บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอียูในวันจันทร์ (16 พ.ค.) ล้มเหลวในความพยายามโน้มน้าวฮังการีให้ละทิ้งการคัดค้านข้อเสนอคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย จุดยืนของบูดาเปสต์ซึ่งสร้างความขุ่นเคืองแก่ลิทัวเนีย ที่ถึงขั้นออกมาโวยวายว่าสหภาพยุโรปกำลังถูก "รัฐสมาชิกหนึ่ง" จับเป็นตัวประกัน
มาตรการแบนนำเข้าน้ำมันดิบ ซึ่งถูกเสนอโดยคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จะเป็นมาตรการคว่ำบาตรที่หนักหน่วงที่สุดเท่าที่เคยมีมาที่กำหนดเล่นงานรัสเซีย ตอบโต้กรณีมอสโกรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แม้ว่ารัฐต่างๆ ของอียูต้องพึ่งพิงพลังงานรัสเซียเป็นอย่างมากก็ตาม
เยอรมนี ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรปและผู้ซื้อรายใหญ่พลังงานรัสเซีย บอกว่าพวกเขาต้องการข้อตกลงหนึ่งๆ ที่ให้อำนาจแบนนำเข้าน้ำมันและควรบังคับใช้เป็นเวลานานหลายปี
อย่างไรก็ตาม เป็นไปตามความคาดหมาย บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอียูล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงใดๆ ในวันจันทร์ (16 พ.ค.) จากการเปิดเผยของ โจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป หลังเสร็จสิ้นการประชุม และเวลานี้บรรดาผู้แทนทูตทั้งหลายรับหน้าที่เจรจาต่อเพื่อบรรลุข้อตกลงหนึ่งๆ
"ไม่น่าพอใจเลย มันเป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุข้อตกลงกันในวันนี้" บอร์เรลล์บอกกับผู้สื่อข่าว พร้อมระบุว่า ฮังการี อธิบายข้อโต้แย้งของพวกเขาว่าอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ทางการเมือง
กระนั้นก็ดี บอร์เรลล์ เปิดเผยว่าบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศตัดสินใจมอบเงินสนับสนุนยูเครนเพิ่มเติมอีก 500 ล้านยูโร สำหรับจัดซื้ออาวุธ ส่งผลให้ยอดรวมเงินที่อียูมอบให้เคียฟในจุดประสงค์ดังกล่าวเพิ่มเป็น 2,000 ล้านยูโรแล้ว
เวลานี้บรรดาผู้แทนทูตบางส่วนมองว่าการประชุมซัมมิตหนึ่งในวันที่ 30-31 พฤษภาคม จะเป็นช่วงเวลาสำหรับข้อตกลงห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซียอย่างค่อยเป็นค่อยไป บางทีอาจใช้เวลา 6 เดือน และอาจขยายช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านยาวนานกว่านั้น แก่ฮีงการี สโลวะเกีย และสาธารณรัฐเช็ก
"ผมเชื่อมั่นว่าจะเราค้นพบข้อตกลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า" รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของรัฐมนตรีต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่คาดหมายว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงเร็วๆ นี้
อียูจำเป็นต้องให้ทุกรัฐสมาชิก 27 ชาติเห็นพ้องต้องกันทั้งหมดถึงจะสามารถเดินหน้าคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียได้ แต่ฮังการี พันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของมอสโกในอียู ต้องการให้ทางกลุ่มจ่ายเงินชดเชยหลายร้อยล้านยูโร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการละทิ้งน้ำมันดิบรัสเซีย
"ทั่วทั้งสหภาพยุโรปถูกรัฐสมาชิกหนึ่งๆ จับเป็นตัวประกัน เราจำเป็นต้องตกลงกัน ไม่ควรถูกจับเป็นตัวประกัน" รัฐมนตรีต่างประเทศลิทัวเนียระบุ
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศฮังการี โต้แย้งว่า บูดาเปสต์ ไม่ได้รับข้อเสนอใหม่ที่จริงจังใดๆ จากคณะกรรมาธิการยุโรปในเรื่องของมาตรการคว่ำบาตรน้ำมัน นับตั้งแต่ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเดินทางเยือนฮังการีเมื่อช่วงต้นเดือน
เขาเขียนบนเฟซบุ๊กว่า "คณะกรรมาธิการยุโรปก่อปัญหาจากข้อเสนอหนึ่งๆ แล้วจะมาคาดหวังความถูกต้องจากฮังการี อียูควรนำเสนอทางออก อย่างเช่น ให้การสนับสนุนทางการเงินด้านการลงทุน และจ่ายชดเชยสำหรับผลลัพธ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับปรับปรุงโครงสร้างทางพลังงานของฮังการีให้มีความทันสมัยในระดับ 15,000 ล้านยูโร ถึง 18,000 ล้านยูโร"
บอร์เรลล์ ตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเลขดังกล่าว พร้อมระบุว่ารัฐมนตรีต่างประเทศฮังการีระบุตัวเลขต่ำกว่านี้มากระหว่างพูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศอียูในวันจันทร์ (16 พ.ค.) และเน้นย้ำว่ามาตรการคว่ำบาตรพลังงานอยู่เหนือกว่ารัฐบาลหนึ่งของอียู "เราจำเป็นต้องละทิ้งการพึ่งพิงอย่างสูงต่อพลังงานรัสเซีย ซึ่งทำให้เราอ่อนแออย่างมาก"
มาตรการคว่ำบาตรทางพลังงานที่บังคับใช้ไปแล้วโดยสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการลดรายได้ของรัสเซียสำหรับนำเอาไปทำสงครามในยูเครน ในขณะที่อียูได้แบนนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียไปก่อนหน้านี้แล้ว
(ที่มา : รอยเตอร์)