xs
xsm
sm
md
lg

มะกันกล้าใช้ไม้แข็งกับ ‘ตู้เอทีเอ็ม’ อย่างซาอุดีอาระเบียหรือ? ถึงแม้โวยวายหนักเรื่องริยาดหนุนให้ ‘ราคาน้ำมัน’ ขึ้นลิ่ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร ***


(ภาพจากแฟ้ม) มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน (MBS) แย้มสรวลอย่างพอพระทัยขณะทรงสนทนากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ในวันเปิดการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2018 ทั้งนี้ สื่อยูเอสเอทูเดย์ บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ว่า เหมือนกับ “เสียงแตรรถแผดดังกึกก้องในห้องสมุด ... ต้องติดตามวิเคราะห์หาความหมายกันอย่างใกล้ชิด”
Saudi Arabia calls out US bluster
BY M. K. BHADRAKUMAR
14/10/2022

ฝ่ายทหารและฝ่ายอุตสาหกรรมที่จับมือมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหนียวแน่นซับซ้อนในสหรัฐฯ จะยินยอมให้สหรัฐฯ กับซาอุดีอาระเบียแตกหักกันหรือ? ซาอุดีอาระเบียนั้นคือห่านที่คอยออกไข่ทองคำให้แก่สหรัฐฯ อย่างเรื่องเล่าในนิทานโดยแท้ พวกเขาคือผู้ควักกระเป๋าจ่ายเงินอย่างมือเติบให้แก่อุตสาหกรรมอาวุธอเมริกัน พวกนักวิเคราะห์ด้านภูมิรัฐศาสตร์มักเรียกซาอุดีอาระเบียอยู่บ่อยๆ ว่าเป็น ตู้เอทีเอ็มของสหรัฐฯ

ซาอุดีอาระเบียโต้แย้งกลับอย่างสุภาพแต่หนักแน่นต่อการข่มขู่คุกคามและการใส่ร้ายป้ายสีที่พวกชนชั้นนำทางการเมืองสหรัฐฯ โยนใส่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เมื่อกลุ่มโอเปกตัดสินใจหั่นลดกำลังการผลิตน้ำมันลงมา 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยในวันพฤหัสบดี (13 ต.ค.) เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศผู้หนึ่งในกรุงริยาดได้ตอบโต้ข้อกล่าวหาที่ว่า การตัดสินใจของโอเปกครั้งนี้เกิดจากความริเริ่มของซาอุดีอาระเบีย และเป็นสิ่งที่กระทำลงไปด้วยแรงจูงใจทางการเมืองที่ต้องการเล่นงานสหรัฐฯ หรือเลวร้ายยิ่งกว่านั้นอีก คือ เป็นการช่วยเหลือรัสเซีย

เจ้าหน้าที่ซาอุดีผู้นี้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ โดยบอกว่าไม่มีมูลความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใส่ความว่า ซาอุดีอาระเบีย “กำลังจับมือเป็นพันธมิตร” กับรัสเซียในบริบทของสถานการณ์ยูเครน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.spa.gov.sa/viewfullstory.php?lang=en&newsid=2391943#2391943)

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้นี้ได้ชี้ถึงจุดที่เป็นสาระสำคัญรวม 3 ข้อด้วยกัน

**ข้อแรก การตัดสินของกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC +) ครั้งนี้ เป็นความเห็นที่รัฐสมาชิกทั้งหมดลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์กัน และดังนั้นจึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่จะนำเรื่องนี้มาโยนใส่ซาอุดีอาระเบีย

**ข้อสอง การตัดสินใจครั้งนี้วางอยู่บนข้อคำนึงทางเศรษฐกิจอย่างบริสุทธิ์ โดยพิจารณาถึงความจำเป็นต่างๆ ของการธำรงรักษาความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ในตลาดน้ำมัน และการจำกัดทัดทานไม่ให้ราคาเกิดความผันผวนขึ้นลงอย่างรุนแรง

**ข้อสาม ซาอุดีอาระเบียได้ออกมาแสดงให้เห็นถึงจุดยืนของตนที่วางอยู่บนหลักการอันหนักแน่นในประเด็นปัญหายูเครนแล้ว ดังเช่นการออกเสียงสนับสนุนญัตติ 2 ญัตติในสหประชาชาติ เรื่องนี้ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันอยู่แล้ว

นอกจากการโต้แย้งเช่นนี้แล้ว เจ้าหน้าที่ซาอุดีผู้นี้ยังเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ชวนให้ตื่นตกใจประการหนึ่งอีกด้วย โดยระบุว่า แท้จริงแล้วคณะบริหารไบเดนได้พยายามโน้มน้าวริยาดให้เลื่อนการตัดสินของกลุ่มโอเปกพลัส ออกไป 1 เดือน ดังนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่า ความกราดเกรี้ยวในวอชิงตันเวลานี้ เรื่องเกี่ยวกับราคาน้ำมันอาจจะไม่เท่าไหร่ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือความตื่นตระหนกที่ว่า การตัดสินใจของโอเปก บ่งชี้ให้เห็นว่าการดำเนินการทางการทูตของสหรัฐฯ –โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นการดำเนินการโดยตัวประธานาธิบดีไบเดนเองเสียด้วย— ไม่มีประสิทธิผลเอาเสียเลย และนี่ก็เป็นสิ่งที่พวกรีพับลิกันกำลังพยายามเน้นย้ำให้เห็นกัน
(ความกราดเกรี้ยวในวอชิงตันนั้น ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.npr.org/2022/10/06/1127212442/democrats-saudi-arabia-opec-cut-oil-production)

การชะลอเวลาออกไป 1 เดือนซึ่งคณะบริหารไบเดนพยายามโน้มน้าวนั้น ดูจะตั้งใจให้เวลาผ่านพ้นการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ไปเสียก่อน ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจหรอกที่ฝ่ายซาอุดีไม่เห็นว่าจะต้องกระทำตามคำเรียกร้องของทำเนียบขาว และตอนนี้ในความรู้สึกว่าตัวเองพึงมีสิทธิเรียกร้องได้ของฝ่ายสหรัฐฯ ตลอดในความยโสทะนงตนของไบเดน เรื่องนี้ก็ได้กลายเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่สามารถให้อภัยได้เรื่องหนึ่งไปเสียแล้ว

เราย่อมกล่าวได้ว่า พวกเดโมแครตและคณะบริหารไบเดนคือผู้ที่ทำตัวเองให้ตกเข้าไปอยู่ในเรื่องบ้าบอคอแตกเช่นนี้ เนื่องมาจากพวกเขากลัวว่าราคาน้ำมันเบนซินอาจกลายเป็นประเด็นปัญหาที่จุดติดลุกลามออกไป และนำไปสู่ความล้มเหลวของพวกเขาในการเลือกตั้งกลางเทอม มีชาวเดโมแครตบางคนไปไกลถึงขนาดเลอะเทอะเหลวไหลด้วยการแสดงความระแวงสงสัยว่าทางซาอุดีอาระเบียกำลังตั้งใจที่จะเข้ามาแทรกแซงการเมืองสหรัฐฯ โดยมุ่งช่วยเหลือผู้มีหวังได้ชัยชนะในการเลือกตั้งของฝ่ายรีพับลิกัน

คำแถลงข้างต้นของฝ่ายซาอุดี ได้กล่าวปฏิเสธอย่างคมกริบ ไม่ยอมรับ “การบงการ การกระทำ หรือความพยายามใดๆ ก็ตาม ที่จะบิดเบือนจุดประสงค์อันมีเกียรติของตน (ของซาอุดีอาระเบีย) ในการปกป้องคุ้มครองเศรษฐกิจของโลกให้พ้นจากความผันผวนขึ้นลงแรงๆ ของตลาดน้ำมัน” นี่คือการเตือนแบบเบาๆ ว่า ความเคลื่อนไหวในทางต่อต้านซาอุดีอาระเบียใดๆ ก็ตามที จะต้องเจอกับผลสะท้อนกลับคืนไป

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ขณะพูดในการประชุมนัดหนึ่งซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2022 ท่ามกลางข่าวที่ออกมาจากทำเนียบขาวระบุว่า คณะบริหารของเขากำลังทบทวนประเมินค่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดีอาระเบียกันใหม่ หลังจากกลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งมีริยาดเป็นผู้นำสำคัญรายหนึ่งมีมติลดการผลิตน้ำมัน ทั้งๆ ที่ ไบเดน ถึงขั้นลงแรงด้วยตนเองเพื่อโน้มน้าวซาอุดีอาระเบียให้ช่วยสหรัฐฯ ในการลดราคาน้ำมันลงมา
น่าสังเกตว่าคำแถลงคราวนี้ของซาอุดีอาระเบีย ออกมาภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงของการออกอากาศรายการสัมภาษณ์ไบเดนทางโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นในวันพฤหัสบดี (6 ต.ค.) โดยที่ในรายการดังกล่าว ไบเดน ได้กล่าวเตือนซาอุดีอาระเบียว่า “มันจะมีผลต่อเนื่องบางอย่างบางประการสำหรับสิ่งที่พวกเขา (ซาอุดี) ได้กระทำไป...กับรัสเซีย ผมจะไม่ขอพูดถึงสิ่งที่ผมกำลังพิจารณาและสิ่งที่ผมมีอยู่ในใจหรอกนะ แต่มันจะมี –มันจะมีผลต่อเนื่องออกไปแน่ๆ”

เวลาต่อมา จอห์น เคอร์บี้ (John Kirby) โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ออกมาแถลงเพิ่มเติมว่า ไบเดนนั้นเชื่อว่า “มันถึงเวลาที่จะต้องพิจารณากันใหม่ถึงความสัมพันธ์นี้ และทำให้แน่ใจได้ว่ามันกำลังรับใช้ผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงแห่งชาติของเรา”

ตัวไบเดนเองพูดทางซีเอ็นเอ็น หนึ่งวันหลังจาก บ็อบ เมเนนเดซ (Bob Menendez) วุฒิสมาชิกผู้ทรงอิทธิพลของพรรคเดโมแครตจากรัฐนิวเจอร์ซีย์ ออกมาข่มขู่ที่จะขัดขวางการร่วมมือทั้งหลายที่สหรัฐฯ มีอยู่กับซาอุดีอาระเบีย เขาประณามริยาดอย่างรุนแรง กล่าวหาว่ากำลังช่วยเหลือ “ค้ำประกันสงครามของปูติน โดยผ่านกลุ่มผูกขาดโอเปกพลัส” เขากราดเกรี้ยวใส่ซาอุดีอาระเบีย และเรียกร้องให้สหรัฐฯ “แช่แข็ง” ความร่วมมือทั้งหมดทั้งปวงที่มีอยู่ราชอาณาจักรแห่งนี้

คำแถลงไล่เรียงว่า สหรัฐฯ ต้อง “แช่แข็งความร่วมมือที่เรามีอยู่กับซาอุดีอาระเบียในทุกๆ ด้านทุกๆ มิติในทันที รวมทั้งการขายอาวุธใดๆ และความร่วมมือกันด้านความมั่นคงซึ่งไปไกลเกินกว่าสิ่งที่เป็นความจำเป็นอย่างที่สุดสำหรับการปกป้องบุคลากรและผลประโยชน์ต่างๆ ของสหรัฐฯ” เมเนนเดซ ยังเพิ่มการยื่นคำขาด โดยระบุว่า เขาจะไม่ “เปิดไฟเขียวให้แก่ความร่วมมือใดๆ กับริยาด จนกว่าราชอาณาจักรแห่งนี้มีการประเมินทบทวนจุดยืนของตนเองเสียใหม่ในเรื่องเกี่ยวกับสงครามในยูเครน พอกันที”

เห็นได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ของทำเนียบขาวคือการสร้างความสับสนยุ่งเหยิงให้แก่เรื่องนี้ ด้วยการทำให้มติการตัดสินใจของกลุ่มโอเปกพลัส กลายเป็นประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับยูเครนและรัสเซีย แทนที่จะอยู่ในฐานะเป็นการปฏิเสธครั้งประวัติศาสตร์ต่อการดำเนินการทางการทูตอย่างเป็นส่วนตัวของ ไบเดน –อย่างที่มันเป็นเช่นนั้น— เพื่อพยายามโน้มน้าวนำเอาซาอุดีอาระเบีย มาร่วมมือด้วย ในการดึงให้ราคาน้ำมันลดฮวบลง จนกระทั่งทำให้รายได้ของรัสเซียจากการส่งออกน้ำมัน ปรากฏผลกระทบกระเทือนในทางลบออกมา

ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้จึงมีอยู่ว่า มติการตัดสินใจของโอเปก ทำให้โครงการแสนโปรดปรานของคณะบริหารไบเดนในเรื่องการบังคับใช้กำหนดเพดานราคาการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย ต้องพังครืนลงไปอย่างไม่เป็นท่า พูดกันอย่างง่ายๆ เลยก็คือ โครงการแสนงี่เง่าโครงการนี้ ซึ่งขบคิดขึ้นมาโดยรัฐมนตรีคลัง เจเน็ต เยลเลน ของสหรัฐฯ จะต้องระส่ำระสายไปไหนไม่รอด ถ้าหากราคาน้ำมันยังคงสูงอยู่

น่าสนใจที่ว่า คำแถลงจากการประชุมของพวกผู้นำกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมสำคัญ (จี7) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งพูดจากันในเรื่องว่าด้วยยูเครนและรัสเซีย ไม่ได้มีการอ้างอิงเอ่ยถึงโครงการกำหนดเพดานราคาดังกล่าวนี้เลย ขณะที่ราคาน้ำมันซึ่งสูงลิ่วจะทำให้วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปยิ่งย่ำแย่มากขึ้นไปอีก ถึงแม้สหภาพยุโรปมีความเคลื่อนไหวในอันที่จะยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียทั้งหมดภายในวันที่ 5 ธันวาคมที่จะถึงนี้ก็ตามที
(ดูเพิ่มเติมเรื่องคำแถลงของกลุ่มจี7 ได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/10/11/g7-statement-on-ukraine-11-october-2022/)

เวลาเดียวกันนั้น คณะบริหารไบเดนก็มีความตระหนักสำนึกอย่างแรงว่า ฝ่ายยุโรป –ซึ่งรวมทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสด้วย – กำลังบ่นพึมแสดงความไม่พอใจของพวกเขาออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องที่ว่าฝ่ายอเมริกันหลอกลวงพวกเขา และกำลังขายก๊าซอเมริกันในราคาที่สูงลิ่วอย่างสนุกสนานในตลาดพลังงานยุโรป

เมื่อวุฒิสมาชิกทรงอิทธิพลอย่าง เมเนนเดซ แสดงท่าทีท้าตีท้าต่อยกับริยาดเช่นนี้ ก็ย่อมสามารถพิจารณาได้ว่า มันคือการส่งสัญญาณว่ากำลังมีการเตรียมการสำหรับลงมือตอบโต้แก้เผ็ดบางอย่างบางประการต่อซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ วุฒิสมาชิก ริชาร์ด บลูเมนธัล (Richard Blumenthal) ของพรรคเดโมแครต จากรัฐคอนเนตทิคัต และ ส.ส.โร คานนา (Ro Khanna) จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งสังกัดพรรคเดโมแครตเช่นกัน ได้เสนอร่างกฎหมายซึ่งมีเนื้อหาให้หยุดการขายอาวุธสหรัฐฯ ทั้งหมดแก่ซาอุดีอาระเบียในทันทีเป็นเวลา 1 ปี รวมทั้งระงับการขายอะไหล่และชิ้นส่วนสำหรับการซ่อมแซม ตลอดจนระงับการให้บริการสนับสนุน และการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏให้เห็นอาจจะเป็นเพียงลูกไม้แห่งความหลอกลวงก็ได้ ความกราดเกรี้ยวของการพูดจาแรงๆ อย่างแสดงโทสะนั้นมักเจือปนด้วยเสียงขู่คำรามที่ไม่ค่อยมีผลอะไรจริงจัง แล้วที่สำคัญก็คือในการให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นของเขา ไบเดนหยุดตัวเองเอาไว้ไม่ถึงกับแสดงการรับรองเห็นชอบกับข้อเรียกร้องของพวกสมาชิกรัฐสภาเดโมแครตที่จะให้ระงับการขายอาวุธ ไบเดนกล่าวเพียงแค่ว่าเขาจะหาทางปรึกษากับทางรัฐสภาถึงหนทางที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า

(ภาพจากแฟ้ม) โรเบิร์ต เมเนนเดซ วุฒิสมาชิกสังกัดพรรคเดโมแครตจากรัฐนิวเจอร์ซีย์ ขณะเข้าร่วมรับฟังการให้ปากคำนัดหนึ่งในรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2022 เมเนนเดซ ซึ่งเป็นประธานของคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภา กำลังเรียกร้องให้แช่แข็งความร่วมมือทุกๆ อย่างที่สหรัฐฯ มีอยู่กับซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งการขายอาวุธด้วย
จากการที่ เมเนนเดซ ให้คำมั่นจะใช้ตำแหน่งของเขาในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ มาสกัดขัดขวางการขายอาวุธใดๆ ต่อไปในอนาคตให้แก่ฝ่ายซาอุดี ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนทีเดียวว่า ในรัฐสภาอเมริกันกำลังมีความโกรธแค้นซาอุดีอาระเบีย เพิ่มทวีขึ้นเป็นอย่างมาก ทว่ามันจะถึงขั้นแปรไปเป็นการลงมือกระทำอะไรอย่างจริงจังได้หรือไม่?

คำถามข้อใหญ่ก็คือว่า การขู่คำรามด้วยโทสะเช่นนี้แฝงไว้ด้วยการเหลือบแลมองไปยังการเลือกตั้งกลางเทอมในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้มากมายขนาดไหน เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ก็ออกมาบอกกับพวกผู้สื่อข่าวในช่วงใกล้ๆ นี้เหมือนกันว่า ไบเดนกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะระงับการขายอาวุธ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนประเมินค่ากันใหม่ในขอบเขตกว้างขวาง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯ มีอยู่กับซาอุดีอาระเบีย ทว่ายังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวใดๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอนแล้ว

จริงๆ แล้ว ความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะสร้างสมดุลขึ้นมาใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดีอาระเบีย จะต้องก่อให้เกิดผลกระทบติดตามมาเป็นระลอกคลื่นอยู่แล้ว โดยเฉพาะในห้วงเวลานี้ที่เค้าโครงของการจับมือเป็นพันธมิตรกันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียกำลังเริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นกันมากขึ้น เวลาเดียวกับที่คำถามว่าด้วยอิหร่านยังคงไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลาย และราคาน้ำมันที่สูงลิ่วก็สร้างความหงุดหงิดให้แก่พวกผู้บริโภคชาวอเมริกันและทำให้วิกฤตในยุโรปยิ่งจมลึกลงไปอีก -- โดยที่แน่นอนอยู่แล้วว่ามันจะต้องเป็นแบบนี้เรื่อยๆ ไป ตราบใดที่ดอลลาร์น้ำมัน (ปิโตรดอลลาร์) ยังคงเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของระบบการธนาคารของโลกตะวันตก นอกจากนั้นแล้ว จากสิ่งต่างๆ ที่เห็นได้อยู่ในเวลานี้ อิทธิพลบารมีของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันตก กำลังเป็นแค่เงาจางๆ ของสิ่งที่พวกเขาเคยมีเคยเป็นมาในอดีต ดังนั้นการสร้างความแปลกแยกให้แก่ ซาอุดีอาระเบีย จึงย่อมเป็นการเพิ่มเรื่องโง่เขลาขึ้นมาอีกเท่านั้น

เหนือสิ่งอื่นใดเลย ฝ่ายทหารและฝ่ายอุตสาหกรรมที่จับมือมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหนียวแน่นซับซ้อน (military-industrial complex) ในสหรัฐฯ จะยินยอมให้สหรัฐฯ กับซาอุดีอาระเบียแตกหักกันหรือ? ซาอุดีอาระเบียนั้นคือห่านที่คอยออกไข่ทองคำให้แก่สหรัฐฯ อย่างเรื่องเล่าในนิทานโดยแท้ พวกเขาคือผู้ควักกระเป๋าจ่ายเงินอย่างมือเติบให้แก่อุตสาหกรรมอาวุธอเมริกัน พวกนักวิเคราะห์ด้านภูมิรัฐศาสตร์มักเรียกซาอุดีอาระเบียอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นตู้เอทีเอ็มของสหรัฐฯ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดพอๆ กันก็คือว่า พวกพรรคเดโมแครตจะไม่มีทางโน้มน้าวขอเสียงสนับสนุนจากฝ่ายพรรครีพับลิกันได้มากจนเพียงพอที่จะผ่านกฎหมายออกมาหรอก ในทันทีที่รัฐสภาสหรัฐฯ กลับมาเปิดสมัยประชุมกันใหม่ในเดือนหน้า

คำแถลงคราวนี้ของซาอุดีอาระเบีย สรุปตอนท้ายด้วยถ้อยคำที่เหมือนเป็นคำแนะนำสำหรับการดำเนินการทางทูตของฝ่ายอเมริกันในช่วงเวลาพิเศษแห่งการที่โลกแตกออกเป็นหลายขั้วเช่นนี้ โดยบอกว่า “การแก้ไขคลี่คลายความท้าทายต่างๆ ทางเศรษฐกิจนั้น เรียกร้องให้ต้องจัดการสนทนากันอันสร้างสรรค์และไม่กลายเป็นเรื่องทางการเมืองขึ้นมา และด้วยการพิจารณาอย่างเฉลียวฉลาดและอย่างมีเหตุมีผลถึงสิ่งที่จะรับใช้ ผลประโยชน์ของทุกๆ ประเทศ” (การเน้น ทำโดยผู้เขียน) ถ้อยแถลงนี้จบลงด้วยการทบทวนว่า “เสาหลักแข็งแกร่งต่างๆ ที่รองรับความสัมพันธ์ซาอุดี-สหรัฐฯ ให้ยืนอยู่อย่างมั่นคงในตลอดระยะเวลา 8 ทศวรรษที่ผ่านมา” นั้น นอกเหนือจากสิ่งอื่นๆ แล้ว ยังรวมไปถึงเรื่องการมีความเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน อีกด้วย

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/saudi-arabia-calls-out-us-bluster/
กำลังโหลดความคิดเห็น