล้ว ก็จะเจอกับการพิจารณาในแบบ “สันนิษฐานเอาไว้ก่อนเพื่อที่จะปฏิเสธ” (presumption of denial) ขณะที่พวกโรงงานซึ่งเจ้าของคือบรรษัทนานาชาติ จะได้รับการพิจารณาตัดสินเป็นกรณีๆ ไป ทั้งนี้ กฎเกณฑ์นี้เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 ตุลาคม

BIS บอกด้วยว่า พลเมืองสหรัฐฯ จะถูกห้ามไม่ให้สนับสนุนการพัฒนาหรือการผลิตชิปในโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์จีนบางแห่งที่ไม่ได้รับใบอนุญาตและถูกระบุชื่อเอาไว้นับตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม คำแถลงของหน่วยงานนี้กล่าวด้วยว่า พวกบริษัทและหน่วยงานจีนที่มีชื่อติดอยู่ในบัญชีดำ “entity list” ของ BIS จะถูกห้ามไม่ให้ได้รับชิประดับก้าวหน้าบางรุ่นบางแบบสำหรับใช้ในเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของบริษัทและหน่วยงานจีนเหล่านี้นับตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคมเป็นต้นไป

ธีอา ดว็อช รอซแมน เคนด์เลอร์ (Thea Dwosh Rozman Kendler) ผู้ช่วยรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ฝ่ายการบริหารการส่งออก (US assistant secretary of commerce for export administration) กล่าวเอาไว้ในคำแถลงของตนว่า “สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทุ่มเททรัพยากรเข้าไปในการพัฒนาสมรรถนะด้านการคำนวณในระดับใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของตน และแสวงหาทางก้าวขึ้นเป็นผู้นำของโลกรายหนึ่งในด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ภายในปี 2030”

ฝ่ายจีน “กำลังใช้สมรรถนะเหล่านี้ในการเฝ้าติดตาม แกะรอย และสอดแนมพลเรือนของพวกเขาเอง” ขณะเดียวกัน ก็กำลังถูกใช้เป็นพลังสำหรับ “การปรับปรุงการทหารให้ทันสมัย” ของสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย เคนด์เลอร์ กล่าวในลักษณะที่พยายามอธิบายมาตรการจำกัดกีดกันครั้งนี้ออกมาเป็นวลีโวหารในทางอุดมการณ์

สำหรับปฏิกิริยาของพวกนักวิเคราะห์ชาวจีน ซีติก ซีเคียวริตี้ส์ (CITIC Securities กิจการวาณิชธนกิจเต็มรูปแบบในเครือซีติก) กล่าวในบทวิจัยสั้นชิ้นหนึ่งลงวันที่ 11 ตุลาคมว่า โรงงานผลิตชิปของจีนบางแห่งอาจจะไม่สามารถยกระดับเพิ่มพูนศักยภาพของพวกตนตามที่วางแผนเอาไว้ ขณะเดียวกัน การพัฒนาด้านการผลิตของพวกเขาก็จะชะลอตัวลงสืบเนื่องจากคำสั่งห้ามส่งออกระลอกใหม่ของสหรัฐฯ ครั้งนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://cj.sina.com.cn/articles/view/5182171545/134e1a99902001fce5)

ในเวลาเดียวกัน ซีติก ซีเคียวริตีส์ บอกว่า การจำกัดกีดกันเช่นนี้จะบังคับให้พวกกิจการของจีนต้องเพิ่มพูนยกระดับการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนา (R&D) ของพวกเขาทั้งในระยะกลางและในระยะไกล ซึ่งหมายความว่าพวกผู้ผลิตชิปชาวจีนจะต้องพึ่งพาอาศัยวัตถุดิบในท้องถิ่นและพวกซัปพลายเออร์เครื่องจักรอุปกรณ์ในท้องถิ่นกันมากขึ้น

ทางด้าน กู้ เหวินจิว์น (Gu Wenjun) หัวหน้านักวิเคราะห์ของไอซีไวส์ (ICWise) สำนักงานที่ปรึกษาซึ่งตั้งฐานอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ เขียนเอาไว้ในบทความลงวันที่ 11 ตุลาคมว่า มาตรการจำกัดครั้งใหม่นี้จะส่งผลกระทบในทางลบอย่างใหญ่โตต่อภาคชิปความจำของจีน

“การแซงก์ชันอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นเช่นนี้มีผลที่น่ากลัวต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน เราต้องขบคิดกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับสิ่งที่ควรต้องทำ และลงมือทำกันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แทนที่จะไม่ทำอะไรกันเลย” กู้ เขียนเอาไว้เช่นนี้

กู้ บอกอีกว่า มันกลายเป็นความปกติใหม่ไปเสียแล้วสำหรับสหรัฐฯ ที่จะต้องคอยขยายมาตรการแซงก์ชันของพวกเขาให้ครอบคลุมกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ และมันก็กำลังส่งผลสร้างความเสียหายแก่จีนมากขึ้นทุกที กู้ กล่าวว่า เนื่องจากสหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะกำราบสกัดกั้นภาคชิปของจีน ปักกิ่งจึงไม่ควรคาดหวังว่าจะมีการรอมชอมระดับทวิภาคีเกิดขึ้นมาในเร็ววันนี้

YMTC จะเป็นหนึ่งในผู้ได้รับความเสียหายหนักที่สุดของมาตรการชุดใหม่เหล่านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาสอบสวน YMTC เมื่อชิป NAND ของบริษัทถูกพบอยู่ในสมาร์ทโฟนรุ่น Enjoy 20e ที่ผลิตโดยหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ซึ่งถูกสหรัฐฯ แซงก์ชัน ทั้งนี้ตามรายงานของไฟแนนเชียลไทมส์เมื่อเดือนเมษายนปีนี้

เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา บิสซิเนสโคเรีย (Business Korea) รายงานว่า บริษัทแอปเปิลได้บรรจุชื่อของ YMTC เอาไว้ในบัญชีรายชื่อซัปพลายเออร์ชิป แฟลช NAND สำหรับเครื่องไอโฟน 14 รุ่นใหม่ของตน วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ หลายราย เป็นต้นว่า มาร์โค รูบิโอ ของพรรครีพับลิกัน ออกมาบอกกับสื่อมวลชนอย่างโกรธเกรี้ยวว่า ความเคลื่อนไหวของ แอปเปิล ในเรื่องใช้ชิป YMTC จะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติแก่สหรัฐฯ

แอปเปิล ได้บอกกับไฟแนนเชียลไทมส์ว่า จะใช้ชิปของ YMTC เฉพาะกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทขายในจีนเท่านั้น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ft.com/content/099a409a-49c2-4ed3-a630-87bf6dc8ce15)

นิตยสารไชน่า บิสซิเนส เจอร์นัล (China Business Journal) กล่าวในบทความชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวันที่ 6 ตุลาคม โดยอ้างอิงพวกผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมนี้หลายรายให้ความเห็นว่า การที่ แอปเปิล ใช้ชิปของ YMTC จะทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิต และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีก คือ สามารถสร้างความพอใจให้แก่รัฐบาลจีน ซึ่งจะเป็นการช่วยรักษาการเข้าถึงตลาดจีนแผ่นดินใหญ่เอาไว้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://finance.sina.com.cn/chanjing/gsnews/2022-10-08/doc-imqqsmrp1781285.shtml)


กำลังโหลดความคิดเห็น