xs
xsm
sm
md
lg

‘เกาหลีใต้’ มองหา ‘พื้นที่เป็นกลาง’ ใน ‘สงครามเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ-จีน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สกอตต์ ฟอสเตอร์ ***


ซัมซุง แห่งเกาหลีใต้ เผชิญสถานการณ์พะอืดพะอม เมื่อตกอยู่ท่ามกลางสงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

S Korea seeks neutral ground in US-China chip war
By SCOTT FOSTER
19/09/2022

เกาหลีใต้ปลอบโยนจีนด้วยข้อตกลงความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานฉบับใหม่ ก่อนจะไปเข้ากลุ่มกลุ่มพันธมิตร “ชิป 4” ที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันเจาะจงที่จะกีดกันขัดขวางการพัฒนาของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แดนมังกร

โตเกียว - จีน กับเกาหลีใต้ เพิ่งทำความตกลงกันได้ในเรื่องที่จะจัดตั้งหน่วยงานประสานงานแห่งใหม่ ซึ่งใช้ชื่อว่า “สภาเพื่อความร่วมมือกันด้านห่วงโซ่อุปทาน” (Collaborative Supply Chain Council) เพื่อรับมืออย่างทันการณ์ทันเวลากับการสะดุดติดขัดใดๆ ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสองซึ่งทั้งแผ่ขยายกว้างไกลและทั้งพึ่งพาขึ้นต่อกันและกัน

ดองอา อิลโบ (Dong-A Ilbo) หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลของแดนโสมขาวรายงานข่าวนี้ในลักษณะพูดย้อนแย้งอย่างแหลมคมเชือดเฉือน โดยบอกว่า “ขณะที่การปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานกำลังเริ่มต้นขึ้นมาอย่างเอาจริงเอาจังโดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ก็มีข้อสรุปประการหนึ่งจากการหารือกันอย่างลงลึกในคราวนี้ระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจของจีนและของเกาหลี ...”

นับตั้งแต่ที่คณะบริหารทรัมป์กระหน่ำออกมาตรการแซงก์ชันเล่นงานใส่หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่เทคสัญชาติจีนเมื่อปี 2019 สหรัฐฯ ก็กำลังใช้ความพยายามเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะกีดกันจีนให้ออกไปจากห่วงโซ่อุปทานไฮเทคระหว่างประเทศ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/09/us-ramps-up-china-tech-sanctions-faster-than-expected/ และ https://asiatimes.com/2022/08/us-goes-for-eda-jugular-in-china-chips-war/)

ข้อตกลงทางด้านห่วงโซ่อุปทานโสมขาว-แดนมังกรฉบับใหม่นี้ ทำกันได้สำเร็จ ณ การประชุมเกาหลีใต้-จีนว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจครั้งที่ 17 (the 17th South Korea-China Meeting on Economic Cooperation) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา การหารือกันครั้งนี้ยังส่งผลให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) อีกหลายฉบับ ว่าด้วยแง่มุมอื่นๆ ของการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่าย ซึ่งรวมไปถึงการไปดำเนินโครงการร่วมในประเทศที่สามอีกด้วย

โกลบอลไทมส์ (Global Times) สื่อหนึ่งในเครือพรรคคอมมิวนิสต์จีนชี้ว่า “เกาหลีใต้ต้องการที่จะได้ตลาดจีนซึ่งมีเสถียรภาพเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญๆ ของตน ส่วนจีนก็ต้องการเกาหลีใต้สำหรับการพัฒนาทางอุตสาหกรรม”

สื่อรายนี้อ้างคำพูดของ ต้า จื้อกัง (Da Zhigang) ผู้อำนวยการของสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือศึกษา (Institute of Northeast Asian Studies) ของบัณฑิตยสภาทางสังคมศาสตร์แห่งมณฑลเฮยหลงเจียง (Heilongjiang Provincial Academy of Social Sciences) ของจีน ที่บอกว่า “โซลแสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องการที่จะรักษาความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และความร่วมมือกันอย่างเสมอต้นเสมอปลายกับปักกิ่งในด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานเอาไว้ ในเวลาที่เผชิญหน้ากับแรงกดดันของสหรัฐฯ จากกลุ่ม “ชิป 4” (Chip 4)”

อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่ายังจะต้องระมัดระวังตัว ด้วยการกล่าวต่อไปว่า “ถึงแม้ข้อตกลงล่าสุดเหล่านี้ให้ความหวังสูงมากสำหรับการสร้างเสริมความหนักแน่นมั่นคงให้แก่ความร่วมมือทวิภาคีในด้านห่วงโซ่อุปทาน และดูเหมือนกับเกาหลีใต้ให้ความมั่นใจแก่จีนว่าการที่พวกเขาอาจจะเข้าร่วมในกลุ่มพันธมิตรด้านชิปที่นำโดยสหรัฐฯ กลุ่มนี้นั้น ไม่ได้มีข้อหมางใจเข้าใจผิดใดๆ เลย แต่กระนั้นเราก็จำเป็นต้องคอยเฝ้าติดตามการลงมือปฏิบัติจริงๆ ของเกาหลีใต้กันต่อไป”

กลุ่มชิป 4 เป็นแผนการริเริ่มอย่างหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เพื่อร่วมมือประสานความพยายามในเรื่องการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน การวิจัยและการพัฒนา การให้การอุดหนุน และมิติอื่นๆ ของธุรกิจนี้ แผนการริเริ่มนี้ถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นความพยายามประการหนึ่งในการกีดกันและจำกัดควบคุมจีน แต่ขณะเดียวกันมันก็ก่อให้เกิดคำถามต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความลับทางการค้าและความได้เปรียบทางการแข่งขัน

หากมองกันแค่จากผิวนอก การหาทางรับประกันให้มีซัปพลายเซมิคอนดักเตอร์จัดส่งไปถึงผู้ต้องการใช้อย่างเพียงพอ ควรที่จะกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ง่ายขึ้นและมีราคาถูกลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากการใช้จ่ายด้านเงินทุนอย่างมโหฬารเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่ผ่านมากำลังถูกแปรให้กลายเป็นศักยภาพในการผลิตชิปซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมาก เวลาเดียวกันนั้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบันก็เป็นตัวหั่นลดดีมานด์ให้ต่ำลงไปด้วย ทั้งนี้ ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่โตสำหรับหลายๆ อุตสาหกรรม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมรถยนต์) อีกทั้งกลายเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองประการหนึ่งซึ่งกำลังทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงในเวลาเดียวกับที่เคลื่อนเข้าสู่จุดสูงสุดของการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 จึงอาจจะกลับกลายเป็นภาวะเซมิคอนดักเตอร์ล้นเกินไปเลยก็ได้

อย่างที่สามารถมองเห็นได้จากแผนภูมิข้างล่างนี้ การเปลี่ยนแปลงในบิลลิ่ง (ยอดขาย) เซมิคอนดักเตอร์แบบเปรียบเทียบปีต่อปี ซึ่งรายงานเอาไว้โดยสำนักงานสถิติการค้าเซมิคอนดักเตอร์โลก (World Semiconductor Trade Statistics หรือ WSTS) ได้พลิกผันไปเป็นตัวเลขติดลบในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากมีแต่เติบโตขยายตัวในตลอดช่วงเวลา 2 ปีครึ่งก่อนหน้านั้น สำหรับยอดขายอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากใบสั่งซื้อที่ป้อนเข้ามาอย่างสูงลิ่วชนิดทำสถิติใหม่ก่อนหน้านี้ กำลังอยู่ในช่วงของการจัดตั้งและการติดตั้ง ทว่ามันก็เป็นตัวเลขการเติบโตในระดับแค่ตัวเลขหลักเดียวเสียแล้ว

ชิปหน่วยความจำแบบแฟลช (flash memory) ทั้ง DRAM และ NAND ต่างมีราคาขายแบบส่งมอบทันที (spot price) ซึ่งลดต่ำลงมาแทบจะตลอดทั้งปีนี้ เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน ไมครอน (Micron) บริษัทผู้ผลิตชิปความจำสัญชาติอเมริกันรายใหญ่ที่สุดประกาศ “การลงมือทำกันในทันทีเพื่อลดเส้นโคจรของการขยายตัวด้านซัปพลายของเรา” สืบเนื่องจาก “การลดต่ำลงอย่างสำคัญ” ในดีมานด์ของพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ผู้บริโภค ซึ่งรวมไปถึงเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี และโทรศัพท์สมาร์ทโฟน



ไมครอน เป็นผู้ผลิต DRAM รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองลงมาจาก ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ (Samsung Electronics) และ เอสเค ไฮนิกซ์ (SK hynix) และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ทางด้านชิปแฟลช เมมโมรี แบบ NAND ตามหลังบริษัทเกาหลี 2 รายดังกล่าวข้างต้น และกิจการที่เป็นการร่วมทุนกันระหว่างคิโอกซ์เซีย (Kioxia) ของญี่ปุ่น กับ เวสเทิร์น ดิจิตอล (Western Digital) ของอเมริกา

แต่การรักษาความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานนั้นมันยังมีอะไรมากเกินกว่าเรื่องของซัปพลาย ดีมานด์ และระดับราคาเท่านั้น พวกผู้ผลิตชิปความจำสัญชาติเกาหลีอย่าง ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และเอสเค ไฮนิกซ์ ยังประสบปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่ง ซึ่งชนปะทะอย่างจังกับการที่รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งมั่นตั้งใจจะขัดขาตัดกำลังความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของจีน ปัญหาดังกล่าวได้แก่การที่พวกเขามีการดำเนินธุรกิจอย่างใหญ่โตอยู่ในจีน และธุรกิจตลอดจนรายรับของพวกเขาต้องพึ่งพาอาศัยตลาดจีนในระดับสูงลิ่วทีเดียว

เมื่อปี 2021 ยอดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้เกือบๆ 40% เป็นการส่งไปยังประเทศจีน ทั้งนี้ตามตัวเลขของหอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลี (Korea Chamber of Commerce and Industry) สูงขึ้นมาลิบลิ่วจากระดับเพียงแค่ 3% ในปี 2000 ยิ่งไปกว่านั้น ซัมซุง ผลิตชิปแฟลชเมมโมรี NAND ประมาณ 40% ของตนในนครซีอาน มณฑลส่านซีของจีน ณ โรงงานชิปแฟลชเมมโมรี NAND แห่งใหญ่ที่สุดในโลก ด้าน เอสเค ไฮนิกซ์ ก็ผลิต DRAM ในเมืองอู่ซี มณฑลเจียงซู และเพิ่งซื้อโรงงานทำแฟลช NAND ของ อินเทล (Intel) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง

เวลาเดียวกันนั้น เกาหลีใต้ยังพึ่งพาอาศัยพวกชิ้นส่วนอะไหล่ของจีนสำหรับการนำมาทำผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ โดยที่สำคัญก็คือไปสหรัฐฯ อย่างที่สามารถเห็นได้จากแผนภูมิข้างล่างนี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดทีเดียวระหว่างการส่งออกของจีนไปยังเกาหลีใต้ และการส่งออกของเกาหลีใต้ไปยังสหรัฐฯ

ห่วงโซ่อุปทานอิเล็กทรอนิกส์ของอเมริกาเอง ต้องพึ่งพาอาศัยจีนทั้งทางตรงและทางอ้อมทีเดียว ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้มีการขบคิดพิจารณาอย่างตลอดถี่ถ้วนแล้วหรือไม่ในเรื่องผลกระทบต่อเนื่องทั้งหลายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการจำกัดกีดกันเพื่อเล่นงานจีน



การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้มาตรการแซงก์ชันเพื่อจำกัดควบคุมการส่งออกอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับก้าวหน้าไปยังประเทศจีน อาจสร้างความลำบากยุ่งยากในชีวิตให้แก่ ซัมซุง ซึ่งเผชิญการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ จากแยงซี เมโมรี เทคโนโลยีส์ (Yangtze Memory Technologies) บริษัทผู้ผลิตแฟลช NAND สัญชาติจีน

สหรัฐฯ นั้นได้สกัดขัดขวางไม่ให้มีการจัดส่งเครื่องจักรอุปกรณ์พิมพ์แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (lithography) แบบ advanced extreme ultraviolet (EUV) ซึ่งเป็นระดับก้าวหน้าของโลกในเวลานี้ จากบริษัท ASML ที่ตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ไปยังเมืองอู่ซี อันเป็นสถานที่ผลิตชิป DRAM ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งเอสเค ไฮนิกซ์ นำออกมาจำหน่าย ถ้าหากโรงงานเหล่านี้ไม่สามารถอัปเกรดติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ล้ำสมัยเช่นนี้ได้ ในที่สุดแล้วมันก็จะต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นๆ

เรื่องนี้จึงก่อใหเกิดคำถามที่สำคัญอย่างยิ่งยวดขึ้นมา นั่นคือ นโยบายของสหรัฐฯ นั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะควบคุมจีน เกาหลีใต้ หรือว่าทั้งสองประเทศนั่นแหละ? คำตอบที่ออกมาดูเหมือนจะเป็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ปรารถนาที่จะให้อีก 3 เจ้าซึ่งตนเองเสนอให้เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนอยู่ในกลุ่มพันธมิตร ชิป 4 ด้วยกัน –ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน— จัดแจงหันเหความสนใจของพวกเขาออกไปจากจีน และหวนกลับมาที่สหรัฐฯ ไม่ว่ามันจะทำให้พวกเขาต้องสูญเสียอะไรไปสักแค่ไหนก็ตามที ด้วยการอาศัยมาตรการให้การอุดหนุนต่างๆ ตามที่ระบุเอาไว้ในรัฐบัญญัติ CHIPS Act ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้ใหม่ๆ หมาดๆ มันก็เหมือนกับสหรัฐฯ แสดงความประสงค์ด้วยว่า พร้อมที่จะติดสินบนหุ้นส่วนอีก 3 รายนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ในระดับหนึ่ง เพื่อให้ดำเนินการอย่างที่วอชิงตันประสงค์

สำหรับเรื่องการวิจัยและการพัฒนานั้น ต้องถือเป็นประเด็นปัญหาที่มีมิติแง่มุมที่แตกต่างออกไป การพิทักษ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาย่อมเป็นผลประโยชน์ร่วมของทุกๆ ฝ่ายที่ถูกชักชวนให้เข้าร่วมในกลุ่มชิป 4 และการมาปรึกษาหารือกันตลอดจนการร่วมมือประสานงานกันก็อาจให้ประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้จีนสามารถใช้วิธีการแบบมือไวพร้อมฉกฉวยเอาความลับทางการค้าของคนอื่น หรือใช้วิธีการจ้างงานแบบทุ่มเทเงินเพื่อดึงดูดวิศวกรผู้มีประสบการณ์ของคนอื่นไป อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ไม่ว่าฝ่ายเกาหลี ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน ก็อาจจะมีปัญหากับโครงการร่วมแบ่งปันเทคโนโลยีและดำเนินการวิจัยและการพัฒนาร่วมกัน ตามการชี้นำจากกรุงวอชิงตัน

พวกบริษัทเกาหลี ญี่ปุ่น และอเมริกันนั้นมีการแข่งขันระหว่างกันอยู่ในเรื่องชิปความจำ อีกทั้งซัมซุง ยังมีการแข่งขันกับพวกบริษัทไต้หวัน และอินเทล ในเรื่องการเป็นโรงงานรับจ้างผลิตเซมิคอนดักเตอร์ตามการดีไซน์และคำสั่งซื้อของลูกค้า ดังนั้นทำไมพวกเขาจะต้องมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรื่องการวิจัยและการพัฒนากับพวกที่เป็นคู่แข่งอยู่ในตลาด? ทั้งนี้มีการแสดงความรู้สึกหวาดกลัวออกมาแล้ว โดยที่โดดเด่นมากคือในเกาหลี ว่ากลุ่มชิป 4 อาจจะกลายเป็นเวทีสำหรับการดูดเอาเทคโนโลยีของเอเชียตะวันออกไปให้แก่อินเทล และไมครอน

กระนั้น ในอีกด้านหนึ่ง ทั้ง 4 รายนี้มีการร่วมไม้ร่วมมือกันอยู่แล้ว รวมทั้งต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน เป็นต้นว่า อินเทล เป็นทั้งคู่แข่งขันและลูกค้าของบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC) เวลาเดียวกันนั้น เมื่อเร็วๆ นี้เอง TSMC ก็เพิ่งจะกลายเป็นหุ้นส่วนร่วมลงทุนรายหนึ่งของโซนี่ แล้วถ้าหากไม่มีอุปกรณ์และวัสดุหลายๆ ชนิดของญี่ปุ่น (เป็นต้นว่า พวก photoresists) ก็ไม่มีเพลเยอร์ในแวดวงเซมิคอนดักเตอร์รายไหนเลยที่จะสามารถผลิตอะไรออกมามากมายได้

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงข้อเท็จจริงอันแสนยุ่งยากใจที่ว่า จีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลกในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ และก็เป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับพวกเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์—อย่างน้อยที่สุดก็มีฐานะเช่นนี้ จวบจนกระทั่งในช่วงหลังๆ มานี้ ซึ่งแดนมังกรถูกกีดกันควบคุมจากมาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้เพลเยอร์ทุกๆ รายจึงมีอะไรต้องสูญเสียอย่างมากมายใหญ่โตทีเดียว เมื่อจะตัดจีนทิ้งไป ทั้งนี้รวมไปถึงพวกบริษัทอเมริกันซึ่งทำหน้าที่ดีไซน์แผงวงจรรวมโดยที่ไม่มีโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเอง (อย่างเช่น อินวีเดีย) พวกบริษัทที่มีโรงงานผลิตอุปกรณ์แผงวงจรรวม (อย่างเช่น อินเทล) และพวกบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการทำเซมิคอนดักเตอร์ (อย่างเช่น แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ Applied Materials)

เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ว่าจะเลือกข้างไหนก็เจอกับความยากลำบากและความเสี่ยงสูงทั้งสิ้น ฝ่ายเกาหลีจึงดูเหมือนต้องการที่จะย้ำยืนยันให้เกิดความมั่นใจกับฝ่ายจีน ก่อนที่จะเข้าเจรจาเพื่อให้ได้ฐานะการเป็นสมาชิกแบบที่ไม่มีภัยคุกคามใดๆ ในแผนการริเริ่ม ชิป4 ของอเมริกา ญี่ปุ่นก็น่าที่จะใช้วิธีการทำนองเดียวกันเพียงแต่กระทำไปอย่างเงียบๆ มากกว่า

มีรายงานว่า สำหรับไต้หวันนั้น ตกลงเห็นชอบแล้วที่จะเข้าร่วม ชิป 4 ทว่าไม่น่าที่จะถึงกับนำเอาการค้าขายด้านอิเล็กทรอนิกส์กับจีนซึ่งมีมูลค่ามหาศาลเข้ามาเสี่ยง สำหรับพวกบริษัทเทคอเมริกันนั้นจะพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาเองในเวลาปรึกษาหารือกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มชิป 4 จึงอาจกลายเป็นสิ่งที่อุดมไปด้วยถ้อยคำโวหารทางการเมืองมากกว่าเนื้อหาสาระจริงๆ จังๆ หรือว่า เมื่อผสมผสานเข้ากับการแซงก์ชันหลายๆ ระลอกที่วอชิงตันประกาศบังคับใช้แล้ว (และบางทีอาจจะมีเพิ่มเติมขึ้นมาอีกด้วย) มันก็อาจจะกลายเป็นการมุ่งสร้างอุปสรรคต่างๆ มาขวางกั้นเส้นทางของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน โดยที่จีนอาจจะต้องใช้เวลาเป็นแรมปีทีเดียวกว่าจะฝ่าข้ามไปได้ นี่อาจจะกลายเป็นสร้างความเพลี่ยงพล้ำครั้งใหญ่ให้แก่พวกอุตสาหกรรมต่างๆ ของจีน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมด้านการประมวลผลข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนอุตสาหกรรมกลาโหม –ตรงเป๊ะกับสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ วาดหวังต้องการทีเดียว

แล้วฝ่ายจีนจะตอบโต้อย่างไร? อาจจะมีการตอบโต้แก้เผ็ดทางเศรษฐกิจแบบตรงๆ หรือในแบบอสมมาตร –อย่างเช่น การคว่ำบาตรสินค้าเกาหลีหรือสินค้าญี่ปุ่นบางอย่างบางประเภท ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนเคยทำมาแล้วในอดีต— นี่คือความเป็นไปได้ประการหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งซึ่งแทบรับประกันได้เลยว่าปักกิ่งจะต้องกระทำ ได้แก่ การทุ่มเทความพยายามเพิ่มมากขึ้นอีกเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองขึ้นมา โดยที่กระทั่งอาจจะสนใจไยดีกับทรัพย์สินทางปัญญาของต่างชาติน้อยลงกว่าที่พวกเขาได้สาธิตให้เห็นก่อนหน้านี้

หรือว่าประเด็นนี้อาจถูกนำมาผสมปนกันกับการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนซึ่งมีขนาดขอบเขตใหญ่โคกว่านี้เสียอีก โดยที่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี ได้เดินทางไปเยือนนครไทเป ซึ่งจุดชนวนให้จีนดำเนินการซ้อมรบอย่างใหญ่โตมโหฬารที่เป็นการจำลองการปิดล้อมไต้หวัน ทั้งนี้เมื่อมองเห็นว่าช่องทางแห่งโอกาสของตนกำลังเริ่มจะถูกปิด จีนก็อาจเลือกที่จะรีบเร่งกระทำสิ่งที่เป็น “ของจริง” กันเสียที


กำลังโหลดความคิดเห็น