xs
xsm
sm
md
lg

‘ความอดทนเชิงยุทธศาสตร์’ของรัสเซีย บดบี้เอาชนะการต้านทานของยูเครน ขณะที่แรงหนุนเคียฟจากอียูทำท่า‘อ่อนระโหย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แอนดรูว์ แซลมอน


รถถัง T-72 ของรัสเซีย ยิงอาวุธหลักของตน (ภาพจาก Wikimedia Commons)  รัสเซียอาศัยความเหนือกว่าในเรื่องอำนาจการยิง รุกคืบหน้าไปอย่างช้าๆ ในภูมิภาคดอนบาส และพลิกเปลี่ยนสถานการณ์ทำให้ยูเครนกลับเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Ukraine battles on as Europe’s will wilts, EXCLUSIVE INTERVIEW
By ANDREW SALMON
18/06/2022

การต้านทานอย่างดุดันของเคียฟ เผชิญหน้ากับการบดบี้โดยอาศัยความอดทนเชิงยุทธศาสตร์ของมอสโก ขณะที่กลุ่มสนับสนุนยูเครนอย่างอียู ซึ่งไม่ค่อยมีความสามัคคีอะไรกันนัก ก็กำลังเผยให้เห็นรอยแตกร้าว กาสโตเน เบรคเชีย นักประวัติศาสตร์การทหารชาวอิตาลีให้สัมภาษณ์พิเศษแก่เอเชียไทมส์ พูดเจาะลึกเกี่ยวกับสถานการณ์การสู้รบในยูเครนเวลานี้

สงครามยูเครนในเฟสแรกๆ ที่ดูเหมือนกับ เดวิด ได้ชัยชนะอย่างชวนเซอร์ไพรซ์ครั้งแล้วครั้งเล่าต่อ ยักษ์โกไลแอธ นั้น มาถึงเวลานี้มันกลายเป็นความทรงจำที่ช่างห่างไกล มอสโกกลับเข้าสู่เกมของตัวเองได้สำเร็จ และในภูมิภาคดอนบาส กำลังทหารที่เป็นกองกำลังหลักของกรุงเคียฟต้องสู้รบดิ้นรนอย่างสุดฤทธิ์เพื่อต้านทานไม่ให้ปากคีมหนีบที่กระชับแน่นเข้ามาทุกทีหุบลงจนปิดสนิท

ขณะที่ความเข้มแข็งในการต้านทานของฝ่ายยูเครน สามารถพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่พิเศษไม่ใช่ธรรมดาเลย --การสู้รบอย่างดุเดือดที่สร้างความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจในภูมิภาคดอนบาสหลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรัสเซียเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบทั้งในด้านที่มั่น, กำลังอาวุธ, และความคล่องตัว คือพยานยืนยันชั้นดีในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ออกมาในท้ายที่สุดก็ทำท่าว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความสนับสนุนที่ยูเครนได้รับจากฝ่ายตะวันตกก็กำลังได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่าน่าผิดหวัง

ช่วงเดือนแรกๆ นั้น พวกอาวุธต่อสู้ยานเกราะของฝ่ายตะวันตกโอ่ออวดตัวเองให้เห็นว่ามีความสำคัญยิ่งยวดในการโจมตีเล่นงานขบวนทัพรัสเซียที่ติดกับขยับไปไหนไม่ออกขณะพยายามเคลื่อนไปตามท้องถนนที่ยังเต็มไปด้วยโคลนตมเพราะหิมะละลายในปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูใบไม้ผลิของยูเครน ทว่าในเวลานี้ เมื่อการรณรงค์เข้าสู่ฤดูร้อนและพื้นดินแห้งแข็งแล้ว ยานเกราะของรัสเซียก็ถูกนำมาใช้งานในทางยุทธวิธีอย่างได้ผล และดุลแห่งอำนาจก็เกิดการปรับเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้าม

สงครามทางภาคพื้นดินนั้นจำเป็นต้องอาศัยกำลังยิงและการเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องแคล่ว และฝ่ายรัสเซียกำลังใช้อำนาจการยิงที่เหนือกว่าอย่างมหาศาลมาทำให้ตนเองสามารถที่จะเคลื่อนตัวได้อย่างน้อยนิดที่สุด แต่จวบจนถึงเวลานี้ พวกหุ้นส่วนตะวันตกของยูเครนยังคงบกพร่องล้มเหลวไม่ได้ช่วยเติมเต็มช่องโหว่ต่างๆ ในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ของเคียฟ –ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน, เครื่องยิงอาวุธปล่อยระยะไกล ทั้งจรวด ปืนใหญ่ และปืนครก, และคลังแสงเครื่องกระสุน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ในสมรภูมิ

ในสถานการณ์เช่นนี้ กาสโตเน เบรคเชีย (Gastone Breccia) มองว่า ความอดทนเชิงยุทธศาสตร์เป็นสิ่งที่ให้ผลดีแก่รัสเซียมากกว่ายูเครน เบรกเชีย ซึ่งเป็นศาสตราจารย์และนักวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์การทหารอยู่ที่มหาวิทยาลัยปาเวีย (University of Pavia) ประเทศอิตาลี เป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเล่มซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ออกมาหมาดๆ ชื่อ La Guerra Della Russia (The Wars of Russia) เขาสนทนากับ แอนดรูว์ แซลมอน แห่งเอเชียไทมส์ เกี่ยวกับ ระยะต่างๆ ของสงครามยูเครนคราวนี้, แรงสนับสนุนของยุโรปซึ่งกำลังอ่อนยวบลง, ตลอดจนผลลัพธ์ในขั้นสุดท้ายที่น่าจะเกิดขึ้นมาได้

ศาสตราจารย์ กาสโตเน เบรคเชีย ผู้ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวของสงครามและวิเคราะห์การสู้รบขัดแย้ง
เอเชียไทมส์: ระยะที่หนึ่งของสงครามยูเครนสิ้นสุดลงแล้ว ตอนนี้เรากำลังมาถึงตรงไหนครับ?

กาสโตเน เบรคเชีย: เมื่อเดือนเมษายน มีอยู่ขณะหนึ่งที่ฝ่ายยูเครนรู้สึกว่าพวกเขาใกล้จะได้รับชัยชนะ ฝ่ายรัสเซียถอนตัวออกไปจากภาคเหนือของประเทศ ขณะเดียวกันในเมืองมาริอูโปล (Mariupol) การต้านทานที่โรงงานอาซอฟสตัล (Azovstal) ก็เป็นไปอย่างเหนียวแน่นเกินความคาดหมายทุกๆ ประการ และเคียฟก็ได้เปิดการรุกกลับในพื้นที่แคว้นคาร์คิฟ (Kharkiv) สามารถผลักดันฝ่ายรัสเซียไปจนกระทั่งถึงชายแดนรัสเซียในบางที่บางแห่ง

แต่การรุกโต้กลับของยูเครนที่เปิดขึ้นในพื้นที่คาร์คิฟนี้ ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นการสิ้นเปลืองกำลังแสนยานุภาพโดยไม่ได้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์แต่อย่างใด วัตถุประสงค์ทางทหารเพียงประการเดียวของการปฏิบัติการคราวนี้อาจจะเป็นการมุ่งตัดเส้นทางติดต่อระหว่างเบลโกร็อด (Belgorod) ในรัสเซีย กับ อีซุม (Izyum) เพื่อทำให้ “แนวรบด้านเหนือ” ในดอนบาสของฝ่ายรัสเซียระส่ำระสายตกอยู่ในวิกฤต ทว่ายูเครนก็ไม่ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวัง ครั้นแล้วตั้งแต่สิ้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา ความริเริ่มก็หวนกลับมาอยู่ในมือของฝ่ายรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง และฝ่ายรัสเซียก็กำลังนำเอายุทธศาสตร์การพร่ากำลัง (strategy of attrition) ที่สุขุมรอบคอบเข้ามาใช้ในดอนบาส

“ปืนใหญ่เข้าพิชิต ทหารราบเข้ายึดครอง” (The artillery conquers, the infantry occupies) นี่เป็นสิ่งที่พูดกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และฝ่ายรัสเซียเวลานี้เป็นฝ่ายที่ได้เปรียบอย่างเหลือล้นในเรื่องของปืนใหญ่และจรวด นอกจากนั้น การที่ฝ่ายรัสเซียกำลังเคลื่อนที่เพียงวันละไม่กี่ร้อยเมตรและมุ่งรวมกำลังรักษาที่มั่นต่างๆ เอาไว้ให้มั่นคง ก็หมายความว่าไม่เปิดเผยสายการติดต่อคมนาคมให้แก่การเข้าโจมตีอย่างฉับพลันของข้าศึก ซึ่งการโจมตีเช่นนี้ฝ่ายยูเครนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีความเชี่ยวชาญมากในช่วงอาทิตย์แรกๆ ของสงครามคราวนี้

เอเชียไทมส์: เท่าที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เราได้เรียนรู้บทเรียนอะไรกันบ้าง?


กาสโตเน เบรคเชีย: ต้องไม่ตื่นเต้นดีใจจนเกินไปหลังจากได้ชัยชนะมาครั้งหนึ่ง ต้องไม่ลืมว่า “ศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วง” ของการสู้รบขัดแย้ง “แบบสมมาตร” (“symmetrical” conflict) ระหว่างพวกรัฐอธิปไตยนั้น คือเจตจำนงทางการเมืองของข้าศึกและเหล่าพันธมิตรของพวกเขาในเรื่องที่ว่าจะยืนหยัดสู้รบต่อไปอีกหรือไม่

เอเชียไทมส์: เมื่อพูดกันถึงเรื่องความสามารถในการยืนหยัดแล้ว ปัจจัยเชื่อมโยงต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องกำลังคนของฝ่ายไหนที่ถือว่าได้เปรียบกว่า ฝ่ายยูเครนนั้นมีการระดมพลเกณฑ์เอาประชากรทั่วไปมาเป็นทหาร ทว่ากำลังสูญเสียกำลังพลไปราวๆ วันละครึ่งกองพัน ขณะที่ฝ่ายรัสเซียมีกำลังทหาร 100 กลุ่มกองพันทางยุทธวิธี (Battalion Tactical Group หรือ BTG) อยู่ในยุทธบริเวณ และมีสำรองไว้อยู่อีก 40 ทั้งหมดเหล่านี้เป็นพวกทหารอาชีพ (ไม่ใช่ทหารเกณฑ์)

กาสโตเน เบรคเชีย: วันเวลาของกองทัพที่ประกอบด้วยประชากรเยอะแยะมากมายแบบกองทัพมวลชนนั้นหมดสิ้นผ่านพ้นไปแล้ว รัสเซียมีทหาร 100+40 BTGs ก็อยู่ในราวๆ 110,000 คน นี่เป็นอะไรที่ฝ่ายยูเครนสามารถประชันขันแข่งได้อย่างง่ายดายด้วยจำนวนประชากรของพวกเขา แต่ประเด็นสำคัญจริงๆ อยู่ตรงที่การฝึกอบรมและอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ใช่แค่กำลังคน

ฝ่ายยูเครนมีการจัดตั้งเครือข่ายของค่ายฝึกทหารแบบชั่วคราวง่ายๆ ขึ้นมา ซึ่งดำเนินการโดยพวกมืออาชีพ เพื่อผลิตนักรบชาย (และหญิงด้วยกระมัง?) ให้หลั่งไหลเข้าสู่แนวรบได้อย่างสม่ำเสมอ เอาเป็นว่าได้สัก 10,000 คนต่อเดือน แต่วิธีเช่นนี้มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหรอก เพราะพวกเขาไม่ได้รับอาวุธ (หรืออาวุธของพวกเขาไม่ได้รับการซ่อมแซม) อย่างเพียงพอสอดรับกับฝีก้าวกำลังพลที่เพิ่มขึ้นมาเช่นนี้

ยูเครนนำเอายานยนต์ทหารของรัสเซียที่ถูกทำลายในสงคราม มาจัดแสดงในกรุงเคียฟ ดังภาพนี้ซึ่งถ่ายเมื่อ 21 พฤษภาคม  ทั้งนี้ความเพลี่ยงพล้ำปราชัยของรัสเซียในตอนต้นๆ ของการรุกรานยูเครน เวลานี้กลายเป็นความทรงจำที่ดูห่างไกลเสียแล้ว
เอเชียไทมส์: รัสเซียเวลานี้รุกคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้าเอามากๆ เวลาอยู่ข้างฝ่ายไหน ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายที่ถูกเร่งรัดด้วยเวลามากกว่า ?

กาสโตเน เบรคเชีย: เพื่อทำการสู้รบอย่างที่มีการเตรียมการพรักพร้อมดิบดีเช่นนี้ได้ คุณจำเป็นที่จะต้องได้ เวลา มาเป็นสหายร่วมรบของคุณ นี่คือสิ่งที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และพวกผู้บังคับบัญชาทหารของฝ่ายรัสเซีย กำลังวางเดินพันเอาไว้ในเวลานี้ นั่นคือพวกเขาเชื่อมั่นว่า เวลา จะทำให้พวกเขาเป็นฝ่ายได้เปรียบ

ถึงแม้ฝ่ายยูเครนทำการป้องกันได้อย่างองอาจกล้าหาญมาก แต่มันก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะตั้งสมมุติฐานว่า พวกเขานั่นแหละ ไม่ใช่ฝ่ายรัสเซียหรอก ซึ่งจะเป็นฝ่ายแรกที่ทรัพยากรต่างๆ (ทั้งทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรวัตถุ) ร่อยหรอหมดสิ้นลงไป และทรัพยากรนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับให้ทำการสู้รบต่อไปได้ เมื่อไปถึงจุดนั้น เมื่อกำลังพลมีน้อยเกินไปและเหนื่อยล้าเกินไป ขณะที่พวกเครื่องกระสุนก็ขาดแคลน แนวรบก็จะเริ่มพังครืน และรัฐบาลเคียฟจะต้องร้องขอสงบศึกโดยถูกตั้งเงื่อนไขต่างๆ ที่ยากลำบากมากๆ

เอเชียไทมส์: ในการทำสงครามพร่ากำลัง ฝ่ายไหนซึ่งมีสภาพแวดล้อมทางการเมืองภายนอกที่ได้เปรียบกว่า ?

กาสโตเน เบรคเชีย: เมื่อมองจากทัศนะมุมมองทางการเมืองแล้ว เวลา น่าจะช่วยฝ่ายรัสเซีย ปูตินนั้นจะต้องพึ่งพาอาศัยมากเหลือเกิน ในเรื่องปัจจัยความแตกแยกที่เกิดขึ้นในหมู่พันธมิตรซึ่งไม่ได้เข้าร่วมสงครามด้วยของยูเครน ทั้งนี้ถ้าหากยูเครนไม่ได้รับความช่วยเหลือจากคนเหล่านี้แล้ว ความปราชัยในการรณรงค์สู้รบตามปกติก็จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ผมควรจะเพิ่มเติมเอาไว้ตรงนี้ด้วยว่า พวกเราชาวอิตาลี ก็มีคนอย่าง มัตเตโอ ซัลวินี (Matteo Salvini) ที่เวลานี้ประกาศตัวเป็น “นักสันติภาพนิยม” (pacifist) เป็นต้น เขาเป็นคนหนึ่งซึ่งอยู่ที่แถวหน้าของฝ่ายค้านในอิตาลี นี่ก็หมายความว่าพวกเราเป็นจุดอ่อนในสายโซ่แห่งยุโรป มัตเตโอ ซัลวินี เป็นผู้นำของสันนิบาตภาคเหนือ (Northern League) ที่เคยเป็นพรรคการเมืองอิสระ แต่เวลานี้เป็นพวกประชานิยมปีกขวา (right-wing populist) ปกติแล้วเขาค่อนข้างแสดงตัวเป็นพวกสายเหยี่ยว แต่เขาประกาศจุดยืนเป็นนักสันติภาพนิยม เพื่อคัดค้านพฤติกรรมแบบจงรักภักดีสุดๆ ต่อนาโต้และต่ออียูของ มาริโอ ดรากี (Mario Draghi นายกรัฐมนตรีอิตาลีคนปัจจุบัน)

เอเชียไทมส์: ผมรู้สึกแปลกใจไม่คาดคิดเลยนะว่า พวกชาติพูดภาษาอังกฤษ ตลอดจนยุโรปตะวันออกส่วนใหญ่ และพวกประเทศบอลติก ต่างต้องการจะให้สู้รบกันต่อไปจนกระทั่งถึงเลือดหยดสุดท้ายของชาวยูเครน ทว่าทางฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งเป็นแกนกลางของสหภาพยุโรป กลับมีความเข้มข้นในเรื่องนี้น้อยกว่ากันเหลือเกิน ช่องว่างนี้จะถ่างกว้างออกไปอีกหรือไม่ ?

กาสโตเน เบรคเชีย: มันเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่แล้ว ประชามติของมหาชนในยุโรปกำลังอยู่ในอาการโลเลแกว่งไปแกว่งมาอย่างชัดเจน เพียงแค่ดูผลโพลเมื่อไม่นานมานี้ในฝรั่งเศสและอิตาลีก็จะเห็นได้แล้ว มันกลายเป็นการบังคับขึ้นมาเสียแล้ว ทำให้พวกผู้นำทางการเมืองในอียูทั้งหลายจะต้องเสาะแสวงหายุทธศาสตร์ทางออกจากสงคราม ซึ่งพวกเขาจะสามารถนำเอามาเสนอขายให้แก่ผู้ออกเสียงของพวกเขาได้ เวลาเดียวกันก็ได้รับความยอมรับจาก (ประธานาธิบดี) โจ ไบเดน (ของสหรัฐฯ) และ (ประธานาธิบดี) โวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ (ของยูเครน)

เอเชียไทมส์: เมื่อไม่กี่วันมานี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ออกมาตรัสซ้ำอีกครั้งถึงความเชื่อของพระองค์ที่ว่า การที่นาโต้ขยายตัว (เข้าสู่ยุโรปตะวันออกประชิดชายแดนรัสเซีย) เป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดสงครามคราวนี้ขึ้น การประกาศเช่นนี้จะเป็นที่ยอมรับของชาวคาทอลิกในอียูมากน้อยแค่ไหน ?

กาสโตเน เบรคเชีย: ความเห็นของพระองค์ท่านคงจะถูกเพิกเฉยนั่นแหละ ยกเว้นแต่ในอิตาลี ซึ่งโดมของ (อาสนวิหาร) เซนต์ปีเตอร์ ยังคงทอดเงาปกคลุมอยู่

เอเชียไทมส์: มีรอยโหว่อะไรหรือไม่ในความอดทนเชิงยุทธศาสตร์ของรัสเซีย ?

กาสโตเน เบรคเชีย: ฝ่ายรสเซียก็มีปัญหาของพวกเขาเองเหมือนกัน นี่เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น พวกเขาดูเหมือนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ว่า เครื่องกระสุนสำหรับปืนใหญ่ 122 ม.ม.รุ่นเก่าของพวกเขาน่ะ กำลังจะหมดแล้ว นี่เป็นปืนใหญ่ที่พวกเขาประกอบให้กับหน่วยรบต่างๆ ของพวกสาธารณรัฐแบ่งแยกดินแดน (ลูฮันสก์ และโดเนตสก์) และในหมู่พวก “ผู้รักชาติ” โปรรัสเซียของลูฮันสก์และโดเนตสก์นี่แหละ ก็ดูเหมือนพวกเขามีความรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการถูกใช้ให้เป็นเหยื่อสังเวยกระสุนของฝ่ายยูเครน

สำหรับเรื่องการคัดค้านภายในมอสโกเองนั้นเป็นยังไงบ้าง ผมคงไม่รู้พอที่จะสามารถพูดได้ ทว่ากระทั่งตัว ปูติน เองก็ย่อมไม่สามารถเพิกเฉยละเลยกระแสความไม่พอใจภายในไปเรื่อยๆ อย่างไร้ข้อจำกัดทางด้านเวลา –นี่เป็นบทเรียนบทหนึ่งที่สอนเอาไว้โดยสงครามในอัฟกานิสถานช่วงปี 1979 – 1989 (สงครามที่สหภาพโซเวียตเข้าไปแทรกแซงและยกกองทหารเข้าไปช่วยเหลือระบอบปกครองที่ตนหนุนหลังในอัฟกานิสถาน ซึ่งยุติลงด้วยการต้องถอยทัพกลับมาอย่างบอบช้ำ และพวกนักวิชาการมองกันว่านี่เป็นปัจจัยประการหนึ่งซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Soviet%E2%80%93Afghan_War -ผู้แปล)

ทหารเกาหลีใต้ออกลาดตระเวนตามแนวพื้นที่เขตปลอดทหาร (Demilitarized Zone หรือ DMZ) ที่แยกระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้  ดังในภาพจากแฟ้มภาพนี้  ยูเครนในอนาคตข้างหน้าก็จะถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วนเช่นนี้หรือ?
เอเชียไทมส์: ขอให้เราหันกลับมองไปที่อนาคตกันบ้าง มีบางคนเสนอแนะว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือการแก้ปัญหาในสไตล์เกาหลี มีการตกลงจัดตั้งพื้นที่เขตปลอดทหารขึ้นมาแบ่งแยกยูเครน แต่ว่าเขตปลอดทหารในเกาหลีนั้นมีความยาวประมาณ 250 กิโลเมตร ขณะที่ในยูเครน “เส้นแบ่งการควบคุม” ตั้งแต่ตอนเหนือของดอนบาสลงมาจนจรด เคอร์ซอน จะยาว 800 กิโลเมตรทีเดียว แล้วก็จะกลายเป็นประมาณ 1,200 กิโลเมตรด้วย ถ้าหากฝ่ายรัสเซียบุกคืบหน้าไปจนถึงแคว้นทรานส์นิสเตรีย การรักษาความสงบในพื้นที่ยาวเหยียดขนาดนี้จะเป็นสิ่งที่ทำได้หรือ ?
(เคอร์ซอน Kherson แคว้นทางภาคใต้ของยูเครนที่อยู่ถัดขึ้นมาทางเหนือจากแหลมไครเมีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Kherson_Oblast-ผู้แปล)
(ทรานส์นิสเตรีย(Transnistria รัฐหนึ่งในมอลโดวาที่มีพรมแดนติดกับยูเครน ทรานส์นิสเตรียมประกาศแยกตัวไม่ขึ้นกับมอลโดวา ตั้งแต่ช่วงที่สหภาพโซเวียตกำลังล่มสลาย โดยที่เวลานี้มีกองทหารรัสเซียเทำหน้าที่รักษาสันติภาพอยู่ที่นั่น ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Transnistria#Secession -ผู้แปล)

กาสโตเน เบรคเชีย: ก่อนอื่นเลย ผมไม่เชื่อหรอกว่ารัสเซียจะสามารถเข้ายึดโอเดสซา (Odessa) และรุกต่อไปจนถึง ทรานส์นิสเตรีย แต่ถ้าหากเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันก็จะเป็นจุดจบของยูเครนอย่างที่เรารู้จักกันทีเดียว เพราะยูเครน (ส่วนที่ยังเหลืออยู่) จะถูกลดทอนให้กลายเป็นเพียงส่วนผนวกของโปแลนด์เท่านั้น

ผลลัพธ์ที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดของการต่อสู้ที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ คือการเกิดแนวเส้นหยุดยิงขึ้นมา จากด้านตะวันออกของ คาร์คิฟ ไปถึง สโลเวียนสก์-ครามาตอร์สก์ (Sloviank-Kramatorsk), ทางใต้ถึง โดเนตสก์, ทางตะวันตกถึงแม่น้ำดนิปร์ (Dniepr River) ใกล้ๆ ซาโปริชเชีย (Zaporizhzhia) และ เคอร์ซอน เคอร์ซอนเป็นเป้าหมายหลักของการโจมตีตอบโต้กลับของฝ่ายยูเครนในเวลานี้ และฝ่ายรัสเซียจะต้องป้องกันโดยพร้อมทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง

เส้นแนวหน้าเช่นนี้สามารถที่จะดูแลโดยกองทหาร 100,000 คน ส่วนใหญ่มาจากผู้คนในหมู่พวกแบ่งแยกดินแดนโปรรัสเซีย (นั่นก็คือจากดินแดนต่างๆ ของยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครอง/ถูกรัสเซียผนวก) โดยที่กองทหารเหล่านี้ประจำอยู่ตามที่มั่นต่างๆ ซึ่งได้รับการจัดเตรียมเอาไว้ให้มีความแข็งแรง รวมทั้งหนุนหลังโดยพวกจรวดและปืนใหญ่ ไปนานเท่านานตราบที่ต้องการ


กำลังโหลดความคิดเห็น