(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Chip war policy hurting US firms more than China
By SCOTT FOSTER
17/10/2022
คำสั่งฉบับใหม่ของกระทรวงพาณิชย์อเมริกันที่ขยายการห้ามส่งออกชิปและเครื่องจักรอุปกรณ์ทำชิปไปยังจีน กำลังส่งผลกระทบหนักหน่วงที่สุดต่อหุ้นของพวกบริษัทเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ขยายการบังคับใช้ข้อกำหนดว่าด้วยการขอใบอนุญาตเพื่อการส่งออกพวกเซมิคอนดักเตอร์ระดับก้าวหน้าและเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำชิปเหล่านี้ ให้ครอบคลุมทุกๆ การขนส่งสิ่งเหล่านี้ไปยังจีน ไม่ใช่เพียงแค่การขนส่งไปยังบริษัทเฉพาะเจาะจงเพียงบางแห่งอย่างที่เคยทำมา
ราคาหุ้นของพวกบริษัทที่คาดหมายกันว่าจะได้รับความกระทบกระเทือนต่างพากันหล่นวูบไปก่อนเสียแล้ว จึงกลายเป็นการลดทอนน้ำหนักของแรงกดดันจากมาตรการแซงก์ชันที่ประกาศออกมาครั้งก่อนๆ ตลอดจนของช่วงขาลงในวัฏจักรอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่แล้ว
แต่เมื่อเปรียบเทียบราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ในช่วงขึ้นสู่ระดับสูงๆ ในรอบ 52 สัปดาห์ที่ผ่านมา กับช่วงลงสู่ระดับต่ำๆ ในรอบ 52 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ นี้ จะออกมาดังนี้ :
อินเทล (Intel) (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ INTC) ลดต่ำลงมา 56%
ไมครอน (Micron) (MU) ลดต่ำลงมา 50%
อินวิเดีย (Nvidia) (NVDA ) ลดต่ำลงมา 69% (ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้กำลังตกเป็นเป้าหมายถูกเล่นงานโดยตรง ด้วยฝีมือของคณะบริหารไบเดน) และเอเอ็มดี (AMD) (AMD) (ซึ่งก็ตกเป็นเป้าหมายถูกเล่นงานโดยตรงเหมือนกัน) ลดต่ำลงมา 67%
สำหรับพวกบริษัทสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ทำเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ :
แอปพลายด์ แมทิเรียลส์ (Applied Materials) (AMAT) ลดต่ำลงมา 57%
แลม รีเสิร์ช (Lam Research) (LRCX) ลดต่ำลงมา 59% และเคแอลเอ (KLA) (KLAC) ลดต่ำลงมา 45%
ในประเทศอื่นๆ นอกสหรัฐฯ เอเอสเอ็มแอล ASML (ASML) ของเนเธอร์แลนด์ ลดต่ำลงมา 59% จากช่วงขึ้นสูงในรอบ 52 สัปดาห์ ถึงช่วงลงต่ำในรอบ 52 สัปดาห์ พวกบริษัทผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ทำชิปของญี่ปุ่น ได้แก่ โตเกียว อิเล็กตรอน Tokyo Electron (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ TYO 8035) และสกรีน โฮลดิ้งส์ Screen Holdings (TYO 7735) ลดต่ำลงมา 50% และ 44% ตามลำดับ
พวกผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของญี่ปุ่นอย่าง เรเนซัส Renesas (TYO 5723) และรอห์ม Rohm (TYO 6963) ลดต่ำลงมาเพียงแค่ 27% และ 28% แต่พวกเขาโฟกัสอยู่ที่พวกเซมิคอนดักเตอร์ใช้ในรถยนต์และเซมิคอนดักเตอร์ทางอุตสาหกรรม ไม่ใช่เซมิคอนดักเตอร์ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการคำนวณและประมวลผลด้วยความเร็วสูง (high-performance computing หรือ HPC) ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะบริหารไบเดนเน้นหนักให้ความสนใจ โดยที่ราคาระดับต่ำๆ รอบ 52 สัปดาห์ของเรเนซัส และรอห์ม นั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ส่วนเอสเอ็มไอซี (SMIC Semiconductor Manufacturing International Corporation เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น) (HKG 0981) โรงงานผลิตไอซีระดับท็อปของจีน ลดต่ำลงมา 40% ขณะที่ทีเอสเอ็มซี (TSMC Taiwan Semiconductor Manufacturing Company, Limited บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี) (TPE 2330) ลดต่ำลงมา 43% --ถือได้ว่ายังทำผลงานได้ค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อพิจารณาสภาวการณ์ในปัจจุบัน
หากพิจารณาจากผลงานเรื่องราคาหุ้นและอัตราส่วนผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับจากการลงทุนแล้ว พวกบริษัทอเมริกัน และเอเอสเอ็มแอล เป็นพวกที่ได้รับความกระทบกระเทือนหนักหน่วงกว่าบริษัทจีน นี่อาจจะดูย้อนแย้งพิลึกๆ อยู่ เมื่อพิจารณาว่าพวกมาตรการที่สหรัฐฯ ประกาศออกมาบังคับใช้นั้นมุ่งพุ่งเป้าเล่นงานจีน ทว่านี่แหละคือการทำงานของกลไกตลาด ซึ่งกำลังแสดงผลในการลดทอนน้ำหนักของมาตรการเหล่านี้
นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นการซ้ำเติมภาวะขาลงอย่างสาหัสรุนแรงของอุตสาหกรรมนี้ที่ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างให้มองเห็นได้อยู่แล้ว –และปัญหาจริงๆ ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ประสบอยู่ คือการยิงใส่พวกเดียวกันเองโดยมิได้เจตนาเช่นนี้แหละ
ในการแถลงข่าวผลประกอบการของตนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ทีเอสเอ็มซี ประกาศว่าได้ตัดสินใจลดการใช้จ่ายด้านการลงทุนในปี 2022 ลงมาเหลือ 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่เคยกำหนดไว้ ณ ระดับประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ สืบเนื่องจากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ของทั่วโลกกำลังลดน้อยลง ตลอดจนจากการที่ต้นทุนด้านต่างๆ ขยับสูงขึ้น
อันที่จริงเดิมทีเดียว คณะบริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ไต้หวันแห่งนี้วางแผนที่จะใช้จ่ายในเรื่องนี้ราวๆ 40,000 ถึง 44,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ แต่เมื่อถึงเดือนกรกฎาคมจึงได้แถลงว่า การใช้จ่ายจริงๆ จะอยู่ที่ระดับล่างสุดของขอบเขตดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับที่ทีเอสเอ็มซี ใช้จ่ายไป 30,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 จึงหมายความว่าอัตราการเติบโตของการใช้จ่ายด้านการลงทุนที่คาดหมายไว้ได้หล่นลงจากระดับสูงสุดที่ 47% ลงมาอยู่ที่ 33% แล้วล่าสุดนี้ก็เหลือ 20%
ทีเอสเอ็มซี ถือว่าได้ตัวช่วยที่เป็นปัจจัยบรรเทาผลกระทบอยู่หลายประการเหมือนกัน เป็นต้นว่า การได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ยังคงขยายโรงงานของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู ของประเทศจีนได้ โดยที่ไม่ต้องถูกจำกัดกีดกันจากมาตรการระลอกใหม่นี้เป็นระยะเวลา 1 ปี ตลอดจนมีความเป็นไปได้ที่ความต้องการชิปจะดีดตัวขึ้นใหม่เมื่อจีนผ่อนคลายมาตรการจำกัดต่างๆ เพื่อต่อสู้กับโควิด แต่กระนั้น ซี.ซี.เว่ย (C C Wei) ซีอีโอของ ทีเอสเอ็มซี ยังคงบอกกับสื่อมวลชนว่า “เราคาดหมายว่า บางทีในปี 2023 อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์น่าจะอยู่ในสภาพถดถอยลง”
ไมครอน บริษัทผู้ผลิตชิปความจำสหรัฐฯ เมื่อตอนสิ้นเดือนกันยายน –ขณะประกาศผลประกอบการสำหรับรอบปีการเงิน 2022 ของบริษัทซึ่งสิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม-- ได้แถลงกับพวกนักลงทุนว่า การใช้จ่ายด้านเงินทุนของบริษัทในช่วง 1 ปีข้างหน้าจะถูกตัดลงไปราวหนึ่งในสาม จาก 12,000 ล้านดอลลาร์ เหลือราวๆ 8,000 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างยังควรที่จะเพิ่มขึ้นมากว่าเท่าตัว “เพื่อสนับสนุนความต้องการชิปสำหรับ” ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษนี้ “ทว่าการใช้จ่ายในด้านเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตแผงวงจรบนแผ่นเวเฟอร์ น่าที่จะลดลงไปใกล้ๆ 50% ทีเดียว สืบเนื่องจาก “การไต่สูงของชิป ดีแรม 1-เบต้า (1-beta DRAM) และชิป NAND 232 เลเยอร์ (232 layer NAND) (ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สุดและล้ำยุคที่สุดของบริษัท) อยู่ในอาการชะลอตัวมากกว่าที่คาดหมายกันไว้แต่แรก”
ยิ่งไปกว่านั้น “เพื่อรับมือในทันทีกับสถานการณ์สินค้าคงคลังของเรา และลดอัตราการเติบโตของอุปทาน (supply) เราจึงกำลังลดทอนอย่างมีการคัดสรรในเรื่องการใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านดีแรม และ NAND” เมื่อนำรายงานที่ออกมาจากไมครอน และจากพวกคู่แข่งสัญชาติเกาหลีใต้และญี่ปุ่นของบริษัทมาประมวลเป็นภาพรวม มันก็บ่งชี้ให้เห็นว่าการผลิตชิปความจำกำลังถูกตัดลดลงไปราวๆ 30%
สำหรับซัมซุง แนวทางดำเนินการกับเรื่องการใช้จ่ายด้านเงินทุนของยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้รายนี้ก็อยู่ในลักษณะเดียวกับของไมครอน ซัมซุงใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกกันว่า “เปลือกเป็นอันดับแรก” (“shell first” strategy) ซึ่งหมายถึงการก่อสร้างห้องเปล่าๆ สะอาดสะอ้านขึ้นมาให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อที่บริษัทจะได้สามารถติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์เข้าไปได้อย่างยืดหยุ่นและอย่างรวดเร็วเมื่อได้เวลาที่เหมาะสม ในวันที่ 4 ตุลาคม ซัมซุงประกาศแผนการที่จะเริ่มต้นกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขนาด 2 นาโนเมตร (ซึ่งจะทำให้ ซัมซุงอยู่ในฐานะล้ำหน้าระดับคู่คี่สูสีกับทีเอสเอ็มซี) ภายในปี 2025 และเข้ากระบวนการผลิตขนาด 1.4 นาโนเมตร ซึ่งล้ำยุคยิ่งขึ้นไปอีกภายในปี 2027
ขณะที่เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง และการที่สหรัฐฯ หย่าร้างแยกขาดในผลิตภัณฑ์เทคระดับไฮเอนด์จากจีนก็เร่งทวีความเร็วขึ้นเรื่อยๆ ทิศทางอนาคตสำหรับการใช้จ่ายด้านเงินทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จึงอยู่ภาวะเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไอซี อินไซส์ (IC Insights) ซึ่งเป็นกิจการด้านวิจัยตลาด ยังพยากรณ์อยู่เลยว่า ในปีปฏิทิน 2022 จะมีการใช้จ่ายด้านนี้เพิ่มขึ้น 23.5% สู่ระดับ 190,000 ล้านดอลลาร์
(เรื่องการที่สหรัฐฯ มุ่งหย่าร้างแยกขาดจากจีนในผลิตภัณฑ์เทคระดับไฮเอนด์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/10/new-us-policy-blocks-china-at-the-tech-high-end/)
การที่ในเดือนสิงหาคม ตัวเลขการใช้จ่ายด้านเงินทุนของอุตสาหกรรมนี้ลดต่ำลงมาเหลือ 185.500 ล้านดอลลาร์ แล้วยิ่งเมื่อรวมการประกาศช่วงหลังๆ นี้จากทีเอสเอ็มซี และไมเครน เข้าไปอีก จึงเป็นการชี้ให้เห็นถึงการถอยหลังอย่างรุนแรง ทั้งนี้ แฮนเดิล โจนส์ (Handel Jones) ซีอีโอของอินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส สแตรเตจีส์ (International Business Strategies) บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติอเมริกัน ประมาณการว่าตัวเลขจะเหลืออยู่แค่ 160,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 4% จากจำนวน 153,900 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
ไอซี อินไซส์เอง แสดงการรับรองการพยากรณ์ในเดือนสิงหาคมของตน โดยเขียนเอาไว้ว่า “กลุ่มเมฆแห่งความไม่แน่นอนที่คุกคามว่าจะเป็นภัยอันตรายกำลังก่อตัวขึ้นมา ณ บริเวณขอบฟ้า อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งรวดและการที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสาเหตุทำให้พวกโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้องประเมินทบทวนกันอีกครั้งเกี่ยวกับแผนการขยายตัวอย่างฮึกห้าวของพวกเขาเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซัปพลายเออร์จำนวนมาก (แต่ไม่ใช่ทุกราย) –โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกโรงงานผลิต ดีแรม และแฟลช เมโมรี ชั้นนำจำนวนมาก— ได้ประกาศตัดลดงบประมาณการใช้จ่ายด้านเงินทุนของพวกเขาสำหรับปีนี้กันแล้ว
(การทบทวนประเมินกันใหม่ของพวกโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/06/semiconductor-cycle-shows-signs-of-peaking/)
“ซัปพลายเออร์จำนวนมากยิ่งกว่านั้นได้ชี้ออกมาว่า ในปี 2023 คาดหมายกันว่าจะมีการตัดลดการใช้จ่ายด้านเงินทุนเช่นกัน ในขณะที่อุตสาหกรรมนี้ใช้เวลาช่วงนี้ในการทบทวนพิจารณาระยะเวลา 3 ปีก่อน ที่มีการใช้จ่ายกันอย่างแข็งขัน ตลอดจนประเมินความต้องการในด้านศักยภาพการผลิตในสภาพที่เผชิญกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งชะลอตัวลง”
เมื่อตอนที่ฟองสบู่หุ้นดอตคอม (dot.com bubble) ระเบิดออกมาในปี 2000 การใช้จ่ายด้านเงินทุนของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้หล่นวูบลง 55% เป็นระยะเวลา 2 ปี ตอนที่เกิดภาวะช็อกซึ่งได้เห็นวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มครืน (Lehman Shock) ก็จุดชนวนให้การใช้จ่ายรายการนี้ตกลงไป 57% เป็นเวลา 2 ปีเหมือนกัน มาถึงเวลานี้ เมื่อการใช้จ่ายด้านเงินทุนกำลังดิ่งเหวลงมาจากจุดที่อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มันบ่งชี้ให้เห็นว่าการตกต่ำน่าจะมีขนาดขอบเขตทำนองเดียวกัน รวมทั้งอาจจะคล้ายๆ กันในเรื่องช่วงเวลาอีกด้วย
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม สื่อวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า พวกผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ทำเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ อย่างเช่น เคแอลเอ และแลม รีเสิร์ช ได้ระงับการติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ ตลอดจนการให้ความสนับสนุนที่เกี่ยวข้องแก่บริษัทแยงซี เมโมรี เทคโนโลยีส์ คอมพานี (Yangtze Memory Technologies Co หรือ YMTC) ของจีน ในขณะที่ทำการศึกษาพิจารณารายละเอียดของกฎระเบียบระลอกใหม่ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ส่วนราคาหุ้นของผู้ผลิตชิป แฟลช เมโมรี NAND สัญชาติญี่ปุ่นอย่างโตชิบา (Toshiba) (TYO 6502) ซึ่งเป็นคู่แข่งของวายเอ็มทีซี พุ่งพรวดขึ้น 10% จากข่าวนี้
แฟลช เมโมรี NAND ของวายเอ็มทีซี มีคุณสมบัติดีเพียงพอสำหรับที่แอปเปิลจะนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ไอโฟนของตน อีกทั้งไม่ได้มีหลักฐานใดๆ ว่าเทคโนโลยีนี้บริษัทได้โจรกรรมมาจากคนอื่น ดังนั้นเรื่องนี้จึงสามารถพิจารณาได้ว่า นโยบายเช่นนี้ของสหรัฐฯ เป็นการยกระดับขยายตัวจากการมุ่งลงโทษพวกผู้เล่นเลวๆ กลายมาเป็นความพยายามอย่างสุดกำลังที่จะอุดปากบีบคอการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และเทคโนโลยีเพื่อการคำนวณและประมวลผลด้วยความเร็วสูง (เอชพีซี) ของจีน และดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ทำให้การพัฒนาของเศรษฐกิจจีนต้องเกิดการถอยหลัง
การที่กฎระเบียบระลอกใหม่ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มีหลายมาตรการที่ให้มีผลบังคับใช้ในทันที จนทำให้พวกเจ้าหน้าที่สนับสนุนที่เป็นชาวอเมริกันต้องตัดสินใจถอนตัวไปอย่างทันควัน จะส่งผลเป็นการบีบคั้นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของจีน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/10/china-based-us-chip-experts-face-stay-go-dilemma/)
ยิ่งไปกว่านั้น มีกฎระเบียบใหม่ฉบับหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่กำหนดให้ “จำกัดควบคุมการที่ตัวบุคคลของสหรัฐฯ จะสามารถให้ความสนับสนุนการพัฒนาหรือการผลิตแผงวงจรรวม ณ ‘สถานที่ต่างๆ’ บางแห่งที่มีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน” ถ้าหากตัวบุคคลนั้นๆ ไม่ได้รับใบอนุญาต กฎระเบียบเช่นนี้ก็กำลังเป็นเครื่องกีดกั้นขัดขวางการดำเนินงานของบริษัทจีนหลายแห่งอยู่ในเวลานี้
จากการบังคับให้พวกผู้บริหารและวิศวกรซึ่งมีเชื้อสายจีนจำนวนหนึ่งต้องตัดสินใจเลือกว่าจะอยู่กับสหรัฐฯ หรืออยู่กับจีนเช่นนี้ มันก็ทำให้นโยบายการหย่าร้างแยกขาดจากกันนี้กลายเป็นเรื่องระดับบุคคลไปเสียแล้ว
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/10/china-based-us-chip-experts-face-stay-go-dilemma/)
ข้อมูลจากบริษัทโตเกียว อิเล็กตรอน แสดงให้เห็นว่า ยอดขายโดยรวมในด้านเครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัทได้เพิ่มสูงขึ้นมา 2.6 เท่าตัวในระยะเวลา 5 ปีนับจนถึงวันที่ 31 เดือนมีนาคม 2022 (ปีการเงินของบริษัทสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม) การเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ปัจจัยที่เป็นตัวนำคือยอดขายที่สูงขึ้น 5.7 เท่าตัวในจีน โดยยอดขายในแดนมังกรเติบโตจากระดับเท่ากับ 12% ของยอดขายโดยรวม กลายเป็น 20% ของยอดขายโดยรวม
เฉพาะระยะเวลา 2 ปี จากเมษายน 2020 ถึง มีนาคม 2022 ยอดขายในจีนเพิ่มขึ้นมา 2.7 เท่าตัว นี่บ่งชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนมีการกว้านซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เพียงพอ อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับใช้กันไปตลอดช่วงเวลา 2 หรือ 3 ปีข้างหน้า
สำหรับผลประกอบการของโตเกียว อิเล็กตรอน ในตลาดภูมิภาคอื่นๆ นั้นไม่ได้มีความโดดเด่นพิเศษอะไร โดยที่ยอดขายในเกาหลีสูงขึ้น 2.7 เท่าตัว ในสหรัฐฯ 2.6 เท่าตัว ในญี่ปุ่น 2.5 เท่าตัว ในยุโรป 1.8 เท่าตัว ในไต้หวัน 1.6 เท่าตัว (โดยวัดจากที่ตอนต้นก็อยู่ในระดับสูงมากอยู่แล้ว) และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดจนภูมิภาคอื่นๆ 2.1 เท่าตัว
ในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ทำเครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และมีผลิตภัณฑ์ในด้านนี้หลากหลายมาก ดังนั้น โตเกียว อิเล็กตรอน จึงสามารถใช้เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมนี้โดยองค์รวม
จีนไม่สามารถที่จะพึ่งพาอาศัยซัปพลายเออร์เครื่องจักรอุปกรณ์สหรัฐฯ ได้อีกต่อไปแล้ว และซัปพลายเออร์ยุโรปและญี่ปุ่นก็ต้องเดินตามกฎระเบียบขอสหรัฐฯ ถ้าหากผลิตภัณฑ์ของพวกเขามีส่วนประกอบของเทคโนโลยีสหรัฐฯ อยู่ด้วย ดังนั้น จีนจะต้องยกระดับการรณรงค์ต่อสู้เพื่อทดแทนการนำเข้า
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/10/china-on-course-to-elude-us-chip-making-equipment-bans/)
อย่างไรก็ดี การแซงก์ชันจีนได้ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่โตแก่พวกบริษัทเซมิคอนดักเตอร์อเมริกันและบริษัทเครื่องจักรอุปกรณ์ทำเซมิคอนดักเตอร์อเมริกันไปเรียบร้อยแล้ว โดยที่บางทีอาจจะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้อีกในอนาคต ยิ่งกว่านั้น ในช่วงขาขึ้นของวัฏจักรอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ครั้งต่อไป โอกาสสำหรับพวกซัปพลายเออร์ต่างประเทศที่จะบุกเข้าไปขายกันสนั่นในตลาดจีนก็น่าจะหดหายลงไปมหาศาล