xs
xsm
sm
md
lg

‘พวกนายใหญ่สายลับสหรัฐฯ’ มองว่า ‘จีน’ คือผู้อยู่แถวหน้าสุดของพวกต่อต้านฝ่ายตะวันตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แดเนียล วิลเลียมส์ ***


แอฟริล เฮนส์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ (ซ้าย) สนทนากับ พล.ท.สกอตต์ เบอร์ริเออร์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาโหม ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระหว่างที่ทั้งคู่ไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ ในเรื่องเกี่ยวกับภัยคุกคามจากทั่วโลก ณ อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US spy chiefs see China as vanguard of anti-West crusade
By DANIEL WILLIAMS
15/05/2022

ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองทั้งของฝ่ายพลเรือนและของฝ่ายทหารสหรัฐฯ ต่างระบุว่า จีนอยู่ในอันดับ 1 ของ 4 ประเทศซึ่งรณรงค์ต่อต้านสหรัฐฯ และฝ่ายตะวันตกในปัจจุบัน แต่เวลาเดียวกันพวกเขาเชื่อว่า สงครามยูเครนทำให้ปักกิ่ง “มั่นใจน้อยลง” ว่าจะประสบความสำเร็จในการบุกยึดไต้หวัน

สหรัฐฯ กำลังมีความคิดเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า สงครามของรัสเซียที่กระทำอยู่ในยูเครนเวลานี้ เป็นฉากสำคัญยิ่งฉากหนึ่งของการแข่งขันชิงชัยในระดับโลก ซึ่งไม่เพียงนำเอาวอชิงตันเข้ามาต่อสู้กับมอสโกเท่านั้น แต่ยังต่อสู้กับพวกปรปักษ์ผู้กระตือรือร้นกลุ่มหนึ่ง - โดยที่มีจีนเป็นแกนกลางของกลุ่มดังกล่าวนี้

ณ การบรรยายสรุปที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ (US Senate’s Armed Services Committee) เมื่อวันอังคารที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา จีนกลายเป็นหัวข้อที่ถูกนำมาพูดจากันมากที่สุด เฉกเช่นเดียวกับรัสเซียและการสู้รบขัดแย้งในยูเครนทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสนใจรวมศูนย์เป็นพิเศษในเรื่องแผนการทางทหารของจีนที่เกี่ยวข้องกับการเข้ายึดครองไต้หวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้

นายใหญ่ของหน่วยงานข่าวกรองอเมริกันระดับท็อป 2 หน่วย - เป็นหน่วยงานฝ่ายพลเรือน 1 และหน่วยงานฝ่ายทหาร 1 - ที่เข้ามาให้ปากคำในครั้งนี้ ต่างจัดให้จีนอยู่ระดับบนสุดของ 4 ประเทศซึ่งพวกเขามีความเห็นว่าสามารถที่จะร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพในการรณรงค์ต่อต้านฝ่ายตะวันตก ทั้งนี้ จีนเป็นอันดับแรก แล้วจึงติดตามมาด้วยรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ

“รัฐบาลของทั้ง 4 รายนี้ต่างสาธิตให้เห็นแล้วถึงศักยภาพและเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมผลักดันผลประโยชน์ต่างๆ ของพวกเขา ... ซึ่งขัดแย้งสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์ต่างๆ ของสหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตร” เป็นคำกล่าวของ แอฟริล เฮนส์ (Avril Haines) ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ (Director of National Intelligence) ในคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของหน่วยงานข่าวกรองทั้งหลายทั้งปวงของสหรัฐฯ

ขณะที่ พล.ท.สกอตต์ เบอร์ริเออร์ (Lieutenant General Scott Berrier) ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาโหม (Defense Intelligence Agency) ของเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ก็เน้นย้ำถึงสิ่งที่เขาบอกว่าเป็นภัยคุกคามต่างๆ ซึ่งมาจากแต่ละประเทศทั้ง 4 เหล่านี้ อันได้แก่ การข่มขู่คุกคามไต้หวันของจีน การเข้ารุกรานยูเครนของรัสเซีย สงครามตัวแทนในตะวันออกกลางของอิหร่าน และอันตรายที่สันนิษฐานกันว่าจะเกิดขึ้นต่ออาณาบริเวณแปซิฟิกตะวันตกและแผ่นดินใหญ่ด้านตะวันตกของสหรัฐฯ ด้วยน้ำมือของเกาหลีเหนือ

ในทัศนะของสหรัฐฯ แล้ว การดวลกันอย่างอ้อมๆ ด้วยการนำเอาจีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ มาต่อสู้กับสหรัฐฯ นาโต้ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น คือการทำให้มีส่วนประกอบต่างๆ อย่างครบถ้วนสำหรับการเกิดสงครามในระดับโลกขึ้นมา

เฮนส์ ชี้ว่า พวกประเทศประชาธิปไตยรายสำคัญๆ ยังไม่ได้แสดงตนเข้าข้างฝ่ายไหนอย่างชัดเจน โดยเธอระบุชื่อประเทศเหล่านี้ว่า ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ รวมทั้งบางประเทศใน “ซีกโลกใต้” (Global South) ที่เธอไม่ได้เอ่ยนาม ว่า เป็นพวกเชื่องช้าล้าหลัง (laggard)

“ประเทศจำนวนมากของโลกยังไม่ได้อยู่ข้างเรา” เบอร์ริเออร์ กล่าวเสริม “พวกเขาอาจจะไม่ได้อยู่ฝ่ายรัสเซีย แต่พวกเขาก็ไม่ได้ตอบสนองเสียงเรียกร้องของเราที่ให้รวมตัวก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรของชาติประชาธิปไตยระดับโลกขึ้นมา” เขากล่าวต่อไปว่า “สหรัฐฯ ยังคงมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรมากๆ กับพวกเขา แต่เรายังไม่สามารถที่จะดึงเอาพวกเขามาเข้าร่วมในการต่อสู้เพื่อยูเครนได้”

เฮนส์ชี้ว่า รัสเซียและจีนกำลังพยายามที่จะเกี้ยวพาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นเผด็จการรวบอำนาจและร่ำรวยน้ำมันให้ถอยห่างออกจากการมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดอย่างยาวนานกับสหรัฐฯ โดยที่ ยูเออี เวลานี้กำลังเล็งที่จะขยายการค้าทางด้านพลังงานและเทคโนโลยีกับจีน

สำหรับซาอุดีอาระเบียนั้นรู้สึกไม่สบายใจทั้งในเรื่องที่สหรัฐฯ สนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในระหว่างที่เกิดกระแสการประท้วง “อาหรับ สปริง” ขึ้นเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 เช่นเดียวกับเรื่องที่อเมริกันแสดงความโกรธเกรี้ยวเกี่ยวกับการสังหาร จามัล คาช็อกกี (Jamal Khashoggi) นักหนังสือพิมพ์ชาวซาอุดีที่มีความเห็นต่างไปจากทางการ ทั้งนี้การฆาตกรรมคาช็อกกี บังเกิดขึ้นภายในสำนักงานทางการทูตของซาอุดีอาระเบียในตุรกี

ทั้ง ยูเออี และซาอุดีอาระเบียต่างปฏิเสธไม่ยอมทำตามเสียงเรียกร้องของคณะบริหารไบเดน ที่จะให้พวกเขาขยายการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิสให้มากขึ้น เพื่อจะได้เหนี่ยวรั้งราคาที่กำลังพุ่งแรง

มีระบอบเผด็จการรวบอำนาจบางรายเหมือนกันที่วิพากษ์วิจารณ์การรุกรานของรัสเซีย ถึงแม้พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมในการประกาศมาตรการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจต่อมอสโกก็ตามที ทั้งนี้ อุซเบกิสถสานที่เป็นหนึ่งในอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต คือตัวอย่างรายหนึ่งในกรณีเช่นนี้

ทางวุฒิสมาชิกนั้นแสดงความสนใจในเรื่องผลของสงครามยูเครนที่มีต่อจีน พวกเขาระแวงสงสัยว่าปักกิ่งจะถือโอกาสรุกรานไต้หวันหรือไม่ ขณะที่สหรัฐฯ และพันธมิตรต้องสาละวนยุ่งเหยิงกับเรื่องยูเครน

ทางผู้อำนวยการด้านข่าวกรองทั้งสองต่างแสดงทัศนะมองโลกในแง่ดีว่า จีนจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ในระยะสั้น เฮนส์นั้นคาดคะเนว่า สงครามยูเครนอาจจะทำให้จีน “มีความมั่นอกมั่นใจน้อยลง” ด้วยซ้ำ เกี่ยวกับผลลัพธ์ทางการทหาร ถ้าหากปักกิ่งรุกรานไต้หวัน

แบบแผนวิธีการในการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรอย่างสมัครสมานกันเข้าช่วยเหลือยูเครน โดยรวมไปถึงการประกาศใช้มาตรการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องด้วยนั้น เป็นอะไรที่ปักกิ่ง “จะเฝ้าติดตามดูโดยนึกถึงบริบทของไต้หวันไปด้วยอย่างแน่นอน” เธอกล่าวต่อ

“ทางสำนักงานข่าวกรองต่างๆ (ของสหรัฐฯ) ไม่ได้มีข้อประเมินว่า วิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนกำลังเร่งรัดแผนการของพวกเขา (จีน) ที่จะดำเนินการกับไต้หวัน” เฮนส์ กล่าวสรุป

ทั้ง เฮนส์ และเบอร์ริเออร์ ต่างระบุว่า ปี 2027 คือปีที่จีนเชื่อว่าตนสามารถที่จะเข้ารุกรานอย่างประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดี พวกเขาเสนอแนะว่า ปักกิ่งอาจจะตัดทอนตารางเวลานี้ให้สั้นลง พวกเขาแนะนำไต้หวันให้เตรียมพร้อมทางด้านการป้องกันให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยการซื้อหาอาวุธใหม่ๆ และปรับปรุงยกระดับการจัดองค์กรทางทหารของตน

ทางด้านอิหร่าน และเกาหลีเหนือ ต่างปรากฏตัวในการบรรยายสรุปครั้งนี้ ในแบบของตัวประกอบที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อย พวกวุฒิสมาชิกต่างสอบถามว่าการที่สหรัฐฯ ต้องโฟกัสเน้นหนักอยู่กับเรื่องยูเครน อาจทำให้ เตหะราน หรือเปียงยาง เกิดความกล้าที่จะดำเนินการปฏิบัติการทางทหารอย่างชนิดไม่เคยคาดคิดกันมาก่อนได้หรือไม่

บิ๊กบอสด้านข่าวกรองทั้งสองชี้แจงว่า สหรัฐฯ มีการเตรียมพร้อมเอาไว้แล้วเพื่อรับมือกับความเป็นไปได้เช่นว่านี้ “เรามีการขบคิดพิจารณากันอยู่เสมอเกี่ยวกับอิหร่านและการปฏิบัติการต่างๆ ของพวกเขา ทั้งภายในภูมิภาคดังกล่าวเพื่อเล่นงานพวกเพื่อนบ้าน และแน่นอนทีเดียวทั้งเพื่อเล่นงานกองกำลังของเราที่นั่นด้วย” เบอร์ริเออร์ บอก

ขณะที่ เฮนส์ พูดสอดขึ้นมาว่า สหรัฐฯ “มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ แน่นอนที่สุดอยู่แล้ว” เธอชี้ไปที่ “ไทม์ไลน์ในการพัฒนาขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) เช่นเดียวกับความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการทดสอบด้านนิวเคลียร์” ของเปียงยาง และระบุว่าคือเรื่องที่น่ากังวล

พวกวุฒิสมาชิกยังกดดัน เฮนส์ และเบอร์ริเออร์ ให้แจกแจงความคาดหมายของพวกเขาเกี่ยวกับเส้นทางดำเนินในอนาคตของสงครามยูเครน ซึ่งเกิดมาได้เกือบ 3 เดือนแล้ว ทั้งนี้ คณะบริหารไบเดนเคยทำนายว่า มันจะจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายรัสเซียภายในเวลาเพียงแค่ 2-3 สัปดาห์ เรื่องนี้ทำให้พวกสมาชิกรัฐสภาบางคนแสดงความข้องใจสงสัยเกี่ยวกับการพยากรณ์ต่างๆ ของทางการ

เบอร์ริเออร์ ตอบว่า สงครามได้มาถึงจุดที่เกิดภาวะชะงักงัน ส่วน เฮนส์ กล่าวว่า การสู้รบขัดแย้งครั้งนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ “ไม่อาจคาดการณ์ทำนายได้” มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ให้น้ำหนักแก่โอกาสความเป็นไปได้ที่ ปูติน จะออกคำสั่งให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อบดขยี้การต่อต้านในยูเครน

เธอประกาศว่า ไม่มี "ความเป็นไปได้ในระยะอันใกล้นี้" สำหรับการที่ผู้นำวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย จะ “ใช้อาวุธนิวเคลียร์”

ทางด้าน เบอร์ริเออร์ บอกว่า อนาคตขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ในเฉพาะหน้านี้ของรัสเซีย “ถ้ารัสเซียไม่ได้ประกาศสงครามและระดมพล ภาวะชะงักงันก็จะดำเนินไปอีกระยะหนึ่ง” เขากล่าว

ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าหากรัสเซียเพิ่มทวีการโจมตีทางภาคพื้นดินอย่างดุเดือดยิ่งขึ้น “นั่นจะต้องนำเอาทหารเข้ามาเพิ่มอีกหลายพันคน ... และพวกเครื่องกระสุนเพิ่มเติมขึ้นมาอีกมากมายเลยสำหรับใช้ในการสู้รบ”

จากการให้ปากคำครั้งนี้ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าใครมีความหวาดกลัวมากกว่ากันเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่จะออกมา ระหว่างฝ่ายตะวันตก -- ในกรณีที่ยูเครนพ่ายแพ้ และฝ่ายจีน -- ถ้าหากรัสเซีย ผู้เป็นพันธมิตรในนามของตนเกิดปราชัยต้องถอยร่นไม่เป็นขบวน

คณะบริหารไบเดน กำลังทุ่มเทอาวุธคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์เข้าไปในการต่อสู้นี้ เช่นเดียวกับพวกชาติพันธมิตรยุโรป กระนั้นก็ตาม ยังไม่มีใครตั้งคำถามขึ้นมาว่า พวกพันธมิตรตะวันตกของยูเครนจะตอบโต้อย่างไร ถ้าหากรัสเซียเพิ่มทวีการสู้รบในสงครามครั้งนี้กันจริงๆ และมันจะต้องเสียค่าใช้จ่ายกันขนาดไหน

สิ่งที่มีการค้นหาคำตอบกันน้อยยิ่งกว่านั้นเสียอีก ได้แก่ เรื่องที่ว่าจีนอาจจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง ถ้าหากรัสเซียพบว่าตนเองตกอยู่ในอันตรายที่จะประสบความพ่ายแพ้ หรือตัวอย่างเช่นว่า ปักกิ่งจะเข้าช่วยเหลือหรือไม่ ถ้ามอสโกร้องขอความช่วยเหลือด้านอาวุธเพื่อเติมสต๊อกของตนที่ลดฮวบลงไปจนขาดเขิน

แดเนียล วิลเลียมส์ เคยเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้แก่ วอชิงตันโพสต์ ลอสแองเจลิสไทมส์ และไมอามี่เฮรัลด์ รวมทั้งเป็นอดีตนักวิจัยให้แก่องค์การฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ผลงานหนังสือเล่มของเขาเรื่อง Forsaken : The Persecution of Christians in Today’s Middle East จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ O/R Books ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในกรุงโรม
กำลังโหลดความคิดเห็น