xs
xsm
sm
md
lg

ข้อตกลงยุติสงครามใน ‘ยูเครน’ ยังไม่สามารถเดินหน้า แม้สหรัฐฯ ดิ้นหนักหลังรัสเซียทำท่าได้เปรียบในสมรภูมิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


ขบวนยานเกราะของกองกำลังอาวุธโปรรัสเซีย เคลื่อนไปตามถนนสายหนึ่งในเมืองมาริอูโปล เมืองท่าทางภาคใต้ของยูเครน เมื่อวันที่ 21 เมษายน ทั้งนี้ หลังจากที่ฝ่ายรัสเซียยึดเมืองนี้ได้อย่างเด็ดขาดชัดเจนแล้ว เรื่องเล่าของสื่อตะวันตกก็พูดถึงสถานการณ์การสู้รบในยูเครน ในลักษณะยอมรับว่ารัสเซียกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ โดยเฉพาะทางภาคใต้และภาคตะวันออก
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

No traction for a war-ending deal in Ukraine
By STEPHEN BRYEN
28/05/2022

เมื่อรัสเซียกำลังทำท่าเป็นฝ่ายได้เปรียบในสมรภูมิที่ยูเครน สหรัฐฯ ก็มีความพยายามเร่งรัดให้เกิดการหยุดยิงสงบศึก ทว่าอะไรๆ ดูจะยังไม่ใช่คลี่คลายกันได้ง่ายๆ

ขณะที่สหรัฐฯ ตอนนี้กำลังเฉลิมฉลองช่วงสุดสัปดาห์วันทหารผ่านศึก (Memorial Day) (สำหรับปีนี้คือช่วง 27-29 พ.ค.) ของตน เพื่อรำลึกถึงบรรดาวีรชนผู้เสียชีวิตในสงครามครั้งต่างๆ อยู่นั้น สถานการณ์ในยูเครนก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง

เมื่อสัก 1 สัปดาห์ที่แล้วนี้เอง พวกผู้นำยูเครนยังแสดงความมั่นอกมั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถขับไล่กองกำลังฝ่ายรัสเซียให้พ้นไปจากดินแดนของยูเครน แต่มาถึงเวลานี้ดูเหมือนว่าพวกเขากำลังจะประสบความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งหมายถึงพื้นที่ในภาคตะวันออกยูเครนที่แผ่คลุมลงมาจนจดทะเลอาซอฟและถัดจากนั้น

ถ้าหากรัสเซียสามารถทำให้กองทหารส่วนหลักของกองทัพยูเครนต้องปราชัย หรือทำให้พวกเขาติดกับถูกโอบล้อมในการปฏิบัติการที่กำลังเผยโฉมให้เห็นกันอย่างจะจะแล้ว มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ยูเครนจะต้องยอมเจรจาทำความตกลงกับรัสเซีย

ทั้งหมดเหล่านี้อาจเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อพวกสื่อสหรัฐฯ และสื่อยุโรป ได้เริ่มต้นรายงานเรื่องราวจริงๆ ของการสู้รบที่กำลังเกิดขึ้น หลังจากที่หลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาเอาแต่คัดลอกการโฆษณาชวนเชื่อของยูเครนซึ่งใส่สีตีไข่ว่าฝ่ายตนกำลังบดบี้สังหารกองกำลังฝ่ายรัสเซียอย่างไรบ้าง

ถึงตอนนี้ สถานการณ์พลิกกลับตาลปัตรเสียแล้ว พวกผู้นำในสหรัฐฯ และในนาโต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหราชอาณาจักร น่าที่จะตกอยู่ในอาการเป็นทุกข์เป็นร้อนเกือบเท่าๆ กับทางยูเครนทีเดียว

ไม่ว่าข้อตกลงเพื่อการสงบศึกและไปสู่สันติภาพจะออกมาอย่างไรก็ตาม มันก็น่าจะต้องเป็นข้อตกลงซึ่งฝ่ายรัสเซียยอมเปิดไฟเขียวให้ และดังนั้นฝ่ายตะวันตกจะต้องอยู่ในอาการตาฟกช้ำดำเขียวครั้งใหญ่อีกครั้ง ขณะที่การเข้าเป็นสมาชิกนาโต้จะมีเสน่ห์ดึงดูดใจน้อยลงๆ

สหรัฐฯ กำลังเร่งรีบส่งอาวุธประเภทใหม่ๆ ไปให้ยูเครน รวมทั้งจรวด HIMARS (High Mobility Artillery Rocket System) ซึ่งเป็นระบบจรวดหลายลำกล้องติดตั้งบนรถบรรทุกที่มีความคล่องตัวสูง และยิงเข้าเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ อาวุธเหล่านี้ต้องตัดแบ่งเอามาจากคลังสงครามแห่งต่างๆ ซึ่งอาจทำให้สมรรถนะทางทหารของสหรัฐฯ ในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออก ต้องอ่อนแอลงไปมากทีเดียว

ทว่าแม้กระทั่งถ้าสหรัฐฯ ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวในการจัดส่ง HIMARS บางทีมันก็อาจสายเกินไปเสียแล้วสำหรับการเสริมพลังต้านทานของยูเครน ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายรัสเซียเตือนแล้วว่าต้องมีราคาที่จะต้องจ่ายกันแน่นอน หากมีการจัดส่งและมีการติดตั้งประจำการจรวดประเภทนี้

ไม่ว่ายังไง ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กำลังตระเตรียมหาลู่ทางอยู่เหมือนกันเพื่อให้สามารถทำข้อตกลงกับฝ่ายรัสเซียได้ อย่างไรก็ตาม เขาจะทำได้สำเร็จจริงๆ หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีความชัดเจนเอาเลย

ตัวเซเลนสกีกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่แปลกประหลาดเอาการ ข่าวดีเรื่องหนึ่งสำหรับเขา ได้แก่ การที่กองทหารซึ่งสามารถที่จะสร้างแรงกดดันภายในประเทศอย่างมหาศาลต่อตัวเขา อันได้แก่กองพลน้อยอาซอฟ (Azov Brigade) ของพวกชาตินิยมสุดโต่งนั้น เวลานี้ส่วนใหญ่อยู่ในค่ายเชลยศึกของฝ่ายรัสเซียแล้ว ภายหลังพ่ายแพ้ยับเยินที่เมืองมาริอูโปล

ผู้คนเหล่านี้ไม่น่าที่จะได้กลับคืนสู่การปฏิบัติการอะไรต่างๆ ได้ในเร็ววันหรอก เวลาเดียวกันนั้น เซเลนสกีก็ได้จับกุมคุมขังพวกฝ่ายค้านของเขาที่เป็นพวกโปรรัสเซียเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ออกแรงบีบคั้นพวกอื่นๆ จำนวนมากจนหน้าเขียวหน้าเหลือง ดังนั้นแนวรบด้านการทูตของยูเครนในเวลานี้จึงเป็นสมรภูมิอีกชนิดหนึ่งที่แตกต่างไปจากเมื่อก่อน

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน ของสหรัฐฯ ได้ต่อโทรศัพท์ไปหา เซียร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมของฝ่ายรัสเซีย โดยมีรายงานข่าวว่าเขาขอให้ชอยกูหยุดยิงในยูเครน

ต่อมาในวันที่ 19 พฤษภาคม ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ (General Mark Milley) ก็ต่อโทรศัพท์ไปหา พล.อ.วาเลรี เกราซิมอฟ (Valery Gerasimov) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับเดียวกับเขาของฝ่ายรัสเซีย รายละเอียดของการหารือระหว่างนายทหารใหญ่สองคนนี้ไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน แต่สามารถคาดคะเนได้ว่า มันน่าจะเป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของสหรัฐฯ ในการผลักดันให้มีการหยุดยิง

ทำไมจู่ๆ วอชิงตันจึงเกิดรีบร้อนต้องการให้มีการหยุดยิงในยูเครนกันถึงขนาดนี้? คำอธิบายอย่างหนึ่งที่ฟังขึ้นก็คือว่า พวกเขามองเห็นแล้วว่าฝ่ายรัสเซียกำลังเคลื่อนทัพเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งซึ่งทำให้กองทัพของยูเครนในดอนบาสติดกับตกอยู่ในวงล้อม โดยไม่มีทางหลุดออกมาได้ง่ายๆ

ทว่าแม้มีการติดต่อทางโทรศัพท์ 2 ครั้งแล้ว --ซึ่งกลายเป็นการติดต่อกันครั้งแรกระหว่างฝ่ายทหารของอเมริกากับของรัสเซียตั้งแต่ที่สงครามยูเครนเริ่มต้นขึ้น— ก็ไม่ได้มีการตกลงหยุดยิงอะไรกันอยู่ดี เรื่องนี้บางทีอาจกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกถึงอันตรายมากขึ้นไปอีกในวอชิงตัน และในหมู่พันธมิตรของสหรัฐฯผู้ซึ่งก็กำลังจัดส่งอาวุธจำนวนเป็นตันๆ ไปให้ยูเครน

เป็นเรื่องง่ายที่จะหลงลืมกันว่า เหตุผลส่วนหนึ่งซึ่งอยู่เบื้องหลังความมุ่งมั่นตั้งใจแบบแทบไร้เหตุผลของ ไบเดน เกี่ยวกับการสู้รบในยูเครนนั้น คือความต้องการที่จะปกปิดความล้มเหลวอย่างมโหฬารของเขาในอัฟกานิสถาน ซึ่งจุดเด่นสะดุดตาที่สุดก็คือการล่าถอยอย่างเร่งร้อนและโกลาหลอลหม่านของกองทหารอเมริกันเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ที่เป็นการเปิดทางให้พวกตอลิบานสามารถประกาศชัยชนะได้อย่างเด็ดขาดชัดเจน

หมากเด็ดที่ยูเครนของไบเดน ดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่ชาญฉลาดมากทีเดียว ถ้าหากไม่มองกันด้วยสายตาที่เยาะเย้ยถากถางกันจนเกินไป กล่าวคือ นาโต้ดูเหมือนจะสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เวลาเดียวกับที่สหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรของตนก็จัดส่งอาวุธไปให้ยูเครนด้วยฝีก้าวอันรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยทำกันมาก่อน ส่วนยูเครนก็ดูเหมือนกำลังขับไล่ผลักดันฝ่ายรัสเซียให้ถอยร่นกลับไป มันดูราวกับว่า ไบเดน สามารถที่จะเดินออกจากตรงนั้นในฐานะที่เป็นฮีโร่ระดับบิ๊ก โดยคล้องแขนก้าวอาดๆ ไปกับเซเลนสกีได้ทีเดียว

ไบเดน กระทั่งพากเพียรดิ้นรนที่จะเดินทางไปกรุงเคียฟ เพื่อจะได้ยืนเคียงข้างเซเลนสกีแบบตัวเป็นๆ ทว่าพวกแหล่งข่าวด้านข่าวกรองกลับรายงานเรื่องราวที่แตกต่างออกไป ดังนั้น ไบเดนจึงแค่ส่งภรรยาของเขาไปพบปะกับมิสซิสเซเลนสกี ขณะที่ตัวเขาเองยังคงอยู่ที่ทำเนียบขาว ในช่วงใกล้ๆ นั้นเอง รัฐมนตรีกลาโหมของเขา และประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของเขาก็ขอร้องฝ่ายรัสเซียให้ยุติการบุกและยินยอมตกลงหยุดยิง

บางทีพวกเขาอาจจะเสนอแรงจูงใจประการอื่นๆ ไปบ้างด้วย –เรายังคงไม่รู้กันหรอก –แต่ถึงยังไงรัสเซียก็ไม่มีทีท่าจะยอมกินเบ็ด

มีเหตุผลอย่างน้อยที่สุด 2 ประการที่ทำไมรัสเซียไม่เล่นด้วย ประการแรก และเป็นข้อที่สามารถเข้าใจได้ง่ายที่สุด ก็คือว่า พวกเขาคิดว่าสามารถที่จะพลิกผันออกจากความหายนะในยูเครนได้สำเร็จแล้วในท้ายที่สุด และกำลังมุ่งหน้าไปสู่ชัยชนะ

ประการที่สอง ซึ่งก็เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับประการแรก ก็คือตัวประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ต้องการที่จะได้ชัยชนะ ไม่ใช่เพียงแค่การหยุดยิงเท่านั้น ปูตินถูกกดดันหนักมากจากภายในประเทศ และตำแหน่งของเขาก็ตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างแรง ไม่ว่า ปูติน จะชนะหรือว่าเขาต้องพ้นอำนาจไป การหยุดยิงก็ให้ผลลบแก่เขาในทั้งสองกรณี

สำหรับฝ่ายยูเครนแล้ว เรื่องนี้มีความหมายว่าพวกเขาจะทำให้สงครามยุติลงได้ก็ต้องหลังจากมีการยินยอมทำข้อตกลงฉบับสมบูรณ์กันแล้วเท่านั้น ไม่ใช่ก่อนหน้านั้น เมื่อไปกันจนถึงจุดนั้นแล้ว การสู้รบจะยุติลง แบบเดียวกับที่เคยยุติลงเมื่อวันที่ 11 ของเดือนที่ 11 ในปี 1918 ตอนที่มีการสงบศึก โดยเยอรมนีตกลงยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

มีหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งทราบกันแน่นอนอยู่แล้วว่าฝ่ายรัสเซียต้องการ และยูเครนก็จะต้องหาหนทางเพื่อที่จะยอมรับ ความต้องการข้อใหญ่ที่สุดยิ่งกว่าเรื่องอื่นๆ เลยก็คือ ต้องไม่มีนาโต้ และก็ต้องไม่มีนาโต้จำแลงด้วยมาปรากฏตัวอยู่บนแผ่นดินของยูเครน เซเลนสกีได้เคยส่งสัญญาณเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าเขาเตรียมพร้อมที่จะยอมรับเรื่องนี้

แต่ฝ่ายรัสเซียยังอาจจะเรียกร้องเพิ่มมากขึ้นไปอีก และอาจต้องการให้ ยูเครน เข้ามาอยู่ในกลุ่มพันธมิตรเพื่อความมั่นคงที่แสนโปรดปรานของแดนหมีขาว ซึ่งรู้จักกันในนามว่า องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization หรือ CSTO) ที่เวลานี้ประกอบไปด้วย รัสเซีย อาร์เมเนีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน

ฝ่ายรัสเซียอาจต้องการให้กลุ่มพันธมิตรนี้มาแทนที่การเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของยูเครน โดยที่ CSTO ยังอาจเสนอให้หลักประกันด้านความมั่นคงแก่ยูเครนด้วย ถ้าหากยูเครนจะยอมรับกลุ่มพันธมิตรนี้

ทางเลือกอื่นที่อาจเป็นไปได้ ก็คือ ยูเครนอาจเสนอให้ใช้รูปแบบของการเชื่อมต่อกับ องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe หรือ OSCE) ซึ่งก็เป็นภาคีฝ่ายหนึ่งของข้อตกลงกรุงมินสก์ (Minsk agreement) ทั้งสองฉบับอยู่แล้ว จึงอาจถือได้ว่าเป็นองค์การที่มีเครดิตความน่าเชื่อถือทั้งสำหรับยูเครนและสำหรับรัสเซีย

แต่ทางเลือกนี้จะเป็นไปได้ก็ต้องให้ ปูติน ตกลงเห็นชอบเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อ CSCE ได้แสดงให้เห็นเสียแล้วว่าไม่มีความสามารถที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามการตกลงกันในส่วนสุดท้ายของข้อตกลงกรุงมินสก์ฉบับที่ 2 (ปี 2015) จนกลายเป็นการเปิดประตูให้นาโต้และสหรัฐฯ เข้าฝึกอบรมและจัดหาจัดส่งยุทธสัมภาระต่างๆ แก่กองทหารยูเครน รวมทั้งเริ่มจัดตั้งฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศสำหรับนาโต้ขึ้นบนดินแดนของยูเครน

นอกเหนือจากเรื่องต้องไม่มีนาโต้ และความเป็นไปได้ในเรื่องการค้ำประกันด้านความมั่นคงแล้ว ยังมีคำถามที่ยากลำบากอีก 2 เรื่อง หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานะของ “สาธารณรัฐ” ทั้งสอง นั่นคือ สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ และสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์

รัสเซียเพิ่งประกาศรับรองว่าพื้นที่ทั้ง 2 แห่งนี้เป็นรัฐเอกราช เพียงไม่นานก่อนที่จะบุกรุกรานยูเครน ก่อนหน้านั้น สถานะของพวกเขาอยู่ในสภาพของการรอคอยหนทางแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงกรุงมินสก์ 2 โดยที่ข้อตกลงดังกล่าวให้สัญญาว่าพื้นที่ทั้งสองจะต้องมี “อำนาจปกครองตนเอง” –ทว่าเป็นอำนาจปกครองตนเองซึ่งเป็นจริงขึ้นมา ด้วยความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของยูเครน อีกทั้งสนับสนุนด้วยกฎหมายของยูเครนที่บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ (นั่นคือยูเครนต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนมีการออกกฎหมายเพื่อรับรองอำนาจปกครองตนเองของ ลูฮันสก์ และโดเนตสก์)

ข้อเรียกร้องเช่นนี้จะยังคงวางอยู่บนโต๊ะเจรจาไม่ว่าในรูปแบบลักษณะใดหรือไม่นั้น คือคำถามที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลาย มีข้อที่สมควรต้องระลึกเอาไว้ว่าหนึ่งในประเด็นทางวัฒนธรรมที่สำคัญมากซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อภูมิภาคดอนบาสก็คือว่า ดินแดนทั้งสองนี้เป็นพื้นที่ของยูเครนส่วนซึ่งมีผู้คนพูดภาษารัสเซียพำนักอาศัยกันเป็นจำนวนมาก (หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นเช่นนั้นในช่วงก่อนเกิดสงครามคราวนี้)

รัฐสภายูเครนได้ออกมาตรการห้ามไม่ให้ใช้ภาษารัสเซียในการติดต่อสื่อสารทางราชการทุกๆ อย่าง รวมทั้งในโรงพยาบาล ธนาคาร และสถานที่สาธารณะอื่นๆ แล้วยังสั่งยุติ ห้ามสอนภาษารัสเซียในโรงเรียนทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้มีการประกาศกันว่าโรงเรียนซึ่งอยู่ในเมืองมาริอูโปล หรืออย่างน้อยที่สุดพวกโรงเรียนที่ยังอยู่รอดมาได้ภายหลังจากชัยชนะของรัสเซีย ถึงตอนนี้จะสอนภาษารัสเซียกันอีกครั้งหนึ่ง

คำถามยากลำบากประเด็นที่ 2 เป็นเรื่องเกี่ยวกับดินแดนของสาธารณรัฐ 2 แห่งนี้ ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามผลลัพธ์ของสงคราม ถ้าสองพื้นที่นี้แยกขาดออกจากยูเครนอย่างสิ้นเชิง พวกเขาก็จะมีขนาดใหญ่โตเพิ่มขึ้นมากมาย หากยูเครนถูกบังคับจนต้องยินยอมรับรองว่าเส้นพรมแดนระหว่างการสงบศึก เป็นเส้นเขตแดนถาวรระหว่างสองภูมิภาคนี้กับยูเครน

แน่นอนทีเดียว มันจะเป็นปัญหาน้อยกว่านี้ถ้าภูมิภาค 2 แห่งนี้มีฐานะเป็นดินแดนปกครองตนเองเท่านั้น แต่เรื่องนั้นคือสิ่งที่บรรลุถึงได้ยากลำบากกว่าเดิมมากมายเสียแล้วในตอนนี้ เพราะว่าตอนระหว่างปี 2015 จนถึงปัจจุบันนั้น มันไม่ได้มีการเจราจาหารืออย่างจริงจังอะไรเลยในเรื่องอำนาจปกครองตนเองภายใต้กรอบของข้อตกลงกรุงมินสก์

นอกจากนี้แล้วยังน่าที่จะมีประเด็นปัญหาอื่นๆ อีกเยอะทีเดียว ฝ่ายรัสเซียจะต้องเรียกร้องให้มีกระบวนการลดความเป็นรัฐทหารในยูเครนลงมาในบางรูปแบบ แต่แน่นอนอยู่แล้วว่ายูเครนจะต้องพยายามหาทางหลีกเลี่ยงจากผลลัพธ์ชนิดนั้น เวลาเดียวกัน ยูเครนก็จำเป็นจะต้องได้รับการผ่อนปรนในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความสามารถที่จะลำเลียงธัญญาหารและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ โดยทางเรือผ่านไปตามทะเลดำ ส่วนการขนส่งน้ำมันและก๊าซของรัสเซียผ่านไปตามสายท่อส่ง ซึ่งมีวางพาดผ่านดินแดนของยูเครนอยู่แล้ว ต้องถือเป็นประเด็นปัญหาทางการค้าที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งเช่นกันที่จำเป็นต้องแก้ไขกันให้ลุล่วง

ยังมีอะไรอื่นๆ อีกมากมาย และการตกลงรอมชอมกันจำเป็นจะต้องรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้น ทั้งนี้ไม่ว่า เซเลนสกี หรือปูติน ต่างไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ยาวนานไปจนตลอด ถ้าหากกระบวนการทางการทูตในเรื่องนี้เป็นไปอย่างยาวนานและยืดเยื้อ แต่ละคนต่างก็มีศัตรูอยู่ภายในกันทั้งนั้น และมีเวลาทำอะไรได้จริงๆ เพียงแค่สั้นๆ

มันยังห่างไกลนักที่จะพูดได้อย่างมั่นใจว่าสงครามกำลังจะยุติลง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันอาจจะลากยาวต่อไปอีกเป็นปีๆ ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องสูญเสียชีวิตผู้คนไปอีกเป็นพันเป็นหมื่น โดยที่ ยูเครน อยู่ในสภาพที่เสียหายยับเยินไปเรียบร้อยแล้ว และการฟื้นฟูบูรณะก็จะเป็นเรื่องลำบาก รวมทั้งต้องมีค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว

เหนือสิ่งอื่นใดเลย ขณะที่ ยูเครน อาจจะมีลู่ทางโอกาสในการระดมหาเงินทุนจากโลกตะวันตก แต่รัสเซียย่อมไม่มีช่องทางเช่นนั้นเลย ในกรณีของทั้ง 2 ประเทศนี้ เรากำลังพิจารณากันเป็นทศวรรษๆ โดยสมมติว่าการสู้รบสิ้นสุดลง และต้องการฟื้นฟูการดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติขึ้นมาใหม่ในยูเครน ที่เวลานี้แหลกเป็นเสี่ยงๆ เสียแล้วเพราะสงคราม

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเรื่องยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีด้านความมั่นคง เขาเคยดำรงตำแหน่งระดับอาวุโสในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เคยเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมระหว่างปี 1981-1988) รัฐสภาสหรัฐฯ ตลอดจนเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทด้านกลาโหมและเทคโนโลยีนานาชาติขนาดใหญ่ ปัจจุบันเขาเขียนเรื่องให้แก่เอเชียไทมส์, American Thinker, Jewish Policy Center ตลอดจนหนังสือพิมพ์และนิตยสารอื่นๆ จำนวนมาก เขายังเขียนหนังสือในหัวข้อความมั่นคงที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วรวม 4 เล่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น