xs
xsm
sm
md
lg

มรดกด้านลบซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชมสรรเสริญของควีนเอลิซาเบธ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แมตต์ ฟิตซ์แพทริค ***


สื่อมวลชนทั่วโลกพาดหัวข่าวแสดงความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 แต่กระนั้น มรดกที่พระองค์เหลือทิ้งเอาไว้เบื้องหลังก็ยังคงก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งกันอยู่ (ภาพถ่ายจากหน้าจอเว็บไซต์บีบีซี)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Cause not to celebrate the Queen
By MATT FITZPATRICK
11/09/2022

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงทำให้ผู้คนในที่ต่างๆ ตลอดทั่วโลกทีเดียวจดจำรำลึกถึงพระองค์ ทว่าไม่ใช่ทุกๆ คนหรอกซึ่งมองมรดกที่พระองค์เหลือตกทอดเอาไว้ว่าเป็นสิ่งที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ

ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นทีเดียว รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็มีความเกี่ยวข้องพัวพันอย่างลึกซึ้งกับจักรวรรดิอังกฤษที่แผ่ขยายมีเมืองขึ้นอยู่ทั่วโลก รวมทั้งกับกระบวนการที่บรรดาอาณานิคมแยกตัวออกเป็นอิสระจากจักรวรรดิแห่งนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทั้งยาวนานและนองไปด้วยเลือด

จริงๆ แล้ว พระองค์ท่านทรงขึ้นเป็นควีนในตอนที่เสด็จเยือนอาณานิคมเคนยาเมื่อปี 1952 หลังจากพระองค์เสด็จออกมาแล้ว สถานการณ์ที่นั่นก็เสื่อมทรามเข้าสู่การสู้รบขัดแย้งครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในยุคอาณานิคมของอังกฤษ มีการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินในเดือนตุลาคม 1952 และอังกฤษก็จะเดินหน้าเข้าไปเข่นฆ่าชาวเคนยาล้มตายไปหลายหมื่นคน ก่อนที่มันจะจบสิ้นลง
(เรื่องเสด็จขึ้นครองราชย์ขณะทรงเยือนเคนยา ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonpost.com/history/2022/09/08/princess-elizabeth-queen-kenya/)
(เรื่องการปราบปรามเข่นฆ่าชาวเคนยาหลายหมื่นคน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/news/2016/aug/18/uncovering-truth-british-empire-caroline-elkins-mau-mau)

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะปลดเปลื้องตัดขาดคุณสมบัติส่วนบุคคลของสตรีผู้สุภาพนุ่มนวลและมีเมตตาคนหนึ่ง ออกไปจากบทบาทของพระองค์ในฐานะผู้สวมมงกุฎเป็นประมุขของมหาจักรวรรดิระดับโลกที่กำลังเสื่อมสลาย ซึ่งได้เปิดศึกก่อสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน และต้านทานกระแสเรียกร้องต้องการเป็นเอกราชที่ดังกระหึ่มกึกก้องจากตลอดทั่วทุกมุมโลก?

ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วย่อมต้องทรงดำเนินตามครรลองการนำของรัฐสภาของพระองค์ กระนั้นอดีตพสกนิกรของจักรวรรดิอังกฤษจำนวนมากทีเดียวไม่ได้คิดเช่นนั้น และนักประวัติศาสตร์บางคนก็เห็นพ้องกับพวกเขา โดยที่มีคนหนึ่งกล่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า ควีน “เอลิซาเบธที่ 2 ทรงช่วยเหลือปกปิดประวัติศาสตร์อันนองเลือดของกระบวนการที่จักรวรรดิอังกฤษเสื่อมสลาย และบรรดาอาณานิคมแยกตัวเป็นอิสระ โดยที่มรดกต่างๆ ของยุคประวัติศาสตร์นี้ยังคงไม่ได้รับการรับรู้ยอมรับกันอย่างถูกต้องเหมาะสม”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sltrib.com/opinion/commentary/2022/09/08/maya-jasanoff-mourn-queen-not/)

สำหรับที่นี่ (หมายถึงประเทศของผู้เขียน -ผู้แปล) ในออสเตรเลียนี้ก็เช่นเดียวกัน ขณะที่ชาวออสเตรเลียบางคนหวนคิดย้อนอดีตด้วยความถวิลหาถึงเมื่อครั้งที่พวกเขาเฝ้าโบกธงเล็กๆ ในมือตามเส้นทรงเสด็จพระราชดำเนินตอนที่พวกเขายังเป็นเด็ก แต่ก็มีนักวิชาการที่เป็นชนพื้นถิ่นดั้งเดิมผู้หนึ่งชี้เอาไว้ว่า สมเด็จพระราชินีนาถพระองค์นี้ “ไม่ได้เป็นเพียงผู้ยืนดูอยู่เฉยๆ เลย เมื่อพิจารณาถึงผลลัพธ์ต่างๆ ของการล่าอาณานิคมและลัทธิอาณานิคม”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sbs.com.au/nitv/article/what-first-nations-people-are-saying-following-queen-elizabeths-death/pg1sus2ti)

มันขึ้นอยู่กับว่าใครที่เป็นคนจดจำ

สมเด็จพระราชินีนาถ และรัชสมัยของพระองค์จะได้รับการจดจำกันอย่างไร จึงขึ้นอยู่กับว่าการจดจำนี้เกิดขึ้นที่ไหนและใครคือผู้จดจำ

นี่ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ใหม่อะไรหรอก กรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ และยังไม่น่าจะลืมกันก็คือ เมื่อตอนที่ดยุก และดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เสด็จเยือนประเทศแถบทะเลแคริบเบียนในเดือนมีนาคม 2022 ที่ผ่านมา แล้วได้รับการบอกกล่าวอย่างโต้งๆ ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีของจาเมกา ว่า ภูมิภาคแถบนั้น “กำลังเคลื่อนตัวห่างออกไป” จากการยอมรับสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/uk-news/2022/mar/25/william-and-kate-caribbean-tour-slavery-reparations-royals)

ที่อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน มีผู้ตั้งข้อสังเกตกันไม่ขาดสายว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษ คือเครื่องย้ำเตือนอย่างไม่เสื่อมคลายให้ระลึกไปถึงยุคสมัยแห่งการเป็นทาส โดยที่คณะกรรมการของรัฐบาลชุดหนึ่งในประเทศบาฮามาส กำลังรบเร้าให้สถาบันแห่งนี้ออกมา “ขอโทษอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและอย่างเป็นทางการสำหรับอาชญากรรมต่างๆ ที่พวกเขากระทำต่อมนุษยชาติ”

กระบวนการที่ชาติต่างๆ ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ วางตัวออกห่างจากสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษในอดีตสมัย เป็นสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ และปรากฏให้เห็นแม้กระทั่งในสัปดาห์แห่งการเสด็จสวรรคตของควีนเอลิซาเบธ

ตัวอย่างเช่น ในอินเดีย เพียงเมื่อไม่กี่วันก่อน ถนนสายใหญ่ที่แสนงามสง่าของจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งใช้ชื่อว่า ราชบาท (Rajpath เส้นทางของพระราชา) (โดยที่ก่อนหน้านั้นไปอีก มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษกันทีเดียวว่า คิงส์เวย์ Kingsway เพื่อถวายเป็นพระเกียรติยศแด่ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 George V สมเด็จพระจักรพรรดิอังกฤษแห่งอินเดีย British Emperor of India) ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น การ์ตาวยา บาท (Kartavya Path แปลว่าเส้นทางแห่งหน้าที่) และมีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ขนาดยักษ์ขึ้นที่หัวถนน โดยเป็นอนุสาวรีย์ของสุภาษ จันทร โพส (Subhas Chandra Bose) หนึ่งในนักชาตินิยมต่อต้านอังกฤษอย่างแข็งกร้าวที่สุด (และก่อให้เกิดการโต้แย้งกันมากที่สุด) ของอินเดีย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.indiatoday.in/india/story/delhi-central-vista-avenue-inauguration-live-updates-kartavya-path-pm-modi-1997747-2022-09-08)

ในการเปิดอนุสาวรีย์แห่งนี้ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีนักชาตินิยมคนปัจจุบันของอินเดีย กล่าวปราศรัยประกาศว่า “สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของความเป็นข้าทาสได้ถูกโยกย้ายออกไปแล้วในวันนี้” พร้อมกับรบเร้าให้ชาวอินเดียทั้งหลายทั้งมวลเดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้

ประวัติศาสตร์ที่สลับซับซ้อน

ในแอฟริกาใต้ ท้องเรื่องในลักษณะ “ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่สลับซับซ้อน” กับสถาบันพระมหาษัตริย์อังกฤษเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่โดดเด่นสะดุดตาเช่นเดียวกัน โดยที่มีเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่งของแอฟริกาประกาศยืนยันว่า “ความสัมพันธ์ที่แอฟริกาใต้มีอยู่กับพระมหากษัตริย์อังกฤษนั้น มีความสลับซับซ้อนอย่างชนิดที่ไม่มีทางจะซับซ้อนไปกว่านี้แล้ว”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.okayafrica.com/queen-elizabeth-ii-died-africa/?rebelltitem=2#rebelltitem2)

เป็นที่แอฟริกาใต้นี่เอง ซึ่งควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในวาระวันฉลองพระราชสมภพครบรอบ 21 ชันษา (นั่นคือก่อนทรงขึ้นครองราชย์ราว 4 ปี) พระองค์ทรงประกาศพระปณิธานที่จะอุทิศพระองค์เพื่อ “ครอบครัวแห่งจักรวรรดิ” ที่ประกอบด้วยอาณานิคมทั้งหลายทั้ง
ปวงของอังกฤษ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/queen-elizabeth-ii-country-commonwealth)

แต่ก็เป็นที่แอฟริกาใต้เช่นกัน เมื่อครั้งที่ประเทศนี้ตกอยู่ใต้การปกครองของระบอบปกครองแห่งการแบ่งแยกกีดกันเชื้อชาติผิวพรรณ ซึ่งทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงแสดงออกให้เห็นถึงช่วงขณะที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง นั่นคือช่วงขณะที่พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีของพระองค์ ทั้งนี้ ควีนทรงแสดงท่าทีปฏิเสธไม่เห็นด้วยอย่างเงียบๆ ต่อการที่นายกรัฐมนตรี มาร์กาเรต แธตเชอร์ ของสหราชอาณาจักรเวลานั้น ตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมกับประเทศอื่นๆ ในการใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อระบอบปกครองแอฟริกาใต้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.elle.com/culture/movies-tv/a34764793/the-crown-queen-margaret-thatcher-feud-apartheid-sanctions/)

สำหรับในที่อื่นๆ ประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนระหว่างอิรักกับสหภาพราชอาณาจักร ซึ่งสาวย้อนหลังไปได้ไกลถึงช่วงทศวรรษ 1920 ก็ได้รับการกล่าวถึงนำมารายงานกันในสื่อท้องถิ่นเช่นเดียวกัน หรือกระทั่งในช่วงหลังๆ มานี้ ยังคงมีชาวอิรักจำนวนหลายแสนคนถูกเข่นฆ่าสังหารในระหว่างเกิดสงครามซึ่งสหราชอาณาจักรนั่นแหละเป็นหนึ่งในผู้เริ่มต้นก่อขึ้นมา เคียงข้างสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ตลอดจนชาติร่วมใจกันอีกหลายชาติของพวกเขาเมื่อปี 2003
(เรื่องความสัมพันธ์กับอิรักในอดีต ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.iraqinews.com/iraq/iraq-mourns-the-death-of-her-majesty-queen-elizabeth/)
(เรื่องชาวอิรักหลายแสนคนถูกเข่นฆ่าในสงครามอิรัก ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.iraqbodycount.org/)

ในมาเลเซีย บทบาทของอังกฤษในการสังหารหมู่ และในการจัดทำโครงการกวาดต้อนผู้คนจำนวนมากให้อพยพโยกย้ายจากภูมิลำเนาเดิมไปตั้งถิ่นฐานในสถานที่ใหม่ ในระหว่างช่วงการประกาศภาวะฉุกเฉินในมลายา ปี 1948-1960 (Malayan Emergency 1948-60) ซึ่งเต็มไปด้วยการนองเลือด ตลอดจนระยะเวลาแห่งกระบวนการหลุดพ้นออกจากการเป็นอาณานิคมของมาเลเซีย ก็ยังคงได้รับการจดจำรับรู้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ไม่เพียงแต่เนื่องจากความขัดแย้งครั้งนี้จะปะทุขึ้นมาในระหว่างปีต้นๆ แห่งรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เท่านั้น แต่ความพยายามทั้งหลายทั้งปวงที่จะสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในมลายาเวลานั้นยังถูกขัดขวางจากรัฐบาลอังกฤษชุดแล้วชุดเล่าอีกด้วย
(บทบาทของอังกฤษในการสังหารหมู่ที่มลายา ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2018/07/70-years-later-malayan-emergencys-legacy-lives-on/)
(รัฐบาลอังกฤษขัดขวางการสืบสวนสอบสวนการสังหารหมู่ที่มลายา ดูเพิ่มเติมได้เที่ https://www.theguardian.com/world/2011/apr/09/malaya-massacre-villagers-coverup)

กระทั่งในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง ไอร์แลนด์ ซึ่งมุ่งเสาะแสวงหาความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับชาติเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่สุดของตนรายนี้ ประธานาธิบดีไมเคิล ดี ฮิกกินส์ (Michael D Higgins) ก็ยังใช้ถ้อยคำโวหารที่ฟังดูไพเราะเสนาะหู มาพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างควีนเอลิซาเบธ กับ “พวกซึ่งประเทศของพระองค์ผ่านประสบการณ์แห่งประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่สลับซับซ้อนและบ่อยครั้งก็ยากลำบาก”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.irishpost.com/news/deepest-condolences-president-of-ireland-leads-tributes-following-death-of-queen-elizabeth-239729)

หนังสือพิมพ์ของที่นั่นยังขบคิดให้ความเห็นกันว่า การเสด็จสวรรคตของพระองค์อาจส่งผลอย่างไรต่อดินแดนไอร์แลนด์เหนือ สถานที่ซึ่งเกิดการสู้รบขัดแย้งกันระหว่างชาวอังกฤษกับชาวไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันด้วยถ้อยคำที่ถูกขัดเกลาให้ฟังดูไพเราะว่า “ความยุ่งยาก” (Troubles) รวมทั้งในระยะหลังๆ นี้ ความสัมพันธ์ก็ยังเต็มไปด้วยความตึงเครียด
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.irishtimes.com/world/uk/2022/09/08/susan-mckay-queen-elizabeths-death-is-an-earthquake-for-unionists/)

สมเด็จพระราชินีนาถอาจจะทรง “หว่านมนตร์เสน่ห์” ให้คนบางส่วนในไอร์แลนด์รู้สึกประทับใจปลาบปลื้ม จากการที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสถึงผู้คน ณ ที่นั้น ซึ่งสู้รบกับอังกฤษ อย่างไรก็ดี แทบไม่มีใครเลยที่จะลืมเลือนบทบาทของกองทัพอังกฤษในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งก็รวมไปถึงเหตุการณ์ที่ตอนนี้กลายเป็นกรณีสุดฉาวโฉ่อย่างกรณีสังหารหมู่ “วันอาทิตย์นองเลือด” (Bloody Sunday) เมื่อปี 1972 หรือการที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงมีพระราชดำรัสในนามของรัฐบาลนายกฯ บอริส จอห์นสัน ปฏิเสธไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องขอความยุติธรรมจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทั้งหลายในเหตุการณ์ครั้งนั้น
(เรื่องชาวไอร์แลนด์บางส่วนประทับใจมนตร์เสน่ห์ของควีน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.independent.ie/world-news/europe/britain/queen-elizabeth-ii-will-be-best-remembered-for-charming-the-irish-nation-during-her-successful-visit-here-in-2011-41972820.html)
(เรื่องควีนมีพระราชดำรัสปฏิเสธข้อเรียกร้องของเหยื่อเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.irishpost.com/news/anger-queens-speech-appears-dismiss-fight-justice-bloody-sunday-victims-vexatious-claims-175999)

บางคนบางฝ่ายอาจจะเสนอแนะว่า ประวัติศาสตร์แห่งการเสื่อมสลายของจักรวรรดิอังกฤษ ที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานแก่ผู้คนจำนวนมากมายนี้ ควรที่จะพินิจพิจารณาแยกออกมาจากรัชสมัยและตัวบุคคลของควีนเอลิซาเบธที่ 2 แน่อนทีเดียวว่า ไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ให้เห็นว่าสมเด็จพระราชินีนาถเองทรงมีพระพฤติกรรมไปในทางเกะกะระราน

แต่ก็อย่างที่ โธมัส เพน (Thomas Paine) ได้เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ครั้งหนึ่ง พระมหากษัตริย์นั้นโดยส่วนพระองค์แล้วอาจจะทรงมีพระเมตตาและพระกรุณา กระนั้นพระองค์ก็ยังคงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ประมุขแห่งรัฐซึ่งสู้รบทำสงครามต่างๆ ของรัฐ และกระทำอาชญากรรมต่างๆ ของรัฐ (อยู่เป็นครั้งคราว) –ทั้งหมดเหล่านี้ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://oll.libertyfund.org/title/paine-the-rights-of-man-part-i-1791-ed)

บทบาทของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของลัทธิอาณานิคมอังกฤษ จะยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงอภิปรายกันต่อไปอีกภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระองค์

แมตต์ ฟิตซ์แพทริค เป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส (Flinders University) ออสเตรเลีย

(ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยติดตามอ่านได้ที่
https://theconversation.com/the-queen-has-left-her-mark-around-the-world-but-not-all-see-it-as-something-to-be-celebrated-190343)

กำลังโหลดความคิดเห็น