(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
China chip ban a US exercise in extreme self-harm
By DAVID P. GOLDMAN
13/10/2022
คณะบริหารไบเดนประกาศแพกเกจมาตรการล่าสุดในการห้ามขายชิปและเครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตชิปให้แก่จีนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างไรก็ตาม ความพยายามเช่นนี้กลับจะส่งผลทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ และโลกตะวันตกถูกบีบคั้นหนัก โดยจะประสบปัญหาทั้งเรื่องการใช้จ่ายด้านเงินทุนและการวิจัยและการพัฒนา ขณะที่จีนจะทุ่มเทเงินทุนมหาศาลเพื่อทำให้ตนเองมีอิสระในเรื่องชิป
นิวยอร์ก - คณะบริหารไบเดนประกาศแพกเกจห้ามขายชิปและเครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตชิปให้แก่จีนที่มีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวางอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ในจังหวะเวลาซึ่งส่งผลกระทบกระเทือนอย่างเลวร้ายเหลือเกินต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก
ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกตะวันตก โดยเฉพาะทางการลงทุนทางด้านเงินทุน ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนา (R&D) นั้น จะเหนือล้ำเกินกว่าตัวเลขการให้ความอุดหนุนต่างๆ อย่างพอประมาณแก่อุตสาหกรรมชิป ซึ่งวอชิงตันประกาศออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ในระดับแตกต่างกันถึง 5 เท่าตัว หรือกระทั่งสูงกว่านั้นอีก
ขณะเดียวกัน มาตรการเหล่านี้ของสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลกระทบกระเทือนอะไรต่ออุปกรณ์ตัวเซ็นเซอร์ การสอดแนมตรวจการณ์ด้วยดาวเทียม การบ่งชี้แนะนำด้านการทหาร ตลอดจนระบบทางยุทธศาสตร์อื่นๆ ของแดนมังกร เนื่องจากพวกแอปพลิเคชันทางทหารนั้นส่วนใหญ่ที่สุดใช้ชิปรุ่นเก่าๆ ซึ่งจีนสามารถผลิตเองได้ภายในประเทศ ทว่ามันอาจจะชะลอเวลาสำหรับเรื่องยานพาหนะที่ขับเคลื่อนตัวเองได้อย่างอัตโนมัติ คลาวด์ คอมพิวติ้ง และความพยายามอย่างอื่นๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจของจีนกลายเป็นระบบดิจิทัล
นอกจากนั้น มันยังจะทำให้จีนใช้ความพยายามอย่างสุดกำลังเพื่อสร้างสิ่งซึ่งจะมาแทนที่เทคโนโลยีการผลิตชิปและเทคโนโลยีดีไซน์ชิปของอเมริกัน การใช้จ่ายด้านเงินทุน และ R&D จะหดตัวอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมแซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ ขณะที่จีนจะจัดสรรงบประมาณก้อนมหึมาให้แก่เซกเตอร์นี้ของตน
มองกันในระยะเวลาอีกสัก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า ความได้เปรียบทางเทคโนโลยีในด้านการดีไซน์และการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของอเมริกาน่าที่จะหดหายไป พร้อมกันนั้น จากการที่งบประมาณด้านเงินทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกตะวันตกจะอยู่ในอาการพังครืน ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ จึงน่าที่จะอยู่ในขนาดใหญ่โตยิ่งกว่าความเจ็บปวดที่ทำให้เกิดขึ้นแก่จีน
ในอีกด้านหนึ่ง คณะบริหารไบเดนได้เสนอตัดลดงบประมาณที่จัดสรรให้แก่สำนักงานโครงการวิจัยระดับสูงด้านกลาโหม (Defense Advanced Research Projects Agency (DARPA) ลงมา 14% ซึ่งจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกมากถ้าคำนวณโดยบวกอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย การลิดรอนอุตสาหกรรมไฮเทคสหรัฐฯ ให้ต้องอดอยาก ไม่ว่าจะเป็นการตัดเงินทุนภาคสาธารณะหรือเงินทุนภาคเอกชนก็ตามที ย่อมถือเป็นวิธีการที่แปลกประหลาดในการดำเนินการต่อสู้แข่งขันทางยุทธศาสตร์กับจีน
(การเสนอตัดงบประมาณที่ให้แก่ DARPA ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aip.org/fyi/2022/dod-budget-fy22-outcomes-and-fy23-request#:~:text=For%20fiscal%20year%202023%2C%20the%20administration%20seeks%20%242.38%20billion%2C%20which,from%20DOD's%20Basic%20Research%20account.)
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นมา ได้เปลี่ยนแปลงสภาพการขาดแคลนชิปของปี 2021 ให้กลายเป็นสภาพของการมีเซมิคอนดักเตอร์ล้นเกินไปเสียแล้ว โดยสะท้อนให้เห็นจากการพังพาบลงมาถึงเกือบๆ ครึ่งหนึ่งของดัชนีหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia index of semiconductor stocks หรือ PHLX) ในช่วงปี 2022 ทั้งนี้ หุ้นของอินวิเดีย (NVIDIA) บริษัทดีไซเนอร์ชิปสหรัฐฯ ชั้นนำ นับจนถึงตอนนี้สูญเสียมูลค่าตามราคาตลาดไปถึง 68% แล้วในปีนี้
อุตสาหกรรมนี้โดยรวมได้หั่นลดแผนการการลงทุนด้านเงินทุนสำหรับปี 2022 จากระดับ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงมาเหลือ 160,000 ล้านดอลลาร์ การที่สหรัฐฯ ตั้งข้อจำกัดกีดกั้นการส่งออกทั้งพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ทำเซมิคอนดักเตอร์ เครื่องมือในการดีไซน์ชิป ตลอดจนพวกชิประดับไฮเอนด์ไปยังจีน จะทำให้รายรับของอุตสาหกรรมนี้หดตัวหนักข้อขึ้นไปอีก ทำให้เกิดช่องว่างขึ้นมาทั้งในด้าน R&D และในการขยายเงินทุน บริษัท TSMC ของไต้หวัน ที่เป็นผู้รับจ้างผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกแบบทิ้งห่างคู่แข่งอื่นๆ สุดกู่นั้น เพียงเมื่อ 6 เดือนที่แล้วนี้เองได้วางแผนการจะใช้เงิน 44,000 ล้านดอลลาร์เป็นค่าใช้จ่ายด้านเงินทุน ทว่าในวันพุธ (12 ต.ค.) ต้องออกมาประกาศว่าจะตัดเหลือ 36,000 ล้านดอลลาร์
แผนการของคณะบริหารไบเดน (ตามรัฐบัญญัติ CHIPS -ผู้แปล) ที่จะให้การอุดหนุนโรงงานผลิตชิปซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ เป็นจำนวนรวม 50,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 5 ปี จะเป็นการช่วยเหลือพวกกิจการต่างๆ ซึ่งใช้เทคโนโลยีรุ่นเก่าผลิตเซมิคอนดักเตอร์ป้อนอุตสาหกรรมกลาโหมสหรัฐฯ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมกลาโหมสหรัฐฯ นั้นหลักๆ แล้วซื้อชิปที่ล้าหลังไป 5 ถึง 7 เจเนอเรชัน จากพวกเซมิคอนดักเตอร์ล้ำยุคล้ำสมัย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มาตรการแซงก์ชันรอบใหม่ของสหรัฐฯ มุ่งจำกัดกีดกันไม่ให้ถึงมือจีน
พวกบริษัทผลิตชิปอเมริกันรายย่อมๆ ลงมา อย่างเช่น โกลบอลฟาวน์ดรีส์ (GlobalFoundries) และสกายวอเตอร์ เทคโนโลยี (SkyWater Technology) ซึ่งทำชิปป้อนให้แก่ฝ่ายทหารสหรัฐฯ โดยเป็นเซมิคอนดักเตอร์เจเนอเรชันเก่ากว่าหลายรุ่นจากชิปทันสมัยในปัจจุบัน จะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากมาตรการอุดหนุนของไบเดน
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าในมาตรการของวอชิงตันที่ห้ามส่งออกชิปไปจีนนั้น จะมีช่องโหว่อะไรเหลืออยู่อีกหรือไม่ หรือว่าในที่สุดแล้วมันจะสร้างความเสียหายขึ้นมามากน้อยขนาดไหน สำนักข่าวรอยเตอร์เสนอรายงานข่าวชิ้นหนึ่งในวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยพาดหัวว่า “สหรัฐฯ รีบเร่งป้องกันไม่ให้มาตรการจำกัดการส่งออกชิปไปจีนกลายเป็นตัวป่วนห่วงโซ่อุปทาน” [1] พร้อมกับแจกแจงรายละเอียดว่าพวกผู้ผลิตชิปชั้นนำของเกาหลีใต้ คือ ซัมซุง และเอสเคไฮนิกซ์ ได้รับการผ่อนผันจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ให้ยังคงสามารถทำการลงทุนในโรงงานชิปที่จีนแผ่นดินใหญ่ของพวกเขาต่อไปได้อีก 12 เดือน เวลาเดียวกัน TSMC ก็ได้รับใบอนุญาตเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อจัดส่งเครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตชิปสหรัฐฯ ไปยังโรงงานต่างๆ ที่ TSMC กำลังขยายกิจการอยู่ในประเทศจีน
แต่สำหรับแอปพลิเคชันของเทคโนโลยีชิปที่ใช้ในทางการทหารใดๆ นั้นแทบจะไม่มีอันไหนได้รับความกระทบกระเทือนเลย ตามผลการศึกษาในปี 2022 นี้ ของบรรษัทแรนด์ (RAND Corporation) ชิปที่ฝ่ายทหารสหรัฐฯ ใช้อยู่ ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นพวกที่เรียกกันว่า mature nodes โดยมีขนาดความกว้างของ ทรานซิสเตอร์ เกต (transistor gate) กว้างกว่าพวกชิปล้ำยุคล่าสุดซึ่งมีขนาดเพียงแค่ 3-7 นาโนเมตร และเวลานี้มีเพียง TSMC กับ ซัมซุง เท่านั้นที่สามารถผลิตออกมาได้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rand.org/content/dam/rand/pubs/perspectives/PEA1300/PEA1394-1/RAND_PEA1394-1.pdf)
แรนด์ ยังได้ตีพิมพ์ชาร์ตข้างล่างนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกแอปพลิเคชันทางทหารตัวหลักๆ นั้น ใช้ node ของชิปขนาดไหน
Application | Node Size |
Artificial Intelligence | <10nm |
Edge Computing | 14nm |
Radio-Frequency Communications | 22nm |
Integrated Silicon Photonics | 90nm |
Space-Based Applications | 90-180nm |
Laser-based sensing | 100nm-1000nm |
มาตรการจำกัดกีดกันที่ประกาศออกมาใหม่ของสหรัฐฯ คราวนี้ จะไม่สามารถหยุดยั้งพวกขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นสู่เรือ และยิงจากภาคพื้นสู่ภาคพื้นของจีน ซึ่งมีจำนวนราวๆ 2,000 ลูก ไม่ให้เล็งเป้าหมายใส่ประดาเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ในแปซิฟิกตะวันตก หรือฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ที่เกาะกวม และเกาะโอกินาวาได้ และก็จะไม่สามารถป้องกันไม่ให้ระบบสกัดกั้นจำนวนกว่า 1,000 ชุดของจีน เล็งขีปนาวุธทำการไกลแบบยิงจากอากาศสู่อากาศไปยังเครื่องบินสหรัฐฯ ได้ แต่มาตรการเหล่านี้น่าที่จะชะลอการเปิดตัวแอปพลิเคชันดิจิทัลตัวหลักๆ ในเศรษฐกิจพลเรือนของจีน อย่างเช่น ยานยนต์ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ได้โดยอัตโนมัติ
สหรัฐฯ “กำลังทำทุกสิ่งทุกอย่างในอำนาจของเราเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติของเรา และป้องกันพวกเทคโนโลยีอ่อนไหวที่สามารถประยุกต์ใช้ในทางการทหาร ไม่ให้ตกไปอยู่ในความครอบครองของฝ่ายทหาร ฝ่ายข่าวกรอง และฝ่ายความมั่นคง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน” แอลเลน เอสเตเวซ (Alan Estevez ) เจ้าหน้าที่รับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุเช่นนี้ในเอกสารแถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bis.doc.gov/index.php/documents/about-bis/newsroom/press-releases/3158-2022-10-07-bis-press-release-advanced-computing-and-semiconductor-manufacturing-controls-final/file)
เกี่ยวกับนโยบายนี้ของไบเดน อย่างดีที่สุดซึ่งอาจจะพูดถึงได้ก็คือ ถ้าหากคิดที่จะสร้างผลสะเทือนต่อสมดุลทางทหารในแปซิฟิกแล้ว มันก็ออกมาล่าช้าเกินไปราวๆ 10 ปี กระนั้น คณะบริหารไบเดนยังคงประมาณการเอาไว้ว่าจะใช้จ่ายงบประมาณราวๆ 30,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ในรูปของการยกเลิกหนี้สินซึ่งพวกนักศึกษาได้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในตลอดระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ทว่ากลับควักเงินออกมาไม่ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ในการให้ความอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ
(เรื่องจะยกเลิกหนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ed.gov/news/press-releases/us-department-education-estimate-biden-harris-student-debt-relief-cost-average-30-billion-annually-over-next-decade#:~:text=Today%2C%20the%20U.S.%20Department%20of,year%20over%20the%20next%20decade.)
มาตรการอุดหนุนต่างๆ จากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ นั้น จริงๆ แล้วจะสามารถเติมได้แค่เศษส่วนเล็กๆ ในค่าใช้จ่ายด้านเงินทุนและด้าน R&D ซึ่งขาดหายไป สืบเนื่องจากภาวะย่ำแย่ทางเศรษฐกิจและมาตรการจำกัดกีดกั้นการขายเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่จีน
จีนนั้นถึงอย่างไรก็เป็นผู้บริโภคเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยสัดส่วน 53% ของที่บริโภคกันทั้งหมดของโลก สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตชิปเพียงแค่ 12% ของโลก แต่มีฐานะเป็นผู้นำในบางด้านบางสาขาของเทคโนโลยีชิป รวมทั้งเป็นผู้นำในบางอย่างบางด้านในเรื่องเครื่องจักรอุปกรณ์การทำชิป
บริษัทอเมริกันอย่าง แลม รีเสิร์ช (LAM Research) ผู้ผลิตระดับท็อปรายหนึ่งในเรื่องเครื่องพิมพ์กัดกรด (etching) และฮาร์ดแวร์อื่นๆ มีรายรับจากจีนในปี 2022 คิดเป็นสัดส่วน 30% ทีเดียวของรายรับจากยอดขายทั้งหมดของบริษัท ทางด้าน KLA ซึ่งเป็นคู่แข่งระดับท็อปของ แลม รีเสิร์ช ก็ทำยอดขายเป็นจำนวนมากจากจีน เคเดนซ์ (Cadence) บริษัทอเมริกันอีกรายซึ่งเป็นผู้ผลิตระดับท็อปด้านซอฟต์แวร์การดีไซน์ทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างอัตโนมัติ (Electronic Design Automation หรือ EDA) ก็ทำรายรับจากจีนคิดเป็น 45% ของรายรับทั้งหมดของบริษัทในไตรมาส 2 ของปี 2022
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว การศึกษาชิ้นหนึ่งของกลุ่มบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) เตือนเอาไว้ว่า หากสหรัฐฯ สั่งแบนการขายชิปให้แก่จีนแบบเต็มพิกัดแล้ว จะทำให้รายรับของพวกบริษัทเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ หายวับไป 37% นำไปสู่การตัดลดการใช้จ่ายด้าน R&D และค่าใช้จ่ายด้านเงินทุนอย่างหนักหนาสาหัส รวมไปถึงการต้องสูญเสียโดยตรงพวกตำแหน่งงานทักษะสูงราวๆ 15,000-40,000 ตำแหน่งในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://media-publications.bcg.com/flash/2020-03-07-How-Restrictions-to-Trade-with-China-Could-End-US-Semiconductor-Leadership.pdf)
จีนยังไม่สามารถผลิตพวกเครื่องมือ EDA ออกมาแข่งขันกับสหรัฐฯ ได้ในเวลานี้ โดยจีนน่าจะต้องใช้เวลา 5 ถึง 10 ปีทีเดียวในการไล่ตามให้ทัน ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ที่พวกเขาซื้อหาเอาไว้แล้ว หรืออาศัยเวอร์ชันก๊อบปี้มาแบบผิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางผู้ผลิต เวลาเดียวกัน จีนยังไม่สามารถแข่งขันในเรื่องเครื่องจักรอุปกรณ์การพิมพ์ lithography ซึ่งทำให้สามารถผลิตตัวทรานซิสเตอร์ขนาดเล็กจิ๋วอย่างเหลือเชื่อโดยมีขนาด gate กว้างแค่ 7 นาโนเมตร หรือน้อยกว่านั้น ทั้งนี้ด้วยการใช้เทคโนโลยี Extreme Ultraviolet (EUV)
เครื่องจักรอุปกรณ์เช่นนี้เวลานี้มีขายอยู่รายเดียวในโลก คือ บริษัท ASML แห่งเนเธอร์แลนด์ และสหรัฐฯ ได้จัดแจงแบนไม่ให้ขายเครื่องจักรใหม่สุดของ ASML แก่จีนไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากมันบรรจุไว้ด้วยทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐฯ จำนวนมากพอดู
เรื่องที่คาดคำนวณออกมาได้ยากลำบากที่สุด ก็คือความสามารถของจีนในการทำงานเพื่อฝ่าฟันเอาชนะการจำกัดกีดกันทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในบรรดาคณะวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุด 50 แห่งของโลกเวลานี้ ปรากฏว่าตั้งอยู่จีนราวๆ 20 แห่ง --และหากรวมเอาที่ตั้งอยู่ในฮ่องกงเข้าไปด้วย จำนวนก็จะยิ่งมากกว่านี้— ในแต่ละปีจีนมีผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมเป็นจำนวนประมาณ 7 เท่าตัวของอเมริกา จีนนั้นถูกกีดกั้นจนไม่สามารถซื้อเทคโนโลยีอเมริกันบางอย่างได้ก็จริงอยู่ แต่จีนสามารถว่าจ้างวิศวกรแบบไหนก็ได้ตามที่ตนเองต้องการ
ด้วยเหตุนี้ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน อย่างเลวร้ายที่สุดก็น่าจะอยู่ในระดับแค่ชั่วคราวเท่านั้น ขณะที่ผลกระทบต่อศักยภาพด้านการทหารของแดนมังกรก็น่าจะมีเพียงเล็กน้อย ทว่าผลกระทบของภาวะตกต่ำอย่างรุนแรงที่เพิ่งปรากฏให้เห็นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกตะวันตกนั้นอาจจะเป็นความเสียหายเลวร้ายอย่างชนิดถาวร
หมายเหตุผู้แปล
[1] รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันที่ 12 ตุลาคม ซึ่งพาดหัวว่า “สหรัฐฯ รีบเร่งป้องกันไม่ให้มาตรการจำกัดการส่งออกชิปไปจีนกลายเป็นตัวป่วนห่วงโซ่อุปทาน” ผู้แปลขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้ ดังนี้ :
“สหรัฐฯ รีบเร่งป้องกันไม่ให้มาตรการจำกัดการส่งออกชิปไปจีนกลายเป็นตัวป่วนห่วงโซ่อุปทาน”
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์
U.S. scrambles to prevent export curbs on China chips from disrupting supply chain
By Jane Lanhee Lee, Karen Freifeld and Alexandra Alper, Reuters
12/10/2022
สหรัฐฯ กำลังเร่งรีบหาทางแก้ไขผลต่อเนื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ จากมาตรการจำกัดขัดขวางการส่งออกระลอกใหม่ที่ประกาศออกมาใช้เล่นงานอุตสาหกรรมชิปของจีน โดยมันทำท่าว่าอาจสร้างอันตรายชนิดไม่เจตนาต่อห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งนี้ ผู้คนซึ่งคุ้นเคยกับเรื่องนี้เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่มาตรการจำกัดกีดกันชุดใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ เอสเค ไฮนิกซ์ ผู้ผลิตชิปความจำสัญชาติเกาหลีใต้แถลงว่า ได้รับอนุญาตจากทางการสหรัฐฯ ให้สามารถรับสินค้าต่างๆ เพื่อใช้สำหรับพวกโรงงานผลิตชิปของบริษัทในประเทศจีนต่อไปได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเพิ่มเติมใดๆ อีกตามที่กำหนดเอาไว้ในข้อกำหนดชุดใหม่
ในอีกด้านหนึ่ง ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี (Taiwan Semiconductor Manufacturing Co หรือ TSMC) ก็ได้รับใบอนุญาตอายุ 1 ปี เพื่อดำเนินการสั่งซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ผลิตชิปอเมริกันสำหรับการขยายงานของบริษัทในประเทศจีนต่อไป สื่อนิกเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) รายงานในวันพฤหัสบดี (6 ต.ค.)
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความมั่นใจแก่ TSMC ว่า บริษัทจะสามารถขนส่งเครื่องจักรอุปกรณ์เหล่านี้ไปยังโรงงานผลิตในเมืองหนานจิง ของจีนได้ รายงานของนิกเคอิระบุ โดยอ้างผู้คนที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ ขณะที่ TSMC เองไม่ได้ตอบกลับมาเมื่อรอยเตอร์ขอให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวนี้
มีรายงานก่อนหน้านี้ว่า คณะบริหารไบเดนเองก็วางแผนเอาไว้ว่า จะกันพวกบริษัทต่างประเทศที่ดำเนินกิจการในจีน อย่างเช่น เอสเค ไฮนิกซ์ และซัมซุง อิเล็กทรอกนิกส์ ออกไป เพื่อไม่ให้ต้องรับผลกระทบอย่างแรงๆ จากมาตรการจำกัดกีดกันใหม่ๆ เหล่านี้ อย่างไรก็ดี กฎระเบียบที่มีการเผยแพร่ออกมาเมื่อวันศุกร์ (7 ส.ค.) กลับไม่มีการยกเว้นให้แก่บริษัทเหล่านี้แต่อย่างใด
ตามระเบียบที่มีการเผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการนั้น สินค้าสหรัฐฯ ที่จะส่งออกไปยังโรงงานอาคารสถานที่ซึ่งมีการผลิตชิประดับก้าวหน้าในจีน จะต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะชะลอความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและทางการทหารของจีน
นอกจากนั้นแล้ว ตั้งแต่เวลาเวลาหลังเที่ยงคืนของวันอังคาร (11 ต.ค.) ผู้จำหน่ายทั้งหลายก็จะไม่สามารถให้การสนับสนุน ให้บริการ และจัดส่งซัปพลายที่ไม่ใช่ของสหรัฐฯ ไปยังพวกโรงงานที่ตั้งฐานอยู่ในจีนโดยไม่มีใบอนุญาต ถ้าหากว่ามีบริษัท หรือคนของสหรัฐฯ เกี่ยวข้องอยู่ในการนั้นด้วย
ผลก็คือ กระทั่งพวกข้าวของเครื่องใช้พื้นฐานอย่างเช่น หลอดไฟฟ้า สปริง และนอตสกรูที่ใช้ทำให้เครื่องมืออุปกรณ์ยังคงทำงานต่อไปได้ ก็จะไม่สามารถขนส่งไปได้ เว้นแต่ว่าผู้จำหน่ายได้รับใบอนุญาตเสียก่อนเท่านั้น แหล่งข่าวรายหนึ่งให้ความเห็นว่า เมื่อไม่สามารถให้ความสนับสนุนแบบนาทีต่อนาทีซึ่งเป็นสิ่งที่พวกโรงงานผลิตชิปต้องการแล้ว ผู้จำหน่ายเหล่านี้ก็อาจจะต้องเริ่มต้นปิดกิจการของพวกตน
มีรายงานว่า สหรัฐฯ มีแผนการจะพิจารณาเพื่อออกใบอนุญาตให้แก่พวกโรงงานที่ตั้งอยู่ในจีนซึ่งไม่ใช่ของคนจีน ที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากระเบียบข้อจำกัดใหม่นี้แบบพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป แต่ถึงแม้ถ้าหากได้รับอนุมัติ ก็ยังจะต้องเกิดการชักช้าในการขนส่งอยู่ดี ยิ่งสำหรับในกรณีของพวกโรงงานชิปของจีนด้วยแล้ว น่าที่จะถูกปฏิเสธไม่ได้รับใบอนุญาต
(ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ดูได้ที่ https://www.reuters.com/technology/us-gives-reprieve-least-two-non-chinese-chipmakers-china-export-curbs-sources-2022-10-12/)