(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Ukraine – The Situation (June 3)
By UWE PARPART
03/06/2022
เมืองซีวีโรโดเนตสก์ ถูกทำลายเสียหายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่กองกำลังฝ่ายยูเครนต้องตัดสินใจว่า จะยังคงยึดเมืองนี้เอาไว้หรือล่าถอยไปยังเมืองแฝดที่อยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำโดเนตส์
เอเชียไทมส์มุ่งหมายจัดทำรายงานสถานการณ์สงครามยูเครนเช่นนี้ออกมาเสนอในแบบเกือบเป็นประจำทุกวัน โดยอิงอยู่กับแหล่งข่าวทั้งทางฝ่ายทหารและพวกหน่วยงานคลังสมองต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งนี้ถือเป็นความพยายามอย่างตรงไปตรงมาของเราที่จะทะลุทะลวงผ่านการโฆษณาชวนเชื่อและการปล่อยข้อมูลข่าวสารออกมาอย่างผิดๆ ของทุกๆ ฝ่าย ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดม่านหมอกแห่งสงครามที่คอยปกปิดบดบังความเป็นจริงเอาไว้
สรุปสาระสำคัญ
กองกำลังฝ่ายรัสเซียที่บุกเข้าเมืองซีวีโรโดเนตสก์ (Severodonetsk) ในภูมิภาคดอนบาสส์ (Donbass) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม เวลานี้ควบคุมส่วนใหญ่ของเมืองเอาไว้ได้แล้ว กองกำลังป้องกันของฝ่ายยูเครนซึ่งกำลังอยู่ในอาการถอยร่นออกจากเมือง ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทิ้งหรือไม่ทิ้ง หรือจะทิ้งเมื่อใด สะพาน 3 แห่งที่ทอดข้ามแม่น้ำโดเนตส์ (Donets River) ไปยังเมืองลีซีชานสก์ (Lysychansk) เมืองคู่แฝดของซีวีโรโดเนตสก์ ที่อยู่ถัดไปทางตะวันตกบนอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำสายนี้
ในภาคใต้ กองกำลังฝ่ายยูเครนยังคงปฏิบัติการอยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำอินฮูเลตส์ (Inhulets) บริเวณตอนเหนือ-ตะวันออกของแคว้นเคอร์ซอน (Kherson) ซึ่งกองกำลังฝ่ายรัสเซียได้พยายามสร้างเสริมที่มั่นต่างๆ อย่างแข็งแรงเอาไว้ และยังกำลังใช้ระบบจรวดหลายลำกล้อง (MLRS) ถล่มอย่างต่อเนื่องในทิศทางของเมืองมิโคลาอิฟ (Mikolaiv) เมืองที่เรียกกันว่า “โล่ของ (เมืองท่า) โอเดสซา” (shield of Odessa)
เหมือนกับหลายวันก่อนๆ ที่ผ่านมา ไม่มีรายงานความเคลื่อนไหวทางภาคพื้นดินใดๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณรอบๆ เมืองคาร์คิฟ (Kharkiv) แต่ก็มีรายงานว่าฝ่ายรัสเซียยังคงระดมยิงด้วยปืนใหญ่และจรวดอย่างไม่หยุดหย่อน
แหล่งข่าวทางทหารสหรัฐฯ รายหนึ่งในวอชิงตัน ดี.ซี. รายงานว่า มีความกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการบาดเจ็บล้มตายของฝ่ายยูเครน ขณะที่พวกทหารเกณฑ์ใหม่ได้รับเวลาเพียง 2 สัปาดห์ในการฝึก และต้องเจอกับอัตราการบาดเจ็บล้มตายที่สูงมาก ประมาณกันไว้ที่ระดับ 65%
สำนักข่าวทาสส์ (TASS) ของทางการรัสเซียรายงานว่า กองกำลังเฉพาะกิจทางนาวีของรัสเซียกองหนึ่ง ที่ประกอบด้วยเรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก (amphibious assault ship) จำนวน 6 ลำของกองเรือภาคเหนือ (Northern fleet) และกองเรือภาคบอลติก (Baltic fleet) และเรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกอีก 6 ลำของกองเรือภาคทะเลดำ (Black Sea fleet) พร้อมแล้วที่จะปฏิบัติภารกิจสู้รบในทะเลดำ (แหล่งข่าวหลายรายของสหรัฐฯ กำลังคาดการณ์ว่า รัสเซียจะเข้าโจมตีเมืองโอเดสซา ภายในเดือนกรกฎาคม)
ตามรายงานที่ปรากฏออกมาจนถึงเวลานี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพิ่งประกาศจะส่งระบบจรวดหลายลำกล้องที่มีความคล่องตัวสูง (High Mobility Artillery Rocket Systems หรือ HIMARS) จำนวน 4 ชุดให้แก่ยูเครน เพื่อวัตถุประสงค์ในการฝึก ส่วนเยอรมนีก็เพิ่งประกาศจัดส่งระบบ MARS2 จำนวน 4 ชุด และ IRIS-T-SLM ซึ่งเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศล้ำยุค จำนวน 2 ชุด เพื่อเอาไว้ใช้เข้าคู่กับระบบ MLRS ของฝ่ายอเมริกัน
ภาคกลางและภาคตะวันออก
เมืองซีวีโรโดเนตสก์ ถูกทำลายเสียหายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ เวลานี้เกิดการสู้รบแบบรุกไล่กันไปตามอาคารทีละบล็อกๆ ฝ่ายยูเครนกำลังขยับถอยออกไปจากเมืองเรื่อยๆ กองกำลังรัสเซียบริเวณด้านใต้ของซีวีโรโดเนตสก์ ตรงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโดเนตส์ กำลังผลักดันขึ้นไปทางเหนือ กองกำลังฝ่ายยูเครนจำเป็นต้องตัดสินใจว่า จะพยายามตรึงเอาไว้ต่อไปหรือว่าถอยข้ามแม่น้ำ โดยทิ้งสะพานที่เวลานี้ยังยึดเอาไว้ จะได้เผชิญหน้าการโจมตีเฉพาะจากด้านใต้ แทนที่จะเจอทั้งจากด้านตะวันออกและด้านใต้
หลังจากโจมตีจนแนวป้องกันของยูเครนแตกที่เมืองโปปอสนา (Popasna) กองกำลังรัสเซียยังคงกดดันต่อเนื่องจากด้านตะวันตกของโปปอสนา ในทิศทางไปยังเมืองบัคมุต (Bakhmut) โดยดูเหมือนพยายามที่จะเชื่อมต่อกับพวกกองกำลังรัสเซียซึ่งรุกลงใต้จากเมืองลีมาน (Lyman) มุ่งสู่เมืองซีเวอร์สก์ (Siversk)
ถ้าหากช่องว่างระหว่าง ลีมาน-โปปอสนา ถูกฝ่ายรัสเซียปิดลงได้เมื่อใด พวกแหล่งข่าวสหรัฐฯ ประเมินว่า กองทหารยูเครนระหว่าง 10,000-15,000 นาย จะติดกับตกอยู่ในวงล้อม
ภาคใต้
กองกำลังยูเครนยังคงปฏิบัติในบริเวณตอนเหนือ-ตะวันออก ของแคว้นเคอร์ซอน ต่อไป และกองกำลังรัสเซียซึ่งกำลังพยายามปิดล้อมจำกัดการปฏิบัติการของฝ่ายยูเครนนี้ ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอินฮูเลตส์ ได้ละทิ้งสะพานข้ามแม่น้ำไปหลายแห่ง
ในเวลานี้ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่าเรื่องนี้จะหมายถึงการไล่ต้อนโอบล้อมกองกำลังยูเครนใดๆ ก็ตามทีซึ่งอยู่ทางซีกตะวันออกของแม่น้ำหรือไม่ สำหรับกองกำลังรัสเซียทั่วทั้งพื้นที่ภาคใต้ของการปฏิบัติการ ยังคงดำเนินการสร้างที่มั่นเพื่อการป้องกันและตั้งมั่นอยู่กับที่ พร้อมกับระดมถล่มปืนใหญ่และจรวดอย่างหนักหน่วงไปยังทิศทางเมืองมิโคลาอีฟ ทั้งนี้ตามรายงานช่วงเช้าวันที่ 3 มิถุนายนของคณะเสนาธิการใหญ่ยูเครน (Ukrainian General Staff หรือ UGS)
ทางภาคใต้เช่นเดียวกัน มีรายงานว่ากองกำลังรัสเซียกำลังเคลื่อนย้ายอาวุธต่อสู้อากาศยาน อุปกรณ์ทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องยิงจรวด มายังเกาะงู (Snake Island) เกาะเล็กๆ ของยูเครนที่ตั้งอยู่ในทะเลดำ และอยู่ใกล้ๆ กับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำดานูบ
ผลประเมินสุทธิ
ตามความเห็นของแหล่งข่าวทั้งของสหรัฐฯ และของนาโต้หลายๆ ราย ยุทธการดอนบาสส์ (Battle of the Donbass) คราวนี้จะสิ้นสุดลงภายในระยะเวลาเป็นสัปดาห์ คำถามอยู่ที่ว่าทรัพย์สินของฝ่ายยูเครนในจำนวนที่สำคัญจะสามารถถอนตัวออกจากพื้นที่วงล้อม (หรือ “กาต้มน้ำ” cauldron, kettle) ซึ่งมีหลักหมายสำคัญทางด้านตะวันออกคือเมืองซีวีโรโดเนตสก์ และด้านด้านตะวันตกได้แก่แนวเส้นลากเชื่อมระหว่างเมืองอีซุม (Izium)-เมืองสโลเวียนสก์ (Sloviansk)-เมืองโปปอสนา
เมื่อแนวเส้นดังกล่าวสถาปนาขึ้นมาแล้ว พวกผู้สังเกตการณ์ ณ กองบัญชาการกองทหารสหรัฐฯ ในยุโรป คาดหมายกันว่ารัสเซียจะหันความสนใจไปทางภาคใต้ และเดินหน้าเข้าตีเมืองโอเดสซา ทั้งนี้รายงานของสำนักข่าวทาสส์ในเรื่องเรือยกพลขึ้นบก (เรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก) ก็ดูสอดคล้องกับการคาดหมายเช่นนี้
สิ่งที่ดูเหมือนจะชัดเจนแล้วก็คือว่า การจัดส่งพวกระบบจรวดหลายลำกล้อง (MLRS) พิสัยปานกลางรุ่นล้ำสมัยไปให้ยูเครน ถึงอย่างไรก็จะอยู่ในอาการน้อยเกินไปและสายเกินไปกว่าที่จะส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ทางทหารในอนาคตอันใกล้
เราขออ้างอิงคำกล่าว -อย่างตรงไปตรงมา- ของแหล่งข่าวกองทัพบกเพนตากอนรายหนึ่ง ดังนี้:
“เมื่อไม่มีลูกจรวด ATACMS พิสัยทำการได้ไกลที่สุดของระบบ (HIMARS) คือ 50 ไมล์ มันไม่มีอันตรายใดๆ เลยที่มันจะถูกใช้ไปยิงถล่มรัสเซีย เนื่องจากมันจะถูกกำจัดไปในเวลาไม่กี่นาทีเมื่อมันยิงซัลโวออกไปชุดแรก หน่วยตอบโต้ของรัสเซียจะยิงสวนกลับมาทำลายมันอย่างรวดเร็วมาก
(ATACMS หรือ Army Tactical Missile System ขีปนาวุธชนิดยิงจากภาคพื้นสู่ภาคพื้น ผลิตโดยบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน ในสหรัฐฯ มีพิสัยยิงได้ไกลจนถึง 190 ไมล์ หรือ 310 กิโลเมตร ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/MGM-140_ATACMS -ผู้แปล)
“นอกจากนั้นแล้ว ทางยูเครนจะสามารถใช้งานมันได้ยังไงกันนี่ ถ้าหากพวกเขายังไม่ได้ผ่านการฝึกอย่างครอบคลุมในสหรัฐฯ เป็นต้นว่าคนขับยาน HIMARS คนหนึ่งๆ จะต้องปฏิบัติภารกิจเฉพาะต่างๆ คิดคร่าวๆ ก็ราวๆ 1,000 ภารกิจทีเดียวนะในระหว่างการปฏิบัติการ ภารกิจเหล่านี้ต้องอาศัยการจดจำเอาไว้ให้ได้ทั้งนั้น การฝึกคนขับนะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 อาทิตย์ เพราะหน่วยปฏิบัติการของ HIMARS แต่ละหน่วยจะต้องได้รับการฝึกให้ยิง แล้วเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งใหม่ทันทีเพื่อหลีกหนีไม่ให้ถูกทำลาย จากนั้นก็ยิงออกไปอีกชุดหนึ่ง
“เอาคนอเมริกันมาเป็นคนปฏิบัติการระบบเหล่านี้เสียเลยได้ไหม? แต่มันจะสื่อสารเชื่อมโยงกันยังไงล่ะ? ใครจะเป็นคนรวบรวมและกลั่นกรองข้อมูลสำหรับการสั่งยิงล่ะ? จะเอาลูกจรวดมาเพิ่มเติมให้ระบบกันยังไง? HIMARS สามารถที่จะยิงจรวดออกไปได้เป็นร้อยๆ ลูกเลยนะในเวลา 1 ชั่วโมง
“คุณจำเป็นต้องมี HIMARS อาจจะสัก 100 ชุด เพื่อให้เกิดผลกระทบอย่างแท้จริงขึ้นมา เราเองตอนนี้ยังมีอยู่เพียง 358 ชุดเท่านั้น”
คำถามเดียวกันนี้ แน่นอนทีเดียวว่า สามารถใช้ถามกับระบบ MARS2 ของเยอรมนีได้เช่นกัน
อย่างน้อยที่สุด คำถามเรื่องการคุ้มครองป้องกันระบบ MLRS ก็มีคำตอบออกมาแล้วเป็นบางส่วน จากคำมั่นสัญญาที่จะจัดส่ง IRIS-T-SLM ระบบป้องกันภัยทางอากาศล้ำสมัยที่สุดของเยอรมนีมาให้ยูเครน
แต่ระบบพวกนี้มีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่าระบบ MLRS อย่างมหาศาล และเรียกร้องระยะเวลาในการฝึกอย่างครอบคลุม แหล่งข่าวฝ่ายทหารเยอรมนีรายหนึ่งซึ่งกำลังทำงานเรื่องการจัดส่งระบบ IRIS ไปให้อียิปต์ บอกว่า “อาจจะสักเดือนพฤศจิกายนปีนี้มั้ง” เมื่อขอให้ประเมินช่วงเวลาที่จะพรักพร้อมนำเอาระบบนี้เข้าประจำการใช้งาน