กองทัพอากาศสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (16 พ.ค.) เปิดเผยว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบอาวุธไฮเปอร์โซนิก ซึ่งพุ่งด้วยความเร็วเหนือเสียง 5 เท่าขึ้นไป
การทดสอบครั้งนี้มีขึ้นเมื่อวันเสาร์ (14 พ.ค.) นอกชายฝั่งเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย โดยเป็นการปล่อยอาวุธที่เรียกว่า “Air-launched Rapid Response Weapon หรือ ARRW (อาวุธตอบโต้เร็วยิงจากอากาศ)” จากเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ลำหนึ่ง
"หลังจากแยกตัวออกจากอากาศยาน จรวดบูสเตอร์ของ ARRW จุดชนวนและเผาไหม้ในระยะเวลาที่คาดหมายไว้ บรรลุเป้าหมายความเร็วไฮเปอร์โซนิก เร็วกว่าความเร็วเสียง 5 เท่า" ถ้อยแถลงระบุ
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยเผยว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการทดสอบขีนาวุธไฮเปอร์โซนิกเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม ในขณะที่พันธมิตร AUKUS ซึ่งประกอบด้วย อเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ได้แถลงแผนร่วมกันพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก
สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก ซึ่งความเร็วและความคล่องแคล่วของมันทำให้เป็นเรื่องยากที่จะติดตามและสกัดกั้น
รัสเซียได้ยิงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกใส่เป้าหมายต่างๆ ในยูเครนหลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่เปิดฉากรุกรานประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ในนั้นยังรวมถึงการประจำการขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกยิงจากอากาศสู่ภาคพื้นคินซาล (KinZhal) ใส่เมืองโอเดซาเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม
มอสโกอ้างว่าคินซาล สามารถพุ่งไปด้วยความเร็วเหนือความเร็วเสียงถึง 10 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพนตากอนซึ่งเป็นผู้จัดหาอาวุธมอบแก่ยูเครน สำหรับต้านทานการรุกรานของรัสเซีย บอกว่าการใช้อาวุธไฮเปอร์โซนิกของรัสเซีย ไม่ได้เป็นตัวเปลี่ยนเกมสงครามในยูเครน
พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ บอกกับสมาชิกสภาคองเกรส ว่ากองกำลังรัสเซียใช้ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกหลายครั้ง แต่นอกเหนือจากความเร็วของอาวุธแล้ว ในแง่ผลกระทบกับเป้าหมายนั้น "จนถึงตอนนี้ เรายังไม่เห็นผลกระทบที่สำคัญใดๆ หรือผลกระทบที่กำลังเปลี่ยนเกมจากการใช้อาวุธไฮเปอร์โซนิกจำนวนเล็กน้อยที่รัสเซียมี"
เจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ กล่าวหาจีนกำลังทดสอบอาวุธไฮเปอร์โซนิกเช่นกัน แต่กระทรวงการต่างประเทศปักกิ่งปฏิเสธในเดือนตุลาคม ว่าพวกเขาไม่ได้ทำการทดสอบอาวุธดังกล่าว
(ที่มา : รอยเตอร์/อัลจาซีราห์)