xs
xsm
sm
md
lg

วงแตก! เผยหลายชาติเอเชียและไทยปฏิเสธพัลวัน สหรัฐฯ หวังติดตั้งขีปนาวุธรับมือภัยคุกคามจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในบรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯ ในแปซิฟิก เวลานี้ไม่มีชาติไหนเลยที่มีความตั้งใจเป็นที่ตั้งขีปนาวุธพิสัยปานกลางของอเมริกา สำนักข่าวอาร์ทีนิวส์รายงาน โดยอ้างรายงานฉบับใหม่ของแรนด์คอร์ปอเรชั่น สถาบันวิจัยที่รับหน้าที่พัฒนาคิดค้นยุทธศาสตร์ต่างๆ ให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้เขียนรายงานฉบับนี้จึงแนะนำให้วอชิงตันควรหันไปส่งเสริมญี่ปุ่น ในการพัฒนาคลังแสงขีปนาวุธของตนเอง เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากกองเรือจีน

ไม่กี่วันหลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) ในเดือนสิงหาคม 2019 เพนตากอนเปิดเผยว่าพวกเขากำลังทำงานพัฒนาขีปนาวุธที่เคยถูกห้ามก่อนหน้านี้ และต้องการประจำการขีปนาวุธเหล่านั้นที่ไหนสักแห่งในกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิก แต่ทาง เจฟฟรีย์ วี.ฮอร์นุง นักวิเคราะห์ของแรนด์คอร์ปอเรชั่น ชี้ว่ามันดูจะไม่ง่ายเหมือนกับที่พูด

ในรายงานที่แรนด์คอร์ปอเรชั่น เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (2 พ.ค.) ฮอร์นุง โต้แย้งว่า "การเปิดบ้านต้อนรับระบบอาวุธลักษณะนี้มีความเป็นไปได้ต่ำมาก ตราบใดที่สภาพแวดล้อมทางการเมืองและความมั่นคงของภูมิภาคยังคงเป็นอยู่อย่างปัจจุบัน" พร้อมชี้เฉพาะเจาะจงมาที่ประเทศไทย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฟิลลิปปินส์ และญี่ปุ่น

"ตราบใดที่ไทยมีรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนโดยทหาร ที่แสดงออกถึงแนวโน้มเสาะหาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น สหรัฐฯ จะไม่ต้องการประจำการขีปนาวุธที่นั่น และดูเหมือนว่าไทยคงจะไม่ตอบรับถ้าได้รับการร้องขอ" ฮอร์นุง กล่าว

ฮอร์นุง เขียนว่าฟิลิปปินส์ก็เช่นกัน "ดูเหมือนจะไม่ต้อนรับขีปนาวุธสหรัฐฯ แม้ประชาชนชาวฟิลลิปปินส์ และบุคคลทรงอิทธิพลทางการเมืองและธุรกิจโดยทั่วไปแล้วให้การสนับสนุนสหรัฐฯ กับพันธมิตร แต่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ก่อผลกระทบทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย" ผู้เขียนรายนี้ระบุ

รายงานดังกล่าวระบุว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ก็มีสัมพันธ์กับจีนเช่นกัน และมีความอ่อนไหวต่อแรงกดดันของจีน ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าโซลจะไม่ยินยอมเป็นที่ตั้งขีปนาวุธของสหรัฐฯ ท่ามกลางความพันธ์ที่ง่อนแง่นโดยทั่วไประหว่างอเมริกากับเกาหลีใต้

ในขณะที่ ออสเตรเลีย ดูเหมือนเป็นตัวเต็งที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีข้อตกลงเรือดำน้ำ AUKUS 2021 และโครงการพัฒนาอื่นๆ แต่เป็นที่รู้กันดีว่า แคนเบอร์รา มีประวัติแห่งความไม่เต็มใจสำหรับการมีฐานทัพถาวรของต่างชาติในประเทศ นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังอยู่ไกลจากจีนเกินกว่าที่ระบบขีปนาวุธพิสัยปานกลาง (GBIRM) จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้กระทั่งญี่ปุ่น ซึ่งมีความตั้งใจยกระดับแสนยานุภาพด้านการป้องกันตนเองยามต้องเผชิญหน้ากับจีน "ก็ลังเลในการตอบรับเช่นกัน ไม่ว่าจะในแง่ของการเพิ่มประจำการทหารสหรัฐฯ ในประเทศ หรือติดตั้งอาวุธที่โดยธรรมชาติแล้วมีไว้สำหรับการโจมตี" รายงานระบุ

"ยุทธศาสตร์ใดๆ ของสหรัฐฯ ที่พึ่งพิงการประจำการถาวร GBIRM ในประเทศพันธมิตรหนึ่งๆ จะเผชิญความเสี่ยงล้มเหลวอย่างมาก สืบเนื่องจากการที่ไม่สามารถค้นหาพันธมิตรที่มีความตั้งใจอ้าแขนรับระบบอาวุธดังกล่าว" ฮอร์นุง เขียน

ด้วยเหตุนี้ เขาแย้งว่าสหรัฐฯ ควรหันไปช่วยญี่ปุ่น ในความพยายามพัฒนาและประจำการคลังแสงขีปนาวุธยิงจากภาคพื้น ขีปนาวุธศักยภาพต่อต้านเรือ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทำให้โตเกียวมีความตั้งใจประจำการขีปนาวุธร่อนต่อต้านเรือที่มีพิสัยทำการไกลกว่า

"แม้ขีปนาวุธเหล่านี้ยังคงไม่มีศักยภาพโจมตีลึกเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่หากพวกมันถูกประจำการบนหมู่เกาะต่างๆ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น หรือแม้แต่ภูมิภาคคิวชู พวกมันจะสามารถคุ้มครองการเดินเรือในช่องแคบไต้หวัน ทะเลตะวันออกและบางส่วนของชายฝั่งตะวันออกของจีน" รายงานสรุป

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น