(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Ukraine – The Situation (June 8)
By UWE PARPART
08/06/2022
รายงานข่าวชวนตื่นเต้นระทึกใจที่ว่า การที่สหรัฐฯ กำลังรีบจัดส่งระบบจรวดหลายลำกล้องล้ำยุคแบบ HIMARS ให้แก่ยูเครน กำลังจะกลายเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ของสงครามคราวนี้นั้น เป็นการโหมกระพือซึ่งเกินความเป็นจริงไปมาก
เอเชียไทมส์มุ่งหมายจัดทำรายงานสถานการณ์สงครามยูเครนเช่นนี้ออกมาเสนอในแบบเกือบเป็นประจำทุกวัน โดยอิงอยู่กับแหล่งข่าวทั้งทางฝ่ายทหารและพวกหน่วยงานคลังสมองต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งนี้ถือเป็นความพยายามอย่างตรงไปตรงมาของเราที่จะทะลุทะลวงผ่านการโฆษณาชวนเชื่อและการปล่อยข้อมูลข่าวสารออกมาอย่างผิดๆ ของทุกๆ ฝ่าย ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดม่านหมอกแห่งสงครามที่คอยปกปิดบดบังความเป็นจริงเอาไว้
สรุปสาระสำคัญ
ในพื้นที่ส่วนใต้ ซึ่งทรงความสำคัญยิ่งยวดของแนวเส้นลากต่อเชื่อมระหว่างเมืองอีซุม-เมืองลีมาน (Izium-Lyman line) กระทรวงกลาโหมรัสเซียอ้างว่าได้เข้าควบคุมเมืองสเวียโตฮิร์สก์ (Sviatohirsk) เมืองเล็กๆ ในทิศทางมุ่งสูเมืองสโลเวียนสก์ (Sloviansk) เอาไว้ได้แล้ว และมีแหล่งข่าวหลายรายในนาโต้ได้ยืนยันการกล่าวอ้างนี้
ส่วนที่เมืองซีวีโรโดเนตสก์ (Severodonetsk หรือ Sievierodonetsk) การสู้รบอย่างดุเดือดชนิดไล่ล่ากันไปตามบ้านทีละหลังๆ ยังคงดำเนินต่อไป หลังจากที่ผลการสู้รบมีการพลิกผันไปมาระหว่างช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ในเวลานี้กองกำลังรัสเซียดูเหมือนเป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองนี้แล้ว
ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนอ้างว่า กองกำลังรัสเซียกำลังเพิ่มการโจมตี “อย่างอันตรายมาก” ต่อเมืองซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) เมืองใหญ่ในภาคใต้ของยูเครน ทว่ายังไม่มีหลักฐานหรือมีข้อยืนยันที่เป็นอิสระใดๆ สนับสนุนข้ออ้างนี้
กระนั้นก็ตาม มีรายงานที่น่าเชื่อถือหลายชิ้นระบุว่า มีการทำข้อตกลงเบื้องต้นกันระหว่างทางผู้มีอำนาจของยูเครนและของรัสเซีย ในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้แก่การส่งออกธัญพืชจากเมืองท่าโอเดสซา (Odessa) ในภาคใต้ของยูเครน
สำหรับการกล่าวอ้างของฝ่ายยูเครนและนาโต้ที่ว่า เรือต่างๆ ของกองทัพเรือรัสเซียกำลังถูกผลักดันให้ออกห่างจากชายฝั่งไปไกลถึงราว 100 กิโลเมตรนั้น เป็นเรื่องน่าเชื่อถือ เนื่องจาก –ในสภาพที่ฝ่ายรัสเซียมีความสนับสนุนด้านการปฏิบัติการยกพลขึ้นบกยังไม่เพียงพอ— ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่พวกเรือรัสเซียจะพาตัวเองเข้าไปใกล้ฝั่งเพื่อให้กลายเป็นเป้าหมายยิงถึงได้ง่ายๆ ของชุดขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบ “เนปจูน” (Neptune) ของยูเครนเอง และแบบ “ฮาร์พูน” (Harpoon) ซึ่งยูเครนเพิ่งได้มาจากเดนมาร์กและสหราชอาณาจักร นอกจากนั้น ยังได้รับความสนับสนุนด้วยสมรรถนะในการเล็งใส่เป้าหมายของนาโต้อีกด้วย
ภาคกลางและภาคตะวันออก
ม่านหมอกแห่งสงครามอันหนาทึบยังคงบดบังทำให้มองเห็นการสู้รบที่เมืองซีวีโรโดเนตสก์ได้อย่างคลุมเครือ อย่างที่คอลัมน์ “รายงานสถานการณ์การสู้รบ” ของเอเชียไทมส์นี้ ได้เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า กองกำลังรัสเซียหรือกองกำลังยูเครนกำลังต้องตัดสินใจว่าจะทิ้งหรือไม่ทิ้ง หรือจะทิ้งเมื่อใด สะพานที่ยังเหลืออยู่อีก 3 แห่งซึ่งทอดข้ามแม่น้ำโดเนตส์ (Donets River) ไปยังเมืองลีซีชานสก์ (Lysychansk) เมืองคู่แฝดของซีวีโรโดเนตสก์ ที่อยู่ถัดไปทางตะวันตกบนอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำสายนี้ ทั้งนี้ ถ้ากองกำลังฝ่ายยูเครนตัดสินใจนำตนเองเข้าสู่ที่มั่นแบบที่ซุนวู (Sun Tzu) เรียกว่า “พื้นที่มรณะ” (death ground) ก็จะเป็นการซ้ำรอยผลลัพธ์ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วที่เมืองมาริอูโปล
เรื่องที่มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์มากกว่า คือ สถานการณ์ทางส่วนใต้ของเส้นอีซุม-ลีมาน ในทิศทางไปสู่เมืองสโลเวียนสก์ ซึ่งเป็นศูนย์คมนาคม ทั้งนี้มีสะพานหลายสายยังคงตระหง่านทอดข้ามแม่น้ำโดเนตส์ ทั้งที่อยู่ถัดไปนิดเดียวจากด้านใต้ของเมืองสเวียโตฮิร์สก์ และที่อยู่ทางด้านตะวันออกของเมืองไรโฮโรดอค (Raihorodok) เมืองหลังนี้อยู่ห่างแค่ 10 กิโลเมตรจากเมืองสโลเวียนสก์
การยึดสโลเวียนสก์ไว้ได้ จะเป็นการเปิดทางให้กองกำลังรัสเซียรุกไปทางใต้ในทิศทางของเมืองบัคมุต (Bakhmut) เพื่อเชื่อมกับกองกำลังส่วนที่บุกจากเมืองโปปาสนา (Popasna) มุ่งหน้าสู่บัคมุต และก็จะเป็นการเข้าโอบล้อมพื้นที่ส่วนที่นูนออกมาของดอนบาส (Donbass salient) ได้อย่างครบวงสมบูรณ์ นอกจากนั้น กองกำลังรัสเซียส่วนที่กำลังบุกขึ้นเหนือจากเมืองโดเนตสก์นั้นก็กำลังคืบหน้าไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ และสามารถเข้าโจมตีบัคมุตจากทางด้านตะวันตก
ภาคใต้
เส้นแนวปะทะ (Lines of contact) ส่วนใหญ่ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา การยิงปืนใหญ่และจรวดจากฝ่ายรัสเซีย ยังคงรวมศูนย์อยู่ที่พื้นที่รอบๆ เมืองมิโคลาอิฟ (Mykolaiv)
แหล่งข่าวสหรัฐฯ หลายรายบอกว่า กองกำลังรัสเซียยังคงสร้างสมกำลังต่อเนื่องในบริเวณด้านตะวันออกของส่วนตรงกลางของเส้นแนวตะวันออก-ตะวันตก ระหว่างดเนปร์ (Dnepr) กับโดเนตสก์ (Donetsk) สามารถคาดหมายได้ว่ากองกำลังรัสเซียจะต้องพยายามบุกขึ้นเหนือจากตรงนั้น ในทันทีที่พวกเขารู้สึกว่ามีกำลังทหารมากเพียงพอที่จะโอบปีกกองกำลังฝ่ายยูเครนรอบๆ โดเนตสก์แล้ว การที่เซเลนสกีออกมาเตือนให้ระวังรัสเซียกำลังจะโจมตีเมืองซาโปริซเซีย ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แหละ
สำหรับรายงานข่าวเรื่องมีการทำข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งธัญพืชที่กล่าวเอาไว้ข้างต้นนั้น ดูเหมือนจะเป็นดีลที่เป็นผลจากการทำความเข้าใจกันระหว่างสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่ตุรกี และเจ้าหน้าที่รัสเซีย ถึงขั้นที่มีผลลัพธ์ออกมาว่า ตุรกีจะรับผิดชอบในการกวาดทุ่นระเบิด และคุ้มกันเรือบรรทุกธัญพืชออกจากท่าเรือข้างๆ เมืองโอเดสซา ไปจนกระทั่งเข้าสู่น่านน้ำฝ่ายเป็นกลาง
ในทันทีที่เข้าสู่น่านน้ำฝ่ายเป็นกลาง กองกำลังคุ้มกันของรัสเซียจะเข้ารับช่วงต่อจากกองกำลังคุ้มกันของตุรกี และจากนั้นจะคุ้มกันเรือบรรทุกเหล่านี้ไปจนถึงช่องแคบบอสฟอรัส (Bosporus) รายงานข่าวระบุว่า ทางยูเครนยังไม่ได้ตกลงเห็นชอบกับดีลนี้
การป่าวร้องจนเกินจริงเกี่ยวกับระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ พูดไปตามข้อเท็จจริงในบทความของเขาซึ่งตีพิมพ์ในนิวยอร์กไทมส์เมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อเขาเขียนว่า “เราจะจัดหาระบบจรวดล้ำสมัยเพิ่มมากขึ้นพร้อมด้วยเครื่องกระสุนให้แก่ฝ่ายยูเครน ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถโจมตีใส่เป้าหมายสำคัญๆ ในสมรภูมิในยูเครนได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น” จากนั้นก็มีพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ออกมาพูดว่าระบบที่จะจัดส่งให้ยูเครนดังกล่าวคือ M142 HIMARS
เพื่อไม่ให้ถูกทิ้งไปไกล นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักรได้ทวีตในอีกสองสามวันต่อมาว่า “เราไม่สามารถยืนเฉยขณะที่ปืนใหญ่และจรวดที่มีพิสัยทำการไกล ยิงถล่มเมืองต่างๆ จนราบเป็นหน้ากลอง และเข่นฆ่าพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นสหราชอาณาจักรจะให้ของขวัญเป็นระบบจรวดหลายลำกล้องแก่กองทัพยูเครน เพื่อพวกเขาจะได้สามารถขับไล่การเข่นฆ่าของฝ่ายรัสเซียที่ยังคงดำเนินอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ระบบของสหราชอาณาจักรที่จะจัดส่งให้คือ M270 MLRS รุ่นเก่าที่ผลิตในช่วงทศวรรษ 1970 ด้านนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี พูดจาแบบประโคมน้อยลงมา เมื่อสัญญาที่จะส่งระบบ MARS 2 MLR ของเยอรมนี ไปให้ยูเครน “จำนวนหนึ่ง”
พวกผู้นำของ 3 ประเทศนี้ซึ่งต่างเป็นสมาชิกนาโต้กันทั้งนั้น ไม่มีใครเลยพูดอะไรมากเกี่ยวกับจำนวนของชิ้นส่วนระบบจรวดดังกล่าวที่จะส่งไปให้ยูเครน รวมทั้งจะส่งให้ได้เมื่อใด แต่พวกสื่อมวลชนตะวันตกก็รีบประทับตราให้แก่อาวุธเหล่านี้ว่าจะเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ก่อนที่จะต้องลดน้ำเสียงของการประเมินลงมา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏออกมาว่า สหรัฐฯ จะจัดส่ง HIMARS ให้ยูเครน “ในเบื้องต้น” เพียงแค่ 4 ชุด สำหรับสหราชอาณาจักรจะส่ง M270 MLRS ให้ 3 ชุด ส่วนเยอรมนีจะส่ง MARS 2 MLRs ได้ “4 ถึง 6” ชุด
นี่จึงดูน่าจะหมายความว่า ระบบจรวดหลายลำกล้อง MLR จำนวนราวๆ 11 ชุดจะเดินทางถึงยูเครนถายหลังระยะเวลาการฝึกซึ่งขั้นต่ำสุดคือ 3-4 สัปดาห์ แน่นอนทีเดียว มีความเป็นไปได้และกระทั่งน่าจะเป็นอย่างนี้ด้วยซ้ำไป นั่นคือ มีการเดินหน้าฝึกอะไรบางอย่างให้แก่พวกทหารยูเครนมาช่วงระยะหนึ่งแล้ว ณ สถานที่ฝึกทหาร กราเฟนเวือห์ร (Grafenwoehr facility) ของกองทัพสหรัฐฯ ในเยอรมนี
เวลานี้เยอรมนีมีชุดจรวดหลายลำกล้อง Mars 2 อยู่ 22 ชุด ส่วนสหราชอาณาจักรมีระบบ M270 อยู่ 42 ชุด และสหรัฐฯ มี HIMARS ราวๆ 350 ชุด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องลำบากที่จะคาดเดาว่าระบบอาวุธเหล่านี้จำนวนเท่าใดจะส่งไปถึงยูเครนได้จริงๆ ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้หากสันนิษฐานว่าสงครามจะยังดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงตอนนั้น
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสงสัยข้องใจอย่างยิ่งว่า ระบบอาวุธเหล่านี้ 11 ชุด หรือ 22 ชุด หรือกระทั่ง 44 ชุด จะสามารถแสดงบทบาทเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ได้หรือ เท่าที่ผ่านมาในอดีต ระบบอาวุธที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์นั้น ไม่มีระบบไหนเลยที่ทำท่าว่าจะกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมในยามสงครามขึ้นมาได้
น่าสังเกตว่าฝ่ายรัสเซียไม่ได้มีการเอะอะโวยวายอะไรใหญ่โตจากการประกาศข่าวจัดส่งระบบจรวดทันสมัยเช่นนี้ให้แก่ยูเครน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กล่าวทางทีวีรัสเซียเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนว่า ฝ่ายทหารของยูเครนเวลานี้ก็ครอบครองชุดอาวุธจรวดหลายลำกล้อง MLRS ซึ่งผลิตขึ้นทั้งโดยโซเวียตและทั้งโดยรัสเซียเป็นจำนวนหลายสิบชุดอยู่แล้ว การที่จะเพิ่มเข้ามาอีกสักไม่กี่ชุดจึงจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างในสาระสำคัญขึ้นมาหรอก
นี่เป็นการพูดอย่างอวดกล้าของปูติน เพราะขณะที่ระบบที่ล้าสมัยของสหราชอาณาจักร อยู่ในชั้นเดียวกับระบบจรวดหลายลำกล้อง สเมอร์ช (Smersh) แกรด (Grad) และอันการัน (Ungaran) ของรัสเซีย แต่ HIMARS ของสหรัฐฯ และ MARS 2 ของเยอรมนี เป็นอาวุธที่มีความแม่นยำกว่าอย่างเป็นเรื่องเป็นราวทีเดียว สำหรับเรื่องพิสัยหรือระยะยิงก็จะกลายเป็นประเด็นรองๆ ลงไป ถ้าหากพวกรัฐสมาชิกนาโต้ยึดมั่นอยู่กับคำมั่นสัญญาที่ว่าจะไม่มีการส่งลูกจรวดที่มีพิสัยทำการมากกว่า 70-80 กิโลเมตรให้แก่ยูเครน
รัสเซียนั้นเคลื่อนกำลังทหารจำนวน 110 กลุ่มกองพันทางยุทธวิธี (battalion tactical groups หรือ BTGs) เข้าไปในยูเครนแล้ว แต่ละกลุ่มกองพันเหล่านี้ติดตั้งพวกอาวุธปืนใหญ่และจรวดระหว่าง 6-8 ชิ้น โดยมีตั้งแต่พวกปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ ไปจนถึง MLRS ซึ่งเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้ว ก็คือมีทรัพย์สินซึ่งมีอำนาจการยิงระดับนี้ราวๆ 750 ชุด
ต้องไม่ลืมด้วยว่ารัสเซียคือผู้ประดิษฐ์อาวุธประเภทนี้ขึ้นมาเป็นรายแรกของโลก ดังนั้นจึงมีความรู้อะไรอยู่บ้างแหละเกี่ยวกับเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องนี้
ทั้งนี้ เมื่อเกือบๆ 81 ปีก่อน ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 1941 ทหารกองทัพแดงหน่วยหนึ่งของสหภาพโซเวียต ที่อยู่ในความบังคับบัญชาของ ร้อยเอกอีวาน ฟลีโอรอฟ (Captain Ivan Flyorov) เป็นกองทหารหน่วยแรกที่ได้รับการติดตั้งประจำการระบบ BM-13 “คัตยูชา” (Katyusha) และยิงชุดอาวุธประเภทนี้ชุดแรกใส่หน่วยส่งกำลังบำรุงของเยอรมนีหน่วยหนึ่ง ณ สถานรถไฟในเมืองออร์ชา (Orsha) ริมแม่น้ำดเนปร์ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมาก
ฝ่ายเยอรมันให้ฉายาอาวุธนี้ว่า “สตาลินออร์เกล” (Stalinorgel หรือ Stalin’s Organ ออร์แกนของสตาลิน) ตามรูปร่างลักษณะของมันที่ประกอบด้วยท่อยาวๆ หลายๆ ท่อ และเสียงของมันเมื่อตอนที่มันยิงจรวดออกมา อาวุธนี้กลายเป็นระบบอาวุธรัสเซียซึ่งเป็นที่หวาดเกรงกันมากที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่มีการผลิตออกมาหลายหมื่นชุด และแพร่กระจายความสยดสยองไปในหมู่กองกำลังอาวุธฝ่ายข้าศึก