xs
xsm
sm
md
lg

‘รัสเซีย’ แก้ไขความเพลี่ยงพล้ำในสมรภูมิของตนด้วยการถล่ม ‘ยูเครน’ ให้แหลกลาญกลับไปสู่ยุคสมัยหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


ควันดำลอยโขมงเหนือเมืองลวิฟ ทางภาคตะวันตกของยูเครน จากการถล่มโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียในวันที่ 10 ต.ค.2022
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Russia aims to bomb Ukraine back to the Stone Age
By STEPHEN BRYEN
12/10/2022

รัสเซียกำลังตอบโต้ความเพลี่ยงพล้ำในระยะหลังๆ นี้ ด้วยการกระหน่ำโจมตีใส่โครงสร้างพื้นฐานและเป้าหมายทางพลเรือนในยูเครน ในลักษณะลอกเลียนวิธีการอันโหดร้ายทารุณต่างๆ ที่ตนเองเคยกระทำมาแล้วในซีเรีย

“สงครามนิวเคลียร์” ของรัสเซียในยูเครนเริ่มต้นขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว แต่มันไม่ใช่เป็นการใช้พวกอาวุธนิวเคลียร์ “ตามปกติ” หรอก ยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ของรัสเซียคือการทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งยวดส่วนใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งของยูเครนให้แหลกลาญ ปล่อยให้มันกลายเป็นประเทศที่จมอยู่ในความพินาศหักพัง หรืออย่างที่ชาวอเมริกันพูดกันว่า บอมบ์มันให้ถอยกลับไปสู่ยุคหินกันทีเดียว

สำหรับรัสเซียแล้ว การโจมตีพวกโครงสร้างพื้นฐานสำคัญยิ่งยวดทั้งหลาย หมายถึงการกระหน่ำใส่ส่วนที่บอบบางอ่อนเปราะต่างๆ ซึ่งสามารถกำจัดไปได้โดยพวกขีปนาวุธ โดรน และลูกจรวดจากระบบจรวดที่ยิงได้หนักยิงได้ไกล

มีบางคนบางฝ่ายตีความสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมานี้ว่าเป็นการที่รัสเซียตอบโต้แก้เผ็ดต่อเหตุระเบิดสะพานข้ามช่องแคบเคิร์ช (Kerch) มูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทอดยาวเชื่อมรัสเซียกับแหลมไครเมีย ทว่านั่นเป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น สำหรับการที่ยูเครนซึ่งได้ยอมรับความรับผิดชอบสำหรับการใช้ระเบิดรถบรรทุก (ทรัคบอมบ์) โจมตีสะพานเคิร์ช เรื่องนี้อาจจะถือว่าได้ก้าวข้ามสิ่งที่รัสเซียเรียกว่าเป็น “เส้นแดงห้ามล่วงละเมิด” ทว่ามันห่างไกลนักจากการเป็นกรณีแรกๆ ที่ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการโจมตีใส่โครงสร้างพื้นฐานของกันและกัน

สิ่งที่แตกต่างออกไปอยู่ตรงที่ว่า การโจมตีอย่างใหญ่โตมโหฬารของรัสเซียซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่เป้าหมายแยกออกไปต่างหากแห่งใดแห่งหนึ่ง หากแต่เป็นเป้าหมายจำนวนมากและตั้งกระจัดกระจายไปทั่วประเทศ สิ่งที่มองเห็นได้ชัดก็คือ รัสเซียมุ่งติดตามถล่มพวกโรงไฟฟ้าระบบกำลังความร้อน (thermal power plants) และศูนย์บัญชาการอำนวยการต่างๆ ของยูเครน และโดยทั่วไปก็ประสบความสำเร็จ บีบบังคับให้ยูเครนต้องประกาศมาตรการฉุกเฉินต่างๆ ในเรื่องการใช้ไฟฟ้า และระงับการส่งออกกระแสไฟฟ้า
(เรื่องเป้าหมายโจมตีของฝ่ายรัสเซีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bignewsnetwork.com/news/272900845/moscow-reveals-results-of-new-strikes-on-ukraine?utm_source=feeds.bignewsnetwork.com&utm_medium=referral)

พลโท เซียร์เก ซูโรวิกิน ผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการของกองทัพรัสเซียทั้งหมดที่ “ปฏิบัติการพิเศษ” อยู่ในยูเครน
มีความเป็นไปได้อย่างมากว่า ผู้วางแผนการรณรงค์บอมบ์ถล่มโครงสร้างพื้นฐานคราวนี้ คือ นายพลรัสเซียผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งหมาดๆ ให้เป็นผู้บัญชาการการปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน นั่นคือ พลโท เซียร์เก ซูโรวิกิน (Sergei Surovikin) ซึ่งเคยรับผิดชอบการรณรงค์โจมตีทางอากาศและภาคพื้นดินในซีเรียมาแล้ว ภายใต้การบังคับบัญชาของเขาที่นั่น มีการกระหน่ำบอมบ์ใส่เป็นเวลานานถึง 1 เดือน ต่อเมืองอะเลปโป (Aleppo) ซึ่งกองกำลังฝ่ายกบฏและพวกพลเรือนได้หลบเข้าไปยึดที่มั่นตามเขตพักอาศัยต่างๆ ทางด้านตะวันออกของเมือง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/world/2022/oct/10/sergei-surovikin-the-general-armageddon-now-in-charge-of-russias-war)

เครื่องบินทั้งของซีเรียและของรัสเซียได้เล่นงานอาคารแฟลตพักอาศัยต่างๆ จนพังราบ รวมทั้งมีการใช้พวกระเบิดลูกปรายและระเบิดเพลิง ตลอดจนอาวุธจำพวกระเบิดเจาะทำลายบังเกอร์ใต้ดินในเวอร์ชันของรัสเซีย มาเป็นเครื่องมือกดดันให้กองกำลังฝ่ายป้องกันต้องยอมจำนน

ในการดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าวนี้ ในหลายๆ วาระโอกาสทีเดียว กองทัพอากาศของรัสเซียและซีเรียได้พุ่งเป้าหมายเล่นงานพวกศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาล รวมทั้ง ศูนย์การแพทย์อัล-ซาคูร์ (the al-Sakhour Medical Center) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชื่อดังในอะเลปโป โดยที่ศูนย์การแพทย์เห่งนี้ถูกโจมตีถึง 4 ครั้ง 4 หน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.msf.org/syria-main-hospital-aleppo-stops-activities-after-being-targeted)

ตามข้อมูลของกลุ่มล็อบบี้ด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรต์ส วอต์ช (Human Rights Watch) ฝ่ายรัสเซียและซีเรียโจมตีพวกอาคารสิ่งปลูกสร้างทางการแพทย์แห่งต่างๆ ทั้งสิ้น 16 แห่ง รวมทั้งยังได้ทำลายสถานีสูบน้ำไปอีกหลายแห่ง ตลอดจนพวกสิ่งปลูกสร้างด้านกระแสไฟฟ้า
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.hrw.org/news/2016/12/01/russia/syria-war-crimes-month-bombing-aleppo)

เมืองอะเลปโป ไม่ใช่ยูเครน การสู้รบในศึกชิงเมืองอะเลปโป เป็นการรบกับพวกกองกำลังอาวุธกบฏอิสลามิสต์ที่ไม่ได้เป็นกองทหารตามแบบแผน โดยในนี้มีพวกอัล-กออิดะห์ รวมอยู่ด้วย พวกเขาขาดไร้อาวุธหนัก ยิงได้ไกลอย่างปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้อง ตลอดจนอาวุธที่มีศักยภาพสามารถต่อสู้อากาศยาน สิ่งที่เป็นเครื่องหมายโดดเด่นประทับให้แก่การรณรงค์ของฝ่ายรัสเซีย-ซีเรียที่นั่น ก็คือ การโจมตีอย่างไร้ความปรานีต่อพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์

ยูเครนนั้นมีความแตกต่างออกไปในหลายๆ ด้าน ยูเครนมีกองทัพซึ่งกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบด้วยซ้ำในการสู้รบกับกองทหารรัสเซียและกองกำลังอาวุธท้องถิ่นที่เป็นพันธมิตรกับรัสเซีย นอกจากนี้ ยูเครนยังคงมีกำลังกองทัพอากาศ ถึงแม้เวลานี้เหลืออยู่เพียงแค่เครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์ไม่กี่ลำ ทว่าในด้านอื่นๆ ยูเครนมีพวกปืนใหญ่ ปืนครก และจรวดหลายลำกล้อง ตลอดจนยานเกราะอยู่มากมาย

ยูเครนยังได้เปิดฉากการโจมตีในพื้นที่ข้างหลังแนวหน้ามาแล้วหลายต่อหลายครั้ง โดยใช้กองกำลังที่ซ่อนตัวเคลื่อนไหวแบบปิดลับ ซึ่งได้ดำเนินการสังหารผู้ที่ถูกระบุว่าเป็น “พวกทรยศชาติ “ มาหลายราย และกระทั่งก่อเหตุโจมตีระเบิดใส่สนามบิน ตลอดจนท่าเรือต่างๆ ซึ่งอยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายรัสเซีย

ขณะที่พวกอิสลามิสต์ในเมืองอะเลปโป ใช้ยุทธวิธีก่อการร้ายต่างๆ ในตอนที่พวกเขายังสามารถกระทำได้ แต่ในทันทีที่พวกเขาถูกบีบบังคับไล่ต้อนให้ต้องหลบเข้าไปอยู่ในเขตที่อยู่อาศัยต่างๆ ของอะเลปโปแล้ว พวกเขาก็อยู่ในสภาพติดกับ

ในยูเครน ดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์ของฝ่ายรัสเซียคือการสร้างความเสียหายอย่างหนักหนาสาหัสไปตลอดทั่วทั้งประเทศ จนกระทั่งมากเพียงพอที่จะบีบบังคับให้เหล่าผู้นำของยูเครนต้องยอมเข้าสู่โต๊ะเจรจาต่อรองยุติศึกกัน จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ สงครามคราวนี้ยังไม่ได้ก่อให้เกิดการเจรจาอันประสบผลอะไรกันขึ้นมาได้เลย เนื่องจากวอชิงตัน คัดค้านเรื่องนี้ และตั้งเงื่อนไขเอาไว้ว่า เคียฟ จะได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือเพื่อการฟื้นฟูบูรณะภายหลังสงครามจากสหรัฐฯ ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวนี้

ขณะที่ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เป็นคนที่มีศักยภาพในการตัดสินใจอะไรอย่างฉับไวและเหลือเชื่อเกินคาดคิดได้ด้วยตัวของเขาเองอยู่แล้ว แต่เวลานี้เขาอยู่ในสภาพแทบไม่มีหรือกระทั่งไม่มีช่องทางสำหรับการเคลื่อนไหววางหมากอะไรได้เลย ฝ่ายรัสเซียดูเหมือนวาดหวังเอาไว้ว่าจะต้องทำให้ทั้ง เคียฟ และ วอชิงตัน บังเกิดความแน่ใจขึ้นมาให้ได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการทำสงครามยูเครนนั้นสูงล้ำเกินกว่าผลประโยชน์ใดๆ ที่จะได้จากการทำให้สงครามคราวนี้ยืดเยื้อต่อไปอีก

จวบจนถึงเมื่อไม่นานมานี้เอง คณะบริหารไบเดนมีเสรีเป็นอย่างยิ่งที่จะทุ่มเทอาวุธและเงินทองเข้าไปในยูเครน –ซึ่งนับจนถึงเวลานี้ก็คิดเป็นมูลค่ารวมกันหลายแสนล้านดอลลาร์แล้ว โดยในจำนวนนี้มีทั้งพวกอาวุธทันสมัยที่สุดบางอย่างบางประเภทที่มีอยู่ในคลังแสงสหรัฐฯ ด้วย เป็นต้นว่า ระบบจรวดหลายลำกล้องติดตั้งบนรถบรรทุกเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องตัว หรือ HIMARS แต่เมื่อถึงตอนนี้ มันกำลังมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว ในเมื่อทัศนคติทั้งในวอชิงตันและในยุโรปมีการพลิกผันไปจากเดิม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://carnegieendowment.org/2022/03/10/to-support-zelensky-united-states-needs-to-negotiate-with-putin-pub-86612)

ในสหรัฐฯ นั้น การคัดค้านที่หนักแน่นจริงจังกำลังออกมาจากพวกสมาชิกพรรครีพับลิกัน รวมทั้งพวกสาวกของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมองว่า ไบเดน เป็นพวกคลั่งสงคราม ทัลซี แก็บบาร์ด (Tulsi Gabbard) ซึ่งถูกมองว่าเป็นพวกชายขอบของพรรคเดโมแครตเสมอมาแต่กระนั้นก็เคยลงสมัครแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนของพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020 มาในตอนนี้ได้เข้าร่วมกับ ทรัมป์ ในการประณามคณะบริหารไบเดนว่าเป็นพวกคลั่งสงคราม ทั้งนี้เธอยังเพิ่งลาออกจากพรรคเดโมแครตจนได้ในท้ายที่สุด
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Tulsi_Gabbard#First_impeachment_of_Donald_Trump)

ในยุโรปก็เช่นเดียวกัน กระแสการต่อต้านสงครามกำลังเติบโตขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝรั่งเศสและเยอรมนี พวกผู้นำอย่างเช่น (ประธานาธิบดีฝรั่งเศส) เอมมานูเอล มาครง และ (นายกรัฐมนตรีเยอรมนี) โอลาฟ ชอลตซ์ กำลังเผชิญหน้าคลื่นแห่งการก่อกบฏและความไม่พอใจภายในประเทศ ขณะที่เงื่อนไขต่างๆ กำลังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ เมื่อฤดูกาลเคลื่อนเข้าสู่ความหนาวเย็นมากขึ้นทุกที และก๊าซจากรัสเซียอยู่ในภาวะจัดส่งมาอย่างกะปริบกะปรอย ทั้งคู่จึงอาจพบว่าการดำรงตำแหน่งของพวกเขาตกอยู่ในภาวะที่ไร้ความแน่นอน

เวลาเดียวกันนั้น ทำเนียบขาวของไบเดน ดูเหมือนอยู่ในสภาพคนเมาหมัดมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องคอยแก้ไขการโจมตีซึ่งประเคนเข้ามาจากทิศทางต่างๆ ไม่ขาดสาย การนำเอาน้ำมันปิโตรเลียมในคลังยุทธศาสตร์สหรัฐฯออกมาใช้เรื่อยๆ ได้ช่วยสยบราคาน้ำมันเบนซินภายในอเมริกาไม่ให้พุ่งปรี๊ดก็จริงอยู่ แต่การจัดส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไปยังยุโรปเพิ่มขึ้นๆ ก็กำลังทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศขยับสูง ทั้งนี้ในสหรัฐฯ ก็เหมือนกับทางยุโรป ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติในการให้ความร้อนตามบ้านเรือน นำมาเผาให้เป็นพลังงานความร้อนเพื่อเดินเครื่องปั่นไฟของโรงไฟฟ้า รวมทั้งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม

เมื่อบวกเข้ากับภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงในบริเวณตอนกลางของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลือง รวมทั้งเจอปัญหาราคาปุ๋ยที่เป็นสิ่งซึ่งมีความจำเป็นมาก กำลังขึ้นสูง เหล่านี้หมายความว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ น่าที่จะเลวร้ายลงอีกในฤดูหนาวปีนี้ ถึงแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้พยายามนำเอามาตรการโหดๆ อย่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงๆ มาใช้เพื่อแก้ปัญหานี้ก็ตามที

ไบเดน ยังต้องประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ เมื่อ โอเปก ตัดสินใจที่จะตัดลดกำลังการผลิตลงมาเพื่อรักษาให้น้ำมันมีราคาสูงต่อไป กลายเป็นแรงขับดันให้ทำเนียบขาวต้องออกมาพูดอย่างเจ็บใจว่า “กำลังประเมินทบทวนกันใหม่” เกี่ยวกับนโยบายของตนที่มีกับหัวหน้าของกลุ่มโอเปกอย่าง ซาอุดีอาระเบีย

มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดโมแครต 3 คน –ได้แก่ ฌอน แคสเทิน (Sean Casten) ทอม มาลินาวสกี้ (Tom Malinowski) และซูซาน ไวลด์ (Susan Wild)— เสนอร่างกฎหมายฉบับหนึ่งต่อสภาล่าง ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องสหรัฐฯ ให้ถอนกองทหารและระบบป้องกันขีปนาวุธของตนออกมาจาก ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สำหรับรัสเซียแล้ว การกระหน่ำโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่ทรงความสำคัญยิ่งยวดของยูเครนให้ผลบวกมากกว่าผลลบ สำหรับ ซูดรวิกิน ผู้ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่ากระทำอาชญากรรมสงคราม อีกทั้งถูกลงโทษแซงก์ชันจากสหรัฐฯ สำหรับบทบาทของเขาในซีเรียอยู่แล้ว การปฏิบัติการต่างๆ ในยูเครนของเขาจึงเสมือนเป็นเพียงการไปทำงานตามปกติอีกวันหนึ่งของเขาเท่านั้นเอง

ยูเครน เวลานี้กำลังขอให้สหรัฐฯ จัดส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศสำหรับใช้งานในสมรภูมิแนวหน้าไปให้ ทว่า เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) มีอาวุธประเภทนี้เหลือใช้อยู่ไม่มากเลย รวมทั้งระบบอย่างเช่น ระบบป้องกันขีปนาวุธ “แพทริออต” ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้งานไม่ได้ผลทรงประสิทธิภาพอะไรนัก ยิ่งไปกว่านั้นการนำเอาระบบเหล่านี้ไปที่ยูเครน และต้องมีคนคอยดูแล ย่อมหมายถึงว่าต้องมีทหารสหรัฐฯ หรือนาโต้ไปอยู่ที่นั่น ตลอดจนพวกผู้รับเหมารับจ้างของสหรัฐฯ เพื่อไปทำหน้าที่ด้านการซ่อมบำรุง

กระทั่งสามารถแก้ไขข้อติดขัดเหล่านี้ไปได้หมดแล้ว ก็ยังมีปัญหาที่ทราบกันดีอีกอย่างหนึ่งรออยู่ นั่นคือ ตัวขีปนาวุธใช้ยิงสกัดกั้นของระบบแพทริออต อยู่ในภาวะขาดแคลน นี่หมายความว่าการสนับสนุนระบบเช่นนี้เพื่อเอาไปใช้ในงานต่อต้านสงครามถล่มโครงสร้างพื้นฐานนั้น อาจกระทำได้เพียงชั่วเวลาสั้นๆ เท่านั้น

สาระสำคัญของเรื่องนี้จึงมีอยู่ว่า รัสเซียอาจจะเพิ่งค้นพบวิธีการในการเปลี่ยนแปลงทิศทางของสงครามยุเครน ซึ่งในช่วงหลังๆ มานี้กำลังมีแนวโน้มเคลื่อนไปในทิศทางที่ไม่เป็นผลดีต่อรัสเซีย สืบเนื่องจากการรุกโจมตีตอบโต้ของยูเครน และการโจมตีเล่นงานพวกเป้าหมายสำคัญๆ ของรัสเซียในสไตล์แบบวินาศกรรมก่อความไม่สงบ อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาบ่อยครั้งขึ้นในระยะหลังๆ นี้

ยังคงมีคำถามอีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องหาคำตอบ เป็นต้นว่า ยูเครนสามารถที่จะประคับประคองการสู้รบเอาไว้ต่อไปและประสบชัยชนะในการสู้รบอย่างเด็ดขาดได้หรือไม่? รัสเซียมีพวกอาวุธหนักทำการระยะไกล จรวด ขีปนาวุธร่อน และโดรน มากเพียงพอที่จะสร้างความเสียหายให้มากขึ้นกว่าที่กระทำอยู่ในเวลานี้หรือไม่? คณะบริหารไบเดนจะยินยอมหันหัวเลี้ยวกลับ หรือว่ายังคงยืนกรานอย่างเหนียวแน่นและตั้งความหวังว่าจะบังเกิดสิ่งที่ดีที่สุดขึ้นมาในอนาคตเข้าจนได้ – ซึ่งนี่ย่อมหมายความถึงการสู้รบกันเรื่อยๆ ไปจนกว่าจะหมดชาวยูเครนคนสุดท้าย?

เป็นเรื่องยากลำบากที่จะมองเห็นว่า ยูเครน ซึ่งตกอยู่ในสภาพวิบัติหายนะเสียแล้ว จะสามารถรับใช้เอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้แก่นาโต้ ให้แก่สหรัฐฯ และที่สำคัญกว่าอื่นใดทั้งหมดก็คือให้แก่ประชาชนชาวยูเครน ได้อย่างไร ดังนั้น การเจรจากันจึงเป็นเพียงหนทางเดียวเท่านั้นสำหรับการหลีกหนีไม่ให้บังเกิดผลลัพธ์แบบสมัยยุคหินขึ้นมา

สตีเฟน ไบรเอน ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ศูนย์กลางเพื่อนโยบายความมั่นคง (Center for Security Policy) และสถาบันยอร์กทาวน์ (Yorktown Institute) เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเรื่องยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีด้านความมั่นคง โดยเคยดำรงตำแหน่งระดับอาวุโสในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เคยเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมระหว่างปี 1981-1988) ในรัฐสภาสหรัฐฯ ตลอดจนเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทด้านกลาโหมและเทคโนโลยีนานาชาติขนาดใหญ่


กำลังโหลดความคิดเห็น