xs
xsm
sm
md
lg

‘มอสโก’ ล้มเหลวมานานแล้วในการพัฒนา ‘ชิป’ เรื่องนี้ส่งผลถึงอานุภาพของอาวุธรัสเซียในสงครามยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของรัสเซียถูกวิจารณ์หนักว่าล้าหลังประเทศอื่นๆ ในโลก และเรื่องนี้ส่งผลกระทบสำคัญต่ออานุภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์รัสเซียด้วย (ภาพจากทวิตเตอร์)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Russia’s long-time chips failure coming home to roost 
By STEPHEN BRYEN
22/08/2022

ตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต พวกผู้นำแดนหมีขาวมีความสนใจและพยายามพัฒนาทางด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์เรื่อยมา ทว่าประสบความล้มเหลวมาโดยตลอด ทั้งนี้ รัสเซียจะไม่สามารถเป็นมหาอำนาจชั้นหนึ่งรายหนึ่งของโลกขึ้นมาได้เลย ถ้าหากปราศจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่มีศักยภาพ มีนวัตกรรม และมุ่งให้นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

เมื่อปี 1962 แอลเฟรด แซรันต์ (Alfred Sarant) [1] และโจเอล บาร์ (Joel Barr) [2] ชาวอเมริกัน 2 คนที่เป็นสปายสายลับให้รัสเซียและได้ตัดสินใจแปรพักตร์หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศนั้น เสนอจะเปลี่ยนเมืองใหม่ของรัสเซียที่ชื่อ เซเลโนกราด (Zelenograd แปลว่า green city นครสีเขียว) [3] ให้กลายเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและการตั้งโรงงานผลิตพวกไมโครอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์

ด้วยเหตุนี้ เซเลโนกราดจึงกลายเป็นหัวใจและจิตวิญญาณแห่งความพยายามของรัสเซียในการสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่สำหรับใช้ทางการทหารของตน แต่ปรากฏว่าในไม่ช้าไม่นานเมืองนี้ก็ประสบความล้มเหลวไม่สามารถบรรลุภารกิจของตนได้ และมรดกของความล้มเหลวนี้ยังคงสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

แซรันต์ และบาร์ เป็นวิศวกรที่ทำงานอยู่ในโครงการต่างๆ ทางด้านกลาโหมของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นโครงการปิดลับ โดยส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวข้องกับเรื่องเรดาร์ พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสายลับโรเซนเบิร์ก (Rosenberg spy ring) [4] ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ มีใครบางคนเตือนพวกเขาว่า จูเลียส และอีเธล โรเซนเบิร์ก (Julius and Ethel Rosenberg) กำลังจะถูกจับกุมแล้ว

ประมาณเวลาใกล้เคียงกันนั้น เคลาส์ ฟุคส์ (Klaus Fuchs) [5] นักวิทยาศาสตร์และสปายสายลับชาวอังกฤษก็ถูกจับกุมในสหราชอาณาจักร ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟุคส์ ได้แสดงบทบาทสำคัญทางวิทยาศาสตร์ ณ สถานที่สร้างระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่ ลอส อลามอส (Los Alamos)

นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) [6] ผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียตในตอนนั้น ต้อนรับข้อเสนอของ แซเรนต์ และบาร์ และเปลี่ยนเซเลโนกราดให้กลายเป็นหัวใจแห่งความพยายามของโซเวียตในการไล่ตามให้ทันสหรัฐฯ ในด้านอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งในเรื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก และแผงวงจรรวม บาร์ ซึ่งเป็นวิศวกรที่ฉลาดเฉียบแหลมมาก เป็นผู้ออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบดิจิทัลเครื่องแรกๆ สำหรับใช้ในพวกเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของรัสเซีย และยังเป็นหัวหอกผลักดันในเรื่องการสร้างแผงวงจรรวม

ระหว่างช่วงทศวรรษ 1980 สหรัฐฯ เริ่มประกาศใช้โครงการควบคุมการส่งออก และมีความพยายามต่างๆ ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อต้านปราบปราม “พวกโจรเทคโน” (techno-bandits) ที่รัสเซียหนุนหลังอยู่ ซึ่งเป็นพวกที่คอยจัดหาจัดส่งอุปกรณ์ประณีตซับซ้อนสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ๆ ของแดนหมีขาวให้แก่ทางรัสเซีย ทางฝ่ายรัสเซียเองก็เร่งงานสืบความลับด้านอิเล็กทรอนิกส์กันอย่างขนานใหญ่เช่นกัน โดยจะคอยเฝ้าติดตามจารกรรมงานดีไซน์เซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ต้องการใช้เพื่อทำให้พวกอาวุธรัสเซียมีศักยภาพมากขึ้นและ “ฉลาด” ยิ่งขึ้น

มีความแตกต่างกันอย่างมโหฬารเหลือเกินในวิธีการที่สหรัฐฯ รับมือกับรัสเซีย และในการจัดการกับคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ที่ปรากฏตัวขึ้นมาใหม่อีกรายหนึ่ง นั่นคือ จีน การพัฒนาของรัสเซียถูกสกัดขัดขวางด้วยมาตรการควบคุมอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่สหรัฐฯ ช่วยเหลือจีนอย่างเปิดกว้างในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของแดนมังกรซึ่งเวลานี้เติบใหญ่จนมีขนาดมหึมาอย่างยิ่งไปแล้ว

หนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่ว่าทำไมพวกยุทโธปกรณ์ของรัสเซียซึ่งถูกทำลายในสงครามยูเครนจึงเต็มไปด้วยพวกไมโครชิปที่ทำในสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ก็คือข้อเท็จจริงง่ายๆ มองกันเห็นๆ ว่า เนื่องจากรัสเซียไม่สามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์เหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง การใช้มาตรการควบคุมการส่งออกในช่วงทศวรรษ 1980 คือการจัดวางกำหนดเส้นทางไปสู่ความล้มเหลวอย่างใหญ่โตของไมโครอิเล็กทรอนิกส์รัสเซีย ซึ่งยังคงสร้างความเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องให้แก่เซเลโนกราด จวบจนกระทั่งทุกวันนี้

ดมิตริ เมดเวเดฟ ซึ่งเวลานั้นเป็นนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย ไปเยี่ยมชมโรงงานแห่งหนึ่งของ อังสเตรม-ที บริษัทไมโครชิปซึ่งเป็นกิจการหนึ่งในเครือของ อังสเตรม ในเมืองเซเลโนกราด ใกล้ๆ กรุงมอสโก (ภาพจากทวิตเตอร์)
บริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายสำคัญ 2 รายของรัสเซีย ได้แก่ ไมครอน (Mikron) และอังสเตรม (Angstrem) ต่างก็ตั้งอยู่ในเซเลโนกราด โดยที่ อังสเตรม นั้น มีรายงานสุดท้ายระบุว่าตกอยู่ในภาวะล้มละลายเสียแล้ว แล้วยังมีคดีความทางกฎหมายฟ้องร้องเล่นงานพวกอดีตกรรมการบริหารของแผนกงาน อังสเตรม-ที (Angstrem-T) ของบริษัทอีกด้วยในข้อหาเกี่ยวกับอุปกรณ์ “ที่สูญหายไป” [7]

ขณะที่ ไมครอน ความหวังยิ่งใหญ่ในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์รายสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่สำหรับรัสเซีย เวลานี้กำลังทำงานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งเป็นรุ่นเก่าอายุมากกว่า 20 ปีไปเรียบร้อยแล้ว และบางทีอาจจะล้าสมัยไปถึง 30 ปีด้วยซ้ำ กระนั้นบริษัทก็ยังคงอยู่ในขั้นให้คำมั่นสัญญา ยังไม่ได้มีการจัดส่งสินค้าออกมาได้จริงๆ อยู่ดี

ไมครอนต้องการได้รับการลงทุนใหม่ๆ อย่างเหลือเกิน ทั้งในด้านโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ และในด้านเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการพิมพ์กัดกรดและเลเซอร์ (etching and laser) บริษัทจะได้รับเงินทุนตามที่ต้องการไหม หรือกระทั่งว่าบริษัทจะสามารถพัฒนาฐานทางทักษะความชำนาญอย่างที่จำเป็นต้องมีได้สำเร็จหรือไม่ ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องติดตามกันต่อไป

แต่สาระสำคัญที่สุดนั้นมีอยู่ว่า รัสเซียจะไม่สามารถเป็นมหาอำนาจชั้นหนึ่งรายหนึ่งของโลกขึ้นมาได้เลย ถ้าหากปราศจากภาคอิเล็กทรอนิกส์ที่มีศักยภาพ

ตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพกันได้อย่างชัดเจนก็คือ การขาดไร้อุปกรณ์สมัยใหม่ในอากาศยานและในยุทโธปกรณ์ภาคพื้นดินของแดนหมีขาว พวกรถถังรัสเซียกำลังออกปฏิบัติการโดยที่ไม่มีพวกระบบป้องกันตัวซึ่งเตรียมพร้อมคอยรับมือการโจมตีของข้าศึก ทำให้รถถังเหล่านี้อ่อนเปราะต่อการถูกโจมตีด้วยพวกอาวุธต่อสู้รถถังราคาค่อนข้างถูกในยูเครน ขณะที่เครื่องบินรัสเซียก็กำลังบินโดยปราศจากระบบนำทางจีพีเอส และบางรุ่นบางลำกระทั่งไม่มีระบบช่วยชี้เป้าที่อยู่ทางภาคพื้นดินด้วยซ้ำ

แน่นอนทีเดียวว่า ความบกพร่องไม่เพียงพอเหล่านี้ยังไม่ได้หมายถึงว่ารัสเซียจะพ่ายแพ้ในสงครามของตนในยูเครน อย่างไรก็ตาม การที่ยุทโธปกรณ์รัสเซียตกอยู่ในภาวะขาดแคลนพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับก้าวหน้ามาตั้งแต่กำเนิด แน่นอนอยู่แล้วว่าทำให้พวกเขาต้องเผชิญความเจ็บปวดจากการสูญเสียอย่างมากมายมโหฬารทั้งในด้านยุทโธปกรณ์และด้านกำลังพล

อุตสาหกรรมไฮเทคของรัสเซียนั้น ส่วนใหญ่แล้วเน้นหนักโฟกัสไปที่การตอบสนองความต้องการของฝ่ายทหาร เรื่องนี้มีความแตกต่างห่างไกลมากจากพวกผู้ผลิตไม่ว่าในสหรัฐฯ จีน เกาหลีเหนือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือยุโรป ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ต่างมีภาคอุตสาหกรรมไฮเทคเชิงพาณิชย์ที่แข็งแกร่งกันทั้งนั้น

ในช่วงทศวรรษ 1980 เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ต้องการได้แผงวงจรรวมความเร็วสูงมากๆ ดังนั้นจึงได้เริ่มต้นจัดทำโครงการแผงวงจรรวมความเร็วสูงมากๆ (Very High-Speed Integrated Circuit program หรือ VHSIC) [8] ขึ้นมา และลงทุนไปมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในความพยายามนี้ (ถ้าคิดเป็นค่าเงินของปี 2022 นี้ ก็จะเท่ากับราวๆ 5,500 ล้านดอลลาร์ทีเดียว)

ปรากฏว่า ทางกระทรวงไม่เคยประสบความสำเร็จในการทำแผงวงจรรวม VHSIC ใดๆ ออกมาได้เลย ส่วนใหญ่ที่สุดสืบเนื่องจากพวกอุปกรณ์ประมวลผลเชิงพาณิชย์ สามารถทำงานได้อย่างเหนือชั้นห่างไกลกว่าสิ่งที่เพนตากอนมุ่งหมายที่จะผลิตออกมา กระนั้นก็ตาม โครงการนี้มีการดำเนินการในเรื่องให้การอุดหนุนแก่กิจการโรงงานผลิตอุปกรณ์ทำเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ รวมทั้งกลายเป็นการสร้างแรงกระตุ้นจูงใจให้เกิดอุตสาหกรรมซึ่งจัดส่งผลิตภัณฑ์จำนวนมากของตนออกไปยังต่างแดน ส่วนใหญ่แล้วก็คือไปสู่เอเชีย

โครงการ VHSIC กลายเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็น (ถ้าหากยังจำเป็นต้องมีการสาธิตให้เห็น!) ว่า ภาคธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่มีความสามารถในการแข่งขันนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับความก้าวหน้าในวงการอิเล็กทรอนิกส์ เฉกเช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมอื่นๆ จำนวนมาก

ในอีกด้านหนึ่ง แบบแผนวิธีการเข้าถึงปัญหาของฝ่ายรัสเซีย กลับเน้นที่การทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยถือว่ามันเป็นความลับ ระหว่างช่วงสงครามเย็น เซเลโนกราดเป็นเมืองปิด ไม่ให้คนนอกเข้าไป และงานที่ทำกันที่นั่นก็ถูกจัดชั้นความลับ

ปรากฏว่า เซเลโนกราด ร่วงหล่นลงสู่การบ่มเพาะนิสัยเลวๆ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่สำคัญแล้วคือการมุ่งโจรกรรมงานดีไซน์ของคนอื่นๆ แทนที่จะเน้นการพัฒนาสิ่งที่เป็นของตนเองขึ้นมา ตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นชัดเจนมากๆ คือ “ชิปเทกซัส” (Texas chip) แผงวงจรรวมขนาดกลางที่ทรงความสำคัญชนิดหนึ่ง ซึ่งสหรัฐฯ กำลังนำไปใช้ในพวกเรดาร์สำหรับเครื่องบินของตน ตลอดจนในฮาร์ดแวร์อื่นๆ ในช่วงทศวรรษ 1980

เมื่อพวกวิศวกรของ เซเลโนกราด ถูกกดดันให้ต้องพัฒนาดีไซน์ชิปเช่นนี้ของตนเองขึ้นมาบ้าง พวกเขาก็ได้รับการบอกกล่าวจากเหล่าผู้บังคับบัญชาของพวกเขาให้ก๊อบปี้ชิปเทกซัส และทิ้งขว้างงานดีไซน์อิสระของตนเองไปทั้งหมด

ตั้งแต่ช่วงต้นๆ เลย เซเลโนกราด ยังต้องเจอกับการติดเชื้อโรคอันร้ายกาจชนิดที่สองอีกด้วย กล่าวคือ โจเอล บาร์ นั้นเป็นชาวยิว และเขามีความสามารถในการดึงดูดชาวยิวผู้มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมให้มาทำงานที่ เซเลโนกราด แม้กระทั่งในสภาพที่เมืองนั้นถือเป็นพื้นที่ปิดลับ ซึ่งธรรมดาแล้วชาวยิวในสหภาพโซเวียต จะประสบปัญหามากในการไปหางานทำที่นั่น

สำหรับ ครุชชอฟ แล้ว เขาไม่รู้สึกว่านี่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ดี เขาถูกผลักไสให้หล่นลงจากอำนาจทางการเมืองไปในปี 1964 หรือ 2 ปีภายหลัง เซเลโนกราด เริ่มต้นขึ้นมา หลังจากนั้น ทั้งบาร์ และชาวยิวคนอื่นๆ ก็ถูกกวาดล้างออกไป โดยผู้นำโซเวียตที่สืบทอดอำนาจต่อจาก ครุชชอฟ ซึ่งก็คือ เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev) ผู้ซึ่งมองว่าชาวยิวทั้งหมดเป็นสายของฝ่ายตะวันตกและไม่สามารถให้ความเชื่อถือไว้วางใจได้ การกวาดล้างต่อต้านชาวยิวทำนองเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นในทั่วทั้งอุตสาหกรรมด้านกลาโหมของรัสเซีย ตลอดจนในมหาวิทยาลัยต่างๆ และองค์การด้านการวิจัยแห่งต่างๆ

ช่วงนี้เองเป็นระยะเวลาที่ขบวนการรณรงค์เรียกร้องของชาวยิวในโซเวียตเพิ่มทวีความคึกคัก ทั้งในรัสเซีย และในที่อื่นๆ โดยสิ่งที่ชาวยิวและพวกผู้ไม่เห็นด้วยกับทางการโซเวียตทั้งหลายเรียกร้องประการหนึ่ง ได้แก่สิทธิที่จะอพยพไปตั้งรกรากในต่างแดน แต่จากการที่ต้องสูญเสียตัวบุคคลจำนวนมากซึ่งทำงานอยู่ในฝ่ายสร้างสรรค์ของเมืองเซเลโนกราด โดยรวมถึง บาร์ ที่เป็นผู้นำของบุคคลเหล่านี้ด้วย กลายเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงความเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ครั้งสำคัญสำหรับโครงการไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของมอสโก

เมื่อช่วงทศวรรษ 1980 สหรัฐฯ ในตอนต้นๆ เคยประมาณการเอาไว้ว่า รัสเซียคงต้องใช้เวลาเพียงแค่สองสามปีในการไล่ตามพวกเขาให้ทัน แต่จากผลของนโยบายทำอะไรเป็นความลับไปหมด การกำจัดกวาดล้าง และการไม่สามารถเข้าถึงโนว์ฮาวของฝ่ายตะวันตก รัสเซียจึงลื่นไถลถอยหลังและถูกทิ้งห่างออกไปอย่างชนิดไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อถึงตอนปลายทศวรรษ 1980 รัสเซียตามหลังสหรัฐฯ อยู่ราวๆ 7 ถึง 10 ปี และในตอนสิ้นสุดสงครามเย็น การลื่นไถลถอยหลังของเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ของรัสเซียก็ยังไม่สามารถแก้ไขกอบกู้ให้กลับดีขึ้นมาใหม่ –ความเป็นจริงแล้ว สิ่งต่างๆ กลับเลวร้ายลงไปอย่างมากมายด้วยซ้ำ

สถานการณ์เช่นนี้มีผลกระทบอย่างมากมายมหึมาต่อแสนยานุภาพทางทหารของรัสเซีย เมื่อปราศจากเซมิคอนดักเตอร์ระดับก้าวหน้า รัสเซียก็จะต้องประสบความพ่ายแพ้ในเรื่องอาวุธฉลาดๆ แห่งเจเนอเรชันถัดๆ ไป ซึ่งจะต้องพึ่งพาอาศัยพวกระบบปัญญาไฮสปีด ที่ให้พลังด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

เอไอนั้นจำเป็นต้องใช้พวกโปรเซสเซอร์พิเศษที่สร้างขึ้นมาตามข้อกำหนดจำเพาะอันละเอียดอ่อนอย่างถูกต้องแม่นยำ ตัวอย่างเช่น จีน เพิ่งประกาศ [9] ว่าพวกเขาเวลานี้มีชิประดับก้าวหน้าตัวใหม่ (ชิป MinerVA ที่ใช้ในการทำเหมืองบิตคอยน์) ซึ่งมีศักยภาพที่จะแข่งขันกับพวกชิปซึ่งดีกว่านี้เสียอีกที่ผลิตโดยบริษัทผู้ผลิตชิปตัวท็อปของโลก นั่นคือ ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC)

ขณะที่ชิปของจีนดีไซน์ออกมาเพื่อใช้สำหรับแอปพลิเคชันด้านบิตคอยน์ แต่จีนก็ยังกำลังทำงานเพื่อมุ่งไปสู่ชิปเอไอระดับก้าวหน้า ซึ่งสามารถประมวลผลข้อมูลข่าวสารปริมาณมโหฬารมหาศาลได้ จีนนั้นยังจะต้องเดินต่อไปอีก โดยที่ต้องอยู่ในสภาพขาดไร้อุปกรณ์ extreme ultraviolet laser etching ซึ่งทรงความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากถูกสหรัฐฯ สกัดขัดขวางทำให้ไม่สามารถไปซื้อไปหามาใช้ได้

รัสเซียอาจจะกำลังหันไปหาจีนอยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับพวกชิปเกรดต่ำๆ แต่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ชี้ว่าจีนมีการแบ่งปันโนว์ฮาวในเรื่องโรงงานผลิตชิปใดๆ กับทาง เซเลโนกราด จีนนั้นแทบจะไม่ได้อะไรเลยหากจะเข้าไปช่วยรัสเซียในเรื่องนี้ โดยที่การสนับสนุนแดนหมีขาวยังอาจมีศักยภาพทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของจีนเองถูกแซงก์ชันเล่นงานอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นไปกว่าที่เจออยู่แล้วในเวลานี้

ทุกวันนี้ รัสเซียยังคงขาดไร้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เชิงพาณิชย์ภายในประเทศชนิดที่จะช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น รวมทั้งเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขต่างๆ ในปัจจุบัน ก็ไม่น่าที่จะสามารถบ่มเพาะปลูกสร้างอุตสาหกรรมเช่นว่านี้ขึ้นมาในอนาคตอันใกล้ โดยที่เรื่องเช่นนี้จะต้องทั้งมีการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ และทั้งต้องสามารถเข้าถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกได้ รัสเซียนั้นได้ปิดกั้นตัวเองมานานแล้ว และสิ่งที่รัสเซียยังไม่ได้กระทำซึ่งส่งผลในทางทำให้ตัวเองบาดเจ็บเป็นอันตราย มาตรการแซงก์ชันของฝ่ายตะวันตกก็ได้กระทำแทนให้หมดแล้ว

ย้อนหลังไปในปี 1985 (ผู้นำสหภาพโซเวียตในเวลานั้น) มิคฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) เดินทางไปเยือนกรุงปารีส และได้พบปะกับ ฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ (Francois Mitterand) ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสในขณะนั้น ในความพยายามที่จะหาทางผ่อนคลายความตึงเครียดของสงครามเย็น และมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับฝ่ายตะวันตก กอร์บาชอฟ บอกกับ มิตแตรองด์ ว่า รัสเซียเป็นเพียงประเทศโลกที่สามรายหนึ่งซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง เวลาผ่านพ้นไปเกือบๆ 40 ปีให้หลัง การประเมินอย่างขวานผ่าซากเช่นนี้ก็ยังคงมีความถูกต้องอยู่

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเรื่องยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีด้านความมั่นคง เขาเคยดำรงตำแหน่งระดับอาวุโสในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เคยเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมระหว่างปี 1981-1988) ในรัฐสภาสหรัฐฯ ตลอดจนเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทด้านกลาโหมและเทคโนโลยีนานาชาติขนาดใหญ่ ปัจจุบันเขาเขียนเรื่องให้แก่เอเชียไทมส์, American Thinker, Jewish Policy Center, ตลอดจนหนังสือพิมพ์และนิตยสารอื่นๆ จำนวนมาก เขาเขียนหนังสือในหัวข้อความมั่นคงที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วรวม 4 เล่ม

เชิงอรรถ
[1] https://spartacus-educational.com/Alfred_Sarant.htm
[2] https://www.nytimes.com/1998/08/16/world/joel-barr-defector-linked-to-rosenbergs-dies.html
[3] https://eng.miet.ru/page/10374
[4] https://www.rfc.org/rosenberg-case/case-summary
[5] https://www.history.com/this-day-in-history/klaus-fuchs-arrested-for-passing-atomic-bomb-information-to-soviets
[6] https://www.pbs.org/redfiles/bios/all_bio_nikita_khrushchev.htm
[7] https://tadviser.com/index.php/Company:Angstrom-T
[8] https://www.gao.gov/products/nsiad-85-37

[9] https://www.theregister.com/2022/08/01/column_7nm_chips_china/
กำลังโหลดความคิดเห็น