xs
xsm
sm
md
lg

ไบเดนประกาศจุดยืนของสหรัฐฯ ในเรื่องไต้หวัน ซึ่งแข็งกร้าวมากขึ้น และสนับสนุนไทเปอย่างเปิดเผยยิ่งขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เมเรดิธ โอเยน ***


การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงความเห็นมาแล้วหลายครั้งว่าสหรัฐฯ จะพิทักษ์ป้องกันไต้หวันในทางการทหารถ้าหากถูกจีนรุกราน ทำให้มันยากที่จะบอกว่าเป็นแค่การ “หลุด” โดยไม่ได้ตั้งใจ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US stance on Taiwan hardening amid China’s threats
By MEREDITH OYEN
20/09/2022

ประธานาธิบดีไบเดน พูดอีกครั้งหนึ่งว่า สหรัฐฯ จะพิทักษ์ปกป้องไต้หวัน “ในทางทหาร” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า สหรัฐฯ ในยุคของเขากำลังออกห่างออกมาเล็กๆ จากนโยบาย “ความกำกวมทางยุทธศาสตร์” ที่ใช้กันมาหลายสิบปี

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวแสดงท่าที –ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่เป็นครั้งแรก [1]— ว่า สหรัฐฯ จะเข้าแทรกแซงด้วย “การทหาร” [2] ถ้าหากจีนพยายามที่จะรุกรานไต้หวัน

ในการให้สัมภาษณ์รายการ “60 มินิตส์” ของเครือข่ายโทรทัศน์ซีบีเอส ซึ่งนำมาแพร่ภาพออกอากาศเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2022 ที่ผ่านมา [3] ไบเดนประกาศให้สัญญาที่จะพิทักษ์ปกป้องเกาะแห่งนั้นเมื่อต้องเผชิญกับการโจมตีใดๆ ก็ตาม แล้วเมื่อถูกจี้ถามต่อไปว่านี่หมายถึงว่าสหรัฐฯ จะ “เข้าเกี่ยวข้องในทางการทหาร” ใช่หรือไม่ ประธานาธิบดีของอเมริกาก็ตอบว่า “ใช่”

การแสดงความเห็นเช่นนี้ดูเหมือนกับเป็นการเบี่ยงเบน [4] ไปจากแนวทางอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ ในเรื่องไต้หวัน ซึ่งถูกกำหนดเอาไว้มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ทว่าพวกเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวกล่าวว่า การตั้งข้อสังเกตของประธานาธิบดีคราวนี้ไม่ได้เป็นเครื่องแสดงว่ามีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในนโยบายไต้หวันหรอก [5]

เมเรดิธ โอเยน (Meredith Oyen) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ผู้หนึ่ง ณ มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ เทศมณฑลบัลลิมอร์ (University of Maryland, Baltimore County) [6] ช่วยอธิบายเกี่ยวกับภูมิหลังความเป็นมาในคำพูดแสดงความคิดเห็นคราวนี้ของไบเดน รวมทั้งคลายปมยุ่งๆ เพื่อให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่าเราควรจะตีความคำกล่าวของเขากันอย่างไร

ไบเดนพูดว่าอะไร และทำไมคำพูดเช่นนี้จึงถือว่ามีความสำคัญ?

ในการสนทนากับผู้สัมภาษณ์ในรายการ “60 มินิตส์” คราวนี้ ไบเดนถูกถามตรงๆ [7] ว่า สหรัฐฯ จะ “เข้าไปช่วยพิทักษ์ปกป้องไต้หวัน” หรือไม่ ถ้าหากไต้หวันถูกจีนโจมตี ซึ่งเขาตอบว่า “ครับ เรามีความผูกพันที่จะต้องทำเช่นนั้น” เขายังยืนยันด้วยว่าการแทรกแซงของสหรัฐฯ นั้นจะเป็นไปในทางการทหาร

จากที่ดิฉันเองนับเอาไว้ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้วซึ่ง ไบเดน ในฐานะประธานาธิบดี ได้ชี้แนะออกมาว่าสหรัฐฯ จะเข้าไปช่วยเหลือไต้หวันในทางทหาร ถ้าเกาะแห่งนั้นถูกโจมตี ทั้งนี้ เมื่อปี 2021 เขาได้เคยแสดงความคิดเห็นทำนองเดียวกันนี้เอาไว้ในการให้สัมภาษณ์แก่ฝ่ายข่าวของเครือข่ายโทรทัศน์เอบีซี (ABC News) [8] แล้วก็พูดอีกครั้งหนึ่งระหว่างเข้าร่วมรายการที่ใช้รูปแบบการประชุมถามตอบชี้แจงข้อข้องใจของประชาชน (town hall event) ทางโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น [9] และก่อนหน้านี้ในปีนี้ เขาพูดอะไรคล้ายๆ กันอีกขณะอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่เขามีการกล่าวยืนยันแบบนี้ขณะอยู่ในเอเชีย

ในแต่ละครั้งแต่ละโอกาสที่เขาแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ ก็จะต้องตามมาอย่างค่อนข้างรวดเร็วทีเดียวด้วยการที่ทางทำนียบขาวออกมาลดทอนน้ำหนักของความคิดเห็นดังกล่าว โดยออกคำแถลงในลักษณะที่บอกว่า “สิ่งที่ท่านประธานาธิบดีต้องการหมายถึงจริงๆ นั้น คือ ...” และเน้นย้ำว่านี่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปจากนโยบายอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ ว่าด้วยจีนหรือว่าด้วยไต้หวัน

แต่ดิฉันคิดว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาแต่ละครั้ง มันก็จะเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะพูดพลิกพลิ้วหลบหลีกว่าการแสดงความเห็นของ ไบเดน นั้นเป็นเรื่องอุบัติเหตุที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือชี้ให้เห็นไปว่าเขาเพียงแค่พูดผิดพลาดหรือพูดไม่กระจ่าง ดิฉันเห็นว่าเมื่อมาถึงตอนนี้มันก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ไบเดนตีความกฎหมายรัฐบัญญัติตวามสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) [10] –ซึ่งนับตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมาคือสิ่งที่กำหนดกรอบโครงขอบเขตของนโยบายสหรัฐฯ ว่าด้วยเกาะแห่งนั้น— ว่า กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้สหรัฐฯ ดำเนินการตอบโต้ในทางทหาร ถ้าหากจีนเข้ารุกรานไต้หวัน

และถึงแม้ว่าทางทำเนียบกล่าวอ้างเอาไว้ในทางตรงกันข้าม ดิฉันยังคงเชื่อว่านี่เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงการผละออกจากนโยบายที่สหรัฐฯ ใช้มายาวนานในเรื่องที่ว่าจะทำให้เกิด “ความคลุมเครือในทางยุทธศาสตร์” ต่อเรื่องไต้หวัน

“ความคลุมเครือในทางยุทธศาสตร์” ที่ว่านี้ หมายถึงอะไร?

ความคลุมเครือในทางยุทธศาสตร์ [11] เป็นนโยบายสหรัฐฯ ที่ใช้กับไต้หวันมายาวนานแล้ว –จริงๆ เลยก็คือตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 แต่ที่แน่นอนชัดเจนก็คือตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา ขณะที่นโยบายนี้ไม่ได้ผูกพันสหรัฐฯ อย่างชัดเจนให้ต้องเข้าพิทักษ์ปกป้องไต้หวันในทุกๆ สถานการณ์ แต่มันก็เปิดทางเลือกเอาไว้ให้สหรัฐฯ สนับสนุนเรื่องการป้องกันแก่ไต้หวัน ในกรณีที่จีนเปิดการโจมตีอย่างชนิดไม่ได้มีการยั่วยุ

จุดที่สำคัญที่สุดคือ สหรัฐฯ ไม่ได้พูดออกมาจริงๆ ว่าตนเองจะทำอะไรในการสนับสนุนเรื่องการป้องกันไต้หวัน –ดังนั้นการสนับสนุนนี้อาจหมายถึงความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การจัดส่งอาวุธให้ หรือการส่งทหารสหรัฐฯ เข้าไป? จีน และไต้หวันถูกปล่อยเอาไว้ให้คิดเดาเอาเองว่า สหรัฐฯ จะเข้าเกี่ยวข้องในการสู้รบขัดแย้งใดๆ ระหว่างจีนกับไต้หวันหรือไม่ และในขนาดขอบเขตแค่ไหน

ด้วยการปล่อยให้คำตอบต่อคำถามนี้อยู่ในลักษณะกำกวมคลุมเครือ สหรัฐฯ ก็สามารถที่จะข่มขู่จีนได้ นั่นคือ ลองรุกรานไต้หวันสิ แล้วก็ค้นพบเองว่าจะเจอกับสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่

เท่าที่เป็นมาในอดีต เรื่องนี้ถือเป็นนโยบายที่ได้ประโยน์สำหรับสหรัฐฯ แต่สิ่งต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วนับตั้งแต่ที่มันคลอดออกมาทีแรก มันมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอนเมื่อตอนที่สหรัฐฯ อยู่ในฐานะที่การทหารมีความแข็งแกร่งกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับจีน ทว่ามันอาจจะมีประสิทธิภาพในการเป็นภัยคุกคามจีนลดลงไปแล้วในเวลานี้ เมื่อการทหารของจีนกำลังไล่ตามทันสหรัฐฯ [12]

ผู้ส่งเสียงนำหน้าก่อนใครๆ ในหมู่ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชีย อย่างเช่น ญี่ปุ่น [13] เชื่อว่า มาถึงตอนนี้ “ความชัดเจนทางยุทธศาสตร์” อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าแล้ว –โดยที่สหรัฐฯ บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าจะพิทักษ์ปกป้องไต้หวันถ้าหากเกาะแห่งนั้นถูกโจมตี

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวันมีประวัติความเป็นมาอย่างไร?

หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะในปี 1949 [14] แล้ว รัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่ประสบความพ่ายแพ้ได้ถอยมาอยู่ที่เกาะไต้หวัน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากนอกชายฝั่งของมณฑลฝู่เจี้ยน เพียงแค่ราวๆ 100 ไมล์ (ประมาณ 160 กิโลเมตร) และจวบจนกระทั่งถึงช่วงทศวรรษ 1970 สหรัฐฯ ก็ให้การรับรองว่ามีแต่สาธารณรัฐจีนซึ่งลี้ภัยอยู่บนเกาะไต้หวันนี้เท่านั้นที่เป็นรัฐบาลของประเทศจีน

แต่แล้วในปี 1971 สหประชาชาติได้เปลี่ยนมาให้การรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ [15] ในปี 1972 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยือนจีน ซึ่งเป็นทริปเดินทางซึ่งมีชื่อเสียงรู้จักกันอย่างกว้างขวางไปแล้วในเวลานี้ [16] นิกสันประกาศฟื้นสัมพันธไมตรี และลงนามในแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Communique) ซึ่งเป็นแถลงการณ์ร่วมของจีนคอมมิวนิสต์และสหรัฐฯ ที่เป็นการส่งสัญญาณว่ามีความมุ่งมั่นผูกพันที่จะเดินหน้าไปสู่การมีความสัมพันธ์ทางการทูตกันอย่างเป็นทางการ

ส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของเอกสารดังกล่าวระบุเอาไว้ดังนี้ “สหรัฐฯ รับทราบว่าชาวจีนทั้งหมดทั้งสิ้นในแต่ละฟากฝั่งของช่องแคบไต้หวันต่างก็ถือว่ามีจีนเพียงจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ท้าทายจุดยืนดังกล่าว” [17]

การใช้ถ้อยคำเช่นนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังเข้าไปมีพันธะผูกพันอย่างเป็นทางการกับจุดยืนในเรื่องที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของชาติจีนหรือไม่ ตรงกันข้าม สหรัฐฯ รับทราบถึงสิ่งที่รัฐบาลของแต่ละฝ่ายในดินแดนทั้งสองยืนยันกันอยู่ –นั่นก็คือมีจีนเพียง “จีนเดียว”

พันธะผูกพันของสหรัฐฯ ที่จะให้ความสนับสนุนทางการทหารแก่ไต้หวันนั้นมาจากไหน

ภายหลังสถานปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีนในปี 1979 แล้ว สหรัฐฯ ก็ได้สร้างความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน ทั้งนี้พวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านรัฐบัญญัติความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) [18] ออกมาในปี 1979 ส่วนหนึ่งก็เป็นการออกแรงผลักดันกลับเพื่อต่อต้านการตัดสินใจของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ที่ให้การรับรองจีนคอมมิวนิสต์

รัฐบัญญัติฉบับนี้วางกรอบของแผนการในการธำรงรักษาความผูกพันใกล้ชิดระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวันเอาไว้ต่อไป และบรรจุเอาไว้ด้วยมาตราต่างๆ เพื่อให้สหรัฐฯ ขายอุปกรณ์ด้านการทหารเพื่อช่วยเหลือเกาะแห่งนั้นธำรงรักษาการป้องกันของพวกเขาเอาไว้ –เป็นการแผ้วถางทางให้แก่นโยบายว่าด้วยความกำกวมทางยุทธศาสตร์

แล้วมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในช่วงหลังๆ มานี้?

จีนประกาศมานานแล้วว่ามีความปรารถนาที่จะนำเอาเกาะแห่งนั้นซึ่งจีนถือว่าเป็นมณฑลอันธพาลเกเร กลับเข้ามารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประเทศของตนอย่างสันติในท้ายที่สุด [19] แต่ความมุ่งมั่นผูกพันกับหลักการ “จีนเดียว” นี้อยู่ในลักษณะที่เป็นการยึดมั่นอยู่ข้างเดียวมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้ปักกิ่งถือเป็นเรื่องสำคัญขั้นสูงสุด อย่างไรก็ดี ในไต้หวันนั้น แรงต่อต้านแนวความคิดเรื่องการรวมชาติเป็นอันหนึ่งเป็นอันเดียว กลับมีการขยายตัวออกไป [20] ท่ามกลางแรงสนับสนุนที่พุ่งพรวดขึ้นมาในเรื่องการนำเกาะแห่งนี้ไปสู่การประกาศเอกราช [21]

ปักกิ่งในระยะหลังๆ มานี้แสดงความก้าวร้าวมากขึ้นในการยืนกรานว่าไต้หวันต้อง “กลับคืนมารวมกับจีน” ทั้งนี้ การเมืองภายในประเทศมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ในเวลาที่เกิดความไร้เสถียรภาพภายในขึ้นมาในจีน ปักกิ่งก็มีน้ำเสียงแสดงความเป็นปฏิปักษ์มากขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสององคาพยพที่แยกห่างจากกันโดยช่องแคบไต้หวัน เรามองเห็นสภาพเช่นนี้ได้ในตลอดช่วงปีที่ผ่านมา จากการที่ปักกิ่งส่งเครื่องบินทหารเข้าไปยังเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน [22]

เวลาเดียวกัน การที่จีนแสดงท่าทียืนกรานอำนาจของตนเหนือฮ่องกงเพิ่มมากขึ้น [22] ก็ได้สร้างความเสียหายให้แก่เหตุผลสนับสนุนให้นำเอา “หนึ่งประเทศ สองระบบ” มาใช้เป็นหนทางสำหรับการรวมชาติอย่างสันติกับไต้หวัน

จุดยืนของสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเผชิญกับจุดยืนเช่นนี้ของปักกิ่ง?

ไบเดน นั้นแน่นอนทีเดียวว่า แสดงการสนับสนุนไต้หวันอย่างเปิดเผยมากขึ้นกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนๆ เขาเชื้อเชิญอย่างเป็นทางการให้ผู้แทนคนหนึ่งจากไต้หวันมาร่วมในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของเขา [23] ถือเป็นผู้ที่กำลังจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่กระทำเช่นนี้ และจากนั้นไบเดน ยังทำให้เป็นที่ชัดเจนครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เขาถือไต้หวันเป็นพันธมิตรรายหนึ่ง

เขายังไม่ได้ใช้อำนาจล้มคว่ำ รัฐบัญญัติการเดินทางไปไต้หวัน (Taiwan Travel Act) [24] ที่ผ่านออกมาในคณะบริหารชุดก่อนของโดนัลด์ ทรัมป์ กฎหมายฉบับนี้เปิดทางให้พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เดินทางไปเยือนไต้หวันได้ในลักษณะเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการ

ในเดือนสิงหาคม 2022 ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี เดินทางไปเยือนไต้หวัน ทำให้เธอกลายเป็นนักการเมืองสหรัฐฯ ผู้มีตำแหน่งสูงที่สุดซึ่งไปเยือนเกาะแห่งนั้นในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ไบเดนได้กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์รายการ “60 มินิตส์” คราวนี้ โดยเสนอความเชื่อของเขาที่ว่ามันขึ้นอยู่กับไต้หวันที่จะตัดสินอนาคตของตนเอง นี่เป็นการออกห่างออกมาเล็กน้อยจากแนวปฏิบัติตามปกติที่ว่าสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อสถานะเดิม รวมทั้งนี่ยังเป็นครั้งที่ 2 ที่ ไบเดน [25] แสดงท่าทีเช่นนี้อีกด้วย อย่างไรก็ดี ไบเดนได้กล่าวเอาไว้ด้วยว่า เขาไม่ได้สนับสนุนไต้หวันให้ประกาศเอกราชตามลำพังฝ่ายเดียว

ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนแปลงไปในระดับหนึ่ง แต่ทำเนียบขาวก็พยายามที่จะไม่ให้มีการเน้นย้ำเรื่องการเปลี่ยนแปลงใดๆ จนเกินไป ทั้งนี้โดยแท้จริงแล้ว สหรัฐฯ ไม่ได้มีความปรารถนาที่จะหันเหออกห่างจากแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้

เมื่อเป็นเช่นนี้ การรุกรานไต้หวันน่าจะเกิดขึ้นหรือไม่?

คำพูดคำจาที่ออกมาจากสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ตลอดจนการตอบโต้จากจีน กำลังเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการสู้รบขัดแย้งกันสูงมากขึ้นจริงๆ แต่ดิฉันไม่คิดว่าเรากำลังอยู่ที่ตรงจุดนั้นแล้วในเวลานี้ การรุกรานข้ามช่องแคบไต้หวันใดๆ น่าจะต้องเป็นเรื่องยุ่งยากซ้ำซ้อนมากในทางการทหาร

นอกจากนั้น มันยังจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะเจอกับปฏิกิริยาเชิงลบจากประชาคมระหว่างประเทศ ไต้หวันจะได้รับความสนับสนุนไม่เพียงเฉพาะจากสหรัฐฯ เท่านั้น –เป็นความสนับสนุนในขนาดขอบเขตที่ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากการแสดงความเห็นของไบเดน –แต่ยังจะมาจากญี่ปุ่น และน่าจะมาจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนั้นอีกด้วย

เวลาเดียวกัน จีนยังคงระบุว่าต้องการเห็นการกลับมาบูรณาการกันอีกครั้งโดยผ่านหนทางที่สันติ ดังนั้นตราบใดที่ไต้หวันไม่ได้บังคับผลักดันปัญหานี้ และประกาศเอกราชตามลำพังฝ่ายเดียวแล้ว ดิฉันก็คิดว่าปักกิ่งมีความอดทนอดกลั้นที่จะเฝ้ารอคอยต่อไป และถึงแม้มีบางฝ่ายบางรายออกมาแสดงความคิดเห็นไปในทางตรงกันข้าม [26] แต่ดิฉันไม่คิดว่า การรุกรานยูเครนได้เพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีความเคลื่อนไหวทำนองเดียวกันต่อไต้หวัน

ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อพิจารณาจากการที่รัสเซียในเวลานี้อยู่ในสภาพติดแหง็กอยู่ในการสู้รบขัดแย้งที่ดำเนินมาหลายเดือนแล้ว ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่เครดิตความน่าเชื่อถือทางการทหารและเศรษฐกิจของรัสเซีย ด้วยเหตุนี้ แท้ที่จริงแล้วการรุกรานยูเครนอาจจะทำหน้าที่เป็นการเตือนปักกิ่งเสียด้วยซ้ำ

เมเรดิธ โอเยน เป็นรองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และเอเชียศึกษา ของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์, เทศมณฑลบัลลิตอร์

(ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/biden-again-indicates-that-us-will-defend-taiwan-militarily-does-this-constitute-a-change-in-policy-190946)

เชิงอรรถ
[1] https://www.cnn.com/2022/05/23/politics/biden-taiwan-china-japan-intl-hnk/index.html
[2] https://www.washingtonpost.com/politics/2022/09/19/biden-taiwan-china-defense/
[3] https://www.cbsnews.com/news/president-joe-biden-60-minutes-interview-transcript-2022-09-18/
[4] https://focustaiwan.tw/politics/202209190005
[5] https://www.npr.org/2022/09/19/1123759127/biden-again-says-u-s-would-help-taiwan-if-china-attacks
[6] https://history.umbc.edu/facultystaff/full-time/meredith-oyen/
[7] https://www.washingtonpost.com/politics/2022/09/19/biden-taiwan-china-defense/
[8] https://www.cnbc.com/2021/08/20/us-position-on-taiwan-unchanged-despite-biden-comment-official-says.html
[9] https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2021/10/22/remarks-by-president-biden-in-a-cnn-town-hall-with-anderson-cooper-2/
[10] https://www.congress.gov/bill/96th-congress/house-bill/2479
[11] https://rusi.org/explore-our-research/publications/commentary/why-strategic-ambiguity-trumps-strategic-clarity-taiwan/
[12] https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-03-22/china-is-catching-up-to-the-u-s-when-it-comes-to-military-power
[13] https://asia.nikkei.com/Politics/U.S.-should-abandon-ambiguity-on-Taiwan-defense-Japan-s-Abe
[14] https://history.state.gov/milestones/1945-1952/chinese-rev
[15] https://web-archive-2017.ait.org.tw/en/un-res-2758-voted-to-admit-communist-china.html
[16] https://www.wilsoncenter.org/blog-post/nixons-1972-visit-china-50
[17] https://digitalarchive.wilsoncenter.org/document/121325
[18] https://www.congress.gov/bill/96th-congress/house-bill/2479#:%7E:text=Taiwan%20Relations%20Act%20%2D%20Declares%20it,other%20people%20of%20the%20Western
[19] https://www.usatoday.com/story/news/world/2021/10/09/chinas-xi-jinping-calls-peaceful-reunification-taiwan/6072388001/
[20] https://www.brookings.edu/blog/order-from-chaos/2022/02/07/why-is-unification-so-unpopular-in-taiwan-its-the-prc-political-system-not-just-culture/
[21] https://esc.nccu.edu.tw/upload/44/doc/6963/Tondu202112.jpg
[22] https://www.cbsnews.com/news/china-taiwan-warplanes-fly-incursions-air-defense-zone/
[23] https://www.uscc.gov/sites/default/files/2021-11/Chapter_5--Hong_Kongs_Government_Embraces_Authoritarianism.pdf
[24] https://www.cbsnews.com/news/china-taiwan-warplanes-fly-incursions-air-defense-zone/
[25] https://www.cnn.com/2021/11/16/politics/biden-china-taiwan/index.html

กำลังโหลดความคิดเห็น