ภายหลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ประกาศใช้และมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กในมาตรา 123 โดยกำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ “คาร์ซีท” หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ และเด็กที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หากไม่ปฏิบัติ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยจะมีผลในอีก 120 วันข้างหน้า หรือวันที่ 5 กันยายน 2565 เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังแซ่ด
แน่นอนว่ามีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทันที !
กลายเป็นดราม่าบนโลกออนไลน์ ประมาณว่ามาประกาศใช้กฎหมายในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจข้าวของแพง เงินที่ต้องจ่ายเพิ่ม รวมไปถึงกรณีที่ครอบครัวมีลูกหลายคน หรือคนที่ไม่พร้อมจะทำอย่างไร
"คาร์ซีท" ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ถือเป็นอุปกรณ์มาตรฐานความปลอดภัยในการปกป้องเด็กเมื่ออยู่ในรถยนต์จากอุบัติเหตุในท้องถนนที่อาจเกิดขึ้น หากเลือกให้ถูกต้อง ทั้งน้ำหนัก ขนาด และเหมาะกับอายุของเด็ก จะสามารถปกป้องและลดความรุนแรงของการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้กับเด็กได้
ผ่านไป 24 ปี จำได้ว่าเมื่อครั้งที่มีลูกชายคนแรก คาร์ซีทเป็นอุปกรณ์ปลอดภัยชิ้นแรก ๆ ที่ดิฉันตัดสินใจซื้อติดรถ ซึ่งขณะนั้นยังหาซื้อได้ยากและมีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็นั่นแหละสิ่งจำเป็นในชีวิตของแต่ละคนที่นอกเหนือจากปัจจัย 4 ก็มีความต้องการไม่เหมือนกัน บางคนยอมจ่ายเงินเพื่อบางสิ่งที่คิดว่าจำเป็น ในขณะเดียวกันบางคนก็มองว่าสิ่งนั้นไม่เห็นจำเป็นเลย
แต่เมื่อคิดว่านั่นคือความปลอดภัยของลูก ในเมื่อเราซื้อรถในราคาหลักแสนหลักล้าน ถ้าจะมีอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับลูกในราคาหลักพัน แล้วทำไมเราคิดว่าไม่จำเป็นล่ะ
เช่นเดียวกับคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ สำหรับบางคนก็มองว่าหมวกกันน็อคจำเป็นและสำคัญโดยที่ไม่ต้องมีกฎหมายมาบังคับให้ต้องใส่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่าไม่จำเป็นหรือไม่ใส่ใจ สุดท้ายก็ไม่ใส่หรือบางคนใส่แบบไม่ปลอดภัย ใส่แบบไม่อยากโดนจับ แต่ไม่ได้มองที่ความปลอดภัยของตัวเอง
ในส่วนของการใช้คาร์ซีทนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กได้ถึงร้อยละ 70 และปัจจุบันมี 96 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายบังคับใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กแล้ว
หลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องคาร์ซีทและบังคับใช้กฎหมายมานานแล้ว มีประเทศที่เข้ม เช่น ในประเทศเยอรมนีนอกจากจะบังคับสำหรับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี หรือส่วนสูงน้อยกว่า 150 เซนติเมตร ยังครอบคลุมไปถึงรถแท๊กซี่ต้องมีคาร์ซีทสำหรับเด็กด้วย
ส่วนเรื่องที่มีลูกหลายคนทำอย่างไร ก็มีประเทศเนเธอร์แลนด์ที่กำหนดให้เด็กที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องใช้คาร์ซีทสำหรับเด็ก และถ้าต้องการให้เด็กจำนวนสามคนนั่งในรถยนต์บนเบาะหลังแต่มีที่ว่างสำหรับคาร์ซีทแค่ 2 ที่นั่ง และเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไปอีก 1 คน สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ใหญ่ได้
เรียกว่าแต่ละประเทศก็พยายามหาแนวทางและปรับให้เหมาะกับสถานการณ์กับประเทศตัวเอง
ขณะที่บ้านเราต้องยอมรับว่าการตระหนักเรื่องความปลอดภัยในบ้านเรายังให้ความสำคัญน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ถ้าผู้ใหญ่ไม่มีมาตราการในการปกป้องคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัย เด็กก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ความคุ้นเคยเดิม ๆ ที่เราชอบอุ้มเด็กไว้ในรถยนต์ หรือปล่อยให้เด็กเดินหรือเคลื่อนไหวในรถยนต์ได้ตามอำเภอใจยังมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่เป็นเรื่องที่อันตรายมาก ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ไม่ตระหนักเรื่องความปลอดภัยของเด็ก แต่กำลังปลูกฝังให้เด็กไม่ตระหนักเรื่องความปลอดภัยของตัวเองเช่นกัน
และถ้าเรามองว่าคาร์ซีทสำคัญมากสำหรับเด็กแล้วใยต้องปฏิเสธเมื่อถูกบังคับใช้ แต่เราน่าจะมองไปข้างหน้าว่าแล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็กได้จริง ๆ ไม่ดีกว่าหรือ
ในขณะที่ภาครัฐเองเมื่อประกาศใช้กฎหมายแล้ว ก็ไม่ใช่จบแค่นั้น เหมือนเรื่องอื่น ๆ ที่เคยเป็นมา ควรมีมาตราการที่พร้อมหาทางช่วยเหลือ สร้างการตระหนักรู้ ให้กับกลุ่มคนที่ไม่พร้อมด้วย เช่น
– ควบคุมกลไกเพื่อกำหนดราคาคาร์ซีทที่มีคุณภาพให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย
– ส่งเสริมให้บริษัทรถยนต์มีนโยบายให้คาร์ซีทเป็นอุปกรณ์สำหรับติดในรถยนต์ หรือเป็นทางเลือกให้ผู้ซื้อรถยนต์
– ช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีปัญหาโดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีคาร์ซีทประจำชุมชน ประจำหมู่บ้าน ฯลฯ
รวมไปถึงการทำให้ผู้คนได้ตระหนักในระดับปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าเรื่องความปลอดภัยของเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น
เรื่องแบบนี้ไม่ได้จบแค่ออกกฎหมาย ใครทำผิดก็จับกุม ต้องมีมาตรการประกอบอย่างรอบด้าน
โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปราะบางอย่างนี้
ยังมีเวลาให้ปล่อยชุดมาตรการประกอบออกมาอีกเกือบ 4 เดือน ก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ !