สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ 3 ราย นำเสนอร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งจะถอนทหารและระบบป้องกันขีปนาวุธออกจากซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการตอบโต้การตัดสินใจลดกำลังผลิตของทั้ง 2 ประเทศ
กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือที่เรียกว่าโอเปกพลัส เห็นพ้องเมื่อวันพุธ (5 ต.ค.) ในการปรับลดกำลังผลิตลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเทียบเท่ากับราวๆ 2% ของอุปทานโลก
การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่บรรดาชาติตะวันตกทั้งหลายกำลังพยายามสกัดการค้าน้ำมันของรัสเซีย ส่วนหนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรลงโทษต่อความขัดแย้งในยูเครน แต่ขณะเดียวกัน พวกเขากลับต้องเผชิญราคาพลังงานที่พุ่งทะยานในประเทศของตนเอง
"การลดกำลังผลิตลงอย่างมากของซาอุดีอาระเบียและยูเออี แม้ประธานาธิบดีไบเดน ทาบทามไปยัง 2 ประเทศในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คือพฤติกรรมที่เป็นปรปักษ์กับสหรัฐฯ และเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพวกเขาเลือกข้างรัสเซียในสงครามของรัสเซียกับยูเครน" ฌอน คาสเทน ทอม มาลินอฟสกี และซูซาน ไวลด์ ระบุในถ้อยแถลงร่วมที่เผยแพร่เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว
สมาชิกพรรคเดโมแครตทั้ง 3 คน อ้างว่าการเพิ่มราคาน้ำมันของโอเปกพลัส "ดูเหมือนออกแบบมาเพื่อเพิ่มรายได้จากการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย" พร้อมระบุประเทศในอ่าวเปอร์เซียทั้ง 2 ชาติ จำเป็นต้องแสดงออกถึงความตั้งใจอย่างยิ่งยวดในการทำงานร่วมกับสหรัฐฯ ในเรื่องเกี่ยวกับการเอาชนะการรุกรานของรัสเซียในยูเครน หากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องการธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีกับวอชิงตัน
เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว และไบรอัน ดีส ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐฯ ร่วมกันออกคำแถลงระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน รู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบของกลุ่มโอเปกพลัสคราวนี้
อย่างไรก็ตาม เจ้าชายอับดุลลาซิส บิน ซัลมาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแห่งซาอุดีอาระเบีย ปฏิเสธคำกล่าวหาที่ว่า กำลังใช้ราคาน้ำมันเป็นอาวุธท่ามกลางวิกฤตทางพลังงาน
สมาชิกสภาคองเกสสหรัฐฯ ทั้ง 3 คน เน้นย้ำว่ามีทหารอเมริการาว 3,000 นายประจำการอยู่ในซาอุดีอาระเบีย และอีก 2,000 นายอยู่ในยูเออี เช่นเดียวกับฝูงบินรบเอฟ-35 และระบบอาวุธอื่นๆ ที่ปฏิบัติการโดยบุคลากรของอเมริกา
ข้อเสนอลงโทษมีขึ้นแม้ว่า ริยาด และอาบูดาบี เป็นหนึ่งในบรรดาพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญของวอชิงตันในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะธุรกิจค้าอาวุธ
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เห็นชอบความเป็นไปได้ที่จะขายระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD (Terminal High Altitude Area Defense System) ให้ยูเออี และระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ MIM-104 Patriot แก่ซาอุดีอาระเบีย ในเดือนสิงหาคม
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)