ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน เมื่อวันศุกร์ (13 พ.ค.) ระบุว่าตุรกีไม่มีความเห็นในด้านบวกเกี่ยวกับการเข้าร่วมนาโต้ของฟินแลนด์และสวีเดน ส่อกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะขัดขวาง 2 ประเทศเป็นสมาชิกของพันธมิตรทหารแห่งนี้ ท่าทีที่สร้างความไม่สบายใจแก่สหรัฐฯ ซึ่งบอกว่ากำลังขอความชัดเจนในจุดยืนของอังการาต่อประเด็นดังกล่าว
ผู้นำของตุรกี ชาติสมาชิกนาโต้ ออกมาแสดงความคิดเห็นก่อนคาดหมายว่า 2 ชาติแถบนอร์ดิกจะออกมายืนยันวันอาทิตย์ (15 พ.ค.) ว่าพวกเขาจะสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกพันธมิตรทหารตะวันตก
แอร์โดอัน กล่าวหาทั้งสองประเทศว่า "เป็นแหล่งพักพิงของบรรดาองค์กรก่อการร้าย" ในคำประเมินที่ไม่เอื้อต่อการสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของฟินแลนด์และสวีเดน "เราไม่มีความเห็นในด้านบวก" ผู้นำตุรกีบอกกับพวกผู้สื่อข่าวหลังพิธีละหมาดในวันศุกร์ (13 พ.ค.) ในอิสตันบูล "ทั้งสองประเทศสแกนดิเนเวียเป็นเหมือนบ้านรับรองขององค์กรก่อการร้าย"
ตุรกีกล่าวหาบรรดาประเทศในแถบนอร์ดิก โดยเฉพาะสวีเดน ซึ่งมีชุมชนคนเข้าเมืองตุุรกีขนาดใหญ่ เป็นแหล่งกบดานของกลุ่มหัวรุนแรงเคิร์ด เช่นเดียวกับพวกผู้สนับสนุนนายเฟตุลเลาะห์ กูเลน อดีตครูสอนศาสนา นักเขียน และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวตุรกีที่ลี้ภัยตัวเองไปอยู่ในเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ต้องการตัวฐานบงการก่อรัฐประหารแต่ล้มเหลวในปี 2016
แอร์โดอัน อ้างถึง "ความผิดพลาด" ของอดีตบรรดาผู้ปกครองของตุรกี ที่ยอมรับการเป็นสมาชิกนาโต้ของกรีซในปี 1952 "เรา ในฐานะตุรกี ไม่ต้องการทำผิดพลาดเป็นครั้งที่ 2 ในประเด็นนี้"
การรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทำให้ท่าทีของนักการเมืองและความคิดเห็นของประชาชนในฟินแลนด์และสวีเดนเปลี่ยนไป หันไปสู่การอยากเข้าเป็นสมาชิกนาโต้เพื่อป้องปรามการรุกรานใดๆ ในอนาคตโดยรัสเซีย
ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกับนาโต้มาอย่างยาวนาน และคาดหวังว่าจะได้เข้าเป็นสมาชิกพันธมิตรแห่งนี้อย่างรวดเร็ว และ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้พูดย้ำว่าจะอ้าแขนกว้างต้อนรับสวีเดนและฟินแลนด์
ตุรกีกลายเป็นประเทศแรกที่ส่งเสียงไม่เห็นด้วยอย่างเปิดเผยต่อแนวโน้มการรับ 2 ชาตินอร์ดิกเป็นสมาชิกนาโต้
รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสวีเดนและฟินแลนด์ ตอบสนองต่อท่าทีดังกล่าวในวันศุกร์ (13 พ.ค.) ด้วยบอกว่าพวกเขาหวังพบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกีในเบอร์ลิน ในการประชุมรัฐมนตรีนาโต้อย่างไม่เป็นทางการในวันเสาร์ (14 พ.ค.)
"เมื่อถึงตอนนั้น เราจะใช้โอกาสนั้นหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สวีเดนจะสมัครเข้าร่วมนาโต้" รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดนกล่าวในถ้อยแถลงที่ส่งถึงสำนักข่าวเอเอฟพี พร้อมเน้นย้ำว่า "รัฐบาลตุรกียังไม่ได้ส่งข้อความลักษณะนี้มายังเราโดยตรง"
ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวระหว่างแถลงข่าวในเฮลซิงกิเช่นกันว่า เขาหวังพบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อพูดคุยหารือกัน
เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกนาโต้ สมาชิก 30 ชาติของพันธมิตรแห่งนี้ต้องเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ ในการส่งคำเชิญอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะตามด้วยการเจรจาต่างๆ เกี่ยวกับความเป็นสมาชิก
การอนุมัติขั้นสุดท้ายอาจเกิดขึ้น ณ ที่ประชุมซัมมิตนาโต้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน จากนั้นบรรดารัฐสมาชิกทั้ง 30 ชาติจะต้องให้สัตยาบันรับรองการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง
ตุรกี ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งเคียฟและมอสโก เล่นบทบาทเป็นคนกลางเจรจายุติความขัดแย้ง และเสนอจัดประชุมซัมมิตระหว่าง 2 ผู้นำ
อังการาสนับสนุนโดรนต่อสู้แก่ยูเครน แต่ขณะเดียวกันไม่ยอมร่วมกับพันธมิตรตะวันตกในการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซีย
เจน ซากิ เลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชนของทำเนียบขาวระบุในวันศุกร์ (13 พ.ค.) ว่าสหรัฐฯ "กำลังหาความชัดเจนในจุดยืนของอังการา" แต่ยืนยันว่าสวีเดนและฟินแลนด์ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในการเข้าร่วมพันธมิตร
ความคิดเห็นของ แอร์โดอัน อาจโหมกระพือความตึงเครียดกับฝรั่งเศสเช่นกัน หลังจากก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เคยบอกว่านาโต้กำลังอยู่ในภาวะสมองตาย สืบเนื่องจากพฤติกรรมของตุรกี ในขณะที่เขามีจุดยืนเดียวกับสหรัฐฯ ในการสนับสนุนฟินแลนด์เข้าร่วมพันธมิตรนาโต้
โซเนอร์ คากัปเตย์ จากสถาบันวอชิงตัน ให้ความเห็นว่าจุดยืนของตุรกีต่อการเป็นสมาชิกนาโต้ของสวีเดนและฟินแลนด์ อาจเสี่ยงเป็นเหมือน "ฮังการีในอียู" ทั้งนี้ ฮังการี ที่ฝักใฝ่รัสเซีย บ่อยครั้งแตกแยกจากบรรดาสมาชิกรายอื่นๆ ของอียูในหลากหลายประเด็น ในนั้นรวมถึงหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน
(ที่มา : เอเอฟพี)