xs
xsm
sm
md
lg

จีนแบะท่าอาศัย ‘ระบบรวบศูนย์อำนาจ’ ของตนมาต่อสู้กับสหรัฐฯ ระดมสรรพกำลังจากทุกฝ่ายเพื่อ ‘ผ่าทางตันไฮเทค’ ซึ่งมะกันวางสนุ้กไว้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***


การแสดงระบำเชิดชูพรรค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายการแสดงเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ณ สนามกีฬาแห่งชาติกรุงปักกิ่ง หรือที่รู้จักกันในฉายา “รังนก” เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2021 ทั้งนี้ ทางการจีนมุ่งหวังอาศัยข้อเด่นในระบบเผด็จการรวมศูนย์อำนาจของตน มาผลักดันการพัฒนาด้านไฮเทคซึ่งกำลังถูกสหรัฐฯ ขัดขวางสกัดกั้น
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China hopes ‘whole-nation’ scheme can close tech gap
By JEFF PAO
08/09/2022

แผนการใหม่ในรูปแบบจากบนลงสู่ล่างของรัฐจีน ที่มุ่งจะอาศัยข้อเด่นของระบบรวมศูนย์อำนาจมาต่อสู้เอาชนะการแซงก์ชันขัดขวางของสหรัฐฯ เพื่อแหวกทางตันผลักดันกระแสคลื่นระลอกใหม่แห่งความก้าวหน้าทางด้านไฮเทคของแดนมังกร

รัฐบาลจีนบอกว่า จะใช้ข้อได้เปรียบต่างๆ ของ “ระบบทั่วทั้งชาติแบบใหม่” (new-type whole-nation system) ของตน มาเป็นตัวสร้างแรงเหวี่ยงเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าปักกิ่งกำลังพูดถึงการนำเอาความสามารถในเรื่องการรวมศูนย์กำลังของรัฐเผด็จการรวบอำนาจอย่างจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยผ่านการพิสูจน์มาแล้วหลายครั้ง ด้วยการเรียกระดมเอาสรรพทรัพยากรที่มีอยู่ในตลาดและตามสถาบันวิชาการต่างๆ มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนา และสำหรับในคราวนี้จะนำเอาแนวทางเช่นนี้แหละมาใช้เพื่อเร่งรัดผลักดันความคืบหน้าทางด้านเทคโนโลยี

เมื่อวันอังคาร (6 ก.ย.) ที่ผ่านมา ที่ประชุมของคณะกรรมการส่วนกลางเพื่อทำให้การปฏิรูปต่างๆ ดำเนินไปอย่างหยั่งรากลึกและครอบคลุมยิ่งขึ้น (Central Comprehensively Deepening Reforms Commission) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมี สี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่ของพรรคเป็นประธาน มีมติรับรองเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งวางกรอบโครงสำหรับการนำเอา “ระบบทั่วทั้งชาติ” ของจีน มาใช้พัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง หรือไฮเทคทั้งหลาย

นอกจากนั้น เพื่อเป็นหนทางในการยกระดับมาตรฐานทางวิชาการ ที่ประชุมแห่งนี้ยังได้รับรองเอกสารอีกฉบับหนึ่งซึ่งว่าด้วยการปฏิรูประบบที่ใช้ในการแต่งตั้งนักวิชาการเข้าไปอยู่ในบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Sciences) และบัณฑิตยสภาทางวิศวกรรมศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Engineering) อันเป็น 2 สถาบันชั้นนำที่มีบทบาทสำคัญมากในการวิจัยและการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

การอนุมัติเอกสารทั้ง 2 ฉบับคราวนี้ ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในบรรดามาตรการเพื่อใช้ตอบโต้สหรัฐฯ ซึ่งตั้งแต่ปี 2018 ได้เริ่มต้นจำกัดกีดกั้นการส่งออกทั้งผลิตภัณฑ์ไฮเทคและเครื่องมืออุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีชั้นสูงมายังประเทศจีน ด้วยเหตุผลข้ออ้างเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของคณะกรรมการชุดนี้ ยังบังเกิดขึ้นหลังจากเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการจับกุมพวกเจ้าหน้าที่คนสำคัญๆ และพวกผู้บริหารบริษัททางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนรวมแล้ว 10 กว่าคน ในข้อหาว่าบกพร่องล้มเหลวไม่อาจทำผลงานออกมาอย่างที่คาดหมายเอาไว้ได้ หลังจากรัฐบาลส่วนกลางได้ทุ่มเทเงินทองรวมแล้วหลายหมื่นล้านดอลลาร์เข้าไปในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงประมาณ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม เซี่ยว ย่าซิ่ง (Xiao Yaqing) รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน ถูกจับกุมเนื่องจากต้องสงสัยว่าทำความผิดละเมิดวินัยของพรรคคอมมิวนิต์และผิดกฎหมายบ้านเมือง ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่อื่นๆ อีกหลายคน รวมทั้งพวกผู้บริหารของกองทุนเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมแผงวงจรรวมแห่งชาติ (National Integrated Circuit Industry Investment Fund) และกลุ่มชิงหัว ยูนิกรุ๊ป (Tsinghua Unigroup) ก็ถูกควบคุมตัวเช่นกัน

ปักกิ่งเคยคาดหวังไว้ก่อนหน้านี้ว่า ซั่งไห่ ไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ อีควิปเมนต์ กรุ๊ป (Shanghai Micro Electronics Equipment Group) ที่เป็นกิจการรัฐวิสาหกิจจะสามารถจัดส่งอุปกรณ์ DUV immersion lithography ซึ่งสามารถทำชิปขนาด 28 นาโนเมตร ออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2022 แต่ปรากฏว่าเครื่องมือไฮเทคตัวนี้ยังคงมีความติดขัดไม่พรักพร้อม

การประชุมของคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าปักกิ่งจะใช้แผนการใหม่นี้มากระตุ้นผลักดันภาคไฮเทคด้านใดบ้าง แต่พวกสื่อจีนรายงานว่า น่าจะเป็นอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ

ในบทบรรณาธิการที่มีเนื้อหามุ่งปลุกเร้าให้กำลังใจของหนังสือพิมพ์ 21st Century Business Herald ของจีนเมื่อวันพฤหัสบดี (8 ก.ย.) เขียนเอาไว้ว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้บริษัทต่างๆ รวมทั้งอินวิเดีย (Nvidia) และเอเอ็มดี (AMD) ยุติการจัดส่งชิป GPU ระดับไฮเอนด์บางชนิดให้แก่จีน โดยที่ชิปพวกนี้เป็นรากฐานสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์บิ๊กดาต้า และคลาวด์ คอมพิวติ้ง

“สหรัฐฯ ต้องการหยุดยั้งการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำหน้าที่เป็นตัวให้พลังการคำนวณทางคอมพิวเตอร์แก่ผลิตภัณฑ์ด้านอื่นๆ ตามมาอีก อย่างเช่น ยานยนต์ที่ไม่ต้องใช้คนขับ

เราต้องมีความเข้าใจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่มุ่งสยบหยุดยั้งการปรับปรุงยกระดับทางอุตสาหกรรมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนอย่างรอบด้าน เราต้องมีความสำนึกถึงความเร่งด่วนและความรับผิดชอบที่จะปรับปรุงยกระดับความสามารถในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเราทั้งระบบให้ดีขึ้นมาอย่างมหาศาล และได้ผลลัพธ์ต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันในแวดวงสำคัญๆ จำนวนมาก”

พวกนโยบายอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในระดับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เป็นต้นว่า รัฐบัญญัติ CHIPS ที่มีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อันที่จริงแล้วก็มีลักษณะเป็นการใช้ระบบทั่วทั้งชาติชนิดหนึ่ง ทว่านโยบายเหล่านี้กลับอนาคตมืดมน มีแต่จะต้องล้มเหลว เนื่องจากเอาแต่โฟกัสเน้นหนักไปที่เรื่องแรงจูงใจระยะสั้นและการควบคุมการส่งออก โดยปราศจากการปฏิรูประบบอุตสาหกรรมของประเทศใดๆ ทั้งสิ้น บทความชิ้นเดียวกันนี้ของ 21st Century Business Herald กล่าววิพากษ์

ทางด้เน Yicai.com เว็บไซต์ข่าวภาษาจีน ก็ออกบทบรรณาธิการระบุว่า “ระบบทั่วทั้งชาติแบบใหม่ เป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้และมีความเหมาะสมเป็นไปได้ เนื่องจากพวกเทคโนโลยีที่เป็นแกนหลักทั้งหลายซึ่งจีนต้องการนั้น ต่างก็มีหลักหมายอ้างอิงที่ชัดเจนอยู่แล้วทั้งสิ้น”

บทบรรณาธิการนี้ระบุถึงความสำเร็จต่างๆ ของโครงการอวกาศของจีน เป็นต้นว่า ภารกิจส่งยานฉางเอ๋อ-5 ไปดวงจันทร์ในเดือนมีนาคม 2021 ระบบนำทางด้วยดาวเทียมเป่ยโต่ว ยานสำรวจเทียนเวิ่น 1 ซึ่งร่อนลงดาวอังคารสำเร็จในเดือนพฤษภาคม 2021 การส่งดาวเทียมสำรวจดวงอาทิตย์ เอช-อัลฟา เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบของระบบทั่วทั้งชาติแบบใหม่ของจีน

นอกจากนั้น บทบรรณาธิการนี้เสนอแนะว่า จีนควรปรับปรุงเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ผู้ที่สร้างนวัตกรรมมั่นใจว่าจะได้ผลประโยชน์จากผลงานของพวกเขา

โมเดล “ห้าในหนึ่ง”

คำว่า “ระบบทั่วทั้งชาติแบบใหม่” ถูกเสนอออกมาครั้งแรกโดย สี จิ้นผิง ในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 4 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 19 เมื่อเดือนตุลาคม 2019

ระบบนี้ได้รับการนิยามอย่างเป็นทางการว่า หมายถึงการที่จีนจะใช้โมเดลใหม่ที่เป็น “ห้าในหนึ่ง” (“five-in-one”) นั่นคือเป็นการร่วมมือประสานงานกันเป็นหนึ่งเดียวของ 5 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล บริษัทต่างๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ สถาบันวิจัยต่างๆ และผู้บริโภค เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง

เสิ่น เฉิงเฉิง (Shen Chengcheng) อาจารย์ของวิทยาลัยการเมืองและบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยซูโจว เขียนเอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ว่า จีนถูกบังคับให้ใช้ “ระบบทั่วทั้งชาติแบบใหม่” เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการทะลุทะลวงผ่าทางตันทางเทคโนโลยี

เสิ่น บอกว่า การที่สหรัฐฯ สั่งห้ามขายชิปให้แก่บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ เป็นตัวอย่างแบบฉบับของการที่อเมริกากำลังพยายาม “บีบคอ” จีนให้ตายคามือ ด้วยการขัดขวางปิดกั้นไม่ให้แดนมังกรได้รับเทคโนโลยีแกนหลักด้านต่างๆ เขากล่าวว่าเนื่องจากถูกบีบคอเช่นนี้ จีนจะไม่สามารถปรับปรุงยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆ ของตน และผลักดันเดินหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพสูง

อาจารย์เสิ่น ชี้ว่า ที่จริงจีนได้มีการใช้ระบบทั่วทั้งชาติชนิดดั้งเดิมมาสร้างเศรษฐกิจของตนอยู่ก่อนแล้วนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 โดยในตอนนั้นเน้นย้ำไปที่การระดมสรรพทรัพยากรจากกิจการรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย

อย่างไรก็ดี เขาชี้ว่า โมเดลแบบเดิมเช่นนั้นซึ่งมุ่งเน้นให้น้ำหนักแก่ภาครัฐบาลอย่างแข็งขัน ไม่สามารถที่จะดัดแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมใหม่ๆ ในปัจจุบันได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องใช้โมเดลใหม่ซึ่งประกอบด้วยผู้เข้าร่วมที่กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม

เขาบอกว่า จากโมเดลใหม่จะทำให้จีนสามารถใช้ความได้เปรียบต่างๆ ของตนในเรื่อง 5จี บิ๊กดาต้า และเทคโนโลยีทางด้านคลาวด์ มาบูรณาการเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจภาคแท้จริงของตนเข้าด้วยกัน

นโยบายทางอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน

ในการประชุมเมื่อวันอังคาร (6 ก.ย.) คณะกรรมการส่วนกลางเพื่อทำให้การปฏิรูปต่างๆ ดำเนินไปอย่างหยั่งรากลึกและครอบคลุมยิ่งขึ้น ออกคำแถลงว่า รัฐบาลจะให้คำนิยามในเรื่องเป้าหมายต่างๆ ในด้านเทคโนโลยีของตนอย่างชัดเจน รวมทั้งตัดสินว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นความสำคัญลำดับแรกๆ ของตนอีกด้วย

คำแถลงบอกอีกว่า รัฐบาลจะนำเอาทรัพยากรของสถาบันวิจันทางวิทยาศาสตร์แห่งต่างๆ มาร่วมมือประสานงาน ขณะที่พวกบริษัทภาคเอกชนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นมากในด้านการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้งาน

เวลาเดียวกันนั้น การประชุมของคณะกรรมการส่วนกลางชุดนี้บอกว่า นักวิชาการทั้งหลายของบัณฑิตยสภาทางวิศวกรรมศาสตร์ ไม่เพียงจะต้องมีคุณสมบัติด้านวิชาการอย่างสูงเท่านั้น แต่ยังคงต้องเน้นหนักที่การทำงานวิจัย แทนที่จะไปยุ่งกับประเด็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับวิชาการ ทั้งนี้เพื่อจะได้ช่วยเหลือประเทศชาติในการต่อสู้รับมือกับปัญหาทางวิทยาศาสตร์

เนื้อหาฉบับเต็มของเอกสารว่าด้วยแผนการของจีนที่จะใช้ระบบทั่วทั้งชาติชนิดใหม่ของตนในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงต่างๆ นั้น เวลานี้ยังไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน

เหอ ลี่เฟิง (He Lifeng) ประธานและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ของคณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission หรือ NRDC) เขียนเอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมว่า จีนจะเพิ่มพูนยกระดับภาคการสื่อสารโทรคมนาคม ชีวเวช (biomedical) การบินพลเรือน และการบินและอวกาศพลเรือน พลังงานใหม่ และอินเทอร์เน็ต
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1689409645946801325&wfr=spider&for=pc)

ก่อนหน้านั้น เขาเขียนเอาไว้ในเดือนมกราคมปีที่แล้ววา ด้วยระบบทั่วทั้งชาติแบบใหม่ของตน จีนจะใช้แผนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติบางแผนการของตนเอง มาเป็นพาหะในการดำเนินการกับพวกเทคโนโลยีแกนกลางสำคัญๆ ทั้งหลาย เพื่อให้ตอบสนองความต้องการทั้งทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการป้องกันประเทศของแดนมังกร

ทั้งนี้ อันดับของประเทศจีนในดัชนีนวัตกรรมทั่วโลก (Global Innovation Index หรือ GII) ซึ่งเผยแพร่โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization หรือWIPO) ที่เป็นหน่วยงานหนึ่งของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council) นั้น ได้ขยับขึ้นอยู่มาในอันดับ 12 เมื่อปีที่แล้ว จากอันดับ 32 เมื่อประมาณ 1 ทศวรรษก่อน

ตามข้อมูลตัวเลขของ NDRC การลงทุนของจีนในเรื่องเทคโนโลยีระดับสูงเพิ่มขึ้นมากว่าเท่าตัวสู่ระดับ 19.91 ล้านล้านหยวน (2.85 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2021 จาก 9.95 ล้านล้านหยวนในปี 2012

ขณะที่สัดส่วนของพวกธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตระดับไฮเอนด์ของจีน เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมโดยรวมทั้งหมด มีการขยับขึ้นมาเป็น 15.1% จาก 9.4% ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ ส่วนเรื่องตัวเลขความเข้มข้นของการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนา (R&D investment intensity) ของจีน ซึ่งหมายถึงสัดส่วนของการใช้จ่ายด้านการวิจัยและการพัฒนาเมื่อเปรียบเทียบกับจีดีพีโดยรวม เติบโตขึ้นจากระดับ 2.67% มาเป็น 1.68%

ตามข้อมูลตัวเลขของสถาบันเพื่อสถิติ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO Institute for Statistics) จีนติดอันดับที่ 13 ของบรรดาประเทศทั่วโลก โดยที่ความเข้มข้นในการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาอยู่ที่ 2.4% ในปี 2020 ทั้งนี้ ในปีนั้นอิสราเอลคืออันดับ 1 ด้วยตัวเลขความเข้มข้นในการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาอยู่ที่ 5.44% ส่วนเกาหลีใต้ตามมาเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 4.81% จากนั้นตามมาด้วย สวีเดน (3.53%) เบลเยียม (3.48%) สหรัฐฯ (3.45%) และญี่ปุ่น (3.26%)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_research_and_development_spending)


กำลังโหลดความคิดเห็น