xs
xsm
sm
md
lg

จับตา ‘นิวยอร์กไทมส์’ เปลี่ยนท่าทีจากที่เคยเสนอ ‘เรื่องเล่าว่าด้วยศึกยูเครน’ แบบหนุนสงครามสุดๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: จอห์น วอลช์ ***


สิ่งต่างๆ กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ไม่ค่อยสวยงามสำหรับสหรัฐฯ และสำหรับคนของสหรัฐฯ ในเคียฟ --ประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

NY Times shifts pro-war narrative
By JOHN WALSH
16/05/2022

นิวยอร์กไทมส์ สื่อทรงอิทธิพลที่เป็นผู้นำในการเสนอ “เรื่องเล่าว่าด้วยสงครามในยูเครน” จากทัศนะมุมมองของสหรัฐฯ ได้ปรับเปลี่ยนท่าทีจากที่เคยโปรสงครามสุดๆ มาเป็นรายงานความล้มเหลวของนโยบายอเมริกันในยูเครน และเสนอแนะให้วอชิงตันยุติสงครามตัวแทนที่ทำกับรัสเซีย

นิวยอร์กไทมส์มีงานชิ้นหนึ่งที่จะต้องทำ - และสื่อทรงอิทธิพลรายนี้ก็ทำงานดังกล่าวได้อย่างดีเด่นเป็นพิเศษทีเดียวตลอดระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

นิวยอร์กไทมส์เป็นผู้นำรายหนึ่ง - และในความคิดเห็นของผู้เขียนคนนี้ นิวยอร์กไทมส์เป็นผู้นำตัวจริงด้วยซ้ำไป - ในการแจกแจงรายละเอียดของเรื่องเล่าว่าด้วยสงครามในยูเครนจากทัศนะมุมมองของสหรัฐฯ เป็นเรื่องราวที่ออกแบบจัดวางมาเพื่อการกระตุ้นปลุกขวัญกำลังใจ ทำให้สงครามครั้งนี้ดูมีจุดประสงค์ทางศีลธรรมอันสูงส่ง และสร้างความชอบธรรมให้แก่การทุ่มเทเอาเงินทองเป็นพันล้านหมื่นล้านออกมาจากกระเป๋าของพวกผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน ไปสู่สงครามตัวแทน ของโจ ไบเดน ที่มุ่งสู้รบทำศึกกับรัสเซีย

ในตัวอักษรและในภาพถ่ายบนหน้าแต่ละหน้าของนิวยอร์กไทมส์วันแล้ววันเล่า สื่อรายนี้กำลังแนะนำชี้ชวนทุกผู้ทุกคน ตั้งแต่พวกนักการเมือง ไปจนกระทั่งพวกผู้มีอิทธิพลในการสร้างกระแสมติของสังคมในระดับรองๆ ลงไป ว่าควรจะคิดเห็นอย่างไรกันแน่เกี่ยวกับสงครามในยูเครน

ดังนั้น เมื่อนิวยอร์กไทมส์ออกมาบอกว่าสิ่งต่างๆ กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ไม่ค่อยสวยงามสำหรับสหรัฐฯ และสำหรับคนของสหรัฐฯ ในเคียฟ ซึ่งก็คือ (ประธานาธิบดี) โวโลดีมีร์ เซเลนสกี นั่นแหละ นี่ย่อมเข้าข่ายเป็นข่าวผิดปกติและพิเศษพิสดารประเภท “คนกัดหมา” ทีเดียว มันเป็นการบอกเล่ากับเราว่า สัจจะความจริงบางอย่างบางประการได้ดำเนินไปจนเลยจากขอบเขตของ “เรื่องที่ไม่น่าสบายใจ” และเข้าสู่ขอบเขตของ “เรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไปแล้ว” ข่าวใหญ่ในหน้าแรกของนิวยอร์กไทมส์ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งพาดหัวว่า “ฝ่ายรัสเซียยึดพื้นที่ยูเครนตะวันออกเอาไว้ได้จำนวนมาก ถึงแม้ประสบความเพลี่ยงพล้ำมาหลายครั้ง” (Russians Hold Much of the East, Setbacks Aside) จัดอยู่ในลักษณะที่กล่าวมานี้
(อ่านรายงานข่าวของนิวยอร์กไทมส์ชิ้นนี้ได้ที่ https://www.nytimes.com/2022/05/10/world/europe/ukraine-russia-donbas.html?smid=url-copy) [1]
(หมายเหตุผู้แปล - พาดหัวข่าวที่ผู้เขียนอ้างอิงไว้ในข้อเขียน คือ Russians Hold Much of the East, Setbacks Aside แต่พาดหัวข่าวในนิวยอร์กไทมส์ฉบับเผยแพร่ทางออนไลน์ ตาม url ที่ผู้เขียนให้ไว้ จะเป็น Ukraine War’s Geographic Reality: Russia Has Seized Much of the East ขณะที่เนื้อหารายละเอียดในรายงานข่าวนิวยอร์กไทมส์ชิ้นนี้ ซึ่งข้อเขียนนี้ของผู้เขียนกล่าวถึงอ้างอิงไว้ เมื่อเทียบกับฉบับเผยแพร่ทางออนไลน์ตาม url นี้จะยังคงตรงกัน ทั้งนี้ผู้แปลเข้าใจว่า พาดหัวที่ผู้เขียนอ้างอิงไว้เป็นพาดหัวในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ฉบับที่เป็นกระดาษ จึงมีความแตกต่างไปบ้างจากฉบับออนไลน์ ตามเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละสื่อ - ผู้แปล)

เมื่อเราพิจารณาที่รายละเอียดของรายงานข่าวชิ้นนี้ของนิวยอร์กไทมส์ จะพบว่าแม้กระทั่งพาดหัวข่าวที่ตรงกันข้ามกับเรื่องเล่าซึ่งเคยสร้างกันเอาไว้เช่นนี้ ก็ยังต้องถือว่าเป็นการลดทอนสัจจะความจริงที่แสนขมขื่น ให้ดูอ่อนจางลงมา กล่าวคือ ในย่อหน้าแรกของข่าวนี้มีการยอมรับสารภาพอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น โดยบอกว่า “สิ่งที่แอบแฝงอยู่อย่างไม่ค่อยชัดเจนในรายงานการสู้รบประจำวันก็คือ ความเป็นจริงในทางภูมิศาสตร์ที่ว่า รัสเซียสามารถที่จะยึดพื้นที่เพิ่มมากขึ้น” ไม่ใช่แค่ “กำลังรักษา” พื้นที่เอาไว้เท่านั้น แต่ “กำลังเพิ่ม” พื้นที่ซึ่งยึดไปได้ นี่ช่างไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยเพิ่มพูนขวัญกำลังใจเอาเสียเลย

รายงานข่าวของนิวยอร์กไทมส์กล่าวต่อไปว่า “กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงเมื่อวันอังคารว่า กองกำลังอาวุธของตนในภาคตะวันออกของยูเครน ได้รุกคืบหน้าไปจนถึงพรมแดนระหว่างโดเน็ตสก์ กับลูฮันสก์ ซึ่งเป็น 2 แคว้นพูดภาษารัสเซียที่พวกแบ่งแยกดินแดนหนุนหลังโดยมอสโก ทำการสู้รบกับกองทัพยูเครนมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว”

ตรงนี้มันกำลังเตือนความจำของเราให้ระลึกว่า กระสุนนัดแรกที่เปรี้ยงปร้างขึ้นมาของสงครามครั้งนี้ไม่ใช่ยิงกันเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ อย่างที่เรื่องเล่าเรื่องนี้อ้างกันไว้หรอก แต่เป็นเมื่อ 8 ปีที่แล้วในภูมิภาคดอนบาส นี่เป็นเครื่องเตือนความจำที่เหมือนเป็นการกระตุกอย่างแรงสำหรับผู้ที่ยึดโยงความสนับสนุนของพวกเขาต่อสงครามครั้งนี้เอาไว้กับเรื่องที่ว่า “ใครเป็นฝ่ายลั่นกระสุนนัดแรก” เพราะมันชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ทัศนะ “ทางศีลธรรม” ของพวกเขานั้นมีจุดบอดที่ใหญ่โตทีเดียว

นิวยอร์กไทมส์ยังบอกต่อไปว่า “การยึดดอนบาสเอาไว้ได้ เมื่อบวกกับความสำเร็จจากการรุกรานของฝ่ายรัสเซียก่อนหน้านี้ที่ได้ยึดเอาหลายๆ ส่วนทางภาคใต้ของยูเครนซึ่งอยู่ประชิดติดต่อกับแหลมไครเมีย ... ทำให้เครมลินมีแต้มต่ออย่างมหาศาลทีเดียวในการเจรจาใดๆ เพื่อยุติการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต”

รายงานของนิวยอร์กไทมส์บอกต่อไปอีกว่า “และฝ่ายรัสเซียยังมีความได้เปรียบเพิ่มมากขึ้นอีกจากการมีฐานะเหนือล้ำครอบงำทางนาวีในทะเลดำ ที่เป็นเส้นทางเดินเรือเพียงเส้นเดียวสำหรับการค้าของยูเครน โดยที่พวกเขา (ฝ่ายรัสเซีย) กำลังทำให้เส้นทางนี้กลายเป็นอัมพาตไปแล้วด้วยการปิดล้อมห้ามเรืออื่นๆ เข้าออก ซึ่งในที่สุดแล้วอาจทำให้ยูเครนถึงกับอดตายในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยังกำลังมีส่วนในการทำให้เกิดภาวะขาดแคลนธัญญาหารทั่วโลก” นี่ต้องถือเป็นข่าวร้ายที่กระหน่ำเพิ่มเข้ามาอีก
(เรื่องการขาดแคลนธัญญาหารทั่วโลก ดูเพิ่มเติมได้ที่รายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่งของนิวยอร์กไทมส์ https://www.nytimes.com/2022/04/30/business/economy/global-food-prices-ukraine.html?searchResultPosition=2)

ข่าวร้ายยังไม่หมดเพียงเท่านี้ “รัสเซียยังคงประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดข้อต่างๆ ของเขาเพียงประการเดียวเท่านั้น ซึ่งได้แก่ การเข้ายึดพื้นที่สะพานแผ่นดิน (land bridge) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างดินแดนของรัสเซียกับแหลมไครเมีย” และ “ที่มั่นของกำลังต้านทานฝ่ายยูเครนแห่งสุดท้ายในพื้นที่นี้ ณ โรงงานเหล็กกล้าอาซอฟสตัลในเมืองมาริอูโปล กำลังถูกเฉือนออกไปทีละน้อยๆ จนเหลือแค่กองทหารผู้หิวโหยจำนวนไม่กี่ร้อยคนซึ่งเวลานี้ส่วนใหญ่ต้องกักตัวเองให้อยู่ในบังเกอร์” โอ้โห!!

ในตอนท้าย เมื่อหันมาพิจารณาถึงเรื่องเศรษฐกิจ นิวยอร์กไทมส์เน้นเอาไว้อย่างนี้ “สงครามครั้งนี้ ‘ทำให้เศรษฐกิจของยูเครนถูกบีบอัดตกอยู่ใต้ความเครียดเค้นอย่างมหาศาล โดยที่พวกโครงสร้างพื้นฐานและศักยภาพในการผลิตประสบความหายนะอย่างหนักหน่วง’ ธนาคารแห่งนี้ (ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและการพัฒนา European Bank for Reconstruction and Development) ระบุเอาไว้ในรายงานอัปเดตทางเศรษฐกิจฉบับหนึ่ง ทั้งนี้ธนาคารประมาณการว่าพวกธุรกิจของยูเครนต้องปิดตัวลงราว 30% ถึง 50% ทีเดียว ขณะที่ประชากรหลบหนีออกจากประเทศไปแล้วราว 10% และที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศยังมีอีก 15%” นั่นคือทำให้โดยยอดรวมแล้ว ประชากร 25% ของยูเครนต้องออกไปจากบ้านเรือนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น

เรื่องราวน่าเศร้าของความล้มเหลว ความทุกข์ยาก และความตายนี้ถูกทำให้อยู่ในสภาพกระจัดพลัดพรายพร่ามัวไป จากการใช้ภาษาฟุ่มเฟือยแบบน้ำท่วมทุ่ง โดยบางส่วนมาจากพวกข่าวเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยจากแนวรบ และก็จากการให้ปากคำของ แอฟริล เฮนส์ (Avril Haines) ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ (director of national intelligence) ของสหรัฐฯ คำให้การของเธอมีลักษณะระมัดระวังตัวสูงแต่ยังคงให้บรรยากาศอันมืดมน และเมื่ออ่านอย่างขบคิดพิจารณาแล้ว ก็จะมองเห็นความล้มเหลวอันใหญ่โตที่กำลังก่อตัวอยู่เหนือการสุ่มเสี่ยงครั้งนี้

ดังนั้น ในท่ามกลางความตื่นตระหนก สหรัฐฯก็จัดแจงโยนเงินสดกองใหญ่เป็นภูเขาเข้าไปยังปัญหานี้อย่างต่อเนื่องต่อไปอีก จนอยู่ในระดับราวๆ 63,000 ล้านดอลลาร์แล้ว ถ้าหากเรารวมเอาก้อนล่าสุดประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งทำท่าว่าจะผ่านวุฒิสภาไปได้โดยเร็ว หลังจากผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วด้วยคะแนนเสียงคัดค้านเพียงแค่ 57 เสียง ซึ่งทั้งหมดเป็น ส.ส.พรรครีพับลิกัน

แต่ทำไมนิวยอร์กไทมส์จึงเสนอรายงานข่าวซึ่งต้องถือเป็นการเปลี่ยนน้ำเสียงไปในอีกทิศทางหนึ่งอย่างกะทันหันเช่นนี้? นี่เกิดขึ้นเพราะเป็นความบกพร่องในการกำกับตรวจสอบของทางกองบรรณาธิการใช่ไหม? กรณีนี้ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะภายในวันเดียวกันนั้นเอง เรายังได้อ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่งในหน้าบทความซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า “America and Its Allies Want to Bleed Russia. They Really Shouldn’t.” (อเมริกาและพันธมิตรต้องการทำให้รัสเซียเกิดการเสียเลือดเสียเนื้อจนแห้งตาย พวกเขาไม่ควรคิดเช่นนั้นหรอก) ข้อเขียนนี้เสนอแนะว่ามันถึงเวลาสำหรับสหรัฐฯ แล้วที่จะยอมยกธงขาว
(ดูเพิ่มเติมข้อเขียนชิ้นนี้ได้ที่ https://www.nytimes.com/2022/05/11/opinion/russia-ukraine-war-america.html)

ข้อเขียนชิ้นดังกล่าวนี้สรุปเอาไว้ดังนี้

“แต่ยิ่งสงครามยืดเยื้อยาวนานออกไปเท่าใด ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับยูเครนก็จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเท่านั้น รวมทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดการบานปลายขยายตัวก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ผลลัพธ์ทางการทหารในภาคตะวันออกของยูเครนที่จะมีผลตัดสินกันอย่างเด็ดขาดนั้นอาจถูกพิสูจน์ออกมาให้เห็นว่าเป็นเพียงความคาดหวังอย่างลมๆ แล้งๆ กระนั้นก็ตามที ผลที่ออกมาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจน้อยกว่าในลักษณะที่เกิดภาวะชะงักงันแบบฝีกลัดหนองเน่าเปื่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยากยิ่งที่จะถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่า การยืดขยายสงครามออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในซีเรีย ถือว่ามีอันตรายเกินไปในเมื่อพวกที่เข้าร่วมนั้นเป็นผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์

“ความพยายามต่างๆ ทางการทูตควรที่จะถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดของยุทธศาสตร์ใหม่ของยูเครน ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้กลับเป็นตรงกันข้าม นั่นคือ เส้นพรมแดนของสงครามกำลังถูกขยายให้กว้างออกไป ขณะที่ตัวสงครามเองก็ถูกประทับตราเสียใหม่ให้กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการรวบอำนาจ โดยที่ดอนบาสก็กลายเป็นพื้นที่ชายแดนแห่งเสรีภาพ นี่ไม่ใช่เป็นเพียงการกล่าวอ้างที่เกินความเป็นจริงอย่างชัดเจนเท่านั้น มันยังเป็นการกระทำอย่างบุ่มบ่ามไม่ยั้งคิดเลยทีเดียว ความเสี่ยงของเรื่องนี้คืออะไรนั้น แทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวย้ำกันอีก”
(เรื่องดอนบาสถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ชายแดนแห่งเสรีภาพ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rferl.org/a/ukraine-pelosi-surprise-visit-zelenskiy-mariupol/31829116.html)


ดูเหมือนว่าบางคนบางฝ่ายในชนชั้นนำทางด้านนโยบายการต่างประเทศ และบางคนบางฝ่ายในอาณาเขตอื่นๆ ของพวกผู้ทรงอำนาจในกลไกอำนาจรัฐ (Deep State) ของสหรัฐฯ จะมองเห็นความหายนะที่กำลังปรากฏขึ้นมารางๆ จากสงครามตัวแทนเพื่อต่อสู้กับรัสเซีย ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่โดย โจ ไบเดน วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการการเมืองของสหรัฐฯ Under Secretary of State for Political Affairs of the United States) แอนโทนี บลิงเคน (รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ) และพวกนีโอคอน (neocon) คนอื่นๆ ที่จับกลุ่มวางแผนร้ายกันอยู่ โอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเข่นฆ่าทำลายล้างผลาญด้วยอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งรอคอยอยู่ตรงจุดสิ้นสุดของเส้นทางสายนี้ อาจจะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะกระตุ้นปลุกให้บางคนบางฝ่ายเหล่านี้ตื่นฟื้นขึ้นมาจากความเฉื่อยชาตายด้านแบบพวกเชื่อในความพิเศษเหนือล้ำกว่าชาติอื่นใดในโลกของสหรัฐอเมริกา (exceptionalist)

พวกเขาเหล่านี้ดูเหมือนต้องการที่จะหยุดยั้งขบวนรถไฟซึ่งพวกเขาเป็นผู้ติดเครื่องขึ้นมา ก่อนที่มันจะแล่นตะบึงจนกระทั่งหลุดลอยออกไปจากหน้าผา ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าพวกเขาจะเป็นผู้ชนะหรือไม่ แต่เป็นที่กระจ่างชัดเจนแล้วว่าพวกเราจำเป็นที่จะต้องผลักไสขับไล่พวกซึ่งรับผิดชอบต่อความหายนะอย่างอันตรายยิ่งนี้ ให้พ้นออกไปจากอำนาจ ก่อนที่มันจะสายเกินไป

จอห์น วี วอลช์ เคยเป็นศาสตราจารย์ด้านสรีรศาสตร์และประสาทวิทยา อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ชาน (Chan Medical School) ของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ เขาเขียนบทความในประเด็นเรื่องสันติภาพและการดูแลสุขภาพให้แก่สื่อต่างๆ ทั้ง San Francisco Chronicle, EastBayTimes/San Jose Mercury News, Asia Times, LA Progressive, Antiwar.com, CounterPunch และอื่นๆ

ขบวนทหารรัสเซียจอดบนถนนมุ่งไปสู่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซาโปริชเซีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรป  ตั้งอยู่ในเมืองอีเนอร์โฮดาร์ แคว้นซาโปริชเซีย ในพื้นที่ควบคุมของฝ่ายทหารรัสเซีย ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน  เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2022
หมายเหตุผู้แปล

[1] ผู้แปลขอเก็บความรายงานของนิวยอร์กไทมส์ชิ้นนี้มาเสนอในที่นี้ ดังนี้:


ความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์ของสงครามยูเครน : รัสเซียยึดพื้นที่ภาคตะวันออกไปได้จำนวนมาก
โดยนิวยอร์กไทมส์

Ukraine War’s Geographic Reality: Russia Has Seized Much of the East
ByMichael Schwirtz,Marc Santora andMichael Levenson, New York Times
10/05/2022

โปครอฟสก์, ยูเครน - รัสเซียรุกรานยูเครนผู้เป็นเพื่อนบ้านในช่วงระยะเวลาเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ได้ถูกย้ำเน้นกันอยู่เสมอ ในเรื่องการวางแผนอย่างผิดพลาด การข่าวกรองที่ย่ำแย่ การทำลายล้างผลาญอย่างป่าเถื่อนและเมามัน แต่สิ่งที่แอบแฝงอยู่อย่างไม่ค่อยชัดเจนในรายงานการสู้รบประจำวันก็คือ ความเป็นจริงในทางภูมิศาสตร์ที่ว่า รัสเซียสามารถที่จะยึดพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงเมื่อวันอังคาร (10 พ.ค.) ว่า กองกำลังอาวุธของตนในภาคตะวันออกของยูเครน ได้รุกคืบหน้าไปจนถึงพรมแดนระหว่างโดเน็ตสก์ กับลูฮันสก์ ซึ่งเป็น 2 แคว้นพูดภาษารัสเซียที่พวกแบ่งแยกดินแดนหนุนหลังโดยมอสโก ทำการสู้รบกับกองทัพยูเครนมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว

การกล่าวอ้างของกระทรวงรัสเซียเช่นนี้ ถ้าหากได้รับการยืนยันว่าถูกต้องก็จะเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ลู่ทางแนวโน้มของการที่ในอีกไม่ช้าไม่นานนัก รัสเซี อาจสามารถรุกจนเข้าควบคุมทั่วทั้งภูมิภาคนี้ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า “ดอนบาส” เปรียบเทียบกับที่ครอบครองได้เพียงแค่หนึ่งในสามก่อนเปิดการรุกรานเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์

นี่ยังคงห่างไกลมากจากสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความทะเยอทะยานอย่างใหญ่โตของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ วี. ปูติน แห่งรัสเซีย เมื่อตอนที่เปิดฉากการรุกรานครั้งนี้ ซึ่งได้แก่ การเข้ายึดครองดินแดนผืนกว้างใหญ่ต่างๆ ของยูเครน โดยรวมถึงเมืองหลวงเคียฟด้วย เอาไว้ได้ด้วยความรวดเร็วและง่ายดาย การโค่นล้มรัฐบาลยูเครนที่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์และแทนที่ด้วยรัฐบาลซึ่งจงรักภักดีอย่างไม่มีข้อกังขา ซึ่งจะเป็นเครื่องรับประกันถึงการยอมจำนนของยูเครน

กระนั้นก็ตามที การยึดดอนบาสเอาไว้ได้ เมื่อบวกกับความสำเร็จจากการรุกรานของฝ่ายรัสเซียก่อนหน้านี้ที่ได้ยึดเอาหลายๆ ส่วนทางภาคใต้ของยูเครนซึ่งอยู่ประชิดติดต่อกับแหลมไครเมีย ที่รัสเซียประกาศผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนอย่างผิดกฎหมายเมื่อปี 2014 ก็ทำให้เครมลินมีแต้มต่ออย่างมหาศาลทีเดียวในการเจรจาใดๆ เพื่อยุติการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต

และฝ่ายรัสเซียยังมีความได้เปรียบเพิ่มมากขึ้นอีกจากการมีฐานะเหนือล้ำครอบงำทางนาวีในทะเลดำ ที่เป็นเส้นทางเดินเรือเพียงเส้นเดียวสำหรับการค้าของยูเครน โดยที่พวกเขา (ฝ่ายรัสเซีย) กำลังทำให้เส้นทางนี้กลายเป็นอัมพาตไปแล้วด้วยการปิดล้อมห้ามเรืออื่นๆ เข้าออก ซึ่งในที่สุดแล้วอาจทำให้ยูเครนถึงกับอดตายในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยังกำลังมีส่วนในการทำให้เกิดภาวะขาดแคลนธัญญาหารทั่วโลก

ระหว่างไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตันเมื่อวันอังคาร (10 พ.ค.) แอฟริล ดี. เฮนส์ (Avril D. Haines) ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ (director of national intelligence) ของสหรัฐฯ กล่าวเตือนถึง “การสู้รบขัดแย้งอย่างยืดเยื้อ” ในยูเครน ขณะที่รัสเซียมุ่งหาทางขยายดินแดนที่ได้มาเพิ่มเติมให้กว้างขวางเลยออกไปจากภูมิภาคดอนบาส รวมไปถึงการก่อตั้ง “สะพานแผ่นดิน” (land bridge) ที่ยาวเหยียดไปตามแนวชายฝั่งทะเลดำของยูเครน

แต่ เฮนส์ ก็เตือนให้ระมัดระวังกันไว้ว่า ปูตินจะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อบรรลุสิ่งเหล่านี้โดยที่ไม่มีการเรียกระดมพลหรือการเกณฑ์ทหารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เขายังดูเหมือนลังเลใจที่จะสั่งการออกมาอย่างน้อยก็ในเวลานี้ แล้วในสภาพที่ความทะเยอทะยานในเรื่องดินแดนของปูติน ข้ดแย้งกับสมรรถนะอันมีอยู่จำกัดในด้านการทหารของเขา เฮนส์บอกว่าสงครามคราวนี้อาจจะเข้าสู่ “วงโคจรที่คาดการณ์ทำนายได้ยากลำบากยิ่งขึ้นและมีศักยภาพที่จะบานปลายขยายตัวเพิ่มมากขึ้น” ในช่วงเวลาสองสามเดือนต่อจากนี้ไป และเพิ่มความเป็นไปได้ที่ ปูติน จะออกมาข่มขู่คุกคามโดยตรงในเรื่องจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ 
(ดูเพิ่มเติมเรื่องปูตินยังไม่เรียกระดมพลได้ที่  https://www.nytimes.com/2022/05/09/world/europe/putin-speech-victory-day-ukraine-war.html)

สำหรับช่วงเวลาหลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา กองทหารยูเครนและกองทหารรัสเซียเกิดการปะทะสู้รบกันในสงครามพร่ากำลัง (attrition) ซึ่งแสนเหน็ดเหนื่อย บ่อยครั้งเกิดการสู้รบอย่างดุเดือดเพื่อช่วงพื้นที่เล็กๆ ในลักษณะที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งตกไปอยู่ในกำมือของฝ่ายรัสเซียในวันหนึ่ง แล้วก็กลับถูกฝ่ายยูเครนช่วงชิงคืนมาได้อีกหลายไม่กี่วันถัดมา

ฝ่ายยูเครนกำลังต้องพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือด้านการทหารและด้านมนุษยธรรมที่ฝ่ายตะวันตกอัดฉีดเข้าไปให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความช่วยเหลือเหล่านี้จำนวนมากเลยมาจากสหรัฐฯ โดยที่สภาผู้แทนราษฎรเพิ่งลงมติในคืนวันอังคาร (10 พ.ค.) อนุมัติแพกเกจความช่วยเหลือฉุกเฉินมูลค่าถึงเกือบๆ
40,000 ล้านดอลลาร์

“ฝ่ายรัสเซียไม่ได้กำลังเป็นฝ่ายชนะ และฝ่ายยูเครนก็ไม่ได้กำลังเป็นฝ่ายชนะ ณ ตรงนี้เรากำลังอยู่ในภาวะชะงักงันกันอยู่” เป็นคำกล่าวของ พล ท.สกอตต์ ดี. เบอร์ริเออร์ (Lt. Gen. Scott D. Berrier) ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาโหม (Defense Intelligence Agency) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งมาให้ปากคำเคียงข้าง เฮนส์

อย่างไรก็ดี รัสเซียยังคงประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดข้อต่างๆ ของเขาเพียงประการเดียวเท่านั้น ซึ่งได้แก่ การเข้ายึดพื้นที่สะพานแผ่นดิน (land bridge) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างดินแดนของรัสเซียกับแหลมไครเมีย 

เมื่อตอนที่ ปูติน ออกคำสั่งรุกรานยูเครนนั้น นักรบทักษะสูงที่สุดในกองทัพของเขาบางส่วนได้ไหลบ่าออกไปจากแหลมไครเมียตลอดจนจากภาคใต้ของรัสเซีย และสามารถยึดดินแดนแคบๆ ตามแนวชายฝั่งทะเลอาซอฟ (Sea of Azov) ของยูเครนเอาไว้ได้อย่างรวดเร็ว ที่มั่นของกำลังต้านทานฝ่ายยูเครนแห่งสุดท้ายในพื้นที่นี้ ณ โรงงานเหล็กกล้าอาซอฟสตัล (Azovstal steel plant) ในเมืองมาริอูโปล (Mariupol) กำลังถูกเฉือนออกไปทีละน้อยๆ จนเหลือแค่กองทหารผู้หิวโหยจำนวนไม่กี่ร้อยคนซึ่งเวลานี้ส่วนใหญ่ต้องกักตัวเองให้อยู่ในบังเกอร์

แต่ความพยายามของกองกำลังฝ่ายรัสเซียที่จะขยายและสร้างเสริมการป้องกันสะพานแผ่นดินแห่งนี้ให้แข็งแกร่งต้องเผชิญการขัดขวางจากกองกำลังฝ่ายยูเครนที่ถูกโยกย้ายมาประจำอยู่ตามแนวรบตะวันออก-ตะวันตก และสามารถเคลื่อนพลได้อย่างคล่องตัวโดยผ่านไปตามท้องทุ่งนาข้าวสาลีอันกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา อีกทั้งบางครั้งบางคราวก็สามารถรวมกำลังจนเหนือกว่าข้าศึกตามหมู่บ้านและเมืองเล็กเมืองน้อยต่างๆ

ถึงแม้ปืนใหญ่และจรวดของรัสเซียสามารถสร้างความเสียหายอย่างสาหัสให้แก่พวกพื้นที่เขตพำนักอาศัย โดยพังบ้านเรือนให้ราบเป็นหน้ากลองและสร้างความหวาดผวาให้แก่ชาวบ้านร้านถิ่น แต่ฝ่ายทหารของรัสเซียยังไม่ได้ทุ่มเทกองกำลังจนมากเพียงพอแก่การผลักดันแนวรบให้เคลื่อนตัวไปอย่างสำคัญ หรือเข้าคุกคามพวกศูนย์อุตสาหกรรมสำคัญอย่าง ซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) เมืองใหญ่ที่สุดที่อยู่ใกล้กับแนวหน้า พ.อ.โอเลก กอนชารุค (Col. Oleg Goncharuk) ผู้บังคับการกองพลน้อยโจมตีเขตภูเขาที่ 128 ส่วนแยก (commander of the 128th Separate Mountain Assault Brigade) ได้กล่าวเอาไว้เช่นนี้ ในการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้ว

“พวกเขาจะพยายามสกัดกองกำลังของพวกเราไม่ให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ และพวกเขาก็พยายามที่จะสร้างเสริมที่มั่นต่างๆ ของพวกเขาให้มั่นคงยิ่งขึ้น” เป็นคำกล่าวของ พ.อ.กอนชารุค ซึ่งกองทหารของเขาถูกจัดวางกำลังไปตามแนวรบด้านตะวันออกเฉียงใต้ “แต่เรายังไม่รู้หรอกว่าคำสั่งที่พวกเขาได้รับหรืออะไร หรือความมุ่งมาดปรารถนาของพวกเขาคืออะไร”

ในแคว้นโดเน็ตสก์ และแคว้นลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของยูเครนนี่แหละที่กำลังเกิดการสู้รบอย่างดุเดือดที่สุด

ที่โรงพยาบาลแห่งสำคัญที่สุดในครามาตอร์สก์ (Kramatorsk) เมืองใหญ่เมืองหนึ่งในแคว้นโดเน็ตสก์ มีรถพยาบาลวิ่งเข้ามาทั้งวันทั้งคืน นำเอาทหารที่บาดเจ็บจากแนวหน้ามาส่ง พวกเขาเหล่านี้เล่าว่ากำลังถูกตรึงเอาไว้ขยับเขยื้อนไปไหนไม่ได้ จากการที่ฝ่ายรัสเซียระดมยิงปืนใหญ่และจรวดเข้ามาแทบตลอดเวลา

ประมาณ 80% ของคนไข้เหล่านี้ได้รับบาดเจ็บจากพวกวัตถุระเบิด เป็นต้นว่า กับระเบิด และกระสุนปืนใหญ่ ร.อ.เอดูอาร์ด อันโตนอฟสกีย์ (Capt. Eduard Antonovskyy) รองผู้บังคับการของหน่วยแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งนี้บอก เขากล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้เองจึงมีคนไข้จำนวนน้อยมากๆ ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส และอธิบายว่า พวกลูกปืนใหญ่และจรวดที่ยิงเข้ามานี้ ถ้าหากเราอยู่ไกลออกมาจากจุดระเบิดก็อยู่รอดปลอดภัย แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น เราก็ตาย

“พวกเราจึงอยู่ในสภาพที่ว่า ถ้าไม่ใช่ได้รับบาดเจ็บแค่พอประมาณ ก็ต้องเสียชีวิตกันไปเลย” ร อ.อันโตนอฟสกีย์ กล่าว

เจ้าหน้าที่ของยูเครนหลายรายระบุว่า เวลานี้กองกำลังฝ่ายรัสเซียสามารถควบคุมพื้นที่ของดอนบาสเอาไว้ได้ราว 80% และกำลังรวมศูนย์ความพยายามของพวกเขาไปยังพื้นที่เล็กๆ ซึ่งฝ่ายยูเครนยังยึดครองเอาไว้ได้ และมีเมืองครามาตอร์สก์ เป็นศูนย์กลาง

ตลอดทั่วทั้งเมืองนี้สามารถที่จะได้ยินเสียงตูมตามของการสู้รบที่อยู่ห่างไกลออกไปได้ตลอดชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า และมองเห็นควันหนาทึบปกคลุมท้องฟ้าคล้ายๆ กับเป็นหมอกในตอนเช้าๆ แทบจะทุกวันทีเดียว กองกำลังรัสเซียต้องโจมตีใส่ตัวเมืองครามาตอร์สก์ด้วยจรวด ตลอดจนเปิดการถล่มโจมตีทางอากาศ ทว่าพื้นที่ซึ่งถูกโจมตีอย่างรุนแรงที่สุดยังคงเป็นพวกสถานที่ต่างๆ ซึ่งอยู่ภายในรัศมีการยิงของปืนใหญ่รัสเซีย

ห่างจากเมืองครามาตอร์สก์ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราวๆ 62 ไมล์ คือเมืองเซเวโรโดเน็ตสก์ (Severodonetsk) ซึ่งปืนใหญ่ของรัสเซียที่ชุมนุมกันอยู่ในบริวณนอกเมืองห่างออกไปราว 5-6 ไมล์ แทบจะไม่เคยยอมผ่อนผันอะไรให้เลย เป็นการสร้างความลำบากทุกข์ยากให้แก่ชาวเมืองราวๆ 15,000 คนซึ่งยังคงต้องเสี่ยงภัยอยู่กันบนพื้นดิน

โอเลก กริโกรอฟ (Oleg Grigorov) ผู้บังคับการตำรวจในแคว้นลูฮันสก์ เปรียบเทียบความรุนแรงที่พวกเขาต้องเผชิญ กับศึกสตาลินกราด (Battle of Stalingrad) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทหารโซเวียตสามารถที่จะพลิกกลับมาเอาชนะฝ่ายนาซีเยอรมันได้ ทว่าก็ต้องภายหลังจากประสบความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาล

“มันไม่เคยหยุดลงเลย ไม่เคยเลย” กริโกรอฟ กล่าว “ย่านที่อยู่อาศัยเป็นย่านๆ ถูกทำลายจนราบเรียบ พวกมันระดมยิงปืนใหญ่ใส่เป็นวันๆ เป็นอาทิตย์ๆ พวกมันตั้งใจที่จะทำลายล้างโครงสร้างพื้นฐานของพวกเรา และประชากรพลเรือนของพวกเรา” 

กริโกรอฟ บอกด้วยว่า ยังมีตำรวจของเขาราว 200 คนอยู่ในเมืองนี้ ซึ่งไม่มีทั้งไฟฟ้าและน้ำประปาแล้ว ภารกิจหลักของตำรวจเหล่านี้มี 2 อย่าง คือการส่งอาหารไปให้แก่ชาวบ้านซึ่งกำลังพำนักหลบภัยอยู่ในห้องใต้ดินของพวกเขา อีกอย่างหนึ่งก็คือการฝังศพผู้เสียชีวิต

การที่รัสเซียเข้าปิดล้อมทะเลดำของยูเครนเอาไว้ได้แล้ว ไม่ได้ลบเลือนความปรารถนาของเครมลินที่จะเข้าควบคุมเมืองโอเดซา (Odesa) เมืองท่าสำคัญที่สุดของยูเครน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายของการถล่มโจมตีทางอากาศมาหลายระลอกแล้ว ในระลอกล่าสุดนั้น พวกเจ้าหน้าที่ยูเครนบอกว่า กองกำลังรัสเซียยิงขีปนาวุธเข้ามา 7 ลูก ซึ่งถล่มใส่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งและโกดังสินค้าผู้บริโภคแห่งหนึ่ง รวมทั้งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 1 คน และบาดเจ็บอีกหลายคน

การโจมตีคราวนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากชาร์ลส์ มิเชล (Charles Michel) ประธานคณะมนตรียุโรป (European Council president องค์กรที่ประชุมของบรรดาผู้นำชาติอียู) ไปเยือนโอเดซา โดยที่เขาก็ถูกบังคับให้ต้องเข้าไปหลบอยู่ในหลุมหลบภัยแห่งหนึ่งเนื่องจากมีการโจมตีอีกครั้งหนึ่งต่างหากออกไป

มิเชล ซึ่งได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีเดนิส ชมีฮัล (Denys Shmyhal) ของยูเครน กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัสเซียในเรื่องบีบคอบังคับไม่ให้ยูเครนสามารถส่งออกธัญญาหาร ทั้งที่ธัญญาหารเหล่านี้คือสิ่งที่เลี้ยงดูประชาชนในที่ต่างๆ ทั่วโลก

“ผมได้เห็นไซโลจำนวนมากที่บรรจุเต็มไว้ด้วยธัญญาหาร ข้าวสาลี และข้าวโพด พรักพร้อมสำหรับการส่งออก” มิเชล กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง “อาหารซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งนี้กลับถูกปล่อยทิ้งเอาไว้ก็เนื่องจากสงครามของรัสเซียและการที่รัสเซียปิดล้อมท่าเรือต่างๆ ในทะเลดำ ซึ่งกำลังก่อให้เกิดผลต่อเนื่องอันน่าระทึกใจสำหรับประเทศต่างๆ ที่อยู่ในสภาพอ่อนแอ”

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ก็รบเร้าประชาคมระหว่างประเทศบีบคั้นกดดันรัสเซียให้ยอมเลิกการปิดล้อม

“เป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลาหลายสิบปีที่ไม่มีความเคลื่อนไหวอย่างเคยๆ ของพวกกองเรือพาณิชย์ ไม่มีการปฏิบัติงานด้านท่าเรืออย่างเคยๆ ในโอเดซา” เขากล่าวในการปราศรัยช่วงกลางคืนที่เขาทำอยู่เป็นประจำ “บางที เรื่องเช่นนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาในโอเดซาเลยนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง”

เศรษฐกิจของยูเครนได้รับการคาดหมายว่าจะหดตัวลง 30% ในปีนี้ ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและการพัฒนา (European Bank for Reconstruction and Development) ระบุเอาไว้ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (10 พ.ค.) เลวร้ายลงไปอีกจากคำทำนายของทางแบงก์เพียงเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา โดยในตอนนั้นธนาคารแห่งนี้ทำนายว่าเศรษฐกิจยูเครนจะหดตัว 20%
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ebrd.com/news/2022/war-in-ukraine-and-inflation-slow-growth-in-ebrd-regions.html และhttps://www.nytimes.com/2022/03/31/world/europe/a-european-bank-forecasts-that-ukraines-economic-output-will-contract-by-20-percent-in-2022.html)

สงครามครั้งนี้ “ทำให้เศรษฐกิจของยูเครนถูกบีบอัดตกอยู่ใต้ความเครียดเค้นอย่างมหาศาล โดยที่พวกโครงสร้างพื้นฐานและศักยภาพในการผลิตประสบความหายนะอย่างหนักหน่วง’ ธนาคารแห่งนี้ ระบุเอาไว้ในรายงานอัปเดตภาวะทางเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งนี้ประมาณการว่าพวกธุรกิจของยูเครนต้องปิดตัวลงราว 30% ถึง 50% ทีเดียว ขณะที่ประชากรหลบหนีออกจากประเทศไปแล้วราว 10% และที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศยังมีอีก 15%

ทางธนาคารทำนายด้วยว่า เศรษฐกิจของรัสเซียจะหดตัวลงราว 10% ในปีนี้ และอยู่ในภาวะแน่นิ่งชะงักงันในปีหน้า โดยที่ทิศทางอนาคตดูมืดมนเว้นไว้แต่ว่ามีการจัดทำข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งนำไปสู่การที่ฝ่ายตะวันตกผ่อนคลายมาตรการแซงก์ชันต่างๆ

(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2022/05/09/business/elvira-nabiullina-russia-central-bank.html)
กำลังโหลดความคิดเห็น