ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เปิดการประชุมหารือร่วมกับบรรดาผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) พร้อมให้คำมั่นสัญญาสนับสนุนเงินทุน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,200 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคง การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด และความพยายามอื่นๆ เพื่อต้านทานอิทธิพลของ “จีน” ในภูมิภาคนี้
การประชุมสุดยอดระหว่างไบเดน และผู้นำอาเซียนเปิดฉากขึ้นเมื่อวานนี้ (12 พ.ค.) โดยมีการรับประทานอาหารค่ำร่วมกันที่ทำเนียบขาว และในวันนี้ (13) จะเป็นการประชุมหารือที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยรัฐบาลวอชิงตันจะย้ำเตือนว่าสหรัฐฯ นั้นยังคงให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงมาตรการระยะยาวเพื่อรับมือความท้าทายจากจีนที่อเมริกาถือว่าเป็นคู่แข่งอันดับ 1
เฉพาะในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนได้ให้สัญญาจะมอบความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่อาเซียนเป็นวงเงินถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 52,100 ล้านบาท) ในระยะเวลา 3 ปี โดยจะเน้นไปที่การต่อสู้โรคระบาดโควิด-19 และการกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับอาเซียนมากยิ่งขึ้น เราไม่ได้ขอให้พวกเขาต้องเลือกระหว่างสหรัฐฯ หรือจีน แต่เราต้องการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯ ต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งกว่าเดิม”
ความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ จะมอบแก่อาเซียนแบ่งออกเป็นเม็ดเงินลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน 40 ล้านดอลลาร์ งบสนับสนุนความมั่นคงทางทะเล 60 ล้านดอลลาร์ และอีกราวๆ 15 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยในเรื่องของการตรวจจับโรคระบาด ส่วนที่เหลือจะเป็นงบสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)
หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ยังเตรียมที่จะส่งเรือเข้ามายังภูมิภาคนี้เพื่อช่วยต่อต้านสิ่งที่วอชิงตันและหลายประเทศในภูมิภาคเรียกว่าเป็น “การทำประมงผิดกฎหมายของจีน”
อย่างไรก็ดี คำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ ในคราวนี้ก็ยังนับว่า “น้อย” มาก เมื่อเทียบกับอิทธิพลและสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งที่จีนมีต่ออาเซียนมาอย่างยาวนาน
การประชุมสุดยอดครั้งนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ เปิดทำเนียบขาวต้อนรับบรรดาผู้นำอาเซียน และเป็นซัมมิตกับอาเซียนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016
ทั้งนี้ มีผู้นำอาเซียนเพียง 8 ประเทศที่เดินทางมาร่วมการประชุม โดยขาดไป 2 ชาติได้แก่พม่า ซึ่งถูกกีดกันจากการทำรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว ส่วนฟิลิปปินส์นั้นอยู่ในช่วงผลัดเปลี่ยนผู้นำ และได้ส่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมาเป็นตัวแทน ทว่า ไบเดน ก็ได้โทรศัพท์พูดคุยกับ “เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์” ว่าที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนใหม่ตั้งแต่วันพุธ (11)
ความพยายามของจีนที่จะอ้างอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดนำไปสู่ข้อพิพาทกับหลายประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน และมาเลเซีย แต่ขณะเดียวกัน อาเซียนก็ยังสับสนกับท่าทีของสหรัฐฯ ซึ่งดูไม่กระตือรือร้นในการยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอาเซียนเท่าที่ควร นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้นำอเมริกาถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) ไปเมื่อปี 2017
นายกรัฐมนตรี อิสมาอีล ซาบรี ยาค็อบ แห่งมาเลเซีย ระบุวานนี้ (12) ว่า “สหรัฐฯ ควรที่จะกำหนดวาระด้านการค้าและการลงทุนในอาเซียนอย่างแข็งขันยิ่งกว่านี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ เองทั้งในทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์”
นักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้อาเซียนจะมีความกังวลเกี่ยวกับจีนหลายอย่าง แต่ก็ยังคงระมัดระวังไม่เลือกข้างสหรัฐฯ อย่างออกหน้าออกตา เนื่องจากเกรงจะกระทบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับปักกิ่ง อีกทั้งสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้มอบแรงจูงใจทางเศรษฐกิจมากพอด้วย
ที่มา : รอยเตอร์