xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภาสหรัฐฯ ผลักดันร่างกฎหมายอันตรายฉบับใหม่ ประกาศ ‘ช่วย’ ไต้หวัน-มุ่งหน้าท้าตีท้าต่อยกับจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจมส์ คาร์เดน ***


ลินด์ซีย์ เกรแฮม ส.ว.สหรัฐฯ สายขวาจัดของพรรครีพับลิกัน และไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีของไต้หวัน ขณะพบหารือกันที่ทำเนียบของไช่ ในนครไทเป
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US Senate picks up where Pelosi left off on Taiwan
By JAMES CARDEN
16/09/2022

ร่างกฎหมายนโยบายไต้หวันปี 2022 ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา สมควรถือว่าคือการยั่วยุครั้งล่าสุด ซึ่งถ้าหากมันออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้กันจริงๆ แล้ว จะนำพาให้สหรัฐฯ และจีนขยับใกล้เข้าไปอีกก้าวหนึ่ง สู่การสู้รบขัดแย้งกันที่จะก่อให้เกิดความวิบัติหายนะ

วอชิงตัน เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ (US Senate Foreign Relations Committee หรือ SFRC) ลงมติรับรองร่างรัฐบัญญัตินโยบายไต้หวันปี 2022 (Taiwan Policy Act of 2022) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ร่วมกันเสนอโดยประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้ ส.ว.โรเบิร์ต เมเนนเดซ (Robert Menendez) (สังกัดพรรคเดโมแครต จากรฐนิวเจอร์ซีย์) และ ส.ว.ลินด์ซีย์ เกรแฮม (Lindsey Graham) (พรรครีพับลิกัน-รัฐเซาท์แคโรไลนา)
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ที่ https://www.congress.gov/bill/117th-congress/senate-bill/4428?q=%7B%22search%22%3A%5B%22Taiwan+Policy+Act+of+2022%22%2C%22Taiwan%22%2C%22Policy%22%2C%22Act%22%2C%22of%22%2C%222022%22%5D%7D&s=1&r=1)

ถ้าหากวุฒิสภาทั้งสภา ตลอดจนสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก็รับรองเห็นชอบ และประธานาธิบดีโจ เบเดน ลงนามประกาศใช้เป็นกฎหมาย รัฐบัญญัติฉบับนี้จะกลายเป็นสัญลักษณ์ที่เด่นชัดอีกประการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญจากนโยบายจีนเดียว “One China policy” ซึ่งถือเป็นนโยบายและเครื่องรับประกันความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯ มีอยู่กับจีนในตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา

ร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้ระบุว่า “ความมั่นคงของไต้หวันและความสามารถสำหรับการที่ประชาชนของไต้หวันจะตัดสินวินิจฉัยอนาคตของพวกเขา คือสิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญของผลประโยชน์และค่านิยมของสหรัฐฯ”

นอกเหนือจากกำหนดให้จัดหางบประมาณ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ไต้หวันเพื่อเป็นความช่วยเหลือด้านความมั่นคง ภายในกรอบเวลา 4 ปีข้างหน้าแล้ว ร่างรัฐบัญญัติฉบับนี้ยังระบุให้ “จัดทำโครงการฝึกอบรมอย่างรอบด้านแก่รัฐบาลไต้หวัน” อีกด้วย

ตามเนื้อหาของร่างกฎหมายนี้ โครงการดังกล่าวเหล่านี้มุ่งจะหาทางทำให้ความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายทหารสหรัฐฯ กับฝ่ายทหารไต้หวันเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยที่การฝึกทหารร่วมกันดังกล่าว จะครอบคลุมทั้งการฝึกบนโต๊ะ เกมสงคราม และสิ่งที่ร่างรัฐบัญญัติฉบับนี้เรียกว่า การซ้อมรบซึ่ง “แข็งแกร่ง สอดคล้องกับการปฏิบัติการจริง หรือเต็มขนาดของการปฏิบัติการ” ก็มีการเสนอเอาไว้ในกฎหมายนี้ด้วย

ยังมีมากกว่านี้อีกด้วยซ้ำ ร่างกฎหมายของ เมเนนเดซ-เกรแฮม นี้ ยังเสนอให้ฐานะไต้หวันเป็น “พันธมิตรรายสำคัญนอกนาโต้” (major non-NATO ally) รายหนึ่ง การได้รับฐานะเช่นนี้จากรัฐบาลสหรัฐฯ จะทำให้ได้รับประโยชน์ต่างๆ อย่างหลากหลายทั้งด้านการทหารและทางการเงิน

ในการแถลงแสดงความยินดีให้แก่ตัวเองหลังจากการลงมติของคณะกรรมาธิการ เมเนนเดซได้กล่าวยกย่องร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยบอกว่า เขา “รู้สึกภาคภูมิใจอย่างที่สุดในการนำพาให้คณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภา พูดแถลงออกมาในนามของรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อที่ปักกิ่งจะได้เกิดความเข้าอกเข้าใจว่า พวกเขาประสบความล้มเหลวในความพยายามที่จะบงการว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างและจะต้องทำกันอย่างไร อย่างเดียวกับที่พวกเขาจะประสบความล้มเหลวในความพยายามที่จะกีดขวางไม่ให้สหรัฐฯ ยืนหยัดอยู่กับประชาชนของไต้หวัน”

ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งฝ่ายเดโมแครตและฝ่ายรีพับลิกันในคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ รวมไปถึงได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายก้าวหน้าอย่าง ส.ว. เจฟฟ์ เมอร์คลีย์ (Jeff Merkley) (เดโมแครต-รัฐวอชิงตัน) ผู้ซึ่งสื่อรายงานอ้างคำพูดของเขาภายหลังการลงคะแนน โดยที่เขาบอกว่า “ถ้าหากเราไม่เพิ่มพูนความสนับสนุนให้แก่ไต้หวันแล้ว มันจะมีการรุกทางการทหารขึ้นมา” ที่มุ่งเล่นงานเกาะปกครองตนเองแห่งนี้ ซึ่งปักกิ่งถือว่าเป็นมณฑลกบฏที่จะต้องถูกนำ “กลับเข้ามรวมชาติ” กับแผ่นดินใหญ่
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.politico.com/news/2022/09/14/taiwan-bill-clears-senate-panel-00056769)

อย่างไรก็ดี นักวิพากษ์วิจารณ์บางคนเชื่อว่า ร่างกฎหมายของ เมเนเดซ-เกรแฮม ฉบับนี้ ก็เหมือนๆ กับทริปการเดินทางไปเยือนไต้หวันแบบมุ่งทำตัวเป็นสายล่อฟ้าของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นั่นคือ มีแต่จะทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคนั้นยิ่งเขม็งเกลียวมากยิ่งขึ้นเท่านั้น นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญบางรายยังมองกระทั่งว่า เวลานี้กำลังเกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างมากมายขึ้นมาแล้ว

“พวกที่ออกโรงโปรไต้หวันในปัจจุบัน กำลังนำเอาตัวรากฐานแท้จริงของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างร้ายแรงยิ่ง” เป็นคำกล่าวของ ไลล์ โกลด์สตีน (Lyle Goldstein) ศาสตราจารย์อาคันตุกะแห่งสถาบันวัตสัน (Watson Institute) ณ มหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) และผู้อำนวยการของฝ่ายการมีปฏิสัมพันธ์กับเอเชีย (director of Asia engagement) องค์การดีเฟนซ์ ไพรออริตีส์ (Defense Priorities) ที่เป็นกลุ่มคลังสมองซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน

“(ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริชาร์ด) นิกสัน และ (รัฐมนตรีต่างประเทศ เฮนรี) คิสซิงเจอร์ ได้สร้างรากฐานอันแข็งแรงอย่างถูกต้องขึ้นมาแล้วสำหรับความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยยึดโยงอยู่กับแนวคิดสัจนิยม (realism) ที่ยอมรับในหลักการจีนเดียว แนวคิดสัจนิยมยอมรับสภาพความเป็นจริงเช่นนี้ ทำให้สามารถบังเกิดสันติภาพขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก ในช่วงเวลาเกือบๆ ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ก็มีความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง” โกลด์สตีน บอก

“ช่างโชคร้าย” เขากล่าวต่อ “พื้นฐานอันสำคัญยิ่งยวดสำหรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ดังกล่าวนี้ เวลานี้กำลังถูกคุกคามเสียแล้ว จากประดาความโน้มเอียงในทางลัทธิอุดมการณ์ที่แรงกล้าขึ้นทุกๆ ที ซึ่งกำลังพัดกระหน่ำไปทั่วนครหลวงอเมริกันแห่งนี้ ความโน้มเอียงดังกล่าวเหล่านี้มาจากความเชื่อในสมมติฐานที่ผิดๆ เป็นจำนวนมาก เป็นต้นว่า สมมติฐานที่บอกว่าจีนมุ่งแสวงหาความเป็นใหญ่เหนือกว่าใครๆ ในทางการทหาร ที่บอกว่าสถานะเดิมทางการทูตในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้แล้ว ที่บอกว่า ไต้หวันกำลังกลายเป็นผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติที่สำคัญถึงขั้นเป็นตายประการหนึ่งสำหรับสหรัฐฯ ไปแล้ว และที่บอกว่า สหรัฐฯ ยังคงสามารถที่จะสนุกสนานกับการจัดส่งอาวุธกองพะเนินเทินทึกให้แก่ไต้หวันได้ต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้เป็นการยั่วยุให้จีนดำเนินการตอบโต้ทางการทหาร”

ถึงแม้มีความคิดเห็นกันเช่นนี้ก็ตามที ร่างรัฐบัญญัตินโยบายไต้หวันปี 2022 ที่มีเนื้อหามุ่งท้าตีท้าต่อยฉบับนี้จะสามารถผ่านออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายได้สำเร็จหรือไม่นั้น ยังคงเป็นปัญหาอยู่ มีรายงานว่าทำเนียบขาวได้แสดงความหวั่นเกรงเคลือบแคลงอย่างลึกซึ้งต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ในหลายๆ จุด
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.politico.com/news/2022/08/07/white-house-resists-congress-overhaul-u-s-taiwan-relations-00050163)

ไคลด์ เพรสโตวิตซ์ (Clyde Prestowitz) อดีตผู้เจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นและจีนในยุคคณะบริหารโรนัลด์ เรแกน และเวลานี้เป็นรองประธานด้านกิจการทั่วโลก อยู่ที่กองทุนบริหารความมั่งคั่ง คาร์ดินัล เวลธ์ แมเนจเมนต์ (Cardinal Wealth Management) บอกกับ เอเชียไทมส์ ว่า “ผมคิดว่าร่างรัฐบัญญัติฉบับนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็น และคิดว่าลงท้ายแล้วมันอาจจะไม่ได้กลายเป็นกฎหมายออกมาหรอก ในทางพฤตินัยแล้ว คณะบริหารไบเดนก็กำลังกระทำตามสาระสำคัญซึ่งร่างรัฐบัญญัติฉบับนี้เรียกร้องเอาไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้มีการตะโกนก้องป่าวร้องต่อสวรรค์เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขากำลังกระทำอยู่เท่านั้นเอง

“ร่างรัฐบัญญัตินี้จะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้นเมื่อพิจารณาถึงสภาพความเป็นจริงแล้ว มันมีแต่จะเป็นการแสดงความเป็นปรปักษ์อย่างไม่จำเป็นต่อปักกิ่ง โดยที่ปราศจากวัตถุประสงค์ที่ดีใดๆ ทั้งสิ้น” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทั่งถ้าหากร่างรัฐบัญญัตินี้ประสบความล้มเหลว เดินทางไปไม่ถึงโต๊ะทำงานของประธานาธิบดีเพื่อรอให้เขาลงนามประกาศใช้ หลายๆ ส่วนของร่างกฎหมายก็ยังอาจถูกลักลอบแอบแบ่งซอยออกมาเพื่อใส่เข้าไปในร่างกฎหมายฉบับใหญ่ๆ อื่นๆ และทำให้มีผลบังคับใช้กันต่อไป เป็นต้นว่า ร่างงบประมาณกลาโหมฉบับรวมมิตร (defense omnibus budget) สำหรับปีหน้า

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ เมเนนเดซ, เกรแฮม และ “พวกงี่เง่า” (blob) ด้านนโยบายการต่างประเทศจากทั้งสองพรรคการเมืองกระทำ จากการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็ยังคงถือว่าเป็นการเล่นเกมที่มีอันตรายและไม่จำเป็นตรงหน้าธรณีประตูของจีนกันทีเดียว

“การสู้รบขัดแย้งกันทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ-จีน จากกรณีไต้หวัน เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว อาจทำให้การสู้รบขัดแย้งกันระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ดูเหมือนกับเป็นแค่ไฟป่ากองเล็กๆ ไปเลย” โกลด์สตีน กล่าวเตือน “ถ้าหากแนวโน้มที่มีอันตรายมากในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไปอีกแล้ว วอชิงตันและปักกิ่งก็จะอยู่ในเส้นทางของการปะทะชนโครมเข้าใส่กันโดยตรง และผลลัพธ์ที่ออกมาจะกลายเป็นความวิบัติหายนะสำหรับโลกทั้งโลก”

เจมส์ ดับเบิลยู คาร์เดน เป็นอดีตที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการแห่งประธานาธิบดีทวิภาคีสหรัฐฯ-รัสเซีย (US-Russia Bilateral Presidential Commission) ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บทความและข้อเขียนของเขาปรากฏอยู่ในสิ่งพิมพ์ต่างๆ หลายหลากกว้างขวาง เป็นต้นว่า The Nation, The American Conservative, Responsible Statecraft, The Spectator, UnHerd, The National Interest, Quartz, the Los Angeles Times, และ American Affairs
กำลังโหลดความคิดเห็น