xs
xsm
sm
md
lg

‘นิวยอร์กไทมส์’ ชี้ชัดๆ อย่าหวังชนะเด็ดขาดเหนือรัสเซียในยูเครน เปิดเจรจาสันติภาพดีกว่า เคียฟอาจต้องยอม ‘เสียสละ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: จอห์น วอลช์ ***


ภาพถ่ายจากวิดีโอเผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมรัสเซียเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2022 แสดงให้เห็นพวกนักรบยูเครนถูกกองกำลังโปรรัสเซียตรวจค้น ภายหลังพวกเขายอมจำนนและออกมาจากโรงงานเหล็กกล้าอาซอฟสตัล ในเมืองมาริอูโปล การทยอยออกมายอมแพ้ของนักรบยูเครนเหล่านี้ เท่ากับฝ่ายรัสเซียยึดเมืองท่าสำคัญทางภาคใต้ยูเครนแห่งนี้ได้อย่างเด็ดขาด
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

NYT repudiates drive for ‘decisive military victory’ in Ukraine
By JOHN WALSH
23/05/2022

คณะบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ เขียนเอาไว้ชัดๆ ว่า ยูเครนต้องยอมเจรจาสันติภาพ โดยยึดโยงอยู่กับ “การประเมินสถานการณ์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง และตระหนักรับรู้ถึง “ข้อจำกัดต่างๆ” ในคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ/นาโต้

ประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเราตั้งข้อสังเกตกัน [1] ว่า รายงานข่าวชิ้นหนึ่งของ นิวยอร์กไทมส์ ฉบับเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม เป็นการบันทึกหลักฐานที่แสดงว่า อะไรๆ ในยูเครนเวลานี้ไม่ใช่ว่าไปได้สวยสำหรับสหรัฐฯไปเสียทั้งหมดหรอก นอกจากนั้นในหนังสือพิมพ์ฉบับวันดังกล่าวยังเสนอบทความชิ้นหนึ่ง ซึ่งบอกเป็นนัยๆ ว่าอาจจะกำลังมีการปรับเปลี่ยนทิศทางกันอยู่

ทีนี้มาถึงวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา “คณะบรรณาธิการ” (The Editorial Board) ซึ่งเป็นคณะเต็มๆ ของผู้มีอำนาจด้านบรรณาธิการของนิวยอร์กไทมส์ ก็ได้ก้าวออกมาจากการแอบแฝงทำอะไรอย่างอ้อมๆ มาเป็นการป่าวร้องอย่างเสียงดังฟังชัดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องทิศทาง ด้วยการตีพิมพ์บทบรรณาธิการที่ใช้ชื่อเรื่องอย่างชนิดไม่ต้องให้ตีความคาดเดากันเลยว่า “สงครามกำลังอยู่ในภาวะยุ่งยากซับซ้อน และอเมริกาก็ไม่พรักพร้อม” (The War Is Getting Complicated, and America Isn’t Ready) [2]

ในบทบรรณาธิการชิ้นนี้ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในตำแหน่งข้างบนสุดของหน้าทัศนะ-ความเห็น ในหนังสือพิมพ์ คณะบรรณาธิการนิวยอร์กไทมส์ประกาศว่า “การเอาชนะอย่างสมบูรณ์” เหนือรัสเซียนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และยูเครนจะต้องเจรจาทำสันติภาพในหนทางซึ่งสะท้อนถึง “การประเมินอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง” และสะท้อนถึง “ข้อจำกัดต่างๆ” ในคำมั่นสัญญาในพันธะความผูกพันของสหรัฐฯ ทั้งนี้ดังที่ทราบกันว่า นิวยอร์กไทมส์คอยทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้จัดวางกำหนดกรอบความคิดเห็นของสาธารณชนสำหรับพวกชนชั้นนำ และดังนั้นการออกมาแถลงของสื่อทรงอิทธิพลฉบับนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถดูเบาคิดว่าไม่สลักสำคัญอะไร

ชาวยูเครนจะต้องปรับตัว จะต้องยอมเสียสละ

บทบรรณาธิการ หรือก็คือ แถลงการณ์ของคณะบรรณาธิการนิวยอร์กไทมส์ชิ้นนี้ บรรจุไว้ด้วยย่อหน้าสำคัญๆ ดังต่อไปนี้:

“เมื่อเดือนมีนาคม คณะบรรณาธิการนี้ได้เสนอความคิดเห็น [3] เอาไว้ว่า ข้อความจากสหรัฐฯ และพันธมิตรของสหรัฐฯ ซึ่งส่งออกไป ไม่ว่าถึงชาวยูเครนหรือชาวรัสเซียนั้น จักต้องระบุว่า: ไม่ว่าจะต้องใช้เวลายาวนานแค่ไหนก็ตามที ยูเครนจะต้องเป็นอิสระเสรี”

“เป้าหมายดังกล่าวนี้ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ กระนั้น สำหรับการถลำลงไปสู่การทำสงครามแบบสุดตัวกับรัสเซีย ย่อมไม่ใช่การรักษาผลประโยชน์ของอเมริกาเอาไว้ได้อย่างดีที่สุดหรอก ถึงแม้ว่าสันติภาพซึ่งจะได้มาจากการเจรจากันนั้นอาจเรียกร้องต้องการให้ยูเครนต้องมีการตัดสินใจอย่างยากลำบากบางอย่างบางประการ” (ผู้เขียน –จอห์น วอลช์ -- เป็นผู้ที่เน้นข้อความให้เด่นชัดขึ้น ด้วยการใช้อักษรตัวหนาและตัวเอน)

เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรที่กำกวมคลุมเครือ คณะบรรณาธิการนิวยอร์กไทมส์ ถึงกับประกาศชัดๆ ดังนี้:

“การตั้งเป้าหมายว่า ยูเครนจะมีชัยชนะในทางการทหารอย่างเด็ดขาดเหนือรัสเซีย โดยที่ยูเครนช่วงชิงเอาดินแดนทั้งหมดซึ่งรัสเซียยึดเอาไปนับตั้งแต่ปี 2014 กลับคืนมานั้น เป็นเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ... รัสเซียยังคงอยู่ในสภาพที่แข็งแกร่งเกินไป”

เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และฝ่ายยูเครน มีความเข้าอกเข้าใจถึงสิ่งที่พวกเขาควรต้องกระทำ คณะบรรณาธิการเขียนเอาไว้อย่างแจ่มแจ้งดังนี้:

“มิสเตอร์ไบเดนยังควรสร้างความกระจ่างชัดเจนแก่ตัวประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี และผู้คนของเขาว่า มันมีข้อจำกัดในเรื่องที่ว่าสหรัฐฯ และนาโต้จะไปได้ไกลถึงขนาดไหนในการเผชิญหน้ากับรัสเซีย และมีข้อจำกัดในเรื่องความช่วยเหลือด้านอาวุธ เงินทอง และความสนับสนุนด้านการเงิน ซึ่งพวกเขาอาจสามารถรวบรวมเอามาได้ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ว่าการตัดสินใจต่างๆ ของรัฐบาลยูเครนจักต้องยึดโยงอยู่กับการประเมินอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง เกี่ยวกับวิธีการต่างๆ และความหายนะอีกกี่มากน้อยที่ยูเครนสามารถแบกรับไหว” (ผู้เขียนเป็นผู้เน้นข้อความให้เด่นชัดยิ่งขึ้น)

ขณะที่ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี อ่านข้อความเหล่านี้ แน่นอนทีเดียวเขาจะต้องเริ่มมีอาการเหงื่อแตก น้ำเสียงของพวกเจ้านายของเขากำลังบอกกับเขาว่า เขาและยูเครนจะต้องยอมเสียสละอะไรบางอย่างเพื่อให้สหรัฐฯ รักษาหน้าเอาไว้ได้ ขณะที่เขาขบคิดพิจารณาทางเลือกต่างๆ ของเขา แน่นอนทีเดียวว่าความคิดของเขาจะต้องย้อนกลับไปถึงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014 และการทำรัฐประหารยึดอำนาจสืบเนื่องจากการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสไมดาน (Maidan coup) ในกรุงเคียฟ ซึ่งสหรัฐฯ หนุนหลัง ทั้งนี้การประท้วงดังกล่าวขึ้นไปถึงจุดสูงสุดด้วยการที่ประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) รีบร้อนออกไป ทั้งไปจากตำแหน่งของเขา ไปจากประเทศของเขา และเกือบๆ จะไปจากโลกนี้อีกด้วย

สงครามที่ใช้ยูเครนเป็นตัวแทน มีอันตรายมากเกินไป

ในสายตาของคณะผู้เขียนบทบรรณาธิการของนิวยอร์กไทมส์ชิ้นนี้ สงครามที่กำลังเกิดขึ้นมาได้กลายเป็นสงครามตัวแทนที่สหรัฐฯ ใช้มาต่อสู้คัดค้านรัสเซีย โดยกำลังเอาชาวยูเครนเป็นเหยื่อสังเวยกระสุน – และมันก็กำลังอยู่ในอาการห้อตะบึงอย่างบังคับควบคุมไม่ได้ พวกเขาเขียนเอาไว้ดังนี้:

“ชั่วขณะปัจจุบันคือชั่วขณะแห่งความสับสนวุ่นวายในการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะใช้อธิบายได้ว่าทำไมประธานาธิบดีไบเดนและคณะรัฐมนตรีของเขา จึงอยู่ในอาการลังเลไม่ต้องการที่จะระบุเป้าหมายต่างๆ ให้ชัดเจน”

“สหรัฐฯ และนาโต้กำลังเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันอยู่อย่างล้ำลึกเรียบร้อยแล้ว ทั้งในทางการทหารและในทางเศรษฐกิจ ความคาดหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงยังอาจดึงลากพวกเขาให้ถลำลงลึกยิ่งขึ้นและเข้าสงครามที่สู้รบกันอย่างเต็มพิกัดและมีค่าใช้จ่ายแพงลิบลิ่ว”

“พวกคำแถลงชวนทะเลาะวิวาททั้งหลายจากวอชิงตันเมื่อเร็วๆ นี้ – อย่างการที่ประธานาธิบดีไบเดน ยืนกรานว่า (ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์) ปูติน เป็นผู้ที่ ‘ไม่สามารถปล่อยให้อยู่ในอำนาจได้ต่อไป’[4] หรือรัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน แสดงความเห็นว่า ต้องทำให้รัสเซีย “อ่อนแอ” [5] ตลอดจนคำมั่นของประธานสภาผู้แทนราษฎร แนนซี เปโลซี ที่ว่า สหรัฐฯ จะสนับสนุนยูเครน ‘จนกระทั่งได้ชัยชนะ’ [6] –อาจจะเป็นคำประกาศแสดงความสนับสนุนที่ฟังแล้วรู้สึกเร้าใจ ทว่ามันไม่ได้ทำให้การเจรจาตกลงกันขยับใกล้เข้ามาแต่อย่างใดทั้งสิ้น”

ขณะที่นิวยอร์กไทมส์ด้อยค่าถือว่าคำแถลงเหล่านี้เป็นเพียง “คำประกาศแสดงความสนับสนุนที่ฟังแล้วรู้สึกเร้าใจ” แต่มันก็เป็นที่ชัดเจนเหลือเกินว่า สำหรับพวกนีโอคอน (พวกอนุรักษนิยมใหม่) ซึ่งรับผิดชอบนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ อยู่ในเวลานี้ เป้าหมายที่พวกเขาคิดกันเอาไว้มาโดยตลอดก็คือ การทำให้เกิดสงครามตัวแทนที่จะดึงให้รัสเซียตกต่ำล่มจม นี่จึงไม่ใช่สงครามที่กลายเป็นสงครามตัวแทน หากแต่เป็นสงครามตัวแทนมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นแล้ว

พวกนีโอคอนดำเนินการโดยยึดอยู่กับ “หลักการวูลโฟวิตซ์” (Wolfowitz Doctrine) ที่มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนเมื่อปี 1992 ไม่นานนักหลังสงครามเย็น 1.0 สิ้นสุดลง โดยผู้ประกาศคือ พอล วูลโฟวิตซ์ (Paul Wolfowitz) พวกอนุรักษนิยมใหม่ที่เวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (undersecretary of defense) โดยเขาบอกว่า:

“เราต้องพากเพียรพยายามป้องกันไม่ให้มหาอำนาจผู้เป็นปรปักษ์ไม่ว่ารายใดก็ตาม สามารถเข้าครอบงำภูมิภาคหนึ่งใด ซึ่งมีทรัพยากรต่างๆ ที่เมื่อนำมาควบคุมรวมศูนย์กันแล้ว ก็จะเพียงพอสำหรับการถือกำเนิดเป็นมหาอำนาจระดับโลกขึ้นมาได้”

“เราต้องธำรงรักษากลไกสำหรับการป้องปรามพวกที่อาจจะเป็นคู่แข่งทั้งหลาย ไม่ให้แม้กระทั่งมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้น หรือเป็นมหาอำนาจระดับโลกขึ้นมา”

ชัดเจนทีเดียวว่า ถ้าหากรัสเซีย “แข็งแรงเกินกว่า” ที่จะทำให้กลายเป็นฝ่ายความปราชัยในยูเครนแล้ว รัสเซียในฐานะที่เป็นอภิมหาอำนาจรายหนึ่ง ก็ย่อมจะแข็งแรงเกินกว่าที่จะทำให้ตกต่ำล่มจม

ดังนี้เอง จากเดือนมีนาคมเมื่อมาถึงเดือนพฤษภาคม นิวยอร์กไทมส์จึงเปลี่ยนความคิดเห็น สิ่งที่เปลี่ยนไปมีอะไรบ้างล่ะ

หลังจากระยะเวลา 7 ปีของการสังหารเข่นฆ่าในภูมิภาคดอนบาส และระยะเวลา 3 เดือนของการทำสงครามในภาคใต้ของยูเครน ทำให้คณะบรรณาธิการของนิวยอร์กไทมส์ จู่ๆ ก็เกิดอารมณ์ความรู้สึกสะเทือนใจอันแรงกล้าท่วมท้นต่อบรรดาเหยื่อทั้งหมดทั้งปวงของสงครามคราวนี้และต่อยูเครนที่ถูกทำลายยับเยิน และดังนั้นจึงเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองกระนั้นหรือ? เมื่อพิจารณาจากประวัติผลงานของผ่านๆ มาเป็นหลายสิบปีของนิวยอร์กไทมส์แล้ว ปัจจัยประการอื่นๆ ดูเหมือนจะสามารถนำมาใช้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างหนักแน่นทรงพลังมากกว่า

ประการแรกก่อนอื่นใดเลย รัสเซียสามารถรับมือกับสถานการณ์ครั้งนี้ได้อย่างดีเกินความคาดหมาย เมื่อเปรียบเทียบกับคำทำนายอย่างเลวร้ายยิ่งจากโลกตะวันตก

ประธานาธิบดีปูตินได้รับความสนับสนุนจากภายในประเทศเกินกว่าระดับ 80%

ในจำนวนชาติสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ 195 ประเทศ มีถึง 165 ประเทศ ในจำนวนนี้ก็รวมถึงอินเดีย และจีน ที่รวมกันแล้วมีประชากรคิดเป็น 35% ของประชากรทั้งโลก ได้ปฏิเสธไม่เข้าร่วมการแซงก์ชันคว่ำบาตรรัสเซีย [7] ปล่อยให้สหรัฐฯ ต่างหาก ไม่ใช่รัสเซียหรอก อยู่ในสภาพค่อนข้างถูกโดดเดี่ยวในเวทีโลก

เงินรูเบิล ซึ่ง ไบเดน บอกว่าจะต้องกลายเป็นเศษขยะ ปรากฏว่าไม่เพียงหวนกลับขยับขึ้นมามีค่าในระดับของเมื่อช่วงก่อนเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น แต่ยังวิ่งเลยต่อไปอีกจนทำสถิติแข็งที่สุดในรอบ 2 ปี เวลานี้อยู่ที่ 59 รูเบิลต่อดอลลาร์ เปรียบเทียบกับอยู่ที่ 150 ตอนเดือนมีนาคม

รัสเซียกำลังคาดหมายว่าจะเก็บเกี่ยวพืชผลได้อย่างอุดมสมบูรณ์ และโลกก็กระหายที่จะได้รับข้าวสาลีและปุ๋ย น้ำมันและก๊าซ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่จะทำให้รัสเซียมีรายรับขึ้นมาอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง

สหภาพยุโรปก็ยอมจำนนกันเยอะแยะทีเดียวต่อข้อเรียกร้องของรัสเซียที่จะให้ชำระเงินค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล ขณะที่รัฐมนตรีคลัง เจเนต เยลเลน (Janet Yellin) ของสหรัฐฯ ส่งเสียงเตือนชาวยุโรปที่กำลังทำสิ่งที่เป็นการฆ่าตัวตายว่า การที่พวกเขาห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซียจะยิ่งสร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้นอีกให้แก่ระบบเศรษฐกิจทั้งหลายของโลกตะวันตก

กองกำลังอาวุธของฝ่ายรัสเซียนั้นกำลังสร้างความคืบหน้าอย่างช้าๆ แต่สม่ำเสมอในตลอดทั่วหลังภาคใต้และภาคตะวันออกของยูเครน หลังจากได้รับชัยชนะในเมืองมาริอูโปล ซึ่งจนถึงเวลานี้ถือเป็นสมรภูมิใหญ่ที่สุดของสงครามคราวนี้ ในทางกลับกัน ความพ่ายแพ้ที่มาริอูโปล ก็เป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของฝ่ายยูเครนเป็นอย่างยิ่ง

ในสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อซึ่งอยู่ในระดับที่สูงมากอยู่แล้วก่อนหน้าวิกฤตการณ์ยูเครน กำลังถูกขับดันให้ไต่สูงขึ้นไปอีก จนกระทั่งเลยระดับ 8% โดยที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เวลานี้กำลังยุ่งวุ่นวายกับการควบคุมมันให้อยู่ ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แล้วผลส่วนหนึ่งจากการนี้นั่นเอง ตลาดหลักทรัพย์จึงเคลื่อนไหวอยู่ในแดนหมีผู้ซึมเซา

ขณะที่สงครามครั้งนี้คืบหน้าไป ก็มีผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมเห็นดีเห็นงามกับ เบน เบอร์นันกี (Ben Bernanke) อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการทำนาย [8] ว่า อเมริกากำลังจะเผชิญกับช่วงเวลาของอัตราการว่างงานสูง อัตราเงินเฟ้อสูง และอัตราการเติบโตต่ำ –ซึ่งรวมๆ แล้วก็คือภาวะเศรษฐกิจชะงักงันควบคู่กับเงินเฟ้อสูง (stagflation) ที่น่ากลัวมากๆ

ภายในสหรัฐฯ เวลานี้มีสัญญาณหลายประการที่แสดงว่าแรงสนับสนุนสงครามคราวนี้กำลังเสื่อมถอยหดหาย เรื่องที่น่าตื่นตะลึงที่สุดก็คือ มี ส.ส.รีพับลิกัน 57 คน และ ส.ว.รีพับลิกัน 11 คน ออกเสียงคัดค้านแพกเกจงบประมาณล่าสุดของคณะบริหารไบเดนในการจัดส่งอาวุธไปให้ยูเครน โดยที่แพกเกจนี้ยังสอดแทรกเอาไว้ด้วยมาตรการเรียกคะแนนเสียงและขุมทรัพย์แอบแฝงสำหรับพวกนักค้ากำไรจากสงคราม

(น่าตื่นตะลึงมากที่ไม่มี ส.ส. หรือ ส.ว. เดโมแครต แม้แต่คนเดียว แม้กระทั่งในหมู่พวกที่ “ก้าวหน้า” ที่สุด โหวตคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ที่เป็นการราดน้ำมันลงบนกองไฟแห่งสงครามซึ่งกำลังลุกโชนอย่างน่ากลัวอยู่แล้วในยูเครน แต่นี่ย่อมเป็นเรื่องราวซึ่งต้องนำมาเล่ากันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก)

และในขณะที่มติมหาชนในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในข้างเห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯ จะเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันในยูเครน มันก็ปรากฏสัญญาณหลายอย่างของการลื่นไหลเคลื่อนออกไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น สำนักวิจัยพิว (Pew) รายงาน [9] ว่าระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม พวกที่มีความเห็นว่าสหรัฐฯยังคงกระทำอะไรต่างๆ ไม่เพียงพอในเรื่องยูเครนนั้น มีจำนวนลดน้อยลงไปเป็นลำดับ ขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจถดถอยพร้อมกับเงินเฟ้อพุ่งสูง ก็กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจกันมากกว่า สืบเนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินและราคาอาหารที่พุ่งขึ้นไม่หยุด แล้วก็มีการส่งเสียงของผู้คนอย่าง ทัคเกอร์ คาร์ลสัน (Tucker Carlson) และแรนด์ พอล (Rand Paul) ที่กำลังชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างอัตราเงินเฟ้อกับสงครามในยูเครน แน่นอนทีเดียวว่ากระแสการไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลกำลังเติบโตเพิ่มมากขึ้น
(ทัคเกอร์ คาร์ลสัน Tucker Carlson เป็นนักจัดรายการโทรทัศน์และนักวิจารณ์แสดงความเห็นผ่านสื่อ ซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม เขาเป็นพิธีกรของรายการทอล์กโชว์ทางการเมืองช่วงดึก ที่ใช้ชื่อว่า Tucker Carlson Tonight ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์ นิวส์ มาตั้งแต่ปี 2016 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Tucker_Carlson
(แรนด์ พอล Rand Paul เป็นนายแพทย์และนักการเมืองชาวอเมริกัน ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐเคนทักกี มาตั้งแต่ปี 2011 เขาสังกัดพรรครีพับลิกัน และเรียกตัวเองว่าเป็นพวกอนุรักษนิยมแนวยึดมั่นรัฐธรรมนูญ constitutional conservative อีกทั้งเป็นผู้สนับสนุนขบวนการทีปาร์ตี้ Tea Party movement ที่เคยมีอิทธิพลสูงมากในพรรครีพับลิกัน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Rand_Paul)

ท้ายที่สุด ขณะที่สงครามคราวนี้กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมชมชื่นน้อยลง อีกทั้งก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงมากขึ้น ความหายนะในการเลือกตั้งก็กลายเป็นสิ่งที่รอคอยอยู่เบื้องหน้าอย่างเห็นๆ สำหรับ โจ ไบเดน และพรรคเดโมแครต ซึ่งนิวยอร์กไทมส์คอยทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในปี 2022 (เลือกตั้ง ส.ส.ทั้งสภา ส.ว.บางส่วน ผู้ว่าการรัฐบางส่วน) หรือการเลือกตั้งในปี 2024 (เลือกตั้งประธานาธิบดี)

บทบรรณาธิการชิ้นนี้ของนิวยอร์กไทมส์ เป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงอันตรายในการกำหนดเป้าหมายแบบคนวิกลจริตของพวกอนุรักษนิยมใหม่

ในการอุทธรณ์เรียกร้องให้แสวงหาหนทางออกด้วยการเจรจากันตั้งแต่เดี๋ยวนี้นั้น มีส่วนที่เป็นความตื่นตระหนกรวมอยู่ด้วยไม่ใช่น้อย สหรัฐฯ กับรัสเซียต่างเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์รายใหญ่ของโลก โดยมีขีปนาวุธนิวเคลียร์จำนวนหลายพันลูกอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงกดปุ่มยิงออกไปเมื่อมีสัญญาณเตือนขึ้นมา (Launch On Warning หรือ low) หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า การระแวดระวังเตรียมพร้อมชนิดที่เมื่อมีสัญญาณเตือนแม้แต่นิดเดียวก็ลงมือปฏิบัติการกันทันที (Hair Trigger Alert) ทั้งนี้ในช่วงจังหวะเวลาที่ความตึงเครียดอยู่ในระดับสูงปรี๊ดนั้น ความเป็นไปได้ที่อาจเกิดอุบัติเหตุหรือมีความผิดพลาดอย่างไม่ได้ตั้งใจ แล้วเป็นชนวนให้เกิดการถล่มใส่กันด้วยนิวเคลียร์จนโลกาวินาศ ย่อมกลายเป็นเรื่องจริงของจริงที่ร้ายกาจสุดๆ

เป็นที่สงสัยข้องใจกันว่า ประธานาธิบดีไบเดน มีความสามารถที่จะยังคงเป็นผู้สั่งการบังคับบัญชาในเหตุการณ์เช่นนี้ได้หรือไม่ มีผู้คนในอายุขนาดเขาจำนวนมากสามารถที่จะจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้ได้ แต่ก็มีจำนวนมากซึ่งไม่สามารถ และตัวไบเดนเองดูจะต้องถูกจัดให้อยู่ในประเภทหลัง

ความระแวดระวังเตรียมพร้อมเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล ขณะที่ความตื่นตระหนกก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

เวลานี้พวกนีโอคอนคือผู้ควบคุมนโยบายการต่างประเทศ ทั้งของคณะบริหารไบเดน พรรคเดโมแครต และส่วนใหญ่ของพรรครีพับลิกัน แต่พวกนีโอคอนซึ่งเป็นผู้กุมบังเหียนเหล่านี้จะยินยอมล่าถอยและเคลื่อนไปสู่ทิศทางที่สมเหตุผลสมผลและใฝ่สันติ อย่างที่บทบรรณาธิการของนิวยอร์กไทมส์เรียกร้องหรือไม่? นี่ต้องถือว่าเป็นความฝันเฟื่องในระดับรากฐานที่สุดทีเดียว

อย่างที่มีผู้แสดงความคิดเห็นผู้หนึ่งตั้งข้อสังเกตเอาไว้ พวกสายเหยี่ยวอย่างเช่น วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการการเมือง) แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ) และ เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ) นั้นไม่มีเกียร์ถอยหลัง พวกขาเอาแต่ห้อตะบึงไปข้างหน้าเสมอ พวกเขาไม่ได้รับใช้ผลประโยชน์ของมนุษยชาติ อีกทั้งพวกเขาก็ไม่ได้รับใช้ผลประโยชน์ของประชาชนชาวอเมริกัน ในทางเป็นจริงแล้วพวกเขาคือผู้ทรยศต่อสหรัฐฯ พวกเขาต้องถูกเปิดโปง ถูกดิสเครดิต และถูกดันออกไปนอกวง ความอยู่รอดของพวกเราขึ้นอยู่กับสิ่งนี้

จอห์น วี วอลช์ เคยเป็นศาสตราจารย์ด้านสรีรศาสตร์และประสาทวิทยา อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ชาน (Chan Medical School) ของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ เขาเขียนบทความในประเด็นเรื่องสันติภาพและการดูแลสุขภาพให้แก่สื่อต่างๆ ทั้ง San Francisco Chronicle, EastBayTimes/San Jose Mercury News, Asia Times, LA Progressive, Antiwar.com, CounterPunch และอื่นๆ

เชิงอรรถ
[1] https://asiatimes.com/2022/05/ny-times-shifts-pro-war-narrative/ หรือ เวอร์ชันที่เก็บความเป็นภาษาไทย https://mgronline.com/around/detail/9650000047713
[2] https://www.nytimes.com/2022/05/19/opinion/america-ukraine-war-support.html
[3] https://www.nytimes.com/2022/03/04/opinion/ukraine-russia-war-biden.html
[4] https://www.nytimes.com/2022/03/28/us/politics/biden-putin.html
[5] https://www.nytimes.com/2022/04/25/us/politics/ukraine-russia-us-dynamic.html
[6] https://www.nytimes.com/2022/05/01/world/europe/pelosi-kyiv-ukraine.html
[7] https://asiatimes.com/2022/05/on-ukraine-world-majority-sides-with-russia-over-us/
[8] https://www.nytimes.com/2022/05/16/business/ben-bernanke-predicts-stagflation.html
[9] https://www.pewresearch.org/politics/2022/05/10/americans-concerns-about-war-in-ukraine-wider-conflict-possible-u-s-russia-clash/
กำลังโหลดความคิดเห็น