Russian regrouping in Kharkov will speed up Battle of Donbass
BY M. K. BHADRAKUMAR
12/09/2022
เมฆหมอกหนาทึบของสถานการณ์สงคราม ท่ามกลางข่าวลือข่าวกระซิบประเภทฟังเขาเล่าว่า จางหายไปมากจากรายงานข่าวของนิวยอร์กไทมส์เมื่อไม่กี่วันก่อน ทำให้มองเห็นได้มากขึ้นว่า สิ่งซึ่งเกิดขึ้นในแคว้นคาร์คอฟ ไม่ใช่ชัยชนะใหญ่ของฝ่ายยูเครนที่รุกตีโต้ทัพรัสเซียถอยร่นไม่เป็นขบวน
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์เพิ่งเปิดเผยว่า สหรัฐฯ ได้แบ่งปันข่าวกรองสำคัญมากให้แก่ฝ่ายทหารยูเครน อีกทั้งเข้าร่วมการเตรียมการของฝ่ายหลังในการ “รุกตอบโต้กลับ” บริเวณใกล้ๆ เมืองคาร์คอฟ (Kharkov) ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ ไม่ว่าแรงจูงใจของคณะบริหารไบเดนจะเป็นอย่างไรกันแน่ ในการเผยแพร่ให้ทราบถึงบทบาทของตนสำหรับสิ่งซึ่งพวกสื่อมวลชนตะวันตกกำลังเฉลิมฉลองกันว่าเป็นเรื่องราวแห่งความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจเรื่องหนึ่งคราวนี้ (โดยที่สามารถสันนิษฐานได้ว่า ถ้าคณะบริหารไบเดนตั้งใจทำเช่นนี้ ก็คงกระทำโดยตาข้างหนึ่งเหล่ไปที่การเมืองภายในประเทศในอเมริกาเอง) มันก็ยังคงทำหน้าที่เป็นการแก้ไขเรื่องเล่าให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงมากขึ้น ทั้งนี้ข่าวรั่วไหลออกมาทางนิวยอร์กไทมส์นี้ ทำให้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างน่าตื่นใจในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา เข้ามาอยู่ภายในกรอบทัศนะมุมมองที่ดูสมเหตุสมผล
(เมืองคาร์คอฟ Kharkov เป็นชื่อเรียกเมืองนี้ในภาษารัสเซีย ขณะที่ภาษายูเครนเรียกว่า Kharkiv คาร์คิฟ โดยที่สื่อตะวันตกส่วนใหญ่เวลานี้หันกลับมาเรียกชื่อในภาษายูเครน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Kharkiv -ผู้แปล)
หนทางที่จะมองดูการรุกใหญ่ของฝ่ายทหารยูเครนคราวนี้ มีอยู่ 2 ทางด้วยกัน หนทางแรกคือมองว่า เคียฟสามารถสร้างความปราชัยอย่างหนักให้แก่ฝ่ายรัสเซีย และบังคับให้กองกำลังฝ่ายหลังต้องถอยร่น ส่วนหนทางที่สอง พวกข่าวกรองอเมริกันในที่สุดแล้วก็ตรวจจับได้ว่าแนวรบรัสเซียในบริเวณแคว้นคาร์คอฟกำลังอยู่ในสภาพที่มีทหารเบาบางลง โดยที่เป็นอย่างนี้ในระยะไม่กี่สัปดาห์หลังๆ นี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนจัดกำลังพลกันใหม่ของฝ่ายรัสเซียในขนาดขอบเขตซี่งใหญ่โตกว่าแค่ที่คาร์คอฟ และฝ่ายอเมริกันได้แบ่งปันข่าวกรองนี้ให้แก่เคียฟ ผู้ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าจะต้องลงมือปฏิบัติการตอบสนองอย่างยินดีปรีดา
รายงานข่าวของนิวยอร์กไทมส์ มีผลเท่ากับเป็นการยืนยันรับรองการใช้หนทางที่สองสำหรับการอ่านสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมา ซึ่งเท่าที่เป็นอยู่ก่อนหน้านี้ช่างเต็มไปด้วยข่าวลือประเภทฟังเขาเล่ามาว่า ตลอดจนข่าวซุบซิบทั้งหลาย
จริงๆ แล้ว ในระหว่างการบุกตะลุยครั้งใหญ่ของฝ่ายยูเครนคราวนี้ ไม่ค่อยได้มีการสู้รบอะไรในแคว้นคาร์คอฟอย่างที่ข่าวลือกระพือออกมาหรอก และจุดโฟกัสของฝ่ายรัสเซียนั้นก็ไม่ได้น่าประหลาดใจอะไรเลย คือมุ่งอยู่ที่การนำเอากำลังทหารที่เหลืออยู่ถอยออกมาจากแนวหน้า ด้วยการคุ้มกันช่วยเหลือของการใช้ปืนใหญ่และจรวดถล่มระดมยิงกันอย่างหนักหน่วง การปฏิบัติการของฝ่ายรัสเซียเช่นนี้มุ่งทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีการบาดเจ็บล้มตายอย่างสำคัญใดๆ ขณะที่เส้นแนวหน้าเส้นใหม่ซึ่งกำลังปะติดปะต่อเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ (หรือกระทั่งช่วงไม่กี่เดือน) หลังๆ ตามนี้ ตามแนวแม่น้ำออสโกล (Oskol River) ก็ปรากฏให้เห็นกันอย่างชัดแจ๋วแล้วในตอนนี้
การถอนตัวออกจากแนวรบในทิศทางเมืองบาลาเคลย์สโก-อิเซียม (Balakleysko-Izyum) นี้ มีต้นตอจากการประเมินของกองบัญชาการทหารรัสเซียว่า ไม่มีวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ใดๆ ในการรักษาแนวรบดังกล่าวนี้เอาไว้ เมื่อเดือนมีนาคม ตอนที่กองกำลังรัสเซียเข้าควบคุมเมืองอิเซียม เอาไว้นั้น สมมติฐานในตอนนั้น คือ การยึดเมืองนี้จะช่วยเพิ่มพลังให้แก่การปฏิบัติการรุกจากตอนเหนือเพื่อมุ่งสู่เมืองสโลเวียนสก์ (Sloviansk) ในเขตครามาตอร์สก์ (Kramatorsk district) ของภูมิภาคดอนบาส แต่จากที่มันปรากฏออกมาให้เห็นตลอดทั้ง 4 เดือนหลังๆ มานี้ ฝ่ายรัสเซียจึงดูเหมือนล้มเลิกแนวความคิดเช่นนั้นไปแล้ว)
(เมือง Balakleysko บาลาเคลย์สโก ในภาษายูเครนนิยมเขียนว่า Balakliia หรือ Balakliya บาลาคลิยา ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Balakliia -ผู้แปล)
อย่าได้เข้าใจผิดไป การสู้รบเพื่อชิงดอนบาสยังคงเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกสุดสำหรับการปฏิบัติพิเศษทางการทหารของฝ่ายรัสเซียคราวนี้ การจัดกำลังปรับแนวรบกันใหม่จากทิศทางบาลาเคลย์สโก-อิเซียม เวลานี้จะเพิ่มความเข้มแข็งอย่างสำคัญให้แก่การบุกโจมตีในดอนบาส แทนที่จะทำให้มันอ่อนแอลงอย่างที่พวกนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายตะวันตกบางรายกำลังคาดเดากัน ข้อสรุปเช่นนั้นของพวกเขามาจากตำนานโบร่ำโบราณที่ว่า อีเซียม คือ “ปากประตู” เข้าสู่ดอนบาส และทะเลดำ ขณะที่ในทุกวันนี้ ด้วยระบบคมนาคมขนส่งสมัยใหม่ เส้นทางลำเลียงของฝ่ายรัสเซียในดอนบาสสามารถที่จะระงับหรือกระทั่งหลีกเลี่ยงไม่ผ่าน “ปากประตู” จากทางตอนเหนือลงมาเส้นนี้ได้
ประการที่สอง ตัว อิเซียม เอง ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีต้นไม้หนาแน่น –มีบางคนเรียกมันว่าเป็นป่าเชอร์วูด (Sherwood Forest) – แผ่ออกไปจากด้านตะวันตกของเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกองกำลังฝ่ายยูเครนตั้งมั่นคอยรับมืออยู่อย่างแข็งขัน และการปรากฏตัวของฝ่ายรัสเซียตรงนั้นก็ถูกโจมตีอยู่เรื่อยๆ แม้กระทั่งตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว กล่าวโดยสรุป การยึดครอง อิเซียม เอาไว้ต่อไป มีแต่จะทำให้ต้องสิ้นเปลืองกำลังพล
ทว่าถึงจะมีคำอธิบายเช่นนี้ แต่การมองเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมาในทิศทางบาลาเคลย์สโก-อิเซียม ก็จุดชนวนให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นภายในรัสเซียเอง เกี่ยวกับการรับมืออย่างผิดพลาดบกพร่องของฝ่ายบังคับบัญชาทหาร และเสียงวิพากษ์วิจารณ์บางส่วนยังเลยตรงไปถึงตัวประธานาธิบดีปูตินเองด้วย กองบัญชาการทหารกำลังตกอยู่ใต้แรงกดดันให้ต้องแสดง “ผลลัพธ์” ในยุทธการดอนบาสให้เห็นกัน เราสามารถที่จะกล่าวได้ว่า อาจจะกำลังมีการขบคิดทบทวนกันใหม่เช่นกันเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของฝ่ายรัสเซีย ซึ่งเท่าที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้ยังคงพึ่งพาอาศัยพวกกลุ่มกองกำลังอาสาระดับท้องถิ่นเป็นผู้เข้าดำเนินการโจมตีที่ยากลำบาก แทนที่จะใช้กำลังทหารปกติจากกองทัพของตนเอง
ในความเป็นจริงแล้ว จนกระทั่งถึงเวลานี้แคว้นคาร์คอฟส่วนใหญ่แล้วอยู่ในฐานะของการเป็นเวทีแสดงเสริม ไม่ใช่เวทีหลัก ข้อเท็จจริงที่ว่าไม่ได้มีแผนการใดๆ ที่จะจัดการลงประชามติ (ว่าจะเข้าผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียหรือไม่) ในคาร์คอฟ –ไม่เหมือนกับในเคียร์ซอน (Kherson) และซาโปโรเซีย (Zaporozhia) ในภาคใต้ ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในตอนต้นเดือนกันยายน (แต่เวลานี้ดูเหมือนต้องเลื่อนออกไป) ย่อมเป็นสิ่งที่บ่งบอกให้เห็นกันได้อยู่แล้ว
แต่แน่นอนทีเดียว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วในทิศทางบาลาเคลย์สโก-อิเซียม จะเป็นเรื่องเพิ่มพูนขวัญกำลังใจอย่างใหญ่โตให้แก่กองทัพยูเครน เรื่องนี้ยังมีนัยต่อเนื่องอีกหลายๆ ประการสำหรับอนาคตอีกด้วย อย่างหนึ่งก็คือ เคียฟจะไม่เกิดความโน้มเอียงใดๆ เลยในทิศทางเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ คำแถลงอย่างฮึกเหิมเลื่อนลั่นของรัฐมนตรีกลาโหม โอเล็กซีย์ เรซนิคอฟ (Oleksiy Reznikov) ของยูเครนเมื่อวันอาทิตย์ (11 ก.ย.) คือการประกาศเงื่อนไขสำหรับการเจรจาในแบบที่มุ่งจะให้ทำสงครามกันต่อไป โดยเขาบอกว่า “เคียฟพร้อมสำหรับการเจรจาก็ต่อเมื่อภายหลังการถอนออกไป (ของฝ่ายรัสเซีย) จากดินแดนทั้งหมดของยูเครน –ภายในขอบเขตของเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 1991 สำหรับยูเครนแล้ว มันไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้วสำหรับ ’24 กุมภาพันธ์’ (วันที่รัสเซียเริ่มการปฏิบัติการพิเศษในยูเครน) -ผู้แปล)”
นี่ก็คือการประกาศว่า แผนการของกองบัญชาการของกองทัพยูเครนมีอยู่ว่า จะมุ่ง “ปลดแอก” บรรดาดินแดน “ที่ถูกยึดครองไว้” ทั้งหมดอย่างสมบูรณ์ โดยรวมไปถึงดอนบาส และไครเมีย ด้วย ต้องไม่มีอะไรน้อยไปกว่านี้! น่าสงสัยว่า เรซนิคอฟ พูดเช่นนี้เพื่อแสดงปฏิกิริยาตอบโต้คำแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ ของรัสเซีย ซึ่งมีผลในทางแสดงท่าทีว่ามอสโกไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการเจรจากับยูเครน ทว่าการที่ฝ่ายเคียฟยังคงมุ่งชะลอการเจรจาสันติภาพกันต่อไปนั้นจะสร้างความยุ่งยากซับซ้อนให้แก่ความเป็นไปได้ของการบรรลุข้อตกลง
เลขาธิการสภาความมั่นคงและการป้องกันแห่งชาติ (National Security and Defense Council) ของยูเครน โอเล็กซีย์ ดานิลอฟ (Oleksiy Danilov) ไปไกลถึงขนาดบอกว่า เคียฟกำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆ อยู่แล้วสำหรับการยอมรับการยอมจำนนของรัสเซีย ตลอดจนการแบ่งแยกรัสเซียออกเป็นรัฐเล็กๆ น่าเอ็นดูหลายๆ แห่ง! ความบ้าคลั่งและความกระหายสงครามในระดับขนาดนี้จะทำให้เป็นความลำบากยากเย็นอย่างที่สุดสำหรับคณะบริหารไบเดน ถ้าหากจะเดินหน้าส่งสัญญาณริเริ่มใดๆ ของความบันยะบันยังและการตระหนักถึงความเป็นจริงออกมา อย่างที่ดูเหมือนแต่งแต้มปรากฏให้เห็นบนเปลือกนอกแห่งถ้อยคำวาทกรรมของรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโธนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ ระหว่างที่เขาไปเยือนกรุงเคียฟเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (9 ก.ย.)
บลิงเคน แสดงปฏิกิริยาอย่างระมัดระวังตัว ทั้งนี้เมื่อถูกพวกผู้สื่อข่าวที่ติดตามเขาไปตั้งคำถามเกี่ยวกับ “การรุกตอบโต้” ของฝ่ายยูเครน เขาก็ตอบว่า “ครับ เราได้รับการแจ้งอัปเดตอย่างรอบด้านเกี่ยวกับการรุกตอบโต้แล้ว ... มันยังเป็นช่วงต้นๆ เอามากๆ แต่เรากำลังได้เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนและแท้จริงจากสมรภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่รอบๆ เคียร์ซอน แต่ยังมีพัฒนาการที่น่าสนใจบางอย่างในดอนบาสทางภาคตะวันออกอีกด้วย แต่ขอย้ำอีกครั้งว่า มันยังเป็นช่วงต้นๆ”
(ดูเพิ่มเติมคำพูดของ บลิงเคน ได้ที่ https://www.state.gov/secretary-antony-j-blinken-remarks-to-the-traveling-press/)
ก่อนหน้านั้นในกรุงเคียฟ บลิงเคนไม่ได้ตอบสนองอะไรกับสาระสำคัญที่สุดในคำพูดของประธานาธิบดีเซเลนสกี ระหว่างที่พวกเขาปรากฏตัวในการแถลงข่าวร่วมกัน โดยที่เซเลนสกีกล่าวว่า เขาถือเรื่องความสนับสนุนที่จะได้รับจากสหรัฐฯ เป็น “เครื่องค้ำประกันประการหนึ่งถึงความเป็นไปได้ที่เราจะได้ดินแดนของเรา แผ่นดินของเขากลับคืนมา”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/secretary-antony-j-blinken-before-meeting-with-ukrainian-president-volodymyr-zelenskyy/)
พลเอกมาร์ก มิลลีย์ (General Mark Milley) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ก็แสดงท่าทีหลบเลี่ยงอย่างเห็นได้ชัดเจนในเรื่องการรุกตอบโต้ของฝ่ายยูเครนนี้ ระหว่างที่เขาแสดงความคิดเห็นในการให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุสาธารณะแห่งชาติ (National Public Radio หรือ NPR) ของสหรัฐฯ เมื่อวันเสาร์ (10 ก.ย.) นายทหารประจำการผู้ครองตำแหน่งทางทหารอาวุโสสูงที่สุดของอเมริกาผู้นี้กล่าวว่า ยังคงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาในช่วงสองสามสัปดาห์ต่อจากนี้ไป “มันจะเป็นภารกิจที่ยากลำบากมากๆ ซึ่งฝ่ายยูเครนจะต้องกระทำ ซึ่งก็คือ การผสมผสานการรุกของพวกเขาเข้ากับการเคลื่อนพลอย่างคล่องตัว”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.npr.org/2022/09/09/1121951165/the-top-u-s-military-officer-discusses-ukraines-renewed-efforts-to-push-russia-o)
ขณะที่การจัดกลุ่มรวมกำลังทหารกันใหม่ในภูมิภาคคาร์คอฟ จะสามารถทำให้กองกำลังฝายรัสเซียรวมศูนย์ความสนใจของพวกเขาไปที่การสถาปนาอำนาจควบคุมอย่างเต็มบริบูรณ์เหนือดินแดนแห่งดอนบาส มันก็ไม่ได้หมายความว่ากองบัญชาการทหารรัสเซียจะไม่หวนกลับไปยัง คาร์คอฟ อีกแล้ว
กระทรวงกลาโหมรัสเซียออกมาแถลงในวันจันทร์ (12 ก.ย.) ว่า กองกำลังการบินและอวกาศ กองทหารขีปนาวุธ และปืนใหญ่ตลอดจนระบบจรวดหลายลำกล้องของแดนหมีขาว “ยังคงเปิดการโจมตีด้วยความแม่นยำสูงอย่างต่อเนื่อง” ใส่หน่วยทหารต่างๆ และกองทหารสำรองของยูเครนที่อยู่ในภูมิภาคคาร์คอฟ กองกำลังของยูเครนซึ่งเคยประจำอยู่ตามที่มั่นซึ่งจัดวางการป้องกันเอาไว้อย่างแข็งแรงภายในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยต้นไม้แห่งนั้น เวลานี้ได้เคลื่อนตัวออกมาสู่พื้นที่เปิดโล่งแล้ว และกำลังถูกเล็งเป้าหมายถล่มจากการโจมตีอย่างเข้มข้นทั้งทางอากาศ ขีปนาวุธ และปืนใหญ่ ตลอดจนจรวดหลายลำกล้อง
กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงในวันเสาร์ (10 ก.ย.) ว่า นักรบยูเครนมากกว่า 2,000 คนถูกสังหารในบริเวณใกล้ๆ เมืองบาลาคลิยา และเมืองอิเซียม เฉพาะในช่วงเวลา 3 วันก่อนหน้านั้น แน่นอนทีเดียวว่ามีทหารอีกมากกว่าสองสามพันคนจะต้องได้รับบาดเจ็บด้วย พิจารณาจากกำลังทหารยูเครนที่เข้าร่วมในการปฏิบัติการที่คาร์คอฟทั้งหมด ซึ่งประมาณการกันว่ามีจำนวน 15,000 คน นี่ต้องถือว่าเป็นความเสียหายที่หนักมาก เมื่อเวลาผ่านไป เคียฟอาจจะรู้สึกว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่แทบไม่มีอะไรให้เฉลิมฉลองหรอก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/defense/1505809)
เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)
ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/russian-regrouping-in-kharkov-will-speed-up-battle-of-donbass/