(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Hints of a shift in China’s ‘zero-Covid’ policy
By JEFF PAO
18/10/2022
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เน้นย้ำความจำเป็นที่จะต้องรักษาข้อจำกัดต่างๆ เพื่อต่อสู้ป้องกันโรคโควิดเอาไว้ต่อไป อย่างไรก็ดี กฎเกณฑ์เหล่านี้อาจจะได้รับการผ่อนปรนภายหลังจากการประชุมสมัชชาพรรคผ่านไปแล้ว และมีการนำเอาวัคซีนเทคโนโลยี mRNA มาใช้
คาดหมายกันว่าจีนจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกักกันโรคของตนลงมาเล็กน้อย หลังจากการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 (สมัชชา 20) ผ่านพ้นไปแล้ว ถึงแม้เป็นที่คาดหมายด้วยเช่นกันว่า นโยบาย “โควิดต้องเป็นศูนย์” ของแดนมังกรจะยังคงดำเนินต่อไป
เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน สี จิ้นผิง กล่าวในคำรายงานเปิดการประชุมสมัชชาพรรคครั้งนี้เมื่อวันอาทิตย์ (16 ต.ค.) ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดใหญ่นี้ต่อไปอีก เพื่อให้แน่ใจว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะไม่กลับพุ่งพรวดขึ้นมา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1746742125718002545&wfr=spider&for=pc)
สี บอกว่าโรคระบาดใหญ่นี้ถือเป็นวิกฤตการณ์ แต่ก็เป็นโอกาสด้วยเช่นกันในฐานะที่ก่อให้เกิดเป็นพลังหนึ่งขึ้นมาเร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ สมัชชาพรรคคราวนี้มีกำหนดปิดลงในวันเสาร์นี้ (22 ต.ค.) โดยที่จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิต์จีนชุดใหม่ ขณะที่เป็นที่คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า สี จะยังคงนั่งเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคต่อไปเป็นสมัยที่ 3
จีนยังคงประกาศอย่างเป็นทางการว่า ยึดมั่นปฏิบัติตามนโยบายโควิดต้องเป็นศูนย์ อย่างเคร่งครัดต่อไป ถึงแม้ว่านโยบายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ดัชนีอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภคในจีนหล่นลงสู่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ร่วงสู่ระดับเชื่องช้าที่สุดในรอบระยะเวลากว่า 30 ปี กระนั้นก็ตามที พวกนักลงทุนชาวจีนดูเหมือนยังคงคาดกันว่ากำลังจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างสำคัญกันแล้ว
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคหุ้นบริษัทดูแลรักษาสุขภาพของดัชนี CSI 300 พุ่งพรวดขึ้น 11.6% โดยที่พวกบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพชั้นนำกระโจนไป 15% ถึง 20% ด้วยซ้ำ การดีดขึ้นอย่างแรงของหุ้นไบโอเทคเช่นนี้ บ่งบอกให้เห็นว่าพวกนักลงทุนคาดหมายกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับชาติให้หันมาใช้นโยบายโควิดซึ่งใช้กันอย่างประสบความสำเร็จแล้วในฮ่องกง โดยที่เวลานี้ฮ่องกงเป็นนครเดียวของจีนที่มีการฉีดวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ของโลกตะวันตกกันอย่างขนานใหญ่
(ดัชนี CSI 300 เป็นดัชนีที่มุ่งสะท้อนผลประกอบการของหุ้นระดับท็อป 300 ตัวที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/CSI_300_Index -ผู้แปล)
ถึงแม้การฉีดวัคซีน mRNA ไม่สามารถหยุดยั้งการติดเชื้อโดยเฉพาะตัวกลายพันธุ์ใหม่ของโควิด-19 อย่างโอมิครอนก็จริงอยู่ แต่ดูเหมือนว่าวัคซีนเหล่านี้สามารถลดความร้ายแรงของอาการป่วย รวมทั้งลดอัตราการเสียชีวิตลงได้มาก ขณะที่วัคซีนผลิตในจีนเองและใช้กันในแดนมังกรอย่างกว้างขวาง เช่น ซิโนแวค ซึ่งใช้เทคโนโลยีเชื้อตาย ไม่ใช่ mRNA ถูกพิสูจน์ว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อโอมิครอน
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่ารัฐบาลจีนกำลังรวบรวมจัดตั้งทีมนักวิทยาศาสตร์จากยุโรปขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อให้คำแนะนำแก่ทางการแดนมังกรเกี่ยวกับเรื่องนโยบายวัคซีน ทั้งนี้หากมีการฉีดวัคซีน mRNA กันอย่างกว้างขวางในแผ่นดินใหญ่แล้ว ก็จะเป็นสัญญาณแสดงถึงทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากการล็อกดาวน์ประชาชนจำนวนมากๆ เมื่อเกิดการระบาดขึ้นมาแบบนโยบายโควิดต้องเป็นศูนย์
ยังมีข่าวที่เกี่ยวข้องกันอีกข่าวหนึ่ง ได้แก่ การที่เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา อินโดนีเซียอนุญาตให้ใช้วัคซีน mRNA ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย วอลแวกซ์ (Walvax) ที่เป็นบริษัทจีน จึงถือเป็นครั้งแรกที่วัคซีน mRNA ซึ่งจีนผลิตขึ้นมาได้รับการรับรองเช่นนี้
ตั้งแต่ที่มีการรายงานการระบาดของไวรัสร้ายนี้ที่เมืองอู่ฮั่น เมื่อปลายเดือนมกราคม 2020 ทั้งฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ต่างนำเอากฎเกณฑ์การกักกันโรคอย่างเข้มงวดกวดขันมาบังคับใช้ ณ ช่องทางเข้าออกชายแดนระหว่างประเทศของพวกตน
ระหว่างที่โรคระบาดใหญ่ร้ายแรงนี้แผ่ลามไปทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว ทั้งฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ต่างกำหนดให้นักเดินทางที่เข้ามาต้องกักกันโรคอยู่ในโรงแรมต่างๆ เป็นเวลา 21 วัน จากนั้นพวกเขายังต้องคอยเฝ้าติดตามสุขภาพของพวกเขาเองที่บ้านต่ออีก 7 วัน
ในปี 2022 นี้ ฮ่องกงได้ค่อยๆ ลดระยะเวลากักกันโรคสำหรับนักเดินทางระหว่างประเทศลงมา เมื่อวันที่ 26 กันยายน ฮ่องกงยกเลิกข้อกำหนดให้ต้องกักกันโรคที่โรงแรมเป็นเวลา 7 วัน แต่ยังคงเรียกร้องให้นักเดินทางที่เข้ามาต้องเฝ้าติดตามสุขภาพของตนเองเป็นเวลา 3 วันหลังจากเข้ามาฮ่องกงแล้ว ขณะที่ในปัจจุบัน จีนแผ่นดินใหญ่ยังคงใช้มาตรการกักกันโรคแบบ “7+3” กันอยู่ ซึ่งถือว่าเข้มงวดที่สุดในโลก
เมื่อตอนที่สมาชิกระดับท็อปของพรรคคอมมิวนิสต์จีนราวๆ 200 คน จัดการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 19 กันแบบเต็มคณะเป็นครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 9-12 ตุลาคมที่ผ่านมา คอลัมนิสต์ชาวจีนผู้หนึ่งที่ใช้นามปากกาว่า “จง อิน” (Zhong Yin) ได้เขียนบทความ 3 ชิ้นเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์เดลี่) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน โดยมีเนื้อหายกย่องสรรเสริญการใช้กฎระเบียบข้อบังคับตามนโยบายโควิดต้องเป็นศูนย์ของจีน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://opinion.people.com.cn/n1/2022/1010/c1003-32541819.html)
จง อิน บอกว่า จีนต้องดำเนินยุทธศาสตร์โควิดต้องเป็นศูนย์อย่างมีพลวัต (dynamic Covid-zero strategy) ของตนต่อไป เพื่อต่อสู้รับมือกับไวรัสโคโรนาร้ายกาจนี้ พร้อมกับบอกด้วยว่ามีแต่เมื่อโรคระบาดใหญ่นี้อยู่ใต้การควบคุมแล้ว เศรษฐกิจจีนจึงจะเกิดเสถียรภาพขึ้นมาได้
สื่อมวลชนของรัฐจีนรายอื่นๆ อย่างเช่น สำนักข่าวซินหัว สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (ซีซีทีวี) และอีโคโนมิกเดลี่ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่รัฐเป็นเจ้าของ ต่างก็ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนจีนอดทนต่อไปกับกฎระเบียบต่อสู้โรคระบาดของประเทศ
ซุน เย่หลี่ (Sun Yali) โฆษกของสมัชชาพรรคครั้งนี้ กล่าวเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ดังนี้
“ทุกๆ คนต่างคาดหวังต้องการให้โรคระบาดร้ายแรงนี้สิ้นสุดลงไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทว่าสิ่งที่เรามองเห็นกันอยู่ก็คือโรคระบาดนี้ยังคงอยู่ และนี่คือความเป็นจริงที่จะต้องเข้าเผชิญหน้า”
เขาบอกว่า “การชำระสะสางอย่างมีพลวัต” หรือนโยบายโควิดต้องเป็นศูนย์นั้น เป็นนโยบายป้องกันโรคระบาดร้ายแรงนี้ซึ่งจัดทำขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขต่างๆ ในระดับชาติของจีน และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์
ซุน กล่าวว่า นโยบายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการป้องกันและการควบคุมโรคระบาดนี้ให้ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ขณะเดียวกัน ที่ลดผลกระทบซึ่งมีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนชีวิตปกติของมวลชนให้เหลือน้อยที่สุด
เขาบอกว่า จีนได้ปรับปรุงแก้ไขและประกาศแผนการป้องกันและควบคุมโรคระบาดนี้มา 9 ครั้งแล้ว จนกระทั่งในเวลานี้มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ถูกต้องแม่นยำ และทรงประสิทธิภาพยิ่งกว่าในอดีต
“เราเชื่อถืออย่างหนักแน่นมั่นคงว่า อรุณรุ่งกำลังรออยู่เบื้องหน้าแล้ว เราจะชนะถ้าเรายืดหยัดต่อไป” ซุน กล่าว
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า สถานการณ์การระบาดที่ ซุน กล่าวนี้ หมายถึงจำนวนผู้มีผลตรวจเชื้อเป็นบวกได้พุ่งขึ้นขึ้นมาหลังจากช่วงหยุดยาววันชาติจีนเมื่อตอนต้นเดือนตุลาคมนี้ หรือเป็นการพูดถึงทิศทางนโยบายในระยะยาว
เมื่อวันอาทิตย์ (16 ต.ค.) จีนแผ่นดินใหญ่รายงานว่าพบเคสติดโควิดรายใหม่ 245 ราย โดยที่ 18 รายถูกระบุว่าเกิดขึ้นในกวางตุ้ง 8 รายในฝู่เจี้ยน 7 รายในเซี่ยงไฮ้ และ 6 รายในปักกิ่ง
สี กล่าวในคำรายงานต่อสมัชชาเมื่อวันอาทิตย์ (16 ต.ค.) ว่า “ในปัจจุบัน จีนกำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของการมีเคสผู้ติดเชื้อนำเข้ามากขึ้น ขณะเดียวกัน ที่ความเสี่ยงของการที่โรคระบาดใหญ่ภายในประเทศจะกลับดีดตัวขึ้นมาอีกก็ยังคงดำรงอยู่
“มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการป้องกันและการควบคุมโรคระบาดต่อไป ปรับปรุงยกระดับกลไกการป้องกันและการควบคุมไวรัสให้กลายเป็นกลไกปกติกันมากขึ้น และสร้างความแน่ใจว่าโรคระบาดจะไม่กลับดีดตัวขึ้นมาอีก”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1746742125718002545&wfr=spider&for=pc)
หลังจากการกล่าวคำรายงานของ สี แล้ว ถัม ยิวชุง (Tam Yiu-chung) ผู้แทนจากฮ่องกงเพียงคนเดียวในคระกรรมการประจำของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (รัฐสภาจีน) ได้แสดงความเห็นว่า ยังจะต้องเดินกันอีกยาวไกลทีเดียว ก่อนที่แผ่นดินใหญ่จะสามารถกลับคืนสู่การเดินทางกันได้อย่างเสรีไม่ต้องมีการกักกันโรคได้อีกครั้ง
เขาบอกว่าเป็นเรื่องไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลยที่จะไปคาดหวังว่าแผ่นดินใหญ่จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกักกันโรคของตนแบบม้วนเดียวจบ
อย่างไรก็ตาม เขาบอกด้วยว่ายังคงมีความเป็นไปได้ที่ระเบียบการกักกันโรคซึ่งใช้บังคับอยู่ในแผ่นดินใหญ่ที่เรียกกัน “7+3” นั่นคือการกำหนดให้นักเดินทางที่เข้ามาต้องแยกตัวไปอยู่ตามโรงแรมต่างๆ เป็นเวลา 7 วัน และตามมาด้วยการกักตัวสังเกตอาการอยู่ที่บ้านอีก 3 วันนั้น จะมีการผ่อนคลายให้เป็น “4+3” เนื่องจากระยะการฟักตัวของไวรัสโคโรนานี้อยู่ที่ประมาณ 3 วัน
ถัม บอกว่า ถ้าระเบียบการกักกันโรค “7+3” สามารถผ่อนคลายลงมาเป็น “4+3” แล้ว ห้องพักตามโรงแรมในเมืองเซินเจิ้นซึ่งถูกใช้เป็นที่กักกันโรค ก็จะว่างเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ที่เดินทางจากฮ่องกงสามารถเข้าพักอาศัยได้ เขากล่าวว่าเมื่อถึงตอนนั้นปักกิ่งอาจจะเพิ่มโควตาให้แก่ผู้ที่ต้องการไปยังเซินเจิ้นโดยเดินทางจากฮ่องกง
เขาทำนายว่า ผู้ไปเยือนจากฮ่องกงยังอาจจะได้รับอนุญาตให้พำนักในโรงแรมที่ใช้กักกันโรคในเมืองตงกวน (Dongguan) และเมืองฮุ่ยโจว (Huizhou) ในเร็ววันนี้อีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อปี 2020 เซินเจิ้นได้บังคับใช้ระบบโควตาสำหรับการอนุญาตให้ผู้คนที่เดินทางจากฮ่องกงไปยังเมืองต่างๆ ของมณฑลกวางตุ้งด้วยเหตุผลพิเศษต่างๆ อย่างเช่น เพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาทางการแพทย์ และเพื่อเข้าร่วมงานศพ ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ จำนวนโควตาได้เพิ่มขึ้นมาจาก 800 คนเป็น 2,000 คนต่อวัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ถูกตัดลงไปเหลือ 1,000 คนเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้นตามเมืองต่างๆ ในแผ่นดินใหญ่
ถัม ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอที่มีผู้หยิบยกขึ้นมาก่อนหน้านี้ นั่นคืออนุญาตให้ประชาชนฮ่องกงสามารถกักกันโรคในโรงแรมต่างๆ ในฮ่องกงเองได้ก่อนการเดินทางเข้าแผ่นดินใหญ่ โดยเขาตอบว่าเรื่องนี้ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มากมาย เขาแจกแจงว่าเป็นเรื่องลำบากมากๆ ที่สร้างสภาพแวดล้อมขึ้นมาในโรงแรมต่างๆ ของฮ่องกงให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดโรคซึ่งตัดขาดจากโลกภายนอก เนื่องจากต้องกำหนดให้พนักงานโรงแรมทั้งหมดต้องงดเดินทางกลับบ้านเป็นเวลา 14 วัน
เขาบอกว่า จีนแผ่นดินใหญ่จะสามารถกลับมาอนุญาตให้เดินทางกันอย่างเสรีโดยไม่ต้องกักกันโรคหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว พวกผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้ออกมาเตือนกันแล้วว่า จีนแผ่นดินใหญ่อาจได้เห็นอัตราการตายขึ้นสูงลิ่ว ถ้าหากกลับมาติดต่อกันโลกภายนอกใหม่ โดยที่ไม่มีการใช้วัคซีน mRMA
นับจนถึงวันอาทิตย์ (16 ต.ค.) ประชาชนในไต้หวันราว 86.7% ได้รับการฉีดวัคซีนที่ผลิตในโลกตะวันตกกันแล้วอย่างน้อย 2 เข็ม ขณะที่ไต้หวันรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 28,847 รายในวันอาทิตย์ (16 ต.ค.) และมีผู้ป่วยเสียชีวิตไป 53 คน จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดของดินแดนแห่งนี้รวมแล้วอยู่ที่ 7.21 ล้านคน หรือราว 31% ของประชากรบนเกาะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ไต้หวันประกาศยุติข้อกำหนดให้ผู้เดินทางเข้ามาต้องกักกันโรคที่โรงแรม โดยประกาศใช้มาตรการ “0+7” แทน
ส่วนฮ่องกงนั้นได้ใช้มาตรการ “0+3” มาตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน กระนั้นภาคธุรกิจของเขตบริหารพิเศษของจีนแห่งนี้ยังไม่พอใจ เนื่องจากยังไม่สามารถดึงดูดพวกนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ การท่าอากาศยานฮ่องกงแถลงว่าจะให้ตั๋วเครื่องบินฟรี 500,000 ที่นั่งแก่นักท่องเที่ยวในช่วงต้นปี 2023 เพื่อส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้