สภาพยุโรป (อียู) และสหราชอาณาจักร แถลงแผนจะห้ามซื้อน้ำมันจากรัสเซียทั้งหมดในช่วงสิ้นปี ตอบโต้ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ส่วนสหรัฐฯ ได้ประกาศแบนน้ำมันรัสเซียโดนสิ้งเชิงแล้ว ไม่สนคำเตือนของมอสโกที่บอกว่ามาตรการดังกล่าวอาจนำมาซึ่งผลลัพธ์หายนะสำหรับตลาดโลก
โมฮัมเมด บาร์คินโด เลขาธิการโอเปก เมื่อเร็วๆ นี้เตือนเจ้าหน้าที่อียูว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะทดแทนปริมาณที่ขาดหายไปหากว่ามีการแบนน้ำมันรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียคือชาติผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกและผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด
ท่ามกลางความกังวลของทั่วโลกต่อเค้ารางวิกฤตทางอุปทาน บรรดาประเทศตะวันตกกำลังมองหาแหล่งอุปทานทางเลือกเพื่อชดเชยน้ำมันรัสเซียที่ขาดหายไป แต่มันจะทำได้จริงหรือไม่ ต่อไปนี้คือคำตอบ
นอร์เวย์
นอร์เวย์คือชาติผู้ป้อนอุปทานน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของยุโรป รองจากรัสเซีย แต่มีสัดส่วนคิดเป็นเพียงแค่ 8% ของปริมาณการนำเข้าน้ำมันทั้งหมดของอียู ผิดกับรัสเซียที่มีสัดส่วนถึง 27% นอร์เวย์ผลิตน้ำมันราวๆ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และประมาณการว่าจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตอีก 9% ในปี 2024
ประเทศแห่งนี้แถลงในเดือนมีนาคมว่า จะมอบใบอนุญาตใหม่ๆ สำหรับขุดเจาะน้ำมันและแก๊ส ในนั้นรวมถึงในพื้นที่ที่ไม่เคยสำรวจมาก่อนในแถบอาร์กติก อย่างไรก็ตาม หากมองแบบกว้างๆ กำลังผลิตของนอร์เวย์คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 2% ของอุปสงค์พลังงานโลกโดยรวม หมายความว่าพวกเขาเป็นเพียงผู้เล่นตัวเล็กๆ แถมการขุดเจาะพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อการสำรวจและพัฒนาจำเป็นต้องใช้เวลา ซึ่งยุโรปไม่สามารถรอได้
คาซัคสถาน
ประเทศอดีตสหภาพโซเวียตแห่งนี้ โอ้อวดว่ามีแหล่งสำรองน้ำมันที่ได้รับการพิสูจน์แล้วขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคทะเลแคสเปียน ปัจจุบันน้ำมันดิบส่วนใหญ่ของพวกเขาก็ส่งออกไปยังยุโรปอยู่แล้ว คิดเป็นสัดส่วนราว 6% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของอียู
อย่างไรก็ตาม คาซัคสถานต้องพึ่งพิงในการส่งออกน้ำมันดิบของพวกเขาทั้งหมดผ่านท่อลำเลียงจากบรรดาบ่อน้ำมันทางตะวันตกของประเทศ ผ่านทางใต้ของรัสเซีย ไปยังโนโวรอสซีสค์ สถานีน้ำมันริมทะเลดำของรัสเซีย ดังนั้นมันจึงก่อคำถามว่าน้ำมันคาซัคสถานจะได้รับอนุญาตส่งไปยังยุโรปหรือไม่ ในเมื่อมันต้องส่งผ่านรัสเซีย
ไนจีเรีย
ชาติในแอฟริกาแห่งนี้เป็นหนึ่งในผู้จัดหาหลักส่งมอบน้ำมันป้อนแก่ยุโรป ครอบคลุมราว 6% ของปริมาณการนำเข้าน้ำมันทั้งหมดของอียู ประเทศแห่งนี้เคยป้อนน้ำมันไปยังสหรัฐฯ แต่ถูกแทนที่โดยแคนาดา หลังจากแคดานาเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันจากทรายน้ำมัน
ไนจีเรียมีแหล่งสำรวจที่ตรวจสอบแล้วเทียบเท่ากับ 237.3 เท่าของการบริโภคในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ประเทศแห่งนี้ประสบปัญหาเพราะขาดแคลนโรงกลั่นที่ใช้งานได้ และด้วยปิโตรเลียมกลั่นคือสัดส่วนใหญ่ที่สุดของค่าใช้จ่ายในการนำเข้าของไนไจเรีย (คิดเป็นราวๆ 17%) ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ประเทศแห่งนี้จะสามารถมุ่งเน้นเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบ ในขณะที่คลังสำรองภายในประเทศนั้นยังคงว่างเปล่า
ตะวันออกกลาง
บรรดาประเทศตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งของแหล่งน้ำมันสำรองที่ตรวจสอบแล้วของโลก และมีศักยภาพด้านการผลิตส่วนเกินมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ด้วยที่ขาดการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานมานาน ความขัดแข้งทางการเมือง และในกรณีอิหร่านที่ถูกคว่ำบาตร อาจแทรกแซงความสามารถด้านการผลิตของภูมิภาคแห่งนี้ ในยามที่ต้องช่วยเหลือตะวันตกที่กำลังสูญเสียน้ำมันจากรัสเซีย
ยกตัวอย่างเช่น ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอเมิเรตส์ ที่มีกำลังผลิตส่วนเกินมากที่สุดของโอเปก แต่ซาอุดีอาระเบีย เมินเฉยซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อเสียงเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ขอให้เพิ่มกำลังผลิต นอกเหนือจากข้อตกลงเพิ่มกำลังผลิตยุคหลังโควิด-19 ที่โอเปกเห็นพ้องต้องกันก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศก็ไม่มีท่าทีจะเบี่ยงการส่งออกน้ำมันจากเอเชียไปยังยุโรป ด้วยความกังวลอว่าอาจสูญเสียลูกค้าสำคัญอย่างจีน ผู้ซื้อรายใหญ่ของภูมิภาค
พวกนักวิเคราะห์มองว่าอิรักและลิเบียอาจสามารถเพิ่มกำลังผลิต แต่ปัญหาการเมืองภายในประเทศทำให้เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ส่วน อิหร่าน ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมสำหรับเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันดิบ ก็ยังคงอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และความพยายามรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ 2015 ที่เตหะรานทำไว้กับบรรดามหาอำนาจโลกก็ยังไม่ผลิดอกออกผลใดๆ
บราซิล
ในฐานะผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 11 ของโลก เมื่อเร็วๆ นี้บราซิลถูกสหรัฐฯ ร้องขอให้เพิ่มกำลังผลิต หลังจากมาตรการแบนน้ำมันรัสเซียส่งผลให้ราคาเบนซินในอเมริกาพุ่งทะยาน แม้ว่าการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนแค่ 8% ของปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดของสหรัฐฯ ก็ตาม
ความไม่แน่นอนทางอุปทาน ส่งผลให้ราคาพลังงานภายในประเทศของสหรัฐฯ ดีดตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บราซิลปฏิเสธคำขอของวอชิงตัน โดย เปโตรบาส รัฐวิสาหกิจพลังงานระบุว่าระดับการผลิตต้องอยู่บนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจไม่ใช่การพิจารณาทางการทูต และบอกว่าการเพิ่มกำลังผลิตอย่างมากในระยะสั้นไม่มีความเป็นไปได้ในทางโลจิสติกส์
เวเนซุเอลา
วอชิงตันได้ทาบทามไปยังเวเนซุเอลาเช่นกัน ซึ่งอวดอ้างว่ามีแแหล่งน้ำมันสำรองที่ตรวจสอบแล้วใหญ่ที่สุดในโลก สัญญาว่าจะผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรบางอย่างที่กำหนดเล่นงานประเทศแห่งนี้ แลกกับการเพิ่มการส่งออกน้ำมันมายังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ต่อมามีรายงานว่าวอชิงตันกลับลำข้อเสนอดังกล่าว แม้ทางเวเนซุเอลา บอกว่าพวกเขาสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้อย่างน้อย 400,000 บาร์เรลต่อวัน
สหรัฐฯ
อเมริกาคือชาติผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีกำลังผลิตราวๆ 11.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากข้อมูลจนถึงเดือนธันวาคม 2021 อย่างไรก็ตาม ประเทศแห่งนี้ก็เป็นชาติผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน ใช้น้ำมันราว 20% จากการบริโภคน้ำมันทั้งหมดของโลก ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นผู้นำเข้าไปโดยปริยาย
สหรัฐฯ อาจเพิ่มกำลังผลิตและขายน้ำมันดิบของพวกเขาแก่ยุโรปเพิ่มเติม แต่น้ำมันของสหรัฐฯ นั้นเบามาก และไม่เหมาะสำหรับผลิตดีเซลและเบนซินซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในอเมริกาและยุโรป
แคนาดา
ประเทศแคนาดา คือชาติผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของโลก และเป็นชาติที่มีแหล่งน้ำมันสำรองที่ตรวจสอบแล้วใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก อย่างไรก็ตาม แคนาดามีศักยภาพด้านท่อลำเลียงและโครงสร้างพื้นฐานด้านการส่งออกที่จำกัด
ในเดือนมีนาคม รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติของแคนาดา สัญญาว่าจะเพิ่มกำลังผลิตเพื่อช่วยคลี่คลายวิกฤตในยุโรป แต่มีความกังวลว่าประเทศแห่งนี้จะสามารถผลิตน้ำมันเพิ่มเติมได้มากแค่ไหน เมื่อพิจารณาว่ากำลังผลิตในทางตะวันตกของแคนาดา ก็แตะระดับใกล้สูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ก่อนแล้วเมื่อฤดูหนาวปีก่อน
มีรายงานว่า แคนาดาสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้เพียงราวๆ 200,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งสามารถช่วยเหลือสหรัฐฯ ชดเชยปริมาณที่ขาดหายไปได้เพียงบางส่วน ขณะเดียวกันก็ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่ที่แคนาดาจะสามารถส่งมอบน้ำมันเหล่านั้นได้
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)