(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
US becoming ‘developing country’ on global rankings
By KATHLEEN FRYDL
19/09/2022
ลัทธิอเมริกันเป็นกรณีพิเศษเป็นข้อยกเว้น (American exceptionalism) ซึ่งประโคมเผยแพร่กันมาอย่างยาวนาน มุ่งทำให้ชาวอเมริกันมองเห็นตนเองเป็นผู้นำเหนือกว่าใครในโลก ทว่าในความเป็นจริงแล้วเวลานี้สหรัฐฯ กำลังถูกลดอันดับในการจัดลำดับประเทศทั่วโลก ทั้งทางด้านการพัฒนา ประชาธิปไตย และความเสมอภาคเท่าเทียม
สหรัฐอเมริกาอาจจะถือว่าตนเองมีฐานะเป็น “ผู้นำของโลกเสรี” [1] แต่จากดัชนีว่าด้วยการพัฒนา ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 ประเทศนี้กลับถูกลดอันดับต่ำลงมาอีกในการจัดเรตติ้งเรื่องนี้
ในการจัดลำดับประเทศต่างๆ ทั่วโลกคราวนี้ สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Office of Sustainable Development) ลดระดับของสหรัฐฯ มาอยู่ที่อันดับ 41 ของทั่วโลก [2] ต่ำลงจากคราวก่อนซึ่งอยู่ที่อันดับ 32 ด้วยการใช้ระเบียบวิธีศึกษาวิจัยซึ่งประกอบด้วย –หลักเกณฑ์ที่มีลักษณะเป็นโมเดลขยายกว้าง หรือก็คือ “เป้าหมาย” ต่างๆ รวมทั้งสิ้น 17 หลักเกณฑ์ โดยหลักเกณฑ์เหล่านี้จำนวนมากทีเดียวโฟกัสที่ด้านสิ่งแวดล้อมและความเสมอภาคเท่าเทียม ปรากฏว่าสหรัฐ ฯติดอันดับอยู่ที่ระหว่างคิวบา กับบัลแกเรีย โดยที่ทั้ง 2 ประเทศนี้ได้รับการพิจารณาอย่างกว้างขวางว่ามีฐานะเป็นประเทศกำลังพัฒนา
ไม่เพียงเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ เวลานี้ยังถูกมองว่าเป็นประเทศซี่งอยู่ในกลุ่ม “ประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่อง” อีกด้วย ทั้งนี้ตามดัชนีประชาธิปไตยของนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ (The Economist’s democracy index) [3]
ในฐานะเป็นนักประวัติศาสตร์การเมืองผู้ศึกษาการพัฒนาเชิงสถาบันของสหรัฐฯ [4] ดิฉันรับรู้รับทราบเรตติ้งอันชวนให้เศร้าใจเหล่านี้ ในสภาพที่มันเป็นผลลัพธ์อันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของปัญหา 2 ปัญหา ประการแรก ลัทธิเหยียดเชื้อชาติสีผิว (Racism) นี่เป็นแนวความคิดความเชื่อที่ส่งผลในทางหลอกลวงบิดเบือน จนทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากต้องหลุดออกจากการได้รับการดูแลทางด้านสุขภาพ การศึกษา ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งพวกเขาสมควรได้รับ เวลาเดียวกันนั้น ขณะที่ภัยคุกคามต่างๆ ต่อประชาธิปไตยของเรากำลังเพิ่มความสาหัสรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การที่สหรัฐฯ ยังคงอุทิศตนเทิดทูน “ลัทธิอเมริกันเป็นกรณีพิเศษข้อยกเว้น” (American exceptionalism) ก็กีดกั้นประเทศนี้จนไม่สามารถที่จะดำเนินการประเมินผลต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา และทำการแก้ไขเส้นทางให้เข้าสู่ความถูกต้อง
“อเมริกาอีกอเมริกาหนึ่ง”
การจัดแรงกิ้งของสำนักงานว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น มีความแตกต่างจากมาตรวัดการพัฒนาตามแบบฉบับประเพณีเดิมๆ ที่เคยทำกันมา ในจุดที่ว่าหลักเกณฑ์ซึ่งทางหน่วยงานยูเอ็นแห่งนี้ใช้ มุ่งเน้นหนักไปที่ประสบการณ์ของประชาชนคนธรรมดาสามัญมากกว่า เป็นต้นว่า ความสามารถของพวกเขาที่ได้รับอากาศและน้ำที่สะอาด แทนที่จะเพ่งความสนใจไปที่เรื่องการสร้างความมั่งคั่ง
ดังนั้น ขณะที่ขนาดอันใหญ่โตมหึมาของเศรษฐกิจอเมริกันยังคงถูกนับเข้าไปในการคิดคะแนนให้แก่สหรัฐฯ แต่ความไม่เสมอภาคเท่าเทียมของประชาชนในการเข้าถึงความมั่งคั่งที่เศรษฐกิจอเมริกันผลิตขึ้นมาได้ ก็ถูกนำมาคำนวณด้วยเหมือนกัน ทั้งนี้ แม้เมื่อวินิจฉัยตัดสินด้วยหลักเกณฑ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้ว อย่างเช่น สัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) [5] พบว่าความไม่เสมอภาคเท่าเทียมในทางรายได้ในสหรัฐฯ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา กระทั่งจากการคิดคำนวณขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD) [6] สหรัฐฯจัดเป็นประเทศที่มีช่องว่างด้านความมั่งคั่งถ่างกว้างที่สุดในบรรดากลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (จี7) ด้วยกัน
ผลลัพธ์เหล่านี้คือเครื่องสะท้อนให้เห็นความไม่เสมอภาคเท่าเทียมเชิงโครงสร้างในสหรัฐฯ โดยที่มองเห็นกันได้ชัดเจนที่สุดในหมู่ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ความแตกต่างไม่เท่าเทียมดังกล่าวนี้ยังคงดำรงคงอยู่ต่อมาอย่างยืนยาว ถึงแม้ระบบที่ถือว่าทาสเป็นทรัพย์สินจะสิ้นสุดลง ตลอดจนมีการยกเลิกพวกกฎหมายเพื่อการแบ่งแยกกีดกันด้วยเชื้อชาติสีผิว ที่เรียกว่า กฎหมายจิม โครว์ (Jim Crow laws) กันไปแล้ว
นักวิชาการชาวอเมริกันคนสำคัญ ดับเบิลยู อี บี ดูบอยส์ (W E B Du Bois) เป็นคนแรกที่เปิดโปงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้างชนิดนี้เอาไว้ ในงานวิเคราะห์เมื่อปี 1899 ของเขาว่าด้วยชีวิตของคนผิวดำในชุมชนเมืองทางภาคเหนือของสหรัฐฯ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “The Philadelphia Negro” (คนนิโกรเมืองฟิลาเดลเฟีย) [7] ถึงแม้เขาชี้ให้เห็นว่าภายในสังคมคนผิวดำมีการแบ่งแยก มีความแตกต่างผิดแผกกันในเรื่องความมั่งคั่งและในเรื่องสถานะอย่างชัดเจน แต่ ดูบอยส์ ก็พบว่าชีวิตของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันนั้น เหมือนอยู่กับคนละโลกกับชาวเมืองเดียวกันที่เป็นคนผิวขาว มันมีลักษณะเป็น “เมืองที่ซ้อนอยู่ภายในเมืองอีกชั้นหนึ่ง” โดยแท้
ดูบอยส์ แกะรอยติดตามจนพบว่าการที่ประชาคมชาวผิวดำในฟิลาเดลเฟีย มีความยากจน การก่ออาชญากรรม และการไม่รู้หนังสือในอัตราสูงลิ่วนั้น เนื่องมาจากการแบ่งแยกกีดกันด้านต่างๆ การขาดไร้การลงทุน และการที่ย่านอยู่อาศัยถูกแบ่งแยกกีดกันออกจากกัน --ไม่ใช่เป็นเพราะระดับความมุ่งมั่นทะเยอทะยานหรือระดับความรู้ความสามารถของคนผิวดำ
หลังจากเวลาผ่านไปอีกกว่าครึ่งศตวรรษ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้มีบุคลิกภาพในแบบผู้มีคารมคมกล้าและคล่องแคล่ว ก็ได้ออกมาประณามวิพากษ์วิจารณ์ทำนองเดียวกัน [8] เขาพูดเกี่ยวกับการดำรงคงอยู่อย่างไม่ยอมเสื่อมถอยของ “อมริกาอีกอเมริกาหนึ่ง” เป็นอเมริกาซึ่ง “ความร่าเริงแห่งความรู้สึกมีหวัง” ถูกเปลี่ยนไปกลายเป็น “ความเหนื่อยล้าของความรู้สึกหมดหวัง”
เพื่อทำให้มองเห็นภาพชัดเจนของสิ่งที่เขาชี้ออกมา คิง อ้างอิงถึงปัจจัยต่างๆ ซึ่งจำนวนมากทีเดียวเป็นปัจจัยเดียวกันกับที่ ดูบอยส์ เคยศึกษาเอาไว้ เป็นต้นว่า สภาพของที่อยู่อาศัย และความมั่งคั่งของครัวเรือน การศึกษา การเปลี่ยนฐานะทางสังคม และอัตราการรู้หนังสือ ผลลัพธ์ในด้านสุขภาพ และการจ้างงาน สิ่งที่ปรากฏออกมาจากการใช้เกณฑ์วัดทั้งหมดเหล่านี้เข้าไปศึกษา ก็คือ ชาวอเมริกันผิวดำอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่เลวร้ายกว่าชาวอเมริกันผิวขาว [9] แต่ก็อย่างที่ คิง ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า “ผู้คนจำนวนมากซึ่งมีภูมิหลังแตกต่างกันหลายหลาก กำลังใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาอีกอเมริกาหนึ่งแห่งนี้”
หลักเกณฑ์เครื่องชี้วัดการพัฒนาซึ่งบุคคลเหล่านี้ก่อกำเนิดขึ้นมา ยังปรากฏให้เห็นอย่างสำคัญมากในหนังสือตีพิมพ์เมื่อปี 1962 เรื่อง “The Other America” [10] ของนักรัฐศาสตร์ ไมเคิล แฮร์ริงตัน (Michael Harrington) [11] ผู้ก่อตั้งกลุ่มซึ่งในท้ายที่สุดจะกลายเป็นองค์การนักสังคมประชาธิปไตยแห่งอเมริกา (Democratic Socialists of America) ผลงานของแฮร์ริงตัน สร้างความว้าวุ่นใจให้แก่ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี จนกระทั่งมีรายงานว่ามันเป็นตัวกระตุ้น [12] ให้เขาเข้าสู่การลงมือทำ “สงครามต่อสู้กับความยากจน”
ประธานาธิบดีผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจาก เคนเนดี ซึ่งก็คือ ลินดอน จอห์นสัน ก็ได้เข้าสู่การต่อสู้ซึ่งถูกเปรียบเทียบว่าเป็นการเข้าทำสงครามนี้เช่นกัน แต่กระนั้นความยากจนยังคงผูกติดแน่นเหนียวอยู่กับบางแห่งบางสถานที่ [13] ทั้งนี้ ตามพื้นที่ต่างๆ ในเขตชนบทและตามย่านที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ซึ่งมีการแบ่งแยกกีดกัน เวลานี้ยังคงอยู่ในสภาพยากจนอยู่ดี ถึงแม้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อแก้ไขเมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 20
ส่วนใหญ่ส่วนสำคัญของเรื่องนี้เนื่องมาจากว่า ความพยายามต่างๆ ของรัฐบาลกลางในช่วงเวลาอันวิกฤตยิ่งดังกล่าว มุ่งที่จะปรับตัวรอมชอมกับลัทธิเหยียดเชื้อชาติสีผิว มากกว่าที่จะต่อสู้เผชิญหน้ากับลัทธินี้ ทั้งนี้ตามผลการศึกษาวิจัยของดิฉันเอง [14]
ในพื้นที่ของนโยบายด้านต่างๆ จำนวนหนึ่ง ความพยายามอย่างไม่ยอมรามือของพวกสมาชิกพรรคเดโมแครตในรัฐสภาสหรัฐฯ ที่เป็นพวกนักลัทธิแบ่งแยกกีดกันด้วยเหตุผลด้านเชื้อชาติสีผิว ได้ส่งผลทำให้เกิดระบบของนโยบายทางด้านสังคมซึ่งอยู่ในลักษณะทำตรงนั้นนิดทำตรงนี้หน่อยอย่างขาดไร้ความสมบูรณ์และความต่อเนื่อง พวกเดโมแครตจากรัฐจากภาคใต้ยังร่วมมือกับพวกพรรครีพับลิกันเพื่อทำให้ความพยายามในเรื่องการผลักดันระบบดูแลรักษาสุขภาพที่มุ่งครอบคลุมทุกๆ คน [15][16] หรือในเรื่องให้แรงงานทั้งหลายสามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน [17] ต้องหมดอนาคตและประสบความล้มเหลว
จากการปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอต่างๆ ที่ให้รัฐบาลส่วนกลางสามารถเข้าแทรกแซงได้อย่างเข้มแข็ง พวกเขาก็ได้ทิ้งมรดกอันกระดำกระด่างแก่ชนรุ่นหลัง ในรูปแบบที่ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ออกเงินทุนอุดหนุนด้านการศึกษา [18] และการสาธารณสุข [19]
มาถึงวันนี้ ซึ่งเวลาผ่านไปแล้วหลายๆ ปีจากตอนนั้น ผลลัพธ์ของระบบรัฐสวัสดิการที่มุ่งออกแบบดัดแปลงให้รอมชอมกับลัทธิเหยียดเชื้อชาติสีผิว ก็แสดงหลักฐานให้ปรากฏ –ถึงแม้อาจจะยังไม่เด่นชัดเตะตาก็ตามที –ในรูปของนโยบายต่างๆ ทางด้านสุขภาพซึ่งไม่เหมาะสมไม่เพียงพอ[20] จนทำให้ความคาดหมายการคงชีพของชาวอเมริกันโดยเฉลี่ย กำลังลดต่ำลงอย่างน่าตระหนก [21]
ประชาธิปไตยที่กำลังเสื่อมโทรม
ยังมีวิธีอื่นๆ อีกสำหรับการวัดระดับการพัฒนาของประเทศหนึ่งๆ และในบางวิธีเหล่านี้อันดับของสหรัฐฯ ก็ดูดีมากขึ้น
สหรัฐฯ ในปัจจุบันติดที่ 21 ในดัชนีของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Development Program) [22] โดยที่ดัชนีนี้วัดปัจจัยด้านต่างๆ น้อยกว่าดัชนีของสำนักงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ด้วยผลลัพธ์ที่ดีในเรื่องรายได้บุคคลโดยเฉลี่ย –64,765 ดอลลาร์สหรัฐ— และในเรื่องจำนวนปีที่เข้าโรงเรียนโดยเฉลี่ย –13.7 ปี— จึงทำให้สหรัฐฯ ยังคงสามารถติดอยู่ในระดับของพวกประเทศพัฒนาแล้ว
อย่างไรก็ตาม อันดับของสหรัฐฯ กำลังเสียหายเสื่อมโทรม เมื่อเป็นการประเมินผลซึ่งให้น้ำหนักมากขึ้นแก่พวกระบบทางด้านการเมือง
ดัชนีประชาธิปไตยของนิตยสารดิอีโคโนมิสต์เวลานี้ นำเอาสหรัฐฯ มารวมไว้ในกลุ่มประเทศ “ประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่อง” [23] โดยได้คะแนนรวมทั้งหมดอยู่ในตำแหน่งระหว่างเอสโตเนีย และชิลี ทั้งนี้ การที่สหรัฐฯ สอบตกไม่ได้ถูกบรรจุเอาไว้ในกลุ่มที่ได้เรตสูงสุด “ประชาธิปไตยเต็มที่” ที่สำคัญแล้วเนื่องมาจากการมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความแตกแยกกัน การแบ่งแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ดังกล่าวนี้สามารถมองเห็นได้มากที่สุดในเรื่องเส้นทางเดินในด้านต่างๆ ของพวกรัฐ “สีแดง” (รัฐที่โน้มเอียงเลือกพรรครีพับลิกัน) กับพวกรัฐ “สีน้ำเงิน” (รัฐที่โน้มเอียงเลือกพรรคเดโมแครต) ซึ่งกำลังแยกออกไปคนละทิศ
ถึงแม้พวกทีมนักวิเคราะห์จากดิอีโคโนมิสต์ ยกย่องชมเชยการที่สหรัฐฯ ยังคงสามารถเปลี่ยนผ่านส่งมอบอำนาจกันได้อย่างสันติ (จากโดนัลด์ ทรัมป์ มาสู่มือโจ ไบเดน) ทั้งๆ ที่ต้องเผชิญกับการก่อกบฏจลาจลที่มุ่งขัดขวางการผ่องถ่ายอำนาจนี้ [24] แต่กระนั้นรายงานของพวกเขาก็ยังคร่ำครวญ [25] ในเรื่องที่ว่า จากผลโพลเมื่อเดือนมกราคม 2022 “มีชาวอเมริกันเพียงแค่ 55% เท่านั้นซึ่งเชื่อว่า ไบเดน ชนะการเลือกตั้งในปี 2020 อย่างถูกต้องชอบธรรม ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีหลักฐานเลยว่ามีการทุจริตฉ้อโกงการออกเสียงอย่างกว้างขวางก็ตามที”
ลัทธิปฏิเสธไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง [26] เช่นนี้ มาพร้อมๆ กับภัยคุกคามที่ว่าพวกเจ้าหน้าที่จัดการการเลือกตั้งที่อยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งพรรครีพับลิกันควบคุมอยู่ อาจจะปฏิเสธหรือกระทั่งเปลี่ยนแปลงผลการลงคะแนนเสียเลย ถ้าหากผลโหวตที่ออกมาไม่เป็นผลดีแก่พรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปหลังจากนี้ ซึ่งย่อมจะยิ่งเป็นอันตรายต่อคะแนนของสหรัฐฯ ในดัชนีประชาธิปไตยนี้
อเมริกาที่โน้มเอียงเลือกรีพับลิกัน กับอเมริกาที่โน้มเอียงเลือกเดโมแครต ยังแตกต่างกันด้วยในเรื่องการเข้าถึงการดูแลสุขภาพด้านการสืบพันธุ์สมัยใหม่สำหรับสตรี เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายให้แก่เรตติ้งทางด้านความเสมอภาคเท่าเทียมกันในเพศภาวะของสหรัฐฯ อันเป็นตัววัดตัวหนึ่งของดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ [27]
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้กลับคำตัดสินในคดีระหว่าง โร กับ เวด (Roe v. Wade) [28] พวกรัฐซึ่งรีพับลิกันควบคุมอยู่ก็ได้ออกหรือเสนอให้ออกกฎหมายที่มีเนื้อหาจำกัดควบคุมการทำแท้งอย่างเลวร้าย [29][30] จนถึงจุดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของสตรีรายหนึ่งแล้ว [31]
เมื่อนำเอาความไม่เสมอภาคเท่าเทียมในเชิงโครงสร้าง มาเข้าคู่กับพวกนโยบายทางด้านสังคมที่ก่อให้เกิดความแตกแยกกันแล้ว การที่พวกรีพับลิกันมีความมุ่งมั่นผูกพันกับประชาธิปไตยลดน้อยลงเรื่อยๆ ก็เลยกลายเป็นการเพิ่มน้ำหนักสำหรับการจัดชั้นสหรัฐฯ ให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกประเทศกำลังพัฒนา
ลัทธิอเมริกันเป็นกรณีพิเศษข้อยกเว้น
ในการรับมือแก้ไขเรื่องที่สหรัฐฯ กำลังมีลำดับที่ย่ำแย่จากการสำรวจจัดอันดับระดับโลกประเภทต่างๆ เหล่านี้ เรายังจะต้องต่อสู้กับแนวความคิดแบบลัทธิอเมริกันเป็นกรณีพิเศษข้อยกเว้น (American exceptionalism) [32] ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่าอมริกันมีความเหนือล้ำกว่าใครอื่นทั้งหมดในโลก
พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันต่างส่งเสริมสนับสนุนความเชื่อเช่นนี้กันมายาวนานแล้วทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ แต่กระนั้นก็กล่าวได้ว่า ลัทธิความเชื่อนี้ได้รับการยอมรับปฏิบัติอย่างเป็นทางการจากชาวพรรครีพับลิกันมากกว่า
มันเป็นเนื้อหาในบรรทัดแรกเลยของหลักนโยบายแห่งชาติของพรรครีพับลิกันสำหรับใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีทั้งเมื่อปี 2016 [33] และปี 2020 [34] (“เราเชื่อในลัทธิอเมริกันเป็นกรณีพิเศษข้อยกเว้น”) และความเชื่อนี้ยังถือเป็นหลักการสำหรับการจัดองค์กรดำเนินการ ซึ่งอยู่เบื้องหลังคำมั่นสำคัญของโดนัลด์ ทรัมป์ ในเรื่องการรื้อฟื้น “การศึกษาเพื่อให้เกิดความรักชาติ” [35] ขึ้นตามโรงเรียนต่างๆ ของอเมริกา
ในรัฐฟลอริดา ภายหลังการล็อบบี้โดย รอน ดีแซนทิส (Ron DeSantis) ผู้ว่าการรัฐที่เป็นชาวพรรครีพับลิกัน [36] คณะกรรมการการศึกษาของรัฐก็ได้ลงมติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 รับรองมาตรฐานต่างๆ ซึ่งหยั่งรากอยู่ในลัทธิอเมริกันเป็นกรณีพิเศษข้อยกเว้น ขณะเดียวกัน ก็ห้ามไม่ให้สอนทฤษฎีพิจารณาเรื่องเชื้อชาติสีผิวอย่างมีวิจารณญาณ (critical race theory) [37] ซึ่งเป็นการสอนที่มีกรอบโครงทางวิชาการชนิดเดียวกับการเปิดเผยให้เห็นลัทธิเหยียดเชื้อชาติสีผิวเชิงโครงสร้าง อย่างที่ ดูบอยส์ ได้กระทำมานานแล้วนั่นเอง
ด้วยความโน้มเอียงที่จะประกาศอวดอ้างว่าตนเองนั้นมีความเป็นเลิศ แทนที่จะพยายามมุ่งมั่นเพื่อเสาะแสวงหาความเป็นเลิศดังกล่าว ลัทธิอเมริกันเป็นกรณีพิเศษข้อยกเว้นที่แสนจะจุกจิกหยุมหยิม จึงมุ่งกระตุ้นส่งเสริมให้ชาวอเมริกันทั้งหลายธำรงรักษาความรู้สึกอย่างมุ่งมั่นที่ว่าชาติของตนกำลังประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ อยู่แล้ว–ถึงแม้มีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ชี้ไปในทิศทางตรงกันข้ามก็ตามที
แคธลีน ฟรายเดิล เป็นนักวิชาการที่ได้รับเชิญให้เป็นผู้แสดงปาฐกถา แซคส์ (Sachs Lecturer) ณ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ เธอเป็นนักประวัติศาสตร์และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง "The Drug Wars in America, 1940-1973" และ "The GI Bill"
(ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/us-is-becoming-a-developing-country-on-global-rankings-that-measure-democracy-inequality-190486)
เชิงอรรถ
[1] https://www.americanforeignrelations.com/E-N/Exceptionalism-The-leader-of-the-free-world.html
[2] https://dashboards.sdgindex.org/rankings
[3] https://www.economist.com/graphic-detail/2022/02/09/a-new-low-for-global-democracy
[4] https://www.linkedin.com/in/kathleen-frydl-0406b21a5/
[5] https://data.worldbank.org/indicator/SI.POV.GINI?locations=US
[6] https://data.oecd.org/inequality/income-inequality.htm
[7] https://www.jstor.org/stable/j.ctt3fhpfb
[8] https://www.rev.com/blog/transcripts/the-other-america-speech-transcript-martin-luther-king-jr
[9] https://theconversation.com/black-americans-mostly-left-behind-by-progress-since-dr-kings-death-89956
[10] https://www.simonandschuster.com/books/The-Other-America/Michael-Harrington/9780684826783
[11] https://theconversation.com/how-socialism-stopped-being-a-dirty-word-for-some-voters-and-started-winning-elections-across-america-156572
[12] https://www.smithsonianmag.com/history/how-a-new-yorker-article-launched-the-first-shot-in-the-war-against-poverty-17469990/
[13] https://www.cbpp.org/poverty-and-place
[14] https://www.cambridge.org/us/academic/subjects/history/american-history-after-1945/gi-bill?format=HB&isbn=9780521514248
[15]https://www.nytimes.com/interactive/2019/08/14/magazine/universal-health-care-racism.html
[16] https://www.theatlantic.com/politics/archive/2017/06/the-fight-for-health-care-is-really-all-about-civil-rights/531855/
[17]https://www.salon.com/2018/06/07/big-business-and-white-supremacy-the-racist-roots-of-americas-right-to-work-laws/
[18] https://www.sc.edu/uofsc/posts/2022/04/conversation-jim-crow.php#.YyHMrOzMK8p
[19] https://www.healthaffairs.org/doi/10.1377/hlthaff.2021.01466
[20] https://www.thelancet.com/journals/lanam/article/PIIS2667-193X(22)00081-3/fulltext
[21]https://www.cdc.gov/nchs/pressroom/nchs_press_releases/2022/20220831.htm
[22] https://hdr.undp.org/
[23] https://www.economist.com/graphic-detail/2022/02/09/a-new-low-for-global-democracy
[24] https://theconversation.com/the-sore-loser-effect-rejecting-election-results-can-destabilize-democracy-and-drive-terrorism-171571
[25] https://www.eiu.com/n/campaigns/democracy-index-2021/?utm_source=economist&utm_medium=daily_chart&utm_campaign=democracy-index-2021
[26] https://www.nytimes.com/2022/06/05/us/politics/america-first-secretary-of-state-candidates.html
[27] https://www.guttmacher.org/gpr/2015/10/onward-2030-sexual-and-reproductive-health-and-rights-context-sustainable-development
[28] https://www.npr.org/2022/06/24/1102305878/supreme-court-abortion-roe-v-wade-decision-overturn
[29]https://today.westlaw.com/Document/I1ebf6cf01a6a11ed9f24ec7b211d8087/View/FullText.html%22%22
[30] https://www.guttmacher.org/state-policy
[31] https://www.nytimes.com/2022/09/10/us/abortion-bans-medical-care-women.html
[32] https://www.washingtonpost.com/sf/national/2015/06/03/obama-and-american-exceptionalism/
[33]https://www.google.com/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=&ved=2ahUKEwiukdmw2pT6AhU6FVkFHRpPDLUQFnoECAsQAQ&url=https%3A%2F%2Fprod-cdn-static.gop.com%2Fmedia%2Fdocuments%2FDRAFT_12_FINAL%255B1%255D-ben_1468872234.pdf&usg=AOvVaw0ZlBtj2Rrovr9mA9DZJCOy
[34] https://ballotpedia.org/The_Republican_Party_Platform,_2020
[35] https://www.politico.com/news/2020/08/31/trump-patriotic-education-406521
[36] https://www.orlandoweekly.com/news/florida-board-of-education-approves-new-curriculum-touting-american-exceptionalism-29639851
[37] https://www.edweek.org/leadership/what-is-critical-race-theory-and-why-is-it-under-attack/2021/05