xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เผาผี! สหรัฐฯ กับซาอุฯ ซัดกันนัวประเด็นโอเปกพลัสลดผลิตน้ำมัน มะกันกล่าวหาริยาดเลือกข้างรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย สาดน้ำลายเข้าใส่กันอย่างดุเดือดในวันพฤหัสบดี (13 ต.ค.) ต่อกรณีที่โอเปกพลัสมีมติปรับลดกำลังผลิตน้ำมันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยทางวอชิงตันกล่าวหาริยาด รู้ดีแก่ใจว่ามันจะเป็นการเพิ่มรายได้แก่รัสเซีย

กลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งนำโดยซาอุดีอาระเบียและมีรัสเซียเป็นสมาชิก สร้างความโกรธเคืองแก่วอชิงตันด้วยการปรับลดกำลังผลิตน้ำมันดิบอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ก่อแรงกดดันเพิ่มเติมแก่ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งทะยานอยู่ก่อนแล้ว

ซาอุดีอาระเบียเผยแพร่ถ้อยแถลงซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในวันพฤหัสบดี (13 ต.ค.) ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อคำกล่าวหากำลังเลือกข้าง ในขณะที่รัสเซียกำลังทำศึกสงครามในยูเครน อย่างไรก็ตาม จอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาวตอบโต้กลับอย่างรวดเร็ว โดยชี้ว่า ริยาด รู้ดีว่าอยู่แล้วว่า "มันจะเพิ่มรายได้ของรัสเซียและกัดเซาะประสิทธิผลของมาตรการคว่ำบาตร"

สหรัฐฯ ประกาศประเมินความสัมพันธ์ใหม่กับซาอุดีอาระเบีย นับตั้งแต่โอเปกพลัสมีมติลดกำลังผลิต ซึ่งถูกมองว่ามันเหมือนเป็นการตบหน้าทางการทูตประธานาธิบดีโจ ไบเดน

แม้เคยประกาศจะทำให้ซาอุดีอาระเบียเป็น "รัฐนอกคอก" ของนานาชาติ ตามหลังเหตุฆาตกรรมจามาล คาช็อกกี สื่อมวลชนคนดังในสถานกุงสุลซาอุดีอาระเบียประจำอิสตันบูล แต่ ไบเดน ตัดสินใจเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และเข้าเฝ้าฯ มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน

เคอร์บี กล่าวว่า การตัดสินใจปรับลดอุปทานของโอเปก เป็น "การสนับสนุนด้านขวัญกำลังใจและทางทหาร เพราะว่ามันเปิดทางให้ปูติน มีเงินทุนสนับสนุนกลไกในการทำศึกสงครามของเขา แน่นอนว่ามันสร้างความสะดวกสบายแก่ปูติน"

โฆษกทำเนียบขาวรายนี้กล่าวต่ออีกว่า "ประเทศอื่นๆ ในโอเปกพลัส รู้สึกถูกบีบบังคับใช้สนับสนุนการชี้นำของริยาด" พร้อมกล่าวหาซาอุดีอาระเบียบิดแขนคนอื่นเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ

ความเคลื่อนไหวปรับลดกำลังผลิตน้ำมันของโอเปกพลัส เกิดขึ้นในช่วงเวลาอ่อนไหวสำหรับไบเดน เนื่องจากพรรคเดโมแคตกำลังเผชิญศึกเลือกตั้งกลางเทอมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูง โดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งเป็นความกังวลหลักของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ซาอุดีอาระเบียระบุในถ้อยแถลง ยืนยันว่าการตัดสินใจของโอเปกพลัสเป็นการพิจารณาบนพื้นฐานทางเศรษฐกิจล้วนๆ แถมพูดเป็นนัยด้วยว่า รัฐบาลของไบเดนขอให้ทางกลุ่มเลื่อนการลดกำลังผลิตใดๆ ออกไป จนกว่าจะผ่านพ้นศึกเลือกตั้งกลางเทอมในวันที่ 8 พฤศจิกายนแล้ว

ไบเดน สัญญาว่าซาอุดีอาระเบียจะต้องเจอกับ "ผลสนอง" แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม

รัสเซียอาศัยราคาน้ำมันที่พุ่งสูงเป็นเงินทุนสำหรับรุกรานยูเครน และสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ บางส่วนเรียกร้องวอชิงตันให้ระงับทุกความร่วมมือกับริยาด

เคอร์บีกล่าวในวันพฤหัสบดี (13 ต.ค.) ว่ากระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียอาจสามารถเบี่ยงประเด็น แต่ข้อเท็จจริงง่ายๆ ก็คือ โลกกำลังหนุนหลังยูเครนในการสู้รบต้านทานการรุกรานของรัสเซีย

ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบียแน่นแฟ้นขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดทางให้ริยาดได้รับการคุ้มกันทางทหารแลกกับการที่อเมริกาเข้าถึงน้ำมันของพวกเขา

หลังจากเผชิญวิกฤตต่างๆ นับตั้งแต่นั้น ในนั้นรวมถึงคดีสังหารโหดคาช็อกกี ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งโดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแม้ดำรงตำแหน่งแค่สมัยเดียว แต่พบเห็นริยาดนำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯ มากมายมหาศาล คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกอาวุธของสหรัฐฯ ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติในสตอกโฮล์ม

ในการเดินหน้าสานสัมพันธ์ใหม่ สหรัฐฯ แถลงในเดือนสิงหาคม ว่า ซาอุดีอาระเบียจะซื้อระบบขีปนาวุธแพทริออต MIM-104E จำนวน 300 ระบบ ซึ่งสามารถสอยขีปนาวุธพิสัยไกลและขีปนาวุธร่อนที่พุ่งเข้ามาหา เช่นเดียวกับอากาศยานโจมตี

ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งให้การสนับสนุนรัฐบาลเยเมน ต้องเผชิญภัยคุกคามจากจรวดที่ยิงออกมาโดยพวกกบฏฮูตีของเยเมนบ่อยครั้ง ในขณะที่อิหร่านเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยีมอบให้พวกกบฏกลุ่มนี้

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น