Battle for Mariupol is ending
BY M. K. BHADRAKUMAR
17/04/2022
โรงงานเหล็กและเหล็กกล้า “อาซอฟสตัล” ในเมืองมาริอูโปล ซึ่งพวกกองกำลังนาซีใหม่ของยูเครน และพวกนักรบรับจ้างชาวต่างชาติที่ยังเหลืออยู่ยึดเอาเป็นที่มั่นสุดท้ายนั้น เป็นโรงงานใหญ่มหึมาสร้างขึ้นในยุคโซเวียต ข้างใต้โรงงานมีเมืองใต้ดินที่โครงสร้างแข็งแกร่ง สามารถทนรับการทิ้งระเบิด การปิดล้อม และกระทั่งการโจมตีด้วยนิวเคลียร์
กระทรวงกลาโหมรัสเซียยื่นเสนอเงื่อนไขสำหรับการยอมจำนนให้แก่บุคลากรของพวกกองทัพนาซีใหม่ชาตินิยมสุดโต่ง และพวกนักรบรับจ้างชาวต่างชาติ ซึ่งยังคงอยู่ในโรงงานเหล็กและเหล็กกล้า “อาซอฟสตัล” (Azovstal) โดยให้พวกเขายุติพฤติกรรมเป็นศัตรูและวางอาวุธภายในเวลา 13.00 น.ของวันอาทิตย์ (17 เม.ย.) ตามเวลาในมอสโก แต่นี่จะเป็นเพียงการแสดงท่าทีตามรูปแบบเท่านั้น
คำแถลงของมอสโกยังบอกด้วยว่า จากการดักฟังการติดต่อสื่อสารกันทางวิทยุที่ อาซอฟสตัล ซึ่งมีจำนวนถึง 367 ครั้งในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า พวกนักรบเหล่านี้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง ในทางปฏิบัติแล้วไม่มีทั้งอาหารและน้ำ และกำลังหาทางเพื่อขอให้อนุมัติพวกเขาวางอาวุธและยอมจำนน ทว่า “ทางพวกผู้มีอำนาจในเคียฟห้ามปรามอย่างเด็ดขาดไม่ให้พวกเขาทำเช่นนั้น”
(ดูเพิ่มเติมคำแถลงของกระทรวงกลาโหมรัสเซียนี้ได้ที่ https://tass.com/defense/1438747)
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันเสาร์ (16 เม.ย.) เดนิส ปูชิลิน (Denis Pushilin) ประธานคณะบริหารของโดเน็ตสก์ ออกมาเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ “กำจัด” พวกนักรบนาซีใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่ภายในโรงงานอาซอฟสตัล
อาซอฟสตัล เป็นโรงงานขนาดใหญ่มหึมาที่สร้างขึ้นในยุคโซเวียต เป็นเมืองที่อยู่ภายในเมืองมาริอูโปล มีเมืองใต้ดินอยู่ข้างใต้โรงงานแห่งนี้ซึ่งจัดสร้างขึ้นในสมัยโซเวียตและมีสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงของยุคสงครามเย็น เป็นต้นว่า โครงสร้างมีความแข็งแกร่งสามารถทนรับการทิ้งระเบิด การปิดล้อม และกระทั่งการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ ตามการประมาณการของฝ่ายรัสเซีย ในเมืองใต้ดินนี้สามารถรองรับผู้คนได้สูงสุด 2,500 คนทีเดียว นอกจากนั้น ยังพรั่งพร้อมด้วยพวกยานหุ้มเกราะ และคลังแสงขนาดมหึมาที่มีทั้งอาวุธและเครื่องกระสุน
ฝ่ายรัสเซียนั้นมีความร้อนอกร้อนใจที่จะปิดฉากการปฏิบัติการในมาริอูโปลนี้อยู่เหมือนกัน กองกำลังอาวุธซึ่งสู้รบอยู่ที่นั่นกำลังเป็นที่ต้องการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ไปประจำตรงแนวรบด้านดอนบาสส์ ขณะที่ในทางตรงกันข้าม เคียฟกำลังมุ่งหวังที่จะถ่วงเวลาการปฏิบัติการของฝ่ายรัสเซียให้เนิ่นช้าออกไป ซึ่งจะทำให้ฝ่ายตนมีเวลามากขึ้นในการฟื้นฟูเสริมความเข้มแข็งให้แก่กองกำลังของตนในดอนบาสส์
ประธานาธิบดีโวโลดีมาร์ เซเลนสกี ของยูเครน เพิ่งสับสวิตช์หันมาพูดเกี่ยวกับเส้นทางแก้ปัญหาด้วยวิธีการทูตอีกครั้งหนึ่ง จุดยืนล่าสุดของเขาก็คือ ยูเครนพร้อมแล้วที่จะเจรจาในเรื่องการโยนทิ้งข้อเสนอเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ของพวกเขา ตลอดจนยินดีจะพูดคุยเรื่องสถานะของดินแดนไครเมียกับรัสเซีย ทว่าก่อนอื่นเลยมอสโกต้องยุติพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์และถอนทหารของตนออกไปเสียก่อน!
กองทัพยูเครนนั้นสูญเสียกำลังพลไปแล้ว 23,367 คน ขณะที่นับจนถึงเมื่อวันเสาร์ (16 เม.ย.) มี 1,464 คนออกมายอมแพ้ในเมืองมาริอูโปล และอีก 2,500 คนซึ่งถูกปิดกั้นไม่ให้ออกมาจากโรงงานอาซอฟสตัล สำหรับดอนบาสส์นั้น กองกำลังของฝ่ายรัสเซียครองความเหนือกว่าทั้งในเรื่องจำนวน การส่งกำลังบำรุง อำนาจการยิง และภูมิประเทศ และการปราชัยในแนวรบด้านนั้นจะทำให้ เซเลนสกี ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องหาทางทำข้อตกลงด้วยการเจรจาโดยยินยอมตามเงื่อนไขของฝ่ายรัสเซีย (อ่านข้อเขียนทำนายเหตุการณ์ที่เขียนได้อย่างค่อนข้างสมดุล โดยนักวิเคราะห์ทางการทหารชาวอเมริกัน พันเอก (เกษียณอายุ) แดเนียล เดวิส เรื่อง The Battle For Donbas Will Be A Tough Fight For Ukraine (สมรภูมิชิงดอนบาสส์จะเป็นการต่อสู้ที่ยากลำบากสำหรับยูเครน) ได้ที่ https://www.19fortyfive.com/2022/04/the-battle-for-donbas-will-be-a-tough-fight-for-ukraine/)
จริงทีเดียว เซเลนสกี และพวกพี่เลี้ยงชาวอเมริกันของเขาวาดภาพเอาไว้ว่า สมรภูมิเพื่อชิงดอนบาสส์จะอยู่ในลักษณะเป็นสนามรบที่เปิดกว้างโล่งโจ้ง แต่ประเด็นก็คือ ถึงแม้การสู้รบมากมายในยูเครนตะวันออกจะต่อสู้กันในบริเวณที่เป็นพื้นที่เปิดโล่งก็จริง แต่กองกำลังอาวุธรัสเซียก็ยังต้องเข้ายึดศูนย์รวมประชากรแห่งสำคัญๆ เป็นจำนวนมากด้วย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของพวกเขาในแคว้นโดเน็ตสก์ (Donetsk oblast) และแคว้นลูฮันสก์ (Luhansk oblast) เป็นต้นว่า เมืองเซเวโรโดเน็ตสก์ (Severodonetsk) รูบิซเน (Rubizhne) ลีซีชานสก์ (Lysychansk) สโลวีอันสก์ (Slovyansk), และครามาตอร์สก์ (Kramatorsk) ตลอดจนเมืองเล็กๆ ลงมาอีกจำนวนมาก
ผลงานของรัสเซียเท่าที่ปรากฏจนถึงเวลานี้ ไม่ได้บ่งชี้ไปในทางที่ดีเลยว่าพวกเขาจะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วในการสู้รบชิงพื้นที่ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้าง ขณะเดียวกันนั้น พวกอาวุธที่จัดหาให้โดยฝ่ายตะวันตกได้ช่วยเหลือกองกำลังฝ่ายยูเครนอย่างสำคัญในการป้องกันไม่ให้รัสเซียสามารถควบคุมน่านฟ้าได้ ฝ่ายยูเครนกำลังมุ่งที่จะยึดถือเอาปัจจัยเหล่านี้มาหยุดยั้งกระแสของการสู้รบ นอกจากนั้น พวกเขายังมีด้านบวกอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ขวัญกำลังใจของพวกเขาก็อยู่ในระดับสูง
กระนั้นก็ตาม สำหรับในครั้งนี้ ความคิดของฝ่ายรัสเซียไม่ได้มีความงุนงงสับสนใดๆ อีกว่ากำลังจะทำความตกลงเรื่องสันติภาพกับยูเครนได้อยู่แล้ว ถึงอย่างไร ฝ่ายรัสเซียก็ไม่น่าที่จะยินยอมปล่อยให้ตัวเองถูกหลอกลวงอีกหนหนึ่ง เหมือนตอนที่พวกเขาหลงเชื่อคำพูดของเซเลนสกี จึงยกขบวนเข้าสู่การเจรจาในนครอิสตันบูล โดยในเวทีเจรจาดังกล่าวก็มีการยื่นเสนอร่างข้อตกลงซึ่งอิงอยู่บนพื้นฐานของการแสดงความเป็นมิตรไมตรีอย่างเร้าอารมณ์ความรู้สึกน่าตื่นตาตื่นใจ พวกเขาจึงถอนทหารออกจากเคียฟ และดินแดนอื่นๆ ทางภาคเหนือ เพียงเพื่อที่จะพบความจริงว่า พวกคู่เจรจาของพวกเขาทางฝ่ายเคียฟพากันกลืนน้ำลายไม่เอาด้วยกับเงื่อนไขต่างๆ ในร่างข้อตกลงนั้นเสียแล้ว
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่ https://tass.com/politics/1438779)
พฤติกรรมประหลาดๆ เช่นนี้ของฝ่ายรัสเซียนี่เอง นำไปสู่ความรับรู้ความเข้าใจอย่างผิดๆ ที่ว่า เครมลินอาจจะกำลังมองหาประตูสำหรับออกจากเรื่องนี้ไปอยู่แล้ว เห็นได้ชัดว่าความรับรู้ความเข้าใจอย่างผิดๆ เช่นนี้ทำให้พวกมหาอำนาจตะวันตกเกิดความกล้าที่จะดำเนินโปรเจกต์ขนาดใหญ่โตในการติดอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ยูเครน ซึ่งรวมไปถึงการถ่ายโอนพวกระบบอาวุธขนาดหนักเพื่อการรุกโจมตี เครื่องกระสุนความแม่นยำสูง ระบบป้องกันภัยทางอากาศสมัยใหม่ ขีปนาวุธ “สติงเกอร์” ของอเมริกัน สำหรับใช้ในการประจันหน้าทางทหารระยะใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นมา
มันเป็นความลับซึ่งรู้กันไปทั่วที่ว่า บุคลากรทางทหารของพวกประเทศนาโต้กำลังถูกส่งมาประจำการเคียงข้างกองกำลังอาวุธของฝ่ายยูเครน ภายใต้ข้ออ้างบังหน้าว่า เป็น “อาสาสมัครชาวต่างชาติ” พวกนักรบต่างชาตินั้นเป็นกองกำลังที่นำโดยนายทหารสหรัฐฯ และกองบัญชาการของกองทัพยูเครนโดยรวม หลักๆ แล้วกำลังรวมศูนย์อยู่ในกำมือของพวกอเมริกัน
มีข้อสนับสนุนอยู่มากทีเดียวว่า การจมของเรือรบ “มอสควา” (Moskva) ก็สอดคล้องเข้ากันได้กับกรอบความคิดเช่นนี้ด้วย พวกนักวิเคราะห์ชาวรัสเซียประเมินกันว่า ขีปนาวุธที่โจมตีใส่เรือลาดตระเวน “มอสควา” ซึ่งเป็นเรือธงของกองเรือทะเลดำของรัสเซีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น แท้จริงแล้วมีเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) เป็นผู้วางแผนและประสานงานอยู่เบื้องหลัง ตามข้อมูลจาก ADS-B Exchange ที่เป็นเว็บไซต์เฝ้าติดตามเที่ยวบินต่างๆ ระบุว่า เครื่องบินลำหนึ่งของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งติดตั้งเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์พรั่งพร้อม ถูกพบเห็นที่บริเวณใกล้ๆ หมู่บ้านซูริลอฟกา (Zhurilovka) ในภาคตะวันออกของโรมาเนีย ไม่ห่างจากเรือรบ “มอสควา” ที่ถูกโจมตีอย่างรุนแรง (โดยที่เครื่องบินลำนี้บางทีอาจเป็นผู้นำทางสำหรับการโจมตีด้วยขีปนาวุใส่เรือมอสควา)
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่ https://www.newsmax.com/newsfront/russia-ukraine-poseidon-plane/2022/04/14/id/1065727/ และhttps://lenta.ru/news/2022/04/14/poseidon/?utm_source=yxnews&utm_medium=desktop)
ข้อความที่ต้องการสื่อจากการนี้ก็เหมือนกับ การตะโกนท้าทายว่า “เข้ามาเลย!” ถึงแม้ว่าเมื่อพิจารณากันในทางการทหารแล้ว การอับปางของเรือรบลำเก่าอายุ 43 ปีแล้วลำนี้ น่าจะไม่ใช่ตัวเปลี่ยนเกมสำหรับการปฏิบัติการของฝ่ายรัสเซียหรอก
ทุกสิ่งทุกอย่างในเวลานี้ขึ้นอยู่กับการรุกโจมตีดอนบาสส์ รวมทั้งการปฏิบัติการที่ฝ่ายรัสเซียอาจจะดำเนินต่อไปอีก เป็นต้นว่าการรุกเข้า เมืองเคอร์ซอน (Kherson) และเมืองโอเดสซา (Odessa) โดยที่ถ้ายังปล่อย 2 เมืองนี้เอาไว้ นาโต้ก็มีความสามารถที่จะตั้งท่าคุกคามรัสเซียในภูมิภาคทะเลดำต่อไปอย่างยืดเยื้อเรื้อรัง ทั้งนี้ นาโต้เองกำลังเตรียมการ โดยเดินโซเซมุ่งหน้าไปยังมอลโดวา แล้วด้วยซ้ำไป
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/04/12/statement-by-nsc-spokesperson-adrienne-watson-on-national-security-advisor-jake-sullivans-call-with-president-maia-sandu-of-moldova/)
เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)
ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/battle-for-mariupol-is-ending/