ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เป็นประธานในการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สมัยพิเศษ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันศุกร์ (13 พ.ค.) โดยระบุว่าการพบกันครั้งนี้ถือเป็นการ “เปิดศักราชใหม่” ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับทั้ง 10 ประเทศ
ในคำแถลงร่วมภายหลังการประชุม สหรัฐฯ และอาเซียนต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนในเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมทุกด้าน (comprehensive strategic partnership) ภายในเดือน พ.ย.
สหรัฐฯ และอาเซียนยังประกาศ “จะเคารพในอธิปไตย ความเป็นอิสระทางการเมือง และบูรณภาพแห่งดินแดน” ของยูเครน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเป็นการเลือกใช้ถ้อยคำที่ “หนักแน่น” กว่าคำแถลงก่อนๆ ของอาเซียน แม้จะไม่ถึงขั้นประณามรัสเซียที่ส่งทหารบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ก็ตาม
การประชุมสุดยอดครั้งนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ เปิดทำเนียบขาวต้อนรับบรรดาผู้นำอาเซียน และเป็นซัมมิตกับอาเซียนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016
รัฐบาลไบเดน หวังที่จะใช้เวทีประชุมคราวนี้แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อกิจการในอินโด-แปซิฟิก รวมไปถึงการสกัดกั้นอิทธิพล “จีน” ซึ่งวอชิงตันถือว่าเป็นคู่แข่งเบอร์ 1 ในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังหวังที่จะกล่อมผู้นำอาเซียนให้ประกาศจุดยืนแข็งกร้าวมากขึ้นต่อการที่รัสเซียรุกรานยูเครน
“ประวัติศาสตร์โลกในอีก 50 ปีนับจากนี้จะถูกเขียนขึ้นในภูมิภาคอาเซียน และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนคืออนาคตที่กำลังจะมาถึงในอีกหลายปี และหลายสิบปีข้างหน้า” ไบเดน กล่าว
ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำด้วยว่า ความเป็นหุ้นส่วนกับอาเซียนนั้น “สำคัญยิ่งยวด” และ “เรากำลังจะเปิดศักราชใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียน”
ไบเดน ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่บรรดาผู้นำอาเซียนที่ทำเนียบขาวเมื่อวันพฤหัสบดี (12) พร้อมประกาศจะทุ่มเม็ดเงินลงทุน 150 ล้านดอลลาร์ (ราว 5,200 ล้านบาท) เพื่อช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนด้านความมั่นคง การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด และพลังงานสะอาดในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังจะส่งเรือยามฝั่งเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อช่วยรับมือ “การทำประมงผิดกฎหมายของจีน”
ไบเดน ประกาศแต่งตั้ง โยฮันเนส อบราฮัม (Johannes Abraham) ประธานคณะเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคอาเซียน ซึ่งตำแหน่งนี้ได้ว่างลงนับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าบริหารประเทศในปี 2017
ด้านรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส ยืนยันว่า สหรัฐอเมริกามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับอาเซียนต่อไปใน “อีกหลายชั่วอายุคน” และย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพในการเดินเรือ ซึ่งวอชิงตันชี้ว่ากำลังถูกท้าทายโดยจีน
“สหรัฐฯ และอาเซียนมีวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับภูมิภาคนี้ และเราจะร่วมกันต้านทานสิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อกฎระเบียบและหลักการสากล” แฮร์ริส ระบุ
รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ รับปากจะสานต่อความร่วมมือกับอาเซียนในการต่อสู้โควิด-19 โดยที่ผ่านมา วอชิงตันได้บริจาควัคซีนให้แก่ภูมิภาคนี้แล้วไม่ต่ำกว่า 115 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังเชิญชวนให้อาเซียนร่วมมือในการต่อสู้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมพลังงานสะอาด และตอบสนองความจำเป็นในด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน
เกรกอรี โพลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (CSIS) มองว่า ซัมมิตสหรัฐฯ-อาเซียนครั้งนี้ให้ผล “ในเชิงสัญลักษณ์” เสียมากกว่า และยังขาดองค์ประกอบในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากกรอบแผนงานเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic - IPEF) ของไบเดน นั้นคาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการหลังจากที่ ไบเดน ไปเยือนญี่ปุ่นในช่วงปลายเดือน
ที่มา : รอยเตอร์