xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเตือนอย่าเผย 5 ข้อมูลสำคัญในโซเชียล-ทำประกันอย่าเชื่ออ้างโลโก้ ระวังเข้าทางมิจฉาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เตือน ปชช.ระวัง อย่าเผยแพร่ 5 ข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญในโซเชียล เสี่ยงรั่วไหลถูกจารกรรมจากมิจฉาชีพสูญเสียเงินทรัพย์สิน เตือนหนึ่งกลโกงก่อนทำประกันพิจารณารอบคอบ ทำกับตัวแทนที่น่าเชื่อถือ อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพแอบอ้างใช้โลโก้สมาคมสถาบันการเงินรัฐ

วันนี้ (18 ก.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ได้พบกรณีประชาชนถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งพบว่ามีลักษณะคล้ายกันคือการได้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ให้มิจฉาชีพที่แสดงตัวในรูปแบบต่าง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ และนำไปสู่การถูกจารกรรมทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินในบัญชีเงินฝาก

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงหรือจารกรรมข้อมูลในเบื้องต้น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ได้มีคำเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นบนช่องทางออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะบุคคลที่ไม่รู้จัก และหลีเลี่ยงการร่วมกิจกรรมบนโซเชียลมีเดียที่มีลักษณะการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในที่สาธารณะ เช่น การรับรหัส ATM นำโชค ที่มีการแจกให้กับผู้มีความเชื่อเกี่ยวกับตัวเลข ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญ 5 ประเภท ที่ สพร. เตือนให้ระมัดระวังไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่น ประกอบด้วย 1) หมายเลขข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขหนังสือเดินทาง 2) ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล 3) ข้อมูลธนาคาร เช่น เลขบัญชี รหัส ATM, เลขบัตรเครดิต 4) ข้อมูลทางชีวมิติ เช่น ลายนิ้วมือ ข้อมูลแสดงม่านตา 5) ข้อมูลอุปกรณ์ เช่น IP Address, Mac Address, Cookie ID

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ ที่ทั้งเจ้าของข้อมูลและผู้ทำหน้าที่รักษาข้อมูลก็ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้เกิดการรั่วไหล เนื่องจากเป็นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาทิ ข้อมูลทรัพย์สินของบุคคล เช่น ทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน, ข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ เช่น วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลทางการศึกษา ข้อมูลการจ้างงาน ข้อมูลประเมินผลการทำงานหรือความเห็นของนายจ้างต่อการทำงานของลูกจ้าง ข้อมูลบันทึกต่างๆ ที่ใช้ติดตามตรวจสอบกิจกรรมของบุคคล ตลอดจนข้อมูลที่สามารถใช้ในการค้นหาข้อมูลส่วนบุคคลอื่นในอินเทอร์เน็ต

“ข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะหมายเลขส่วนบุคคล ข้อมูลธนาคาร เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เจ้าของข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่บอกให้กับผู้อื่นทราบ ไม่โพสต์เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต หรือบนเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเสี่ยงต่อการที่ข้อมูลรั่วไหล หรือ ถูก Phishing ข้อมูลจากมิจฉาชีพ ที่อาจนำไปสู่การจารกรรมข้อมูลและเกิดการสูญเสียเงินและทรัพย์สิน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ด้าน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนนตรี เตือนประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพหลอกทำประกันชีวิต โดยเฉพาะการพูดคุยโทรศัพท์ชักชวน สร้างแรงจูงใจให้เข้าใจผิด โดยมักจะอธิบายถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเกินความจริง อ้างตัวเป็นสถาบันการเงินของรัฐ

นางสาวรัชดา กล่าวต่อไปว่า มิจฉาชีพได้พัฒนากลโกงที่แยบยล ให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ผ่านรูปแบบต่างๆ โดยสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อกรณีที่มีมิจฉาชีพแอบอ้างนำตราสัญลักษณ์ของสมาคมสถาบันการเงินของรัฐไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินเพื่อชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ หรือเพื่อยืนยันผลการทำธุรกรรมการเงินใด ซึ่งปัจจุบันสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ไม่มีวัตถุประสงค์และไม่มีนโยบายให้บริการทางการเงินใดๆ กับประชาชนโดยตรง และยืนยันว่า สมาคมสถาบันการเงินของรัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างให้บริการทางการเงินดังกล่าว และขอเตือนให้ผู้ที่ได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพในลักษณะเดียวกันนี้อย่าหลงเชื่อ หรือโอนเงินให้อย่างเด็ดขาด

“ขอเตือนประชาชนก่อนจะพิจารณาทำประกัน ให้พิจารณาอย่างรอบคอบ ควรตรวจสอบรายชื่อจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หรือตัวแทนที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งติดต่อกับบริษัทประกันภัยด้วยตนเอง ไม่ควรทำประกันผ่านตัวแทนที่ไม่เคยรู้จัก โดยเฉพาะกรณีที่มีการแจกสิ่งของเพื่อจูงใจ หรือมีราคาถูกเป็นพิเศษ เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ ประชาชนควรศึกษาเงื่อนไข ความคุ้มครองก่อนซื้อ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการ และความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย อย่ารีบตัดสินใจ” นางสาวรัชดา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น